11 ธ.ค. 2019 เวลา 16:28 • บันเทิง
MovieTalk หนังชนโรง
Ford v Ferrari ชิงหนึ่งศึกศักดิ์ศรี
เป็นแค่รถยนต์บ้านใช้งานอย่าได้เสนอหน้าบนสนามแข่ง
นั่นคือคำสบประมาทของซีอีโอเฟอร์รารี่ เอนโซ เฟอร์รารี่ ที่มีต่อ เฮนรี่ ฟอร์ดที่สอง เจ้าของค่ายรถยนต์ยักษ์ใหญ่สัญชาติอเมริกัน
หยามกันขนาดนี้ เฮนรี่ ฟอร์ด ที่สอง ประกาศจะต้องนำรถยนต์ฟอร์ดลงแข่ง และจะต้องชนะเฟอร์รารี่ให้ได้ ไม่ว่าจะต้องทุ่มเงินมากแค่ไหนก็ตาม
"เงินซื้อความเร็วไม่ได้
แต่เงินสามารถหาคนที่ทำให้โอกาสนั้นเป็นจริงได้"
นั่นคือคำพูดของ คาร์โรล เชลบี นักแข่งรถอเมริกันคนเดียวที่เคยชนะบนสนามแข่งเลอมังส์
จะทำให้ฟอร์ดชนะเฟอร์รรารี่ได้ ต้องมีนักขับที่รู้จักรถ รู้จักสนามแข่งเป็นอย่างดี และคนนั้นคือ เคน ไมล์ส นักขับห้าวเป้ง
เชลบี และ ไมล์ส คือเพื่อนรักกัน สองประสานที่สุมหัวกันสร้าง และขับรถยนต์ของฟอร์ดที่จะชิงความเป็นหนึ่งจากเฟอร์รารี่บนสนามแข่งขันที่ต้องขับมาราธอน 24 ชั่วโมง สนามที่ชื่อ...เลอมังส์
1
จากเหตุการณ์จริงที่ขับเคี่ยวกันระหว่าง ฟอร์ด กับ เฟอร์รารี่ เพื่อชิงความเป็นหนึ่งบนสนามแข่งขันสุดทรหด เลอมังส์ ในปี 1966 นี่คือเรื่องราวก่อนจะไปสู่การชิงชัยนั้น มันเต็มไปด้วยดรามาขับเคี่ยวกันระหว่าง คนกับคน องค์กรกับองค์กร แต่สำคัญที่สุดคือ ตัวตนตน ความคิด และจิตใจของตนเอง
เจมส์ แมนโกลด์ ผู้กำกับที่เคยพาวูล์ฟเวอรีนเฒ่าไปตายใน Logan ทำหน้าที่กำกับ Ford v Ferrari ที่ต้องบอกเลยว่า นี่คือหนังครบรสแบบที่นาน ๆ จะมาสักที
ไม่ว่าจะเป็นการแสดงดรามาดี ๆ จากสองนักแสดงนำ แมตต์ เดมอน กับ คริสเตียน เบล ที่เล่นอย่างเนียนตาเหลือเกิน
ฉากแข่งรถที่ต้องลุ้นกันตัวโก่ง หรือ ประเด็นย่อยที่หนังอยากนำมาเล่าเกี่ยวกับชั้นเชิงเฉือนคมในสายงานภายใต้องค์กรเดียวกัน และต้องไม่ลืมว่านี่คือหนังแนวดัดแปลงจากเหตุการณ์จริง บุคคลจริง
บทหนังของ เจซ กับ จอห์น-เฮนรี่ บัซเตอร์วอร์ธ และ เจสัน เคลเลอร์ สามารถเกลี่ยบทให้กับหนังอย่างครบทุกมิติ และไม่ว่าจะหยิบจับประเด็นไหนขึ้นมา ก็จะมีเรื่องให้เล่าอยู่ดี
หนังยังสะท้อนให้เห็นการชิงชัยเพื่อให้อยู่ในฐานะที่ ‘เหนือกว่า’ มันเกิดขึ้นได้ทั้งในสนามแข่งและนอกสนามแข่ง
ในสนามแข่งขัน มันคือการชิงขัยสองค่ายรถยนต์อเมริกัน (ฟอร์ด) กับ อิตาเลี่ยน
(เฟอร์รารี่) ที่ฝ่ายหลังก็คือราชาบนสนามแข่ง ส่วนฝ่ายแรก ฟอร์ดเป็นได้แค่รถบ้านใช้งานที่อาจหาญท้าสู้กับรถแข่งสายดุ
แม้จะอ้างอิงจากเหตุการณ์จริง ทั้ง ๆ ที่หลายคนได้รับรู้เรื่องราวจริงอยู่แล้วว่าผลสุดท้ายชัยชนะจะเป็นของทีมไหน แต่หนังก็ยังสามารถทำให้คนดูลุ้นจนนั่งไม่ติดเก้าอี้ไปตลอดการแข่งขัน ทุกฉากแข่งรถเต็มไปด้วยความสมจริง กระทั่งเสียงเครื่องยนต์
ส่วนนอกสนาม การพัฒนารถยนต์ Ford GT40 แครอล เชลบี้ ก็ต้องเจอศึกหนักภายในองค์กรฟอร์ด กับวิธีคิดแบบนักการตลาดที่เน้นภาพลักษณ์ และผลลัพธ์ทางด้านการตลาด ของ ลีโอ บีบี เบอร์สองของฟอร์ด กับ วิธีคิดแบบ Put the right man on the right job ของเชลบี เลือกคนให้ถูกกับงาน เคน ไมล์ส คือตัวเลือกเทพสุด ถ้าจะหาคนที่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกับรถของต้อง เคน ไมล์ส คนนี้เลย
แต่ดันไปสะดุดหัวแม่เท้าของลีโอ ที่เขม่นขี้หน้านักแข่งห้าวเป้งคนนี้  และมันก็ดันเป็นเรื่องร่วมสมัยที่ขนาดมาถึงยุคที่จะเปลี่ยนผ่านไปใช้รถยนต์ไฟฟ้าแล้ว แต่เรื่องแบบนี้ก็ยังเกิดขึ้นโดยไม่เกี่ยงยุคสมัยกับทุกองค์กร
ถ้าการแข่งขันกันในสนามกับนอกสนามยังไม่พอ บทหนังยังพาคนดูไปพบการแข่งขันภายในตัวตนคนและรถอีกหนึ่งประเด็น เพราะรถยนต์ที่จะสามารถวิ่งแบบไม่มีการหยุดพักตลอด 24 ชั่วโมง คุณคิดว่ามันต้องเป็นรถที่มีสมรรถนะอึดแค่ไหนถึงจะทำได้
เช่นเดียวกับคนขับรถ ต่อให้คุณจะแตะมือกันเปลี่ยนขับ แต่การนั่งอยู่หลังพวงมาลัยที่ต้องควบคุมความเร็ว กับสภาพถนนที่พร้อมจะเจอกับเหตุไม่คาดคิด และสุดท้ายกับการเลือกระหว่าง ‘อัตตา’ กับ ‘ทีมเวิร์ค’ คุณจะเลือกอะไร นี่คือการต่อสู้กับตนเอง เป็นอินเนอร์ล้วน ๆ ของตัวละครในหนัง
(ซ้าย) แครอล เชลบี/(ขวา) แม็ตต์ เดมอน
การแสดงแบบเข้าขาจนเชื่อสนิทใจว่านี่คือเพื่อนรักเพื่อนตายของ แมตต์ เดมอน ในบท แครอล เชลบี ชายที่มุ่งมั่นที่จะพัฒนารถพอ ๆ กับยึดมั่นในจุดยืนที่คัดง้างกับใครหน้าไหนก็ตามที่คิดจะขัดขวาง และความรอบจัดเต็มชั้นเชิง ลืมภาพของสายลับทักษะสูงแบบ เจสัน บอร์น ของเดมอนไปได้เลย
(ซ้าย) เคน ไมล์ส/(ขวา) คริสเตียน เบล
แต่ที่ดีงามพระรามแปดและจับใจคนดูเป็นตัวประกันก็ต้อง คริสเตียน เบล กับการแปลงกายตัวเองเป็น เคน ไมล์ส นักขับรถที่รู้จักรู้ใจรถ พอ ๆ กับความสามารถบนท้องถนน ผู้ชายที่พยายามเป็นหัวหน้าครอบครัวที่ทำให้ภรรยา และลูกมีอนาคตที่ดี เบลมาแบบแสดงเหมือนไม่ได้แสดง ระหว่างดูไม่ได้รู้สึกถึงการแสดงเลย บอกกันตรงนี้เลยว่า ผมเชียร์เบลกับบท เคน ไมล์ส บนเวทีออสการ์ ต่อให้ระดับโจ๊กเกอร์ก็เถอะ บทนี้ของเบลก็ไม่ได้ว่าเล่นง่ายเหมือนกัน
(ซ้าย) จอช ลูคัส/(ขวา) ลีโอ บีบี
จอช ลูคัส ยังคงเสมอต้นเสมอปลายกับการเป็นไอ้ตัวร้ายในหนัง กับบท ลีโอ บีบี ที่คนดูพร้อมจะเผาพริกเผาเกลือแช่ง
(ซ้าย) จอห์น เบิร์นธัล/(ขวา) ลี แอคคอคคา
จอห์น เบิร์นธัล ในบท ลี แอคคอคคา ทีมวิจัยของฟอร์ดที่ถือหางฝั่งเชลบี
(ซ้าย) เทรซี่ เล็ตตส์/(ขวา) เฮนรี่ ฟอร์ด ที่สอง
เทรซี่ เล็ตตส์ เป็น เฮนรี่ ฟอร์ดที่สอง เจ้าของฟอร์ดที่ต้องการกู้ศักดิ์ศรี
ไซทริโอนา เบลฟี เป็น มอลลี่ ไมล์ส ภรรยาคู่ทุกข์คู่ยากของเคน ถ้าจะถามหาผู้หญิงที่พร้อมจะกัดก้อนเกลือและยืนเคียงข้างสามีก็ต้องเธอคนนี้เลย
เช่นเดียวกับ โนอา จู๊ป ในบท ปีเตอร์ ลูกชายคนเดียวของเคน ที่เห็นพ่อเป็นฮีโร่ไม่ว่าจะในหรือนอกสนามแข่งรถ
หลายคนอาจคิดว่าอวยหนังกันสุดลิ่มทิ่มประตู แต่เชื่อเถอะ ถ้าจะหาหนังครบรสดี ๆ แบบนี้ ที่สุดท้ายเมื่อดูหนังจบออกมา เรามีอะไรให้ได้เก็บกลับไปคิดต่อ Ford v Ferrari คือหนังเรื่องนี้ครับ
หนังดีที่ไม่ควรมองข้าม
ไม่ว่าคุณจะเก่งมาจากไหน แต่เมื่อต้องทำงานร่วมกับคนอื่น การคำนึงถึงทีมเวิร์คคือบทพิสูจน์ว่าคุณเก่งเป็นคนเดียว หรือเก่งกันเป็นทีม!
ส่วนคนที่อยากรู้เรื่องราวเหตุการณ์จริง ชังบัลลังก์แชมป์เลอ มังส์ ของ ฟอร์ด กับ เฟอร์รารี่ ตามไปอ่านได้ตามลิงก์นี้ครับ
Ford v Ferrari: 24 ชั่วโมงแห่งการชิงชัยของสองมหาอำนาจ ที่กลายเป็นตำนานโลกยานยนต์
ขอบคุณที่มาข้อมูล: sanook.com/sport
24 ชั่วโมง เลอมังส์
เป็นการแข่งขันรถยนต์ที่ต้องขับรถแบบมาราธอน ยาวนานถึง 24 ชั่วโมง โดยใช้นักขับสลับกันอยู่หลังพวงมาลัย 2 คน (แต่ปัจจุบันเพิ่มเป็น 3 คน) เริ่มจัดให้มีการแข่งขันตั้งแต่ปีค.ศ. 1923
สนามแข่งขันคือถนนที่วิ่งผ่านใกล้เมืองเลอมังส์ เมืองหลวงของ ซาร์ด แค้วนเปอีเดอลาลัวร์ ของประเทศฝรั่งเศส
ด้วยความที่รถที่เข้าแข่งต้องถูกใช้งานแบบไม่มีการพัก สมรรถนะรถยนต์นั้นจึงต้องสำคัญมาก พอ ๆ กับทีมงานที่จะจัดการเมื่อรถเข้าพีตอย่างไร ซึ่งทั้งต้องแก้ปัญหา และใช้เวลาสับเปลี่ยนอะไหล่ให้น้อยที่สุด
การทดสอบความอึดทรหดนี้ยังรวมไปถึงนักขับรถที่ต้องเผชิญปัญหาร้อยแปดในระหว่างขับรถ และต้องต่อสู้กับความเหนื่อยล้าจากการขับขี่ภายใต้การทำความเร็วให้ทัน หรือแซงหน้าคู่แข่งคันอื่น
ขอบคุณที่มาข้อมูล: Wikipedia
Ford v Ferrari
Directed: James Mangold/ Starring: Matt Damon, Christian Bale, Jon Bernthal, Caitriona Balfe, Tracy Letts, Josh Lucas/Written: Jez Butterworth, John-Henry Butterworth, Jason Keller/Music: Marco Beltrami, Buck Sanders/Cinematography: Phedon Papamichael/Edited: Michael McCusker, Andrew Buckland/Distributed: 20th Century Fox/Running time: 152 Mins./Rated: PG-13
ขอบคุณที่มาข้อมูล: IMDb, Wikipedia, Rotten Tomatoes, Youtube
ขอบคุณที่มาภาพประกอบ: IMDb, boxthislap.org, Motor Sport Magazine, alternateending.com, All That’s Interesting, tribunnews.com, vitalthrills.com, slate.com, hotrod.com
โฆษณา