18 ธ.ค. 2019 เวลา 09:13 • การศึกษา
"ที่สุดแห่งความโลภ" จะเป็นอย่างไรเมื่อความโลภ(Greed) ได้ถูกขยาย(Maximize) ขึ้นไปถึงขีดสุด
ก่อนหน้านี้ได้เห็นเพื่อนๆนักเขียนด้วยกัน แนะนำหนังเรื่อง interstellar และได้ให้มุมมองในแง่มุมต่างๆ ได้อย่างน่าสนใจ
ทางเพจหมูน้อยจึงอยากแนะนำหนัง เรื่อง Inside Job หนังแนวสารคดี (Documentary) สารคดี "ทางการเงิน" ที่จะทำให้ท่านเข้าใจถึงที่สุดแห่งความโลภ ว่า
เมื่อ "ความโลภ" อยู่ในตัวของ มนุษย์ที่มีพร้อมทั้ง
สถานะทางการเงิน ความรู้ และสามารถขับเคลื่อนการเมือง
จะสามารถสร้างหายนะไปได้ถึงระดับใด
คำตอบของหนังเรื่องนี้ คือ วิกฤติซับไพรม์(Subprime mortgage crisis)
หรือในประเทศไทยมักจะเรียกว่า วิกฤติแฮมเบอร์เกอร์(เพราะมันเริ่มมาจากอเมริกาครับ อย่างวิกฤติทางการเงินที่เกิดขึ้นในประเทศไทยจะเรียกว่าวิกฤติต้มยำกุ้ง)
หนังเรื่อง "Inside Job" เป็นหนัง ที่จะทำให้ทุกท่านเข้าใจถึงต้นตอ ว่าสาเหตุที่มันสร้างหายนะได้ขนาดนี้ ไม่ได้เริ่มมากจากบุคคลเพียงเเค่คนเดียว แต่มันเกี่ยวข้องกับบุคคลต่างๆมากมายหลายกลุ่ม ตัวละครในหนังเรื่องนี้คือบุคคลจริงที่มีความเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์นั้นทั้งสิ้น
.
https://image.slidesharecdn.com/subprimemortgageloans-160324011145/95/subprime-mortgage-loans-blownmortgagecom-1-638.jpg?cb=1458782080
ผมขอเกริ่นเรื่องวิกฤติซับไพร์มเพื่อปูพื้นฐานเล็กน้อย
จุดเริ่มต้นมันมาจาก กลุ่มบริษัทวานิชธนกิจ(กลุ่มบริษัทการเงินของอเมริกา) ได้ทำงานร่วมกับธนาคารกลางสหรัฐ ให้มีการ "ลดอัตราดอกเบี้ย" เพื่อที่จะทำให้การลงทุนภาคเอกชนขยายตัว และเพิ่มอัตราการบริโภคและการลงทุนของประชาชน ในช่วงประมาณปี 2002
เมื่อแนวโน้มเศรษฐกิจดีขึ้น ทำให้มีการสร้างบ้านและที่อยู่อาศัยเป็นจำนวนมาก ตลาดสินเชื่อที่อยู่อาศัยมีขนาดถึง 60% ของกิจกรรมทางเศรษฐกิจทั้งหมดของประเทศ
ด้วยการลดอัตราดอกเบี้ยในครั้งนั้นเองทำให้ช่วงระหว่างปี 2002-2008
เหล่าธนาคารทั้งหลายในอเมริกาก็ได้ออก "นโยบายเพื่อให้สามารถปล่อยสินเชื่อได้มากขึ้น"
โดยที่ผู้ขอสินเชื่อไม่จำเป็นต้องใช้หลักประกันอะไรมากมาย เรียกว่า “Subprime Mortgages Loan” หรือ
สินเชื่อเพื่อลูกหนี้ที่มีความน่าเชื่อถือต่ำ
ขออภัยที่ยกตัวอย่างค่อนข้างรุนแรงเล็กน้อย แม้แต่เหล่าโสเภณีหรือนักเต้นระบำเปลื้องผ้าในไนท์คลับ (สมัยนี้เค้าเรียกว่าอะไรครับใครช่วยบอกผมสักหน่อย เธค? )
ก็สามารถขอวงเงินกู้เพื่อไปซื้อบ้าน มาเพื่อ"เก็งกำไร" ได้
เมื่อมาถึงจุดนี้ ที่ทุกคนสามารถกู้เงินเพื่อเก็งกำไรที่อยู่อาศัยได้ง่าย
"ใครมันจะมาซื้อบ้านของเรา" ล่ะครับ?
แทนที่จะไปซื้อบ้านคุณสู้ผมกู้เงินมาซื้อบ้านเองไม่ดีกว่าหรือ?
นี่คือจุดเริ่มต้นของหายนะใน "ภาคประชาชน"
*สำหรับใครที่อยากได้มุมมองในเรื่องนี้ ผมขอแนะนำหนังอีกเรื่องไว้ดูร่วมด้วยกันคือ เรื่อง "The Big Short"
เพื่อให้ดูร่วมกันกับ "Inside job" ดูเรื่องใดก่อนก็ได้ครับ
https://www.prosper.org.au/wp-content/uploads/2016/02/the-big-short-1.jpg
สำหรับท่านใดที่เคยดูเรื่อง "The Big Short" จบแล้วและท่านรู้สึกว่าเหล่าตัวเอกในเรื่องช่างชั่วร้ายเสียจริงๆ
หนังเรื่อง "Inside Job" จะช่วยเติมเต็มส่วนที่ขาดหายของเหตุการณ์ทั้งหมดที่เกิดขึ้นว่า เหล่าผู้กำหนดนโยบายทางการเงินในครั้งนั้น
มีส่วนสำคัญที่ทำให้เหตุการณ์มันถูกขยายตัวจนถึงจุดระเบิด
ผู้เกี่ยวข้องแต่ละชื่อที่เราได้ยินกันจนคุ้นหูเชียวครับ
ไล่ตั้งแต่ รัฐบาล Federal Reserve เหล่าแบงค์ใหญ่ๆทั้งหลาย เลย์แมนบราเธอร์ เจพีมอร์แกน ฯลฯ
เขาเหล่านี้ล้วนมีส่วนสำคัญที่นำ "Subprime Mortgages Loan" เข้าไปแปลงสภาพเป็น Collateralized Debt Obligation(CDO) ในตลาดทุน
เจ้า CDO นี้พูดง่ายๆมันก็คือ "พอร์ตเงินกู้ของลูกหนี้" ที่ "สถาบันการเงิน"
"นำมันมารวมกัน" แล้ว "ขายต่อให้กับนักลงทุน"
https://grapeshotmq.com.au/wp-content/uploads/2016/02/the-big-short.jpg
ก่อนที่เราจะซื้ออะไรสักอย่าง ระหว่างของชั้นดี 5 ดาว กับ ของ ธรรมดา 3 ดาว เราคงเลือกของ 5 ดาวเป็นแน่
แล้วใครเป็นคนให้ดาว ของ ที่เราจะซื้อกันหนอ?
มันเลยมีหน่วยงานที่เรียกว่า "บริษัทเครดิตเรตติ้ง" มาจัดเกรดให้เหล่า CDO เหล่านี้ เพื่อให้มีความน่าเชื่อถือมากขึ้น
เนื่องจากนักลงทุนจะไม่ทราบว่าเมื่อซื้อ CDO ไปแล้วมันจะเป็นของเสียรึเปล่า(ใส้ในอาจจะบรรจุด้วยหนี้ชั้นเลวเป็นจำนวนมาก)
"บริษัทประกัน" ยักษ์ใหญ่อย่าง AIG ก็ได้เสนอ "ประกันความเสี่ยง CDO" นั้นเข้าไปอีกชั้น เพื่อให้นักลงทุน "จ่ายเงินเพื่อซื้อประกันความเสี่ยง"ในกรณีที่ที่มีการเบี้ยวหนี้ พี่จะรับความเสี่ยงเอาไว้เอง เหล่าบริษัทประกันย่อยๆ ก็ทำตามกันมาเป็นขบวน
แค่นี้มันยังไม่สะใจบริษัทประกันมากพอครับ กำไรมันน้อยไปหน่อย บริษัทประกันเหล่านั้นจึงนำ "ประกันความเสี่ยง CDO" มาแปลงเป็นสินค้าอีกตัวที่ชื่อว่า "ตราสารอนุพันธ์ประกันความเสี่ยง(Derivative)" เพื่อย้อนกลับมาขายให้เหล่านักลงทุนอีกรอบว่า CDO ก้อนที่ บริษัทได้เข้าไปประกันไว้นั้น จะมีการผิดนัดชำระหนี้หรือไม่
ผมจะไล่ลำดับอีกทีนะครับ (เป็นภาพคร่าวๆเท่านั้น)
Subprime Mortgages Loan -> Collateralized Debt Obligation(CDO) -> "ประกันความเสี่ยง CDO" -> Derivative
ทุกท่านจะเห็นได้ว่า จากหนี้ก้อนเล็กๆมันได้ถูก "ขยาย" ขึ้นมา ไม่รู้กี่เท่า
ประเด็นคือ ทางรัฐบาลและธนาคารกลางของสหรัฐอเมริกาไม่รู้ถึงความเสี่ยงที่มันจะระเบิดเลยหรือ?
ในขณะนั้นได้มีเหล่าผู้เชี่ยวชาญด้านการเงินหลายท่านได้ออกมาเตือน
แต่...เมื่อ "ความโลภได้ถูกขยายไปถึงขีดสุด" แล้ว
เหตุผลใดๆที่ปรากฏขึ้นมาในเอกสาร บนโต๊ะประชุม มันก็เป็นเรื่องไร้สาระทั้งสิ้น
จนเรื่องมาถึงจุดระเบิด และ เราเรียกมันว่า วิกฤติซับไพร์มนั่นเองครับ
BOOOOOM!!
the big short scene
ผมอยากให้ทุกท่านได้ดูหนังทั้งสองเรื่องอย่างละเอียดอีกครั้ง เพราะรายละเอียดในแต่ละส่วนล้วนน่าสนใจทั้งสิ้น
ในขณะที่ท่านดูเรื่อง Inside Job ลองสังเกตสีหน้าของผู้เกี่ยวข้องที่ถูกสัมภาษณ์ดูนะครับว่าเป็นเช่นไร
เคยมีคำกล่าวเอาไว้ว่า "หากอยากรู้ว่าคนผู้นั้นเป็นเช่นไร ให้เอาอำนาจ และ ความมั่งคั่งทั้งปวงมอบให้ แลบัดนั้นเอง ตัวตนที่แท้จริงของผู้นั้นจะแสดงออกมาให้โลกรู้"
นี่คงเป็นอีกหนึ่งเหตุผลว่าทำไมถึงไม่ควรให้ใครอยู่ในอำนาจยาวนาน "มากเกินระยะเวลาหนึ่ง" เพราะรสชาติของอำนาจมันช่างหวานหอม หากจิตใจของคนผู้นั้นไม่เข้มแข็งมากพอ ความเสียหายที่คนผู้นั้นจะสร้างขึ้นมาได้ มันค่อนข้างน่ากลัวเชียวล่ะครับ
*ผลกระทบของวิกฤติ Subprime ทำให้คนอเมริกาถูกเลิกจ้างงานกว่า 2.6 ล้านตำแหน่ง ในปี 2008
สำหรับท่านใดที่ใช้ ผลิตภัณฑ์ของ apple อยู่สามารถไปเช่า หนังได้ผ่านทาง Apple tv ครับ ค่าเช่า 99 บาท เมื่อกดโหลดมาดูแล้วจะมีระยะเวลา 48 ชั่วโมงสำหรับการดูให้จบ หากยังไม่ดู จะสามารถเก็บไว้ได้ 30 วัน
มี subtitle ภาษาไทย สบายใจได้ครับ
ส่วนท่านที่ใช้แอนดรอย ใน Netflix น่าจะมีให้เช่า
ขอบคุณทุกท่านที่คอยติดตามและให้การสนับสนุนกระผมเสมอมาครับ
reference
หนังเรื่อง Inside Job
หนังเรื่อง The Big Short
งานวิจัยเรื่องผลกระทบของวิกฤติซับไพร์มที่มีต่อไทย
โฆษณา