10 ม.ค. 2020 เวลา 15:14 • ปรัชญา
ตักบาตร... วิถีชาวพุทธ.. วัฒนธรรม
การตักบาตรหรือการใส่บาตรถือเป็นกิจวัตรประจำวันประการหนึ่งของชาวพุทธ ที่มีความผูกพันกับพระพุทธศาสนามาตั้งแต่โบราณกาล และถือเป็นการสืบต่ออายุของศาสนาอีกด้วย เพราะพระภิกษุผู้เป็นศาสนทายาท ต้องอาศัยอาหารบิณฑบาตของพุทธศาสนิกชนในแต่ละวันเพื่อดำรงชีพ ศึกษาพระธรรมวินัย รวมทั้งเผยแผ่คำสอนของพระพุทธศาสนาให้แพร่หลายมาจนทุกวันนี้
การใส่บาตร แม้จะเป็นสิ่งที่ไม่ต้องมีพิธีรีตองมากเหมือนศาสนพิธีอื่นๆ แต่ก็มีข้อปฏิบัติที่ควรทราบ เป็นต้นว่าข้าวและอาหารที่จะนำมาใส่บาตร 📌📌นิยมเป็นข้าวปากหม้อและกับข้าวปากหม้อ คือเป็นสิ่งที่ปรุงเสร็จใหม่ๆ ยังไม่ได้ตักออกไปเพื่อบริโภคหรือใช้อย่างอื่น ส่วนกับข้าวที่ปรุง หากเป็นเนื้อสัตว์ไม่ควรฆ่าเพื่อถวายพระโดยเฉพาะ และจะต้องไม่เป็นเนื้อสัตว์ 10 ชนิด ที่ห้ามพระภิกษุฉัน คือ เนื้อมนุษย์ เนื้อช้าง เนื้อม้า เนื้อสุนัข เนื้องู เนื้อราชสีห์ เนื้อเสือโคร่ง เนื้อเสือเหลือง เนื้อหมี เนื้อเสือดาว สิ่งของที่ใส่บาตรถวายพระทุกอย่างควรเป็นสิ่งของที่ได้มาหรือใช้ทรัพย์ที่บริสุทธิ์
ปกติสิ่งที่จะนำมาใส่บาตรก็มี ข้าว กับข้าว และของหวาน แต่ในบางกรณีอาจถวายดอกไม้ ธูปเทียน ผ้าที่สมควรแก่สมณะ หรือสิ่งของเครื่องใช้ต่างๆ อันสมควรแก่สมณบริโภค ข้าวสุกจะใส่ไว้ในบาตรได้ ส่วนกับข้าวและของหวาน ในชนบทจะใส่ถ้วยแล้วมอบให้ลูกศิษย์ถ่ายใส่ปิ่นโตนำไปถวายพระที่วัด แต่ในเมืองมักใส่ถุงพลาสติกใส่ลงในบาตรพระได้ "ข้อที่ควรระวังก็คือการใส่อาหารที่ใหญ่เกินไป" เช่น แตงโมทั้งผล ควรใส่ถุงหิ้วให้พระถือไปได้ ไม่ควรใส่บาตรไปทั้งผล การใส่บาตรไม่ควรเจาะจงถวายรูปใดรูปหนึ่งโดยเฉพาะ นิยมใส่โดยไม่จำกัดว่าจะเป็นพระภิกษุสูงอายุ ภิกษุหนุ่ม หรือสามเณร เพื่อให้การใส่บาตรเป็นสังฆทาน ซึ่งมีผลมากกว่าการใส่โดยเจาะจง
1
ส่วนวิธีปฏิบัติในการใส่บาตร มีดังนี้ จัดเตรียมสิ่งของที่จะใส่บาตรให้พร้อม หากจะชำระร่างกายให้สะอาดและไหว้พระสวดมนต์ก่อนก็จะเป็นการดียิ่ง
ก่อนจะใส่บาตรนิยมตั้งจิตอธิษฐานโดยนั่งกระหย่งหรือยืนแล้วยกขันข้าวขึ้นเสมอหน้าผาก 📌กล่าวคำอธิษฐานดังนี้ สุทินุนํ วต เม ทานํ อาสวกฺขยาวหํ โหตุ ( สุทินนัง วะตะ เม ทานัง อาสะวักขะ ยาวะ หัง)แปลว่า ทานของเราให้ดีแล้วหนอ ขอจงเป็นเครื่องนำมาซึ่งความสิ้นไปแห่งอาสวะกิเลสเถิด
หรือจะตั้งจิตอธิฐานเป็นภาษาไทยดังนี้ 📌“ข้าวของข้าพเจ้าขาวเหมือนดอกบัว ยกขึ้นทูนหัว ตั้งใจจำนง ตักบาตรพระสงฆ์ ขอให้ทันพระศรีอาริย์ ขอให้พบดวงแก้ว ขอให้แคล้วบ่วงมาร ขอให้บรรลุพระนิพพานในอนาคตกาลเทอญ” 📌การอธิฐานพระอธิฐานในบ้านหรือก่อนตักบาตรก็ได้ ขณะใส่บาตร ควรถอดรองเท้า หากพื้นที่เดินเฉอะแฉะอาจยืนบนรองเท้าก็ได้ ตักข้าวใส่บาตรให้เต็มทัพพี ใส่ด้วยอาการเคารพ พยายามอย่าให้เมล็ดข้าวหล่นออกมานอกบาตร
ถ้ามีข้าวติดทัพพี ห้ามใช้ทัพพีเคาะกับบาตรพระ หากกับข้าวเป็นถุงก็ใส่บาตรไปด้วย แต่ถ้าใส่ถ้วยให้วางไว้บนฝาบาตร หรือส่งให้ลูกศิษย์ถ่ายใส่ปิ่นโต และหากมีดอกไม้ธูปเทียนก็ให้ถวายท่านหลังจากใส่ข้าว และกับข้าวแล้วโดยผู้ชายส่งถวายให้กับมือพระได้ ส่วนผู้หญิงให้วางบนฝาบาตร เมื่อใส่บาตรแต่ละรูปให้น้อมไหว้ทุกครั้ง ไม่ควรชวนพระคุยหรือถามว่าชอบอาหารชนิดใด ชอบอาหารที่ถวายหรือไม่
เพราะบางครั้งอาจจะเกิดโทษแก่ท่านได้ หลังจากใส่บาตรเสร็จ ควรกรวดน้ำอุทิศส่วนกุศลให้แก่บรรพชนที่ล่วงลับไปแล้ว การใส่บาตรเป็นประเพณีที่ได้ใช้ทุกเหตุการณ์เช่น วันเกิด วันธรรมสวนะ วันสำคัญของศาสนา วันที่มีความหมายบางอย่าง ได้แก่ วันครบรอบแต่งงาน เป็นต้น
เจเจ้ฝากบทความนี้ด้วยนะคะฝากกดติดตามกดไลท์กดแชร์เป็นกำลังใจให้กันด้วยนะคะขอบคุณค่ะ
10/1/2563
โฆษณา