13 ม.ค. 2020 เวลา 16:11 • ปรัชญา
5 แนวคิดสู่การเป็นนักเขียนมืออาชีพ
วันนี้บทความในเพจหนังหลายมิติได้เดินทางมาถึงบทความที่ 100 แล้ว
ซึ่งผมตั้งใจว่า ทุกๆ 50 บทความ จะพูดคุยแลกเปลี่ยนประสบการณ์ด้านงานเขียนกับผู้อ่าน
ด้วยความบังเอิญที่เพจมีผู้ติดตามครบ 6,000 คน พอดี
จึงถือโอกาสใช้บทความนี้แทนคำขอบคุณผู้ติดตามทุกคน ที่ช่วยสนับสนุนและเป็นกำลังใจให้กับผู้เขียนเสมอมา
ตอนครบรอบบทความที่ 50 ผมได้แบ่งปันเทคนิคการเขียนบทความสไตล์หนังหลายมิติไปแล้ว
รอบนี้ถือเป็นเลเวลสองของการสร้างงานเขียน
ผมจะเน้นไปที่ส่วนสำคัญของการสร้างงานเขียนอย่างมืออาชีพ
ขอนิยามคำว่า " มืออาชีพ " ในความหมายของผมก่อน
" มืออาชีพ " ที่ผมนิยามในบทความนี้ หมายถึงการทำสิ่งใดด้วยความชำนาญ ด้วยแนวคิดที่ถูกต้อง เพื่อให้ผลงานออกมามีคุณภาพมากที่สุด
ผมมองว่าส่วนสำคัญในการสร้างงานเขียนอย่างมืออาชีพ คือ "ทัศนคติ "
เพราะงานเขียนคือการถ่ายทอดตัวตนและส่งต่อความคิดของผู้เขียนสู่ผู้อ่าน
งานเขียนจึงเปรียบเสมือนกระจกสะท้อนตัวตนคนเขียน
หากผู้เขียนตั้งต้นด้วยทัศนคติที่ไม่ถูกต้อง คงยากที่จะสร้างผลงานที่มีคุณภาพและคงไม่สามารถส่งมอบแนวคิดดีๆให้กับคนอ่านได้
แนวทางทั้ง 5 ข้อนี้ ถือเป็นเครื่องมือนำทางไปสู่หลักชัยแห่งความสำเร็จ
ผมเชื่อว่าแนวคิดต่างๆที่ได้รวบรวมมานี้ คือองค์ประกอบสำคัญที่นักเขียนมืออาชีพควรจะต้องมี
แนวคิดที่ 1 : ยอมรับคำปฏิเสธให้เป็น
การปฏิเสธเป็นสิ่งที่อยู่คู่กับนักเขียน
ใช่ว่าทุกคนจะชอบงานเขียนของคุณ
ดังนั้นแนวคิดแรกสำหรับนักเขียนคือ คุณต้องยอมรับคำปฏิเสธให้ได้ อย่าหมดกำลังใจแม้จะถูกปฏิเสธ
หลายคนจบเส้นทางการเขียนของตัวเองเพียงเพราะโดนปฏิเสธ หรือเขียนแล้วไม่มีคนอ่านเลยหมดกำลังใจ
นักเขียนมืออาชีพหลายคนก็เคยเจอกับเหตุการณ์แบบนี้
รอมแพง ผู้เขียนนวนิยายเรื่อง " บุพเพสันนิวาส " เคยถูกปฎิเสธงานเขียนมาแล้วหลายครั้ง
เจ.เค. โรลลิ่ง ถูกสำนักพิมพ์ปฏิเสธต้นฉบับ " แฮรี่พอตเตอร์ " ไปมากกว่า 12 ครั้ง
.
แม้จะถูกปฏิเสธแต่นักเขียนมืออาชีพเหล่านี้ไม่มีใครเลยที่ยอมแพ้ พวกเขายังคงเขียนต่อไป
และนั่นทำให้พวกเขาประสบความสำเร็จในที่สุด
" การปฏิเสธเป็นเพียงส่วนหนึ่งของการเดินทาง
ต่อให้ถูกปฏิเสธเป็นพันครั้ง จงยิ้มและเดินหน้าต่อไป
จงเดินต่อไปเรื่อยๆ อย่าหยุด....
แล้วคุณจะพบว่ามีคนที่รักและชื่นชมผลงานของคุณรออยู่ที่ปลายทาง "
แนวคิดที่ 2 : ไม่หยุดพัฒนาตัวเอง
การเขียนมีความแปลกอยู่อย่างหนึ่งตรงที่ว่ามันไม่มีเวอร์ชั่นที่สมบูรณ์ที่สุด
ทุกครั้งที่คุณกลับมาอ่านงานเขียนของตัวเอง จะมีจุดให้แก้ไขอยู่เสมอ
ดังนั้น...การพัฒนางานเขียนให้เป็นมืออาชีพ คือ ลดความผิดพลาดที่จะเกิดขึ้นให้น้อยที่สุด สิ่งนี้เกิดขึ้นได้เพราะการฝึกฝนเป็นหลัก
เมื่อคุณเขียนอย่างสม่ำเสมอ คุณจะรู้ว่า ตรงไหนควรเพิ่ม ส่วนไหนควรลด
สิ่งสำคัญอีกข้อหนึ่งคือ นักเขียนควรหาแรงบันดาลใจให้ตัวเองอยู่เสมอ การจะทำแบบนี้ได้คุณต้องเติมข้อมูลให้ตัวเองด้วยการหาความรู้ใหม่ๆ
รวมถึงพัฒนาตนเองให้เขียนงานได้อย่างหลากหลาย ไม่ให้บทความซ้ำซากจำเจ
" จงหมั่น ฝึกฝน ฝึกฝน และฝึกฝน เพราะมันคือสิ่งเดียวที่จะทำให้คุณประสบความสำเร็จ "
แนวคิดที่ 3 : ให้ความสำคัญกับคนอ่าน
คุณเขียนงานให้คนอ่าน คุณก็ต้องให้ความสำคัญกับผู้อ่าน
ลองตั้งคำถามก่อนเขียนว่า ผู้อ่านจะได้ประโยชน์อะไรจากงานเขียนของคุณ
คุณจะส่งต่อคุณค่าของสิ่งที่เขียนไปสู่คนอ่านได้อย่างไร ?
อย่าสักแต่ว่าเขียนเพราะว่าฉันต้องเขียน แต่จงเขียนเพราะสิ่งนั้นมีประโยชน์
ทุกบทความล้วนมีคุณค่าหากเขียนด้วยใจที่มุ่งประโยชน์
หาสิ่งนั้นให้เจอ และส่งมันให้ผู้อ่านของคุณ
" เป้าหมายการอ่านของคนเรามีหลากหลาย
มองให้ออกว่าผู้อ่านว่าต้องการอะไร ?
และใช้งานเขียนของคุณตอบสนองสิ่งนั้น "
ข้อสำคัญคือ รักผู้อ่านของคุณให้มาก
เพราะ" ยิ่งคุณรักคนอ่านมากเท่าไหร่ คนอ่านก็จะรักคุณมากเท่านั้น "
แนวคิดที่ 4 : คุณคือสิ่งมหัศจรรย์ของโลก
ทุกคนล้วนมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว
มีคุณเพียงคนเดียวที่เป็นแบบนี้
คุณคือสิ่งมหัศจรรย์ของโลก เพราะไม่มีใครเลียนแบบได้
ทุกสิ่งที่คุณเขียนมีตัวตนของคุณซ่อนอยู่เสมอ
หลายคนมักจะกังวลกับเอกลักษณ์ในงานเขียน
จริงๆแล้วคุณไม่ต้องกังวลเลย
มันอยู่กับคุณมาตลอด
คนร้อยคนเขียนเรื่องเดียวกันก็ได้มุมมองที่ไม่เหมือนกัน
หรือต่อให้เหมือนกันก็จะมีรายละเอียดปลีกย่อยที่ต่างกัน
" เอกลักษณ์ไม่จำเป็นต้องหา
มันฝังอยู่ในความคิด นิสัย และการใช้ชีวิตของคุณอยู่แล้ว
เพียงนำมาสกัด กลั่นออกเป็นคำแล้วร้อยเรียงด้วยธรรมชาติของคุณเอง "
แนวคิดที่ 5 : จงเขียนอย่างมีความสุข
" จงเขียนอย่างมีความสุข " คือ สิ่งที่ผมอยากจะบอกกับนักเขียนทุกคน
คุณจะสร้างงานที่ดีได้อย่างไรหากใจเป็นทุกข์
โยนความคาดหวังของคุณออกไปก่อนแล้วสนุกกับสิ่งที่อยู่ตรงหน้า
เพียงนั่งลง แล้วพิมพ์สิ่งที่อยากจะเขียนลงไป...จากนั้นก็ปล่อยให้ผู้อ่านได้ทำหน้าที่ของพวกเขา
ผมเห็นบางคนคาดหวังกับรายได้และความสำเร็จมากกว่าที่จะใส่ใจกับคุณภาพของงานเขียนเสียอีก
แค่แนวคิดแรกคุณก็หลงทางแล้ว....
ถ้าคุณอยากสำเร็จในการเขียน คุณต้องเริ่มทำมันอย่างมีความสุข
เมื่อสุขที่จะทำ ก็จะทำได้ต่อเนื่อง
เมื่อทำได้อย่างต่อเนื่องก็มีทักษะ
เมื่อมีทักษะงานก็มีคุณภาพ
เมื่องานมีคุณภาพก็มีคนติดตาม
เมื่อมีคนติดตามความสำเร็จกับรายได้ก็จะมา
ควรทำงานออกมาให้มีคุณภาพเสียก่อน แล้วสิ่งที่คุณคาดหวังจะตามมาเอง
" ความสุขของการทำงานควรเริ่มต้นจากความรักในสิ่งที่ทำ
รวมถึงการมองเห็นคุณค่าของงานนั้นว่าเกิดประโยชน์ต่อผู้อื่นมากแค่ไหน ?
จงให้ค่าสิ่งนั้นมากกว่า ความอยากมี อยากเป็นของตนเอง ....แล้วคุณจะพบความสุขที่แท้จริงในการทำงาน "
นี่คือแนวทางที่เพจหนังหลายมิติอยากแบ่งปันเพื่อขอบคุณผู้ติดตามทุกท่าน หวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะมีประโยชน์กับทุกคน
แนวคิดทั้ง 5 ข้อนี้ ไม่ได้จำกัดแต่เฉพาะในงานเขียน สามารถนำไปประยุกต์ใช้กับงานอื่นๆเพื่อเป็นแนวทางสู่ความสำเร็จได้
และนั่นเป็นสิ่งที่ผู้เขียนมุ่งหวังจากบทความนี้
" นักเขียนก็เปรียบเสมือนนักเล่าเรื่อง เขาพยายามจะเล่าเรื่องให้สนุกและน่าสนใจ โดยหวังเพียงว่าเรื่องเล่าของเขาจะมีพลังมากพอที่จะทำให้คนอ่านได้กลับมามองชีวิต แล้วพบกับคำตอบบางอย่างจากการเล่าเรื่องของเขา "
แด่เพื่อนผู้ร่วมเส้นทางเขียน
และขอบคุณผู้ติดตามทั้ง 6,000 followers
โฆษณา