4 ธ.ค. 2019 เวลา 04:30 • ประวัติศาสตร์
พุทธประวัติ ตอนที่ 34
เสวยวิมุตติสุข 7 แห่ง (สัตตมหาสถาน)
สัปดาห์ที่ 1-4
ครั้นเมื่อ...
สมเด็จพระบรมโพธิสัตว์เจ้า ได้ทรงตรัสรู้พระอนุตรสัมมาสัมโพธิญาณแล้วนั้น
พระองค์ก็ทรงประทับเสวยวิมุตติสุข คือ
ความสุขที่เกิดจากการหลุดพ้นจากอำนาจของกิเลสตัณหาทั้งปวง และพระองค์ได้ทรงเสวยอยู่ในสถานที่ต่างๆ 7 แห่งๆ ละ 7 วัน ซึ่งสถานที่เหล่านั้นมีชื่อเรียกว่า
(สัตตมหาสถาน)
สัตตมหาสถาน ที่สำคัญที่ 7 มีดังนี้
สัปดาห์ที่ ๑
(ต้นพระศรีมหาโพธิ์)
องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเมื่อพระองค์ได้ทรงตรัสรู้แล้ว พระองค์ก็ยังคงประทับ ณ รัตนบัลลังก์นั้น เสวยวิมุตติสุข โดยทรงเข้าสมาบัติ (นวานุปุพพวิหาร) คือ
- รูปฌาณ 4
- อรูปฌาน 4
- สัญญาเวทยิตนิโรธ 1
ซึ่งพระพุทธองค์ทรงพิจารณาใน
(ปฏิจจสมุปบาท) โดยอนุโลมและปฏิโลม
คือไล่ตามลำดับและย้อนกลับลำดับ
ทั้งฝ่ายเกิด(สมุทัย) และฝ่ายดับ(นิโรธ)
ตลอดทั้ง 3 ยามแห่งราตรี...
พระพุทธองค์ ทรงเปล่ง พุทธอุทาน
ในทั้ง 3 ยาม ตามลำดับดังนี้
- ในปฐมยาม
พระพุทธองค์ ทรงพิจารณาปฏิจจสมุปบาท โดยอนุโลมไปตามลำดับแล้ว
ทรงเปล่งพุทธอุทยานในยามนี้ว่า...
***ในกาลใดแล ธรรมทั้งหลายมาปรากฏ แก่พราหมณ์ผู้มีความเพียรเพ่งอยู่
ในกาลนั้น ความสงสัยทั้งปวงของ พราหมณ์นั้นย่อมสิ้นไป เพราะมารู้แจ้งธรรมว่าเกิดมาจากเหตุ***
-ในมัชฌิมยาม
พระพุทธองค์ ทรงพิจารณาปฏิจจสมุปบาท โดยปฏิโลม คือพิจารณาย้อนกลับเริ่มจากข้างปลายถอยมายังจุดเริ่มแรก แล้วจึงทรงเปล่งพุทธอุทานในยามนี้ว่า...
***ในกาลใดแล ธรรมทั้งหลายมาปรากฏแก่พราหมณ์ ผู้มีความเพียรเพ่งอยู่ ความสงสัยทั้งปวงของพราหมณ์นั้นย่อมสิ้นไป เพราะมารู้แจ้งความสิ้นไป แห่งปัจจัยทั้งหลาย***
- ในปัจฉิมยาม
พระพุทธองค์ ทรงพิจารณาปฏิจจสมุปบาท โดยทั้งอนุโลมและปฏิโลม แล้วจึงทรงเปล่งพุทธอุทานในยามสุดท้ายนี้ว่า...
***ในกาลใดแล ธรรมทั้งหลายมาปรากฏแก่พราหมณ์ ผู้มีความเพียรเพ่งอยู่ ใน กาลนั้น พราหมณ์นั้นย่อมกำจัดมารและเสนามารเสียได้ ประดุจดังพระอาทิตย์อุทัยที่ทอแสงขจัดความมืด และส่องแสงสว่างอยู่ในห้วงอากาศฉันนั้น***
สัปดาห์ที่ ๒
(อนิมิสเจดีย์)
ก็ครั้นล่วงผ่านมา 7 วัน...
พระพุทธองค์ จึงทรงเสด็จลงจากรัตนบัลลังก์ แล้วเสด็จพระดำเนินไปทางทิศเหนือของต้น พระศรีมหาโพธิ์
ครั้นเมื่อได้ระยะทางอันพอสมควร
แก่การทอดพระเนตรแล้ว พระพุทธองค์
จึงทรงประทับยืนหันมา...
ทางต้นพระศรีมหาโพธิ์แล้วทรงทอดพระเนตรต้นพระศรีมหาโดยที่พระองค์นั้น มิได้กระพริบพระเนตรเลย ตลอดทั้ง 7 วัน
ซึ่งในตอนนั้น...
พระพุทธองค์ ทรงทบทวนความทรงจำทั้งหมด ในเหตุการณ์ต่างๆที่ผ่านมาโดยลำดับ ประหนึ่งเป็นการขอบคุณ
ต้นพระศรีมหาโพธิ์ที่ให้ร่มเงาแก่พระองค์ในการบำเพ็ญเพียร จนได้บรรลุพระโพธิญาณอันประเสริฐสูงสุด
และยังกล่าวได้ว่า ต้นพระศรีมหาโพธิ์นี้ยังเป็นต้นไม้ที่ให้กำเนิดพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และพระสัจธรรมอันบริสุทธิ์ ซึ่งสามารถชำระล้างกิเลสนานาชนิดของสัตว์โลกได้อย่างเด็ดขาดหมดสิ้น
สถานที่อันสำคัญนี้จึงได้มีชื่อเรียกว่า
"อนิมิสเจดีย์"
สัปดาห์ที่ ๓
(รัตนจงกรมเจดีย์)
ก็ครั้นล่วงผ่านมา 7 วัน...
พระพุทธองค์ จึงทรงเสด็จลงจาก
นิมิสเจดีย์ แล้วทรงมาประทับหยุดอยู่ระหว่าง ต้นพระศรีมหาโพธิ์ กับอนิมิสเจดีย์
ลำดับนั้น...
พระพุทธองค์จึงทรง เนรมิตสถานที่จงกรมขึ้น ณ สถานที่นั้น ณ ลานจงกรมนี้ พระพุทธองค์ทรงเสด็จพุทธดำเนินจงกรม เป็นเวลา 7 วัน
สถานที่อันสำคัญนี้จึงได้มีชื่อเรียกว่า
"รัตนจงกรมเจดีย์"
สัปดาห์ที่ ๔
(รัตนฆรเจดีย์)
ก็ครั้นล่วงผ่านมา 7 วัน...
พระพุทธองค์ จึงทรงเสด็จจากรัตนจงกรมเจดีย์ไปสู่ยัง (รัตนฑรเจดีย์)
ซึ่งเหล่าเทพยดาได้เนรมิตสร้างขึ้นถวายพระพุทธองค์ ซึ่งปรากฏตั้งอยู่ใน
ทิศพายับ (ทิศตะวันตกเฉียงเหนือ)
แห่งต้นพระศรีมหาโพธิ์
ลำดับนั้น...
องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงประทับที่รัตนฆรเจดีย์ แล้วทรงพิจารณา พระไตรปิฎกอันประกอบด้วย
พระธรรมขันธ์ 84,000 พระธรรมขันธ์
และในตอนที่พระพุทธองค์กำลังทรงพิจารณาพระอภิธรรมปิฎก มาจนถึง
มหาปัฏฐาน ซึ่งมีปัจจัย 24 นั้น
ขณะนั้นเอง...
(พระฉัพพรรณรังสี) คือ พระรัศมีที่เปล่งแสงออกมาจากพระวรกายของพระบรมศาสดาเจ้าเป็นลำแสงที่ประกอบด้วยสี
ทั้ง 6 สี กล่าวคือ
1. นีละ
พระรัศมีสี (น้ำเงิน)
- สีเหมือนดอกอัญชัน
2. ปีตะ
พระรัศมีสี (เหลือง)
- สีเหมือนทองคำอันบริสุทธิ์
3. โรหิตะ
พระรัศมีสี (แดง)
- สีเหมือนพระอาทิตย์อ่อนๆ
4. โอทาตะ
พระรัศมีสี (ขาว)
- สีเหมือนเงินยวง คือ เนื้อเงินบริสุทธิ์ที่ละลายคว้างอยู่ในเบ้า มีสีขาวเงินเป็น
มันวาว
5. มัญเชฏฐะ
พระรัศมีสี (แสด)
- สีเหมือนดอกหงอนไก่
6. ประภัสสร
พระรัศมีสี (เลื่อมพรายเหมือนแก้วผลึก)
- คือ มีสีทั้ง 5 ข้างต้นรวมกันทั้งหมดใสลำแสงเดียว
และพระรัศมีทั้ง 6 นี้ ได้แผ่สร้านจาก
พระวรกาย เป็นสายรุ่งแวดล้อมไปโดยรอบครอบงำแสงสุริยาจนเศร้าหมอง ประดุจดังแสงของหิงห้อย พระพุทธองค์ได้ทรงพิจารณาอยู่ 7 วัน
สถานที่อันสำคัญนี้จึงได้มีชื่อเรียกว่า
"รัตนฆรเจดีย์"
เอวังก็มีด้วยประการฉะนี้
***คัดลอกบทความจาก หนังสือ พุทธประวัติตามแนวปฐมสมโพธิ เจตนาเป็นธรรมทาน***
หากมีข้อผิดพลาดประการใด ก็กราบขออภัย ท่านผู้อ่านไว้ ณ ที่นี้ด้วยครับ
หากท่านผู้ใดชอบ ก็ขอฝากติดตามอ่านตอนต่อไปด้วยนะขอรับ ^-^
ขอความสวัสดีจงมีแก่ท่านผู้อ่านขอธรรมของพระพุทธองค์จงมีแด่ ท่าน สาธุครับ (ต้นธรรม)
***เอกสารอ้างอิง***
#หนังสือ.ปฐมสมโพธิกถา
#หนังสือพุทธประวัติตามแนวปฐมสมโพธิ (พระครูกัลยาณสิทธิวัฒน์)
# ฉัพพรรณรังศี พระอภิธรรมปิฎก เล่ม1 ภาค 1 หน้า 34
#เพิ่มเติมเนื้อหาใหม่/ภาพประกอบ.ต้นธรรม
#Facebook Page🔜 :
โฆษณา