5 ม.ค. 2020 เวลา 04:06 • ปรัชญา
มารดาของธรรม.... ศีลเป็นมารดา
ในทางบ้านเมืองมีกฏหมายไว้ใช้บังคับเพื่อความเป็นระเบียบของสังคม หากใครทำผิดกฎหมายย่อมได้รับโทษมากบ้างน้อยบ้างตามสมควรแก่ความผิด หากบ้านเมืองใดไม่มีกฎหมายปล่อยให้คนทำอะไรตามใจย่อมจะเกิดความสับสนวุ่นวาย เพราะธรรมชาติของมนุษย์นั้นมักจะชอบทำอะไรตามใจตนเองเสมอ แม้จะมีกฏหมายคอยบังคับก็ยังมีคนทำผิดกฏหมาย
ส่วนข้อปฏิบัติเบื้องต้นในศาสนานั้นเริ่มต้นที่ศีลคือการฝึกกายและเป็นเหมือนกฎหมายของศาสนา คนไม่มีศีลเหมือนดินไม่มีน้ำ คนมีศีลเหมือนดินชุ่มน้ำ
มีพระเถระรูปหนึ่งนามว่า พระสีลวเถระซึ่งเป็นพระโอรสของพระเจ้าพิมพิสาร เมื่อพระเจ้าอชาตศัตรูปลงพระชนม์พระบิดาคือพระเจ้าพิมพิสารแล้ว สถาปนาขึ้นเป็นกษัตริย์ครองแคว้นมคธ จึงสั่งประหารน้องชายพี่ชายทั้งหลายเพื่อจะไม่ให้มีใครมาแย่งชิงพระราชบัลลังค์
สีลวราชกุมารได้เข้ามาบวชในพระพุทธศาสนาและบรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์ พระเจ้าอชาตศัตรูส่งทหารมาเพื่อปลงพระชนม์แต่ทหารเหล่านั้นกลับบวชตามพระสีลวเถระทั้งหมด ในที่สุดก็รอดพ้นจากการทำลายล้างของพระเจ้าอชาตศัตรูไปได้เพราะเป็นผู้ยึดมั่นในศีล
มีภาษาบาลีคำหนึ่งที่พระสีลวเถระแสดงไว้ว่า “อาทิ สีลํ ปติฏฐา จ กลฺยาณญฺจ มาตุกํ” ในพุทธศาสนสุภาษิตนักธรรมชั้นโท แปลว่า “ศีลเป็นที่พึ่งเบื้องต้น เป็นมารดาของธรรมทั้งหลาย” แต่ในพระไตรปิฎกแปลคำว่า “มาตุกํ” ความว่า “เป็นบ่อเกิด” ในพจนานุกรมบาลีไทย แปลคำว่า “มาตุ” ว่ามารดา พอมาถึงภาษาไทยก็กลายเป็นแม่ ซึ่งให้ความหมายสื่อไปทางผู้ให้กำเนิด
1
หากไม่ยึดติดในเรื่องภาษามากเกินไปก็น่าจะแปลตามความหมายได้ว่า “ศีลเป็นมารดา เป็นบ่อเกิด เป็นแม่ของความดีทั้งหลาย”
ลองพิจารณาดูว่าจริงหรือไม่อย่างไร มีคำโบราณอยู่คำหนึ่งที่เปรียบเทียบเกี่ยวกับศีลไว้ว่า “คนมีศีลเหมือนดินมีน้ำ คนขาดศีลเหมือนดินขาดน้ำ” คำสุภาษิตโบราณนี้ฟังแล้วเข้าใจง่าย ดินที่มีน้ำอุดมสมบูรณ์ย่อมสามารถปลูกพืชพันธุ์ธัญญาหารงอกงามได้ง่าย แต่ถ้าดินไม่มีน้ำหล่อเลี้ยงก็เป็นดินแห้งอาจจะเหมาะกับการทำอย่างอื่น แต่ไม่เหมาะกับการปลูกพืช เพราะถึงจะปลูกก็คงไม่งอกงาม
ในการเพราะปลูกดินดีและมีน้ำเพียงพอจึงจะทำให้พืชผักผลไม้เจริญงอกงามได้ ดินและน้ำต้องอยู่ในสภาพที่พอดี หากน้ำน้อยพืชก็เหี่ยวเฉาหรือไม่มีโอกาสงอกงามเลย แต่ถ้าน้ำมากจนเกินไปพืชก็อาจเน่าตายได้ ในการเพาะปลูกพืชจึงอยู่ที่ดินดีและมีน้ำพอเหมาะ
ในส่วนของมนุษย์คำว่าศีลแปลได้ว่า “ความเป็นปกติ” คือปกติกายและวาจา คนที่อยู่ในสภาพปกติย่อมสามารถทำคุณงามความดีได้ตามสมควร แต่ถ้าหากขาดความเป็นปกติเมื่อใดย่อมจะมีแต่ความวุ่นวาย
เมื่อสภาพทางกายและวาจามีความพอเหมาะก็สามารถปลูกคุณธรรมคุณงามความดีให้งอกงามขึ้น ปลูกความดีได้ด้วยการมีศีล ได้ดังที่พระสีลวเถระแสดงไว้ในสีลวเถรคาถา ขุททกนิกาย เถรคาถา (26/378/307) ความว่า “ศีลเป็นเบื้องต้นเป็นที่ตั้งเป็นบ่อเกิด(เป็นมารดา)แห่งคุณความดีทั้งหลาย และเป็นประธานแห่งธรรมทั้งปวง เพราะฉะนั้น พึงชำระศีลให้บริสุทธิ์”
พระสีลวเถระได้แสดงคาถาพรรณาถึงคุณประโยชน์ของศีลไว้ในสีลวเถรคาถา ขุททกนิกาย เถรคาถา (26/378/307) ไว้หลายประการความว่า “ท่านทั้งหลายพึงศึกษาศีลในศาสนานี้ ด้วยว่าศีลอันบุคคลศึกษาดีแล้วสั่งสมดีแล้ว ย่อมนำสมบัติทั้งปวงมาให้ในโลกนี้
นักปราชญ์เมื่อปรารถนาความสุขสามประการ คือ ความสรรเสริญ การได้ความปลื้มใจ ความบันเทิงในสวรรค์เมื่อละไปแล้ว พึงรักษาศีล ด้วยว่าผู้มีศีล มีความสำรวม ย่อมได้มิตรมาก ส่วนผู้ทุศีลประพฤติแต่กรรมอันลามก ย่อมแตกจากมิตร นรชนผู้ทุศีล ย่อมได้รับการติเตียนและความเสียชื่อเสียง ส่วนผู้มีศีล ย่อมได้รับการสรรเสริญและชื่อเสียงทุกเมื่อ
ศีลเป็นเบื้องต้น เป็นที่ตั้ง เป็นบ่อเกิดแห่งคุณความดีทั้งหลาย และเป็นประธานแห่งธรรมทั้งปวง เพราะฉะนั้น พึงชำระศีลให้บริสุทธิ์ สังวร เป็นเครื่องกั้นความทุจริต ทำจิตให้ร่าเริง เป็นท่าที่หยั่งลงมหาสมุทร คือ นิพพานของพระพุทธเจ้าทั้งปวง เพราะฉะนั้นพึงชำระศีลให้บริสุทธิ์ ศีลเป็นกำลังหาเปรียบมิได้ เป็นอาวุธอย่างสูงสุด เป็นอาภรณ์อันประเสริฐ เป็นเกราะอันน่าอัศจรรย์
ศีลเป็นสะพาน เป็นมหาอำนาจ เป็น
กลิ่นหอมอย่างยอดเยี่ยม เป็นเครื่องลูบไล้อันประเสริฐ บุคคลผู้สมบูรณ์ด้วยศีล ย่อมหอมฟุ้งไปทั่วทุกทิศ ศีลเป็นกำลังอย่างเลิศ เป็นเสบียงเดินทางชั้นเยี่ยม เป็นพาหนะอันประเสริฐยิ่งนัก เป็นเครื่องหอมฟุ้งไปทั่วทิศานุทิศ
คนพาลผู้มีจิตไม่ตั้งมั่นในศีล ย่อมได้รับการนินทาในเวลาที่มีชีวิตอยู่ในโลกนี้ เมื่อตายไปแล้ว ย่อมได้รับทุกข์โทมนัสในอบายภูมิ ย่อมได้รับทุกข์โทมนัสในที่ทั่วไป ธีรชนผู้มีจิตตั้งมั่นด้วยดีในศีล ย่อมได้รับการสรรเสริญในเวลาที่มีชีวิตอยู่ในโลกนี้ ครั้นตายไปแล้ว ก็ได้รับความสุขโสมนัสในสวรรค์ ย่อมรื่นเริงใจในที่ทุกสถานในโลกนี้
ศีลเท่านั้นเป็นยอดและผู้มีปัญญาเป็นผู้สูงสุดในโลกนี้ ความชนะในมนุษยโลกและเทวโลก ย่อมมีได้เพราะศีลและปัญญา”
google
อ่านสุภาษิตของพระสีลวเถระพรรณาคุณความดีของศีลแล้ว มีประโยชน์หลายประการ ค่อยๆอ่านและพิจารณาตามไปด้วย อาจเห็นความหมายของศีลได้แจ่มชัดขึ้น
ในการบำเพ็ญกรรมฐานโดยการระลึกนึกถึงอารมณ์อันเป็นที่ตั้งของกรรมฐานในอนุสติสิบประการนั้นมีข้อหนึ่งที่เรียกว่า “สีลานุสติ” หมายถึงระลึกถึงศีลโดยน้อมจิตพิจารณาศีลของตนที่ได้ประพฤติปฏิบัติอย่างบริสุทธิ์ไม่ด่างพร้อย ก็จะเป็นที่ตั้งแห่งการบำเพ็ญคุณธรรมต่างๆได้ หากวันใดที่เรามีความเป็นปกติทางกายและวาจาไม่ทำตนให้วิปริตผิดศีล วันนั้นจะรู้สึกมีความอิ่มใจไปด้วย เมื่อเกิดความอิ่มใจก็จะเกิดความสงบและพบกับสันติสุขได้
บ้านเมืองมีกฎหมายคอยควบคุมและลงโทษผู้กระทำความผิด ในพระพุทธศาสนาก็มีศีลเป็นเหมือนกฎหมายไว้คอยควบคุมพุทธศาสนิกชนไม่ให้ออกนอกกรอบแห่งการปฏิบัติ ที่สำคัญศีลได้ชื่อว่าเป็นบ่อเกิดหรือเป็นมารดาของกัลยาณธรรมทั้งหลายทั้งปวงในฐานะที่เราเป็น พุทธศาสนิกชนควรจำไว้เสมอว่า “เป็นศาสนิกชนที่ดีต้องเข้าวัด ฟังธรรม จำศีล กินทาน ประหารกิเลส"
บทความนี้อาจจะยาวนะคะแต่เจเจ้ก็ตั้งใจที่จะบรรยายธรรมนี้เป็นธรรมทานและสืบสานต่อเจตนารมย์ของครูบาอาจารย์ที่ท่านได้สั่งความไว้
ถูกใจต้องจริตในธรรมอันประเสริฐ
เครดิตที่มาจาก:พระสูตรสีลวเถรคาถา ขุททกนิกาย เถรคาถา
(26/378/307)
ชอบกดติดตามกดไลท์กดแชร์
เป็นกำลังใจกันด้วยนะคะ
5/1/2563
โฆษณา