28 ธ.ค. 2019 เวลา 03:57 • การศึกษา
ความเหลื่อมล้ำในสังคมไทย การศึกษาช่วยได้หรือไม่? #ตอนแรก
หลายคนคงเคยได้ยินคำพูดที่ว่า “รวยกระจุก จนกระจาย” สังคมไทยมีความเหลื่อมล้ำ มีช่องว่างระหว่างคนรวยกับคนจนมาก และพอจะเข้าใจว่า ความเหลื่อมล้ำมีผลต่อการพัฒนาประเทศในหลายๆด้าน แต่ยังมองเป็นเรื่องไกลตัว และไม่คิดว่า จะมีทางแก้เรื่องนี้ได้ เป็นอย่างนั้นจริงหรือไม่ เราจะทำอะไรได้บ้าง?
prachachat.net
อันดับแรก มาดูข้อมูลเชิงสถิติของปัญหานี้กันก่อน เพื่อให้พวกเราเห็นภาพรวมของปัญหาได้ชัดขึ้น
4
ข้อมูลจากธนาคารแห่งประเทศไทยนั้น ได้แสดงปัญหาความเหลื่อมล้ำในมิติต่างๆดังนี้
📍1. ความเหลื่อมล้ำทางด้านรายได้
ข้อมูลจากสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติชี้ว่า ความเหลื่อมล้ำในแง่รายได้ของไทยในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาลดลง จากร้อยละ 46 ในปี 1991 เหลือร้อยละ 38 ในปี 2015 สอดคล้องกับสัดส่วนครัวเรือนยากจนที่ลดลง จากร้อยละ 61 ของจำนวนครัวเรือนทั้งหมดในปี 1988 เหลือร้อยละ 18 ในปี 2007 และเหลือร้อยละ 2 ในปี 2015
ที่มา : สภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
หากดูเผินๆแล้วตัวเลขต่างๆดูดีขึ้น ซึ่งก็เป็นเช่นนั้น และเป็นจริงกับแทบทุกประเทศทั่วโลก จากการที่ปัจจุบันโลกเราพัฒนาไปไกลกว่าสมัยก่อนมาก ไม่ว่าจะเป็นการสื่อสาร อินเทอร์เน็ต การเข้าถึงข้อมูลต่างๆที่ดีขึ้น หรือแม้กระทั่งการพยายามแก้ไขปัญหาของรัฐบาลแต่ละประเทศในยุคต่างๆก็ตาม
ดังนั้นการจะพิจารณาปัญหานี้อย่างจริงจัง จึงควรดูเปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆด้วย ซึ่งพบว่า
ความเหลื่อมล้ำทางรายได้ของไทยยังอยู่ใน ระดับสูงเมื่อเทียบกับหลาย ๆ ประเทศ
จากรายงานของ World Economic Forum (2018) ชี้ว่า ระดับความไม่เสมอภาคของไทยสูงเป็นอันดับที่ 25 จาก 107 ประเทศท่ัวโลก สูงกว่า เวียดนาม (อันดับที่ 29) สิงคโปร์ (อันดับที่ 36) ญี่ปุ่น (อันดับที่ 87)
ความแตกต่างของรายได้โดยเฉลี่ยระหว่างกลุ่มประชากรหัวแถวที่มีรายได้สูงที่สุดและกลุ่มประชากรท้ายแถวที่มีรายได้ต่ำที่สุดสูงถึง 10.3 เท่า (2015) และกลุ่มรายได้สูงสุดมีรายได้รวมกันมากกว่าครึ่งหนึ่งของประชากรทั้งประเทศ
http://www.bot.or.th
หากพิจารณาในมิติของจำนวนคนจนพบว่า กว่าร้อยละ 50 ของคนจนทั้งประเทศอยู่ใน ภาคเกษตร ซึ่งยังไม่มีแนวโน้มที่ดีขึ้นมากนัก
📍2. ความเหลื่อมล้ำด้านความมั่งคั่ง
ข้อมูลในรายงาน The Inclusive Development Index 2018 ของ World Economic Forum ความเหลื่อมล้ำด้านความมั่งคั่งของไทยเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.5 ต่อระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมา (ปี 2013-2018) และติดเป็นลำดับที่ 10 ของประเทศ ที่มีความเหลื่อมล้ำด้านความมั่งคั่งสูงที่สุดจากท้ังหมด 107 ประเทศทั่วโลก
📍2. ความเหลื่อมล้ำในด้านโอกาส
ถือว่าอยู่ในระดับสูง จากการเข้าถึงคอมพิวเตอร์และอินเทอร์เน็ตของครัวเรือน ปี 2017 พบว่า ครัวเรือนไทยที่สามารถเข้าถึงคอมพิวเตอร์และอินเทอร์เน็ตมีสัดส่วนเพียงร้อยละ 24.8 และ 64.4 ตามลำดับ
📍3. ความเหลื่อมล้ำด้านโอกาสทางการศึกษาในเชิงพื้นที่
พิจารณาจากระดับคะแนน PISA ของนักเรียนระดับมัธยมที่แยกตาม ภูมิภาค พบว่าคะแนนของนักเรียนจากพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล สูงกว่าพื้นที่อื่น ๆ อาทิ ภาคเหนือตอนบน ภาคใต้ ภาคตะวันตก และภาคอีสานตอนล่างอย่างมีนัยสำคัญในทุกสาขาวิชา ซึ่งความเหลื่อมล้ำด้านโอกาสส่งผลให้ความเหลื่อมล้ำด้านรายได้มีแนวโน้มที่จะทวีความรุนแรงขึ้นได้ในอนาคต
การศึกษาถือเป็นพื้นฐานสำคัญของคุณภาพสังคมและการพัฒนาประเทศ
ปัญหาความยากจน เกิดจากการที่คนไม่มีความรู้ ความสามารถในการทำกิน
ปัญหาสาธารณสุข เช่น โรงพยาบาลมีคนไข้จำนวนมาก หมอตรวจไม่ทัน ผู้ป่วยหรือญาติไม่พอใจ ก็เกิดจากการไม่มีความรู้พื้นฐานในการดูแลตัวเองเบื้องต้น ไม่รู้จักอาการฉุกเฉินต่างๆ
ปัญหาอาชญากรรม ก็อาจเกิดจากการขาดแคลนรายได้ ไม่มีความรู้หรือขาดโอกาสในการหาเลี้ยงชีพ
ปัญหาสังคมต่างๆที่ถูกมองว่าซับซ้อน มีความเชื่อมโยงกันเป็นลูกโซ่แน่นหนา ล้วนแต่สัมพันธ์กับการศึกษา ซึ่งนำไปสู่ความรู้ รายได้ที่ดีขึ้น การพึ่งพาตนเองได้มากขึ้น ถ้าเราไม่แก้จุดนี้ก่อน ก็ยากที่จุดอื่นจะดีขึ้นได้
มีคำพูดที่ว่า ‘ถ้าเราอยากเห็นสังคมเป็นอย่างไร ให้สร้างคนแบบนั้นขึ้นมา’ ถ้าอยากเห็นสังคมไทยในอนาคตมีคุณภาพ สังคมนั้นก็จะต้องเต็มไปด้วยคนที่มีคุณภาพ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาการคอรัปชั่น ปัญหาความเหลื่อมล้ำ จะถูกแก้ได้ถ้าทุกคนได้รับการศึกษาที่มีคุณภาพอย่างเท่าเทียมกัน
การจะแก้ปัญหา เราต้องเริ่มต้นจาก
”การรับรู้และเข้าใจปัญหา” ก่อน
ในตอนถัดๆไปเราจะได้มาพูดถึงแนวทางแก้ไขปัญหาร่วมกัน
อ้างอิง:
โฆษณา