18 ธ.ค. 2019 เวลา 05:00 • ประวัติศาสตร์
พุทธประวัติ ตอนที่ 36
เสวยวิมุตติสุข 7 แห่ง (สัตตมหาสถาน)
สัปดาห์ที่ 5 อชปาลนิโครธ (ตอนที่ 2)
ทรงแก้ปัญหาทิฐิมานะหุหุกพราหมณ์
หลังจากที่พระพุทธองค์ทรงกำราบเหล่าธิดามารไปได้ไม่นานนัก
ต่อจากนั้นเอง...
ได้มี พราหมณ์ ผู้หนึ่งอันมีนิสัยสันดานพาลชอบตวาดใส่ผู้อื่นว่า ***หึหึ***
ซึ่งถือว่าเป็นคำหยาบ
ก็ หุหุกพราหมณ์นั้น ได้เดินทางผ่านมาเจอกับ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่ กำลังทรงประทับนั่งสงบนิ่งอยู่
ณ โคนต้นอชปาลนิโครธอยู่นั้น
ก็ด้วยความที่เห็นว่าพระพุทธองค์ทรงครองเพศเป็นสมณะพร้อมด้วยจริยาวัตรอันสงบ จึงเป็นเหตุทำให้หุหุกพราหมณ์ เกิดความอยากทดสอบข้อธรรม จึงได้เข้าไปทูลถามปัญหากับพระพุทธองค์ใน ณ ที่นั้น
ณ ต้นอชปาลนิโครธ
หุหุกพราหมณ์ทูลถามว่า :
***ข้าแต่ท่านสมณะผู้สงบ ข้าข้าพเจ้ามีนามว่าหุหุกพราหมณ์ บัดนี้ข้าพเจ้านั้ยมีข้อสงสัยใคร่จักสอบถามข้อธรรมแด่ท่าน ขอท่านสมณะจงโปรดอนุเคราะห์แก่ข้าพเจ้าด้วยเถิด หึหึ.. (ก็อันบุคคลชื่อว่าเป็นพราหมณ์นั้น ด้วยเหตุใด และธรรมอะไร ที่จักทำให้บุคคลนั้นเป็นพราหมณ์) ***
พระพุทธองค์ทรงตรัสตอบว่า :
***ดูก่อนหุหุกพราหมณ์...
ผู้ใด มีบาปธรรมอันลอยแล้ว มิมีกิเลสเป็นเครื่องขู่ผู้อื่นว่า (หึหึ) อันเป็นคำหยาบ และมิมีกิเลสย้อมจิตใจให้ติดแน่นดุจน้ำฝาด (หมายถึง น้ำที่มีรสฝาด เกิดจากการเอาเปลือกไม้แก่นไม้เป็นต้นของไม้บางชนิดเช่นขนุนมาต้ม ใช้ย้อมสบงจีวร ฝาด ก็ว่า เช่น ผ้าย้อมฝาด)
พึงมีใจสำรวมแล้ว ถึงที่สุดแห่งเวทแล้ว มีพรหมจรรย์อยู่จบแล้ว ผู้นั้นมิมีกิเลสเป็นเครื่องฟูขึ้นในโลก ดังนี้ ควรเรียกผู้นั้นว่าเป็นพราหมณ์โดยธรรม***
ก็ด้วยพระดำรัสนี้...
พระพุทธองค์ทรงแสดงถึง สมณะเช่นนี้ว่าเป็นพราหมณ์ และทรงแสดงธรรมอันเป็นเหตุทำให้บุคคลให้เข้าถึงการเป็นสมณะว่า...***เป็นธรรมอันทำบุคคลให้เป็น พราหมณ์ในพระพุทธศาสนา***
นั่นเป็นเช่นไร ก่อนจะไปตรงจุดนั่นเราลองมาดูวิถีความเชื่อกับการศึกษาความรู้ของเหล่าพราหมณ์ในยุคสมัยนั้นกันก่อนครับ
คือบุคคลที่ได้อยู่ในวรรณะพราหมณ์นั้น จะปลูกฝั่งความเชื่อว่า พวกของตนเองเป็นผู้สืบเชื้อสายมาจากพระพรหม คือในชีวิตจริงนั้น พวกเขาจะไม่เข้าไปปะปนกับชนวรรณะอื่น คือถ้าจะหาคู่ ก็ต้องเป็นวรรณะพราหมณ์เช่นเดียวกันเท่านั้นจึงจะถือว่า บริสุทธิ์
และพราหมณ์จะมีพิธีสำคัญที่มีจัดขึ้นทุกปีเรียกว่า (ศิวาราตรี) คือในพิธีนั้นพวกเขาจะพากันลงอาบน้ำในแม่น้ำให้สะอาด และเชื้อว่าวิธีนี้เป็นการชำระบาปกรรมต่างๆ ที่ได้ทำมาแล้วในปีนี้จนหมดสิ้นไป ทำให้เชื่อว่าตนเองจะกลายเป็นผู้บริสุทธิ์จากบาปนั้นเองครับ
ส่วนการศึกษาสำหรับพราหมณ์นั้น คือมี 4 อย่าง เรียกว่า (พระเวท หรือ เพท) มีดังนี้
1. อิรุพเพท (ฤคเวท)
ตำราแสดงบทสวดมนต์ในพิธีกรรมต่างๆ
2. ยชุพเพท (ยชุรเวท)
ตำราแสดงบทสวดและพิธีทำกิจเกี่ยวกับการบูชายัญ
3. สามเพท (สามเวท)
ตำราแสดงพิธีสวดเป็นทำนองในเวลาทำพิธี
4. อถัพพนเพท (อถัพพนเวท)
ตำราแสดงพิธีรักษาโรค ไล่ผี และเวทมนต์ต่างๆ
ในยุคก่อนจะมีเพียง 3 เพท ขั้นต้น
เรียกว่า (ไตรเพท) ต่อมาในยุคหลังมีการเพิ่มมนต์คาถาทางไสยศาสตร์ขึ้น จึงเรียกว่า (อถัพพนเพท) จึงรวมเป็น 4
โดยเรียกใหม่ว่า (จตุเพทางคศาสตร์)
พราหมณ์ที่ศึกษาวิชา ทั้ง 4 นี้ จึงเรียกว่า (พรหมจารี) คือ ผู้ประพฤติพรหมจรรย์
ส่วนผู้ที่ศึกษาจนจบแล้วจะได้ชื่อว่า
(ถึงที่สุดเพท อยู่จบพรหมจรรย์แล้วนั่นเอง)
กลับมาในส่วนของทางพระพุทธศาสนาบ้างครับ
พระพุทธองค์ทรงแสดงธรรมไว้ว่า...
***บุคคลผู้ยังบาปให้สงบระงับจากสันดานแล้ว ละกิเลสได้แล้ว ควรเรียกบุคคลผู้นั้นว่า.. (เป็นพราหมณ์) และผู้ที่ได้ศึกษา
*ศีล สมาธิ ปัญญา* จบแล้ว กิจที่จักต้องทำก็ได้ทำแล้ว ควรเรียกบุคคลผู้นั้นว่า..
(อยู่จบพรหมจรรย์แล้ว)***
เอวังก็มีด้วยประการฉะนี้
***คัดลอกจาก หนังสือ พุทธประวัติตามแนวปฐมสมโพธิ เจตนาเป็นธรรมทาน***
หากมีข้อผิดพลาดประการใด ก็กราบขออภัย ท่านผู้อ่านไว้ ณ ที่นี้ด้วยครับ
หากท่านผู้ใดชอบ ก็ขอฝากติดตามอ่านตอนต่อไปด้วยนะขอรับ ^-^
ขอความสวัสดีจงมีแก่ท่านผู้อ่านขอธรรมของพระพุทธองค์จงมีแด่ ท่าน สาธุครับ (ต้นธรรม)
***เอกสารอ้างอิง***
#หนังสือ.ปฐมสมโพธิกถา
#หนังสือพุทธประวัติตามแนวปฐมสมโพธิ (พระครูกัลยาณสิทธิวัฒน์)
#เพิ่มเติมเนื้อหาใหม่/ภาพประกอบ.ต้นธรรม
#Facebook Page🔜 :
โฆษณา