17 พ.ย. 2019 เวลา 01:35 • การศึกษา
ทำไมถึงเลือกการศึกษาวอลดอร์ฟให้ลูก
ถ้าจะให้พูดถึงแนวการศึกษาทางเลือกวอลดอร์ฟ หลายคนที่มีลูกหลานอาจจะเคยได้ยิน แต่หลายๆ คนก็ไม่รู้จักเลย
แต่ถ้าบอกว่ามันคือแนวทางการศึกษาที่ ร.ร. ไม่สนับสนุนให้เด็กเล็กดูทีวี, เล่นมือถือ หรือไอแพด, ไม่มีการรับสื่อต่างๆ จนกว่าจะอายุ 14! การเรียนการสอนไม่มีการสอบ!! อาจจะเริ่มคุ้นๆ กันบ้าง
บางคนตกใจเอามือทาบอก เพราะมันเป็นไปไม่ได้สิ ในยุคนี้สมัยนี้ที่ทีวีเอย มือถือเอย เป็นส่วนหนึ่งในชีวิตไปแล้ว สื่อต่างๆ มากมายที่สามารถเลือกดูได้ แบบที่คัดไว้สำหรับเด็กก็มี ทำไมจะต้องห้าม ชีวิตยากอยู่แล้ว ทำไมต้องยากหนักขึ้นไปอีก
จะให้คุยเรื่องนี้ อธิบายแก่น เราคงต้องคุยกันไปเรื่อยๆ เพราะส่วนตัว ยอมรับว่าการเรียนรู้แนวทางวอลดอร์ฟไม่มีที่สิ้นสุดจริงๆ แต่ถ้าอธิบายแบบง่าย ต้องอ้างอิงหลักมานุษยปรัชญา ที่ว่าด้วยช่วงวัยของชีวิต
เด็กเล็กควรได้เล่นของเล่นจากธรรมชาติ
มานุษยปรัชญา แบ่งช่วงวัยทุกๆ 7 ปี
0-7 ปี เป็นวัยแห่ง willing เป็นวัยที่ควรพัฒนา เรียนรู้เรื่องเจตจำนง ใช้มือเท้า และร่างกาย เพื่อพัฒนากล้ามเนื้อมัดใหญ่ มัดเล็กให้คล่องแคล่วว่องไว เพื่อต่อยอดทักษะต่างๆ ต่อไป
7-14 เป็นวัยแห่ง feeling เป็นวัยที่พัฒนาร่างกายเต็มที่แล้ว จนหัวใจมีจังหวะเต็มเหมือนผู้ใหญ่ เด็กควรได้รับการพัฒนาด้านอารมณ์ ความสุนทรีย์ ดนตรี ศิลปะ พร้อมไปกับการเรียนรู้อ่านเขียน เพราะ physical พร้อมมากแล้ว
14-21 เป็นวัยแห่ง thinking เพราะเมื่อกายพร้อม ใจพร้อม ฮอร์โมนวัยรุ่นมาพร้อม สมองพร้อมที่จะลงลึกกับข้อมูลต่างๆ ใช้พื้นฐานร่างกาย และอารมณ์ที่ตนมี มาคิด วิเคราะห์ แยกแยะข้อมูลที่ไดรับได้อย่างแยบคายมากขึ้น
ดังนี้จึงมีคำตอบว่า
ในเด็กเล็กๆ การรับสื่อต่างๆ เด็กไม่สามารถวิเคราะห์เองได้อย่างแยบคาย เลือกใช้ไม่ถูกอย่างที่เรียกว่า “เข้าใจ” จะพร้อมและไว้ใจว่าคิดได้ว่าสื่อจะเสนออะไร ควรอายุ 14 ขึ้นไป (แต่หากเด็กอยู่ในแนวทางนี้ไปจนอายุ 14 เค้าจะไม่ติดทีวี หรือพึ่งพาสื่อในการคลายเหงาซักเท่าไหร่แล้ว)
มากไปกว่านั้น หากจินตนาการสำคัญกว่าความรู้ การรับสื่อที่ผู้ใหญ่คิดมาให้ แม้จะบอกว่าสำหรับเด็ก แต่ถ้าผลิตจากแนวคิดผู้ใหญ่ ตามแนวทางการศึกษามองว่า ก็ยังเป็นการปิดกั้นจินตนาการอันไม่มีที่สิ้นสุดของเด็กไปแล้ว ต้องย้ำว่า เด็กดูทีวี รับสื่อได้ เพียงแต่ต้องอดใจรอให้ถึงวัยที่เหมาะสม
พ่อแม่ใช้ชีวิตยากมั้ย ตอบเลยว่ายากมาก แต่ต้องปรับตัว ค่อยเป็นค่อยไป และเข้าใจ จนการงดให้ลูกรับสื่อเป็นเรื่องธรรมดาในท้ายที่สุด อันนี้ไม่นับว่าถ้าไปตามร้านข้าวต้มที่เปิดทีวี ก็ต้องไปไล่ปิดทีวีมั้ย ก็ไม่ขนาดนั้น เราไม่ได้ปิดหูปิดตาลูกได้ แต่ที่บ้านเราไม่เปิด ความยืดหยุ่นก็ต้องมีในบ้านเช่นกัน แต่ไม่ใช่ยืดหยุ่นให้ดูทีวีทุกวันเป็นช่วงเวลา อันนั้นควรเป็นเด็กโต ไม่ใช่เด็กเล็ก
แล้วถ้ามันยาก ทำไมเลือกแนววอลดอร์ฟให้ลูก
เริ่มต้นเพราะเราไม่เห็นความสำคัญของการเร่งวิชาการให้เด็กเล็ก แต่เราไม่ว่ากันนะคะ คนที่อยากให้ลูกอ่านเขียนได้ไวนั้นไม่ผิด ปลายทางเราเหมือนกัน แต่วิธีการต่างกัน
เราอยากให้ลูกรู้จักมือเท้าตัวเองให้ดี เพื่อที่โตขึ้น เค้าจะได้รู้จักตัวเอง รู้ว่าเค้าเป็นใคร เค้าชอบอะไร และอยากทำอะไรในอนาคต
เพราะบอกตรงๆ ว่ารุ่นตัวพ่อแม่เอง อยู่ในระบบการศึกษาแพ้คัดออก สอบโดยใช้ไม้บรรทัดอันเดียววัดคนทั้งประเทศ มันไม่ทำให้รู้จักตัวเองเท่าไหร่ เพราะต้องเอาชนะข้อสอบไปวันๆ ท่องจำเพื่อไปตอบ แต่ประยุกต์ไม่เป็น เสียเวลาไปรู้จักอย่างอื่นมากกว่ารู้จักตัวเอง
รายละเอียดที่เมื่อก้าวเข้ามาในแนวทางวอลดอร์ฟนั้นมาเยอะมาก ทั้งน่าทึ่ง ข้องใจ และประทับใจ สร้างทั้งรอยยิ้ม เสียงหัวเราะและ น้ำตา ให้กับคนเป็นแม่มากมาย ส่วนตัวผู้เขียนมีลูกในวัยอนุบาล ก็คงเล่าอะไรๆ ในช่วงวัยอนุบาลเป็นส่วนใหญ่
แล้วถ้าไม่มีการสอบ จะเลื่อนชั้นกันยังไง ใช้เกณฑ์อะไรในการวัด เราจะมาคุยกันคราวหน้านะคะ
โฆษณา