12 ม.ค. 2020 เวลา 23:00 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี
มินต์ (Mint) ที่มาของกลิ่นที่เราคุ้นเคย
เปปเปอร์มินต์ (ดัดแปลงมาจาก Franz Eugen Köhler, Köhler's Medizinal-Pflanzen - List of Koehler Images, Public Domain, https://commons.wikimedia.org/w/index.php?curid=255374)
รูปประกอบข้างบนคือ พืชที่เรารู้จักกันในชื่อว่า เปปเปอร์มินต์
เราอาจจะรู้สึกว่า รูปร่างหน้าตาของพืชชนิดนี้คล้ายกับกะเพราหรือโหระพา ซึ่งก็อาจจะไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะมินต์จริงๆ แล้วเป็นพืชที่มีความใกล้ชิดกับกะเพราและโหระพาในระดับหนึ่ง เพราะเป็นพืชในวงศ์เดียวกัน คือ วงศ์กะเพรา (Family Lamiaceae)
มินต์เป็นพืชที่เราอาจจะไม่ได้เห็นปลูกอยู่รอบๆ ตัวเราเท่าไหร่ แต่เราอาจจะพบผลิตภัณฑ์ของมินต์ทุกวัน เช่น ในยาสีฟัน หมากฝรั่ง ลูกอม สบู่ หรือยาสระผม โดยการใช้น้ำมันหอมระเหยจากมินต์นั้นมาผสมในผลิตภัณฑ์
มินต์เป็นคำเรียกพืชในสกุล [Mentha] พืชในสกุลนี้พบได้ทั่วไปเกือบทุกทวีปบนโลก ทั้งในยุโรป แอฟริกา เอเชีย ออสเตรเลีย และอเมริกาเหนือ โดยมีพืชในสกุลนี้อยู่ประมาณ 13 ถึง 24 ชนิด เหตุผลที่ไม่สามารถระบุจำนวนชนิดของพืชชนิดนี้ที่แน่นอนได้ เนื่องจากมีชนิดพันธุ์ลูกผสม (Hybrid) ของพืชในสกุลนี้อยู่เป็นจำนวนมาก โดยพืชที่ต่างชนิดกันชนิดกัน แต่แพร่กระจายอยู่ใกล้กันมักจะมีการผสมพันธุ์กัน จนเกิดลูกผสมของพืชสองชนิดขึ้นมาได้ ทำให้เป็นการยากที่จะระบุว่าจริงๆ แล้วมินต์มีกี่ชนิดกันแน่
เปปเปอร์มินต์ [Mentha × piperita](ที่มา By Sten Porse, CC BY-SA 3.0, https://commons.wikimedia.org/w/index.php?curid=73093)
ลูกผสมที่เราอาจจะคุ้นเคยกันมากที่สุด คือ เปปเปอร์มินต์ (Peppermint) ที่มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า [Mentha × piperita] (× เป็นสัญลักษณ์แทนการที่พืชชนิดนี้เป็นลูกผสม) ซึ่งเป็นลูกผสมของมินต์ 2 ชนิด คือ มินต์น้ำ (Watermint - [Mentha aquatica]) ซึ่งพบมากในทวีปยุโรป ตะวันตกเฉียงเหนือของทวีปแอฟริกา และตะวันตกเฉียงใต้ของทวีปเอเชีย และ สเปียร์มินต์ (Spearmint - [Mentha spicata]) กระจายพันธุ์ในทวีปยุโรปถึงเขตอบอุ่นของเอเชีย มาจนถึงประเทศจีนตอนใต้
มินต์น้ำ [Mentha aquatica] (ที่มา CC BY-SA 3.0, https://commons.wikimedia.org/w/index.php?curid=331777)
สเปียร์มินต์ [Mentha spicata] (ที่มา By Simon Eugster, CC BY-SA 3.0, https://commons.wikimedia.org/w/index.php?curid=913901)
มินต์น้ำเป็นพืชที่มีโครโมโซมหลายชุด (Polyploidy) คือ มีโครโมโซมถึง 8 ชุด (8x)โดย 1 ชุดมีโครโมโซมทั้งหมด 12 แท่ง ดังนั้นมินต์น้ำจึงมีโครโมโซมทั้งหมด 96 แท่ง ในขณะที่สเปียร์มินต์จะมีโครโมโซม 4 ชุด (4x) 1 ชุดมีโครโมโซม 12 แท่ง จึงมีโครโมโซมรวม 48 แท่ง
ซึ่งจริงๆ แล้วสเปียร์มินต์ก็เป็นลูกผสมของพืชอีก 2 ชนิดที่มีโครโมโซมชนิดละ 2 ชุด (2n - Diploid) ชุดละ 12 แท่ง รวม 24 แท่ง ได้แก่ Horse mint [Mentha longifolia] และ Apple mint [Mentha suaveolens] จึงทำให้สเปียร์มินต์มีโครโมโซมถึง 4 ชุด
สรุปความสัมพันธ์ของพืชกลุ่มมินต์และการเกิดลูกผสมที่แสนจะซับซ้อนที่อยู่ในเรื่องนี้
เมื่อเปปเปอร์มินต์เป็นลูกผสมของพืชต่างชนิดที่มีโครโมโซมไม่เท่ากัน ทำให้เปปเปอร์มินต์จึงเป็นหมัน และไม่ผลิตเมล็ด แต่สามารถสืบพันธุ์แบบไม่อาศัยเพศได้โดยการสร้างไหล งอกไปเป็นต้นใหม่ไปเรื่อยๆ โดยเปปเปอร์มินต์สามารถมีจำนวนโครโมโซมได้หลากหลาย ตั้งแต่ 66, 72, 84 และ 120 แท่งแตกต่างกันไปตามระดับของการเป็นลูกผสม (Hybridization)
เปปเปอร์มินต์เป็นที่นิยมปลูกกันมากในหลายพื้นที่บนโลกเนื่องจากสามารถสร้างน้ำมันหอมระเหยที่เรียกว่า เมนทอล (Menthol) ได้ ซึ่งเมนทอลนี้มีคุณสมบัติในการกระตุ้นตัวรับความรู้สึกเย็นที่ชื่อว่า TRPM8 บนเซลล์ผิวหนังเราได้ ดังนั้นเมื่อนเราสัมผัสกับเมนทอลจึงทำให้เรารู้สึกเย็น ถึงแม้อุณหภูมิรอบๆ ไม่ได้เย็นลง คล้ายๆ กับสารแคปซาซินในพริกที่ทำให้เกิดความเผ็ดร้อนบนผิวของเรา ทั้งๆ ที่ไม่มีความร้อนอยู่รอบๆ
โครงสร้างของเมนทอล (ที่มา By Daveryan, Public Domain, https://commons.wikimedia.org/w/index.php?curid=11903118)
สารอีกตัวหนึ่งที่เปปเปอร์มินต์ผลิตได้ คือ เมนโทน ที่เป็นตัวที่ทำให้เกิดกลิ่นของมินต์ที่เราคุ้นเคยกัน
ถึงแม้ว่าสเปียร์มินต์จะเป็นชนิดพันธุ์พ่อแม่ของเปปเปอร์มินต์ แต่สเปียร์มินต์กลับผลิตเมนทอลและเมนโทนได้น้อยมาก โดยสารสำคัญในน้ำมันของสเปียร์มินต์คือ Carvone ที่ทำให้สเปียร์มินต์มีกลิ่นเฉพาะ และนิยมนำน้ำมันจากสเปียร์มินต์ไปใส่ในยาสีฟันหรือสบู่และแชมพู
ใครสนใจการเกิดลูกผสมที่สลับซับซ้อนอย่างในสตรอว์เบอร์รี่ สามารถอ่านในเรื่องนี้ได้ครับ
หรือเรื่องทำไมพริกถึงเผ็ด เหมือนหับทำไมเมนทอลในมินต์ถึงเย็น อ่านเรื่องนี้ครับ
เอกสารอ้างอิง
1. Li, B., Cantino, P., Olmstead, R. et al. A large-scale chloroplast phylogeny of the Lamiaceae sheds new light on its subfamilial classification. Sci Rep 6, 34343 (2016) doi:10.1038/srep34343
2. Bunsawat, Jiranan; Elliott, Natalina E.; Hertweck, Kate L.; Sproles, Elizabeth; Alice, Lawrence A. (2004). "Phylogenetics of Mentha (Lamiaceae): Evidence from Chloroplast DNA Sequences". Systematic Botany. 29 (4): 959–964.
โฆษณา