20 ธ.ค. 2019 เวลา 09:37 • ไลฟ์สไตล์
หัวใจของบ้าน
รู้ไหมครับ ห้องที่เราถือกันว่า เป็นหัวใจของบ้าน คือห้องอะไร ?
นับตั้งแต่โบราณ ..
หลายชนเผ่า หลากอารยธรรม ต่างถือว่า
"เตาไฟ" คือสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ของบ้าน
เพราะนี่คือ ศูนย์กลางของความสัมพันธ์
ทั้งหุงหาความอิ่มหนำ
ทั้งล้อมวงพูดคุย
เป็นที่พึ่งยามดึกดื่น
และเรื่องราวสารพันปัญหามักมาสรุปจบลงที่นี่
ดังนั้นเมื่อเรามีบ้านสักหนึ่งหลัง อย่าละเลยความสำคัญของห้องนี้
ใช่ครับ ห้องที่พูดถึง คือ
"ห้องครัว"
ห้องครัวไม่ว่าเล็กหรือใหญ่ ต่างประกอบไปด้วย สามส่วนนี้
เตาไฟ - อ่างล้าง - ตู้เย็น (หรือตู้เก็บวัตถุดิบ)
ทั้งสามส่วนนี้ต่างเป็นส่วนประกอบที่ขาดไม่ได้ของห้องครัว ไม่ว่าจะจัดวางรูปแบบไหน
ควรให้แต่ละส่วนห่างกันไม่เกิน 1.20 ม. เพราะถ้าห่างกันมากกว่านี้ จะกลายเป็นต้องขยับมากเกินไปในการทำครัว
แต่ถ้ากลับกัน มีพื้นที่ไม่มาก
อย่างน้อยก็ต้องห่างกัน 0.60 ม. เพราะจะต้องใช้เป็นพื้นที่วางอุปกรณ์และทำอาหาร
การจัดวางสามองค์ประกอบหลักนี้ ทำได้หลายรูปแบบ ขึ้นปัจจัยอื่นๆเช่น
อุปกรณ์ต่างๆในครัว ขนาดห้อง ประตูทางเข้า-ออก แสงสว่าง ช่องหน้าต่างเพื่อระบายอากาศและดูทิศทัศน์ภายนอก
แต่ปัจจัยที่ปรวนแปรและสำคัญที่สุดคือ ความต้องการของผู้ทำครัว
เราอาจจะแบ่งเป็นหัวข้อในการทำความเข้าใจได้ง่ายๆ ตามนี้
1
1.เตาไฟ
เคาน์เตอร์ควรสูงจากพื้น 0.80-0.85 ม. (ถ้าซื้อเตาแก็สสำเร็จรูปมาวาง เคาน์เตอร์ก็ต้องเตี้ยลง เพื่อเผื่อความสูงในส่วนนี้ด้วย)
2.อ่างล้างหรือซิงค์
ปกติเคาน์เตอร์ครัวจะมีขนาดลึกมาตรฐาน 0.60 ม. สูง 0.80-0.85 ม.
ซิงค์ที่จะซื้อมาเพื่อวางลงไป ขนาดความกว้างขึ้นอยู่กับการใช้งาน ว่าชอบแบบกี่หลุม จะมีที่พักจานรึไม่
แต่จุดสำคัญคือ ต้องเตรียมท่อน้ำดี และ มีท่อระบายน้ำจากซิงค์ไปเข้าบ่อดักไขมัน ก่อนระบายออกสู่ภายนอก  (ถ้าเลือกสะดืออ่างแบบมีส่วนกรองเศษอาหารได้ จะสะดวกขึ้นมาก)
และบางบ้านมักจะวางเครื่องกรองน้ำไว้บริเวณนี้ ก็ต้องเผื่อพื้นที่นี้ไว้ด้วย
3.ตู้เย็น (หรือ ตู้เก็บวัตถุดิบ )
ต้องคิดถึงกรณีเปิดประตูตู้ จะเปิดซ้าย-เปิดขวาแล้วแต่ถนัด  แต่เปิดแล้วต้องไม่กีดขวางการใช้ครัว
ตัวตู้ไม่ควรอยู่ใกล้เตามากนัก ไม่โดนแสงแดดส่องโดนตรง  และถ้าทำได้ ควรแยกวงจรของปลั๊กไฟฟ้าตู้เย็นไว้ต่างหาก สำหรับกรณีไม่อยู่บ้านหลายวัน เราสามารถปิดไฟฟ้าทั้งบ้านโดยยกเว้นวงจรของตู้เย็นไว้ได้
4.อุปกรณ์อื่นๆ
อันนี้แล้วแต่ความชอบความถนัดของแม่ครัว เช่น เครื่องต้มกาแฟ เครื่องปั่นอาหาร ไมโครเวฟ รวมไปถึงเตาอบ
สิ่งสำคัญของอุปกรณ์เหล่านี้ คือต้องเตรียมปลั๊กไฟฟ้ารองรับ (ปกติตัวปลั๊กจะติดสูงจากเคาน์เตอร์ขึ้นมา 0.10-0.20 ม.)
ตำแหน่งปลั๊กต้องไม่เสี่ยงต่อการเปียกน้ำ ไม่อยู่ด้านหลังอุปกรณ์มากเกินไปจนใช้งานไม่สะดวก และ ที่สำคัญคือ
ปลั๊กที่ใช้กำลังไฟฟ้ามากๆ เช่น เตาอบ หรือ เตาไฟฟ้า ต้องเป็นปลั๊กที่เดินวงจรไว้ต่างหาก มีเบรคเกอร์กันไฟรั่วเฉพาะควบคุมอยู่ (ขนาดของเบรคเกอร์ต้องเทียบกับกำลังไฟของเตาอบหรือเตาไฟฟ้านั้นๆ)
5.การระบายอากาศ
ถ้าเป็นครัวเปิด ตำแหน่งครัวควรอยู่ใต้ลม
 
แต่ถ้าเป็นห้องครัวในอาคาร ก็จำต้องพึ่งเครื่องดูดควัน ซึ่งต้องทำใจก่อนว่า เครื่องยิ่งมีพลังดูดมาก เสียงจะยิ่งดัง
1
เครื่องดูดควัน มี 2 แบบคือ
- แบบระบบหมุนเวียน คือ ดูดควันจากการทำอาหาร ผ่านตัวกรองคาร์บอนที่จะดักกลิ่นและไอน้ำมันเอาไว้ ปล่อยเป็นอากาศปกติกลับคืนสู่ห้อง
ระบบนี้ไม่เหมาะกับการทำอาหารกลิ่นฉุนหรือมีควันมาก เพราะมีแรงดูดน้อย
.
- ระบบระบายควันสู่ภายนอก
เป็นระบบที่มีกำลังดูดแรงขึ้น ดักกลิ่นและไอน้ำมันไว้และระบายตามท่อออกสู่ภายนอก
ซึ่งสิ่งที่ต้องดูตามมาคือ แนวหรือช่องของปล่องท่อระบายควันนี้ ควรสั้นที่สุด และต้องดูว่าจะไปออกที่ไหน ไปปล่อยใกล้หน้าต่างห้องอื่นๆหรือไม่ หรือปล่อยออกไปในจุดที่มีลมปะทะเข้ามาโดยตรง ควันก็จะไม่สามารถระบายออกไปได้
แต่ยังไงทั้งสองแบบ ต้องหมั่นทำความสะอาดตัวกรองอยู่เสมอนะครับ
6. วัสดุของห้อง
พื้นควรเป็นวัสดุที่ไม่ลื่น ทำความสะอาดได้ง่าย  ผนังก็เช่นเดียวกัน โดยเฉพาะบริเวณใกล้เตาที่จะมีไอน้ำมันจับเป็นคราบเหนียว
ที่สำคัญก็คือไม่ควรตกแต่งโดยใช้วัสดุที่ติดไฟได้ง่าย
จะเห็นว่ามีรายละเอียดปลีกย่อยอยู่มาก แต่เราก็ไม่ควรละเลย เพราะนี่คือหัวใจของบ้านอย่างแท้จริง
พูดแบบนี้ไม่ได้หมายความว่า องค์ประกอบของครัวจะต้องเป็นเลิศหรู ราคาแพง
มันก็คล้ายกับการทำอาหาร ของบ้านๆแต่ถ้าแม่ครัวรู้จักเลือกใช้ของสดและมีประโยชน์ ก็สามารถสร้างรอยยิ้มให้กับคนที่ทานได้เช่นกัน
ดังนั้นสิ่งสำคัญที่สุด คือ แม่ครัว
ต้องพยายามเอาใจเธอเยอะๆนะครับ
🏘
หมายเหตุ
บทความนี้ มาจากคำแนะนำของเพื่อนBD. "เภสัชกร[VATE] มีอะไรจะบอก"
ต้องขอขอบคุณนะครับ
คราวหน้า จะเป็นเรื่องอะไร ต้องติดตามดูนะครับ 😁

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา