13 พ.ย. 2019 เวลา 07:43 • ครอบครัว & เด็ก
5 เทคนิคหยุดลูกไม่ให้กินไปเล่นไป
การเลี้ยงลูกวัย 1-3 ขวบ
CR. freepik
“นั่งกินดีๆ สิลูก”
“วางของเล่นก่อนลูก ตั้งใจกินเร้ว”
“มานั่งให้เรียบร้อยลูก กินไปวิ่งไป เดี๋ยวสำลักนะคะ”
“เคี้ยวข้าวเข้าลูก ไม่อมข้าวค่ะ”
...ประโยคเหล่านี้ คุณพ่อคุณแม่คุ้นหูบ้างไหมคะ? หรือว่า “เอ๊ะ...ใช่เลยเราก็พูดอยู่” เคยเห็นหลายครอบครัวเลยทีเดียวค่ะที่คุณพ่อคุณแม่หรือปู่ ย่า ตา ยาย ยังต้องตามป้อนข้าวลูกหลานกันอยู่ ซึ่งนั่นก็ทำให้เด็กสามารถกินไปเล่นไปได้อย่างสบาย แต่สิ่งที่ตามมาคือมีผลเสียมากกว่าผลดี
วันนี้โน้ตมีเทคนิคดีๆ มาแชร์ให้คุณพ่อคุณแม่ฟังค่ะ ไม่ยากค่ะ รับรอง
🖐️5 เทคนิคหยุดลูกไม่ให้กินไปเล่นไป
ซึ่งก่อนที่เราจะเริ่มใช้เทคนิค 5 ข้อนี้ แนะนำว่าให้ปรับพฤติกรรมก่อน จากเดินตามป้อนมาเป็นนั่งกินข้าวเองที่โต๊ะอาหารหรือโต๊ะทานข้าวสำหรับเด็กก่อนนะคะ ลูกจะรับรู้ถึงเงื่อนไขและกติกาได้มากขึ้น
1
น้องมินวัย 2 ขวบ
1. กำหนดเวลาในการทานข้าว 30 นาที
หากลูกนั่งโต๊ะกินข้าวเองได้แล้ว ให้คุณพ่อคุณแม่ทำความเข้าใจและข้อตกลงกับลูกให้เรียบร้อย เช่น แม่จะให้เวลาหนูในการทานข้าว 30 นาที เป็นต้น ซึ่งถ้าเกินกว่า 30 นาทีให้คุณพ่อคุณแม่เก็บจานข้าวลูกออกจากโต๊ะทันที ฟังดูใจร้ายเนอะ แต่เราก็ต้องใจแข็งค่ะ ถ้าต้องการให้ลูกมีวินัยและความรับผิดชอบต่อตนเอง
2. ห้ามลูกก่อนที่ลูกจะลุก
คุณพ่อคุณแม่ต้องคอยสังเกตทีท่าของลูกว่าจะลุกขึ้นเมื่อไหร่ แล้วปรามลูกก่อนลูกลุกขึ้น เพราะถ้าลูกลุกขึ้นแล้วจะเรียกกลับมานั่งโต๊ะจะค่อนข้างยาก อาจต้องใช้เสียง 2 หรือ เสียง 3 ของคุณแม่ค่ะ 555 และเมื่อลูกนั่งทานเรียบร้อยแล้ว ให้คุณพ่อคุณแม่ชมเชยเค้าแต่พอดี เพื่อให้ลูกได้รู้สึกภูมิใจว่าเค้าทำให้คุณพ่อคุณแม่ดีใจและมีความสุข
3. จัดสภาพแวดล้อมให้พร้อมทานข้าว
ข้อนี้หมายถึงว่า ก่อนนั่งโต๊ะทานข้าวให้คุณพ่อคุณแม่...
· ปิดทีวี มือถือ หรือแทปเล็ตก่อน
· ไม่เอาขอขนมมาวางไว้บนโต๊ะ
· ของเล่นก็ควรเก็บเข้าที่ให้เรียบร้อยไม่วางเกลื่อนพื้นห้อง เพราะจะทำให้ลูกไม่มีสมาธิในการทานข้าว
หรือแม้แต่คุณพ่อคุณแม่เองก็เหมือนกันนะคะ ถ้าต้องการหยิบเครื่องปรุงอะไรก็ตาม ควรเตรียมให้พร้อมตั้งแต่การจัดโต๊ะกินข้าว ไม่ลุกเดินไปมา เพราะจะทำให้ลูกเดินตามได้ค่ะ
4. นั่งทานไปพร้อมลูก
ชีวิตจริงคนเป็นแม่ เวลาที่ทานข้าวไปพร้อมลูกสิ่งที่คุณแม่ไม่ทำไม่ได้ก็คือ การที่ต้องคอยดูแล เช็ดปาก เช็ดโต๊ะจากอาหารที่ลูกทำหก จนตัวเองทานได้ไม่กี่คำ จึงทำให้คุณแม่หลายคนเลือกที่จะทานทีหลังลูก
สิ่งนี้อาจส่งผลในเรื่องของความสัมพันธ์ในครอบครัวในแง่ของการที่ไม่ได้ทานข้าวด้วยกัน ต่างคนต่างกิน เป็นต้น อยากให้คุณแม่พยายามทานข้าวกับลูกให้ได้ เราอาจจะทานเสร็จได้ช้าหน่อยก็ไม่เป็นไร
**ที่สำคัญคือ ถ้านั่งโต๊ะทานข้าวด้วยกันไม่ควรเล่นมือถือหรือแทปเล็ตให้ลูกเห็นเด็ดขาดนะคะ
5. อาหารว่างก็ให้ทานที่โต๊ะอาหาร
คุณพ่อคุณแม่กำหนดเลยค่ะว่า ถ้าเป็นเรื่องการทานอาหารหรือทานของว่างให้ทานได้เฉพาะที่โต๊ะทานข้าวเท่านั้น เพราะไม่อย่างนั้น ลูกจะเคยชินกับการถือขนมเดินกินไปแบบชิลล์ๆ เวลาทานข้าวลูกก็จะชิลล์ไปด้วย ทำให้อิ่มขนมซะก่อน ลูกก็จะได้สารอาหารไม่ครบและไม่พอเพียงกับที่ร่างกายต้องการ
จะสังเกตได้ว่าทั้งหมดที่กล่าวมา คุณพ่อคุณแม่ต้องเป็นตัวอย่างที่ดีให้กับลูก เพราะลูกจะแอบมองพฤติกรรมของคุณพ่อคุณแม่แล้วเลียนแบบ แต่ที่สำคัญ เมื่อเรากำหนดกติกาต่างๆ ให้ลูกแล้ว เราต้องเข้มงวดกับกติกานั้นด้วยนะคะ ต้องใจแข็งนะ ถ้าอยากให้ลูกมีวินัยเมื่อเค้าโตขึ้น เพราะกติกาของสังคมมีมากกว่านี้อีกเยอะเลย
ติดตามผลงานเพิ่มเติม
🌏 website :
🌏 Youtube Channel :
คุณแม่บ้านบ้าน Simply Mommy Note
แนะนำ ติชม ได้นะคะ
🔖เพื่อเป็นกำลังใจให้คุณแม่🔖
กดไลค์ 👉 ถ้าชอบ
กดแชร์ 👉 ถ้าคิดว่ามีประโยชน์
กดติดตาม👉 เป็นกำลังใจให้อย่างดีเลยค่ะ
🙏 ขอบคุณสำหรับทุกการติดตามและความคิดเห็นค่ะ
โฆษณา