11 ธ.ค. 2019 เวลา 05:12 • ศิลปะ & ออกแบบ
เรือนขนมปังขิง มีที่มาอย่างไร ??
เรื่องราวของบ้านไม้ลายฉลุอ่อนช้อยนี้
มาตามสัญญาที่ให้ไว้กับท่านผู้อ่านกิตติมศักดิ์ อย่างคุณ Good stories
เรียกได้ว่า คุณกู๊ดเลือกหัวเรื่องเข้ากับเทศกาลมั่กๆ
เพราะต้นทางของบ้านแบบนี้ มีที่มาจาก ขนมขิง (Gingerbread) ซึ่งนิยมทำกันในช่วงเทศกาลคริสต์มาส
ขนมขิงเป็นขนมกรอบที่มีส่วนผสมหลักเป็น แป้ง น้ำผึ้ง และ เครื่องเทศ
นิยมทำเป็นรูปร่างต่างๆ
ที่ดังหน่อยก็คือรูปคนที่เราเรียกกันว่า จินเจอร์เบรดแมน (Gingerbread man)
และรูปบ้าน ที่เรารู้จักกันดีผ่านนิทานของพี่น้องตระกูล กริมม์ "ฮัลเซล แอนด์ เกรเทล"
และนี่ก็คือที่มาของบ้านที่มีลวดลายประดับสวยงามว่า "บ้านขนมปังขิง" ในประเทศไทย
ถ้าเล่าย้อนเวลาขึ้นไป ต้องเริ่มตั้งแต่สมัยรัชกาลที่สี่ ที่ทรงโปรดให้นำวิทยาการทันสมัยต่างๆมาจากฝั่งตะวันตก
หนึ่งในนั้นคือ รูปแบบอาคารบ้านเรือน
บ้านไทยสมัยก่อน ลักษณะหลังคาส่วนมากจะเป็นทรงจั่ว
แต่ในสมัยสมเด็จพระจอมเกล้านี้ เริ่มนิยมทำหลังคาเป็นทรงปั้นหยาตามอย่างชาวตะวันตก (ดูเรื่องรูปแบบทรงหลังคาได้จากโพสต์ก่อนๆนะครับ)
แต่เมืองเราเป็นเมืองร้อน จึงได้มีการพัฒนาให้มีช่องให้ระบายอากาศร้อนออกจากใต้หลังคาได้ดีขึ้น ที่เราเรียกกันว่า หลังคามะนิลา
รูปแบบสถาปัตยกรรมจากทางตะวันตกเหล่านี้เป็นที่นิยมมากขึ้นในหมู่ชนชั้นนำและคหบดีในสมัยนั้น
มีปริศนาคำทายสมัยเด็กๆที่เราคุ้นเคยกันดีอย่าง
"สี่ตีนเดินมา หลังคามุงกระเบื้อง"
ก็มาจากรูปแบบหลังคาปั้นหยานี้
หรือ ยังมีอีกปริศนาคำทายหนึ่ง ที่ไม่ค่อยได้นำมาเล่นกันนักคือ
"เรือนปั้นหยาทาสีเขียว
เด็กคนเดียวนอนมุ้งขาว"
ใครรู้บ้างครับว่า หมายถึงอะไร
(คำเฉลย จะมีในช่องคอมเม้นท์นะ)
🍈 🍈 🍈 🍈 🍈
กลับมาที่เรื่องของเรา
เรือนขนมปังขิงหลังแรกๆนั้นเกิดขึ้นประมาณต้นสมัยรัชกาลที่ห้า
ลักษณะลวดลายยังไม่ซับซ้อนนัก หน้าจั่วไม่มีฉลุลาย แต่ทำเป็นลายนูนเส้นวงกลมตรงกลาง ขนาบด้วยลายเส้นรูปสามเหลี่ยมทั้งสองข้าง ครีบชายคาฉลุเป็นลายหยดน้ำ อย่างที่พระราชวังเกาะสีชัง หรือ สถานีรถไฟบางปะอิน
ปลายสมัยรัชกาลที่ห้า ต่อเนื่องมาต้นรัชกาลที่หก มีช่างไม้ฝีมือดีจากเมืองจีนเข้ามาอยู่ในสยามมากขึ้น
เรือนขนมปังขิงจึงเริ่มมีลวดลายสลับซับซ้อน ดูแบบบางอ่อนช้อยและโปร่งเบามากขึ้นตามทักษะฝีมือ
มีการใช้ช่องลมเหนือหน้าต่างโค้ง บางที่จะมีคันทวยหูช้างใต้ชายคา
อย่างหนึ่งที่แปลกเพิ่มขึ้นมาคือ ที่ยอดแหลมหน้าจั่วเหนือส่วนปั้นลม จะมีเสาไม้กลึงปลายประกบสองข้างด้วยลายฉลุงดงาม
ทำให้อาคารดูโปร่งเบา อ่อนช้อยมากขึ้น
อย่างที่ศาลาท่าน้ำ โบสถ์ซางตาครู้ส ธนบุรี  หรือที่บ้านหลวงบุรีราชบำรุง ที่ถนนสีลมซอย 3 (เกศราบูติคโฮเทล ในปัจุบัน)
ต่อมา เมื่อสภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ เข้าสู่ช่วงสงครามโลกทั้งสองครั้ง การประดับประดาหรูหราฟู่ฟ่าก็ลดน้อยลงตามสภาพบ้านเมือง
อีกทั้งรูปแบบการพัฒนาของโลกก็เข้าสู่ยุคอุตสาหกรรมเต็มรูปแบบ ส่งผลถึงลักษณะอาคารบ้านเรือนก็เริ่มเข้าสู่ยุคโมเดิร์นมากขึ้น
บ้านเรือนแบบขนมปังขิงจึงค่อยๆลดน้อยลงเรื่อยๆตามสภาพสังคม
เราจะเห็นว่า คุณค่าของอาคารเหล่านี้ มันไม่ใช่เพียงสิ่งสวยงามที่เราจะเพียงแค่แวะไปปักหมุดถ่ายรูปเพื่อแชร์ลงเฟสเท่านั้น
แต่มันมีเรื่องราวปัจจัยเบื้องหลังมากมายซ่อนอยู่ให้ค้นหา
ลวดลายประดับเหล่านี้ ก็เหมือนงานศิลปะสถาปัตย์อื่นๆ ซึ่งจะเกิดขึ้นได้ ก็เพราะการเห็นคุณค่าร่วมกันจากหลายฝ่าย
ทั้งเจ้าของอาคารผู้ออกเงิน จินตนาการของผู้ออกแบบ
ฝีมือและความละเอียดของช่าง
และความพร้อมของวัสดุอุปกรณ์
ดังนั้นเราควรถือคติ
ก่อนแชะและแชร์ ถ้ารู้เบื้องหลังเพิ่มอีกนิด จะโม้ได้มันมากขึ้น
ขอให้สนุกกับการใช้ชีวิตนะครับ 😁😁
"ยิ่งคุณรู้อดีตมากขึ้นเท่าไร คุณก็พร้อมสำหรับอนาคตมากขึ้นเท่านั้น
The more you know about the past, the better prepared you are for the future."
ธีโอดอร์ รูสเวลต์
โฆษณา