20 ม.ค. 2020 เวลา 11:40 • ธุรกิจ
ศรีลังกา ประเทศที่เคย “รวย” กว่าไทย
ประเทศนี้เคยเป็นอาณานิคมของอังกฤษ ถูกเรียกว่า “ซีลอน”
ปฏิเสธไม่ได้ว่า อังกฤษได้เข้ามาวางรากฐานหลายๆ อย่างให้กับประเทศเกาะเล็กๆ แห่งนี้
ทั้งระบบการศึกษา ถนน และทางรถไฟที่ครอบคลุมทั่วทั้งเกาะ
จนทำให้หลังได้รับเอกราช
ศรีลังกาเป็นหนึ่งในประเทศที่มีระบบการศึกษาดีเป็นอันดับต้นๆ ของเอเชีย
เมื่อ 60 ปีที่แล้ว คนศรีลังกามี GDP ต่อหัวมากกว่าคนไทยเกือบ 1.5 เท่า
ปี 1960 GDP ต่อหัวของคนศรีลังกาอยู่ที่ 3,010 บาทต่อปี
ในขณะที่ GDP ต่อหัวของคนไทยมีเพียง 2,140 บาทต่อปี
เกาะแห่งนี้เป็นแหล่งเพาะปลูกชาที่สำคัญของโลก ซึ่งเราคุ้นหูกันว่า ชาซีลอน
มีทั้งอัญมณีเป็นสินค้าส่งออกที่สำคัญ
มีทำเลที่ตั้งเป็นจุดยุทธศาสตร์ของการขนส่งกลางมหาสมุทรอินเดีย
ทั้งๆ ที่ทุกอย่างดูเหมือนจะไปได้ดี..
แต่ศรีลังกากลับต้องประสบปัญหาที่นำมาสู่สงครามกลางเมืองที่ยาวนานเกือบ 30 ปี
ฉุดให้เศรษฐกิจของประเทศไม่ได้รับการพัฒนาเท่าที่ควร
จนทำให้คนศรีลังกามี GDP ต่อหัวอยู่ที่ 122,770 บาท ในปี 2018
ซึ่งน้อยกว่าคนไทยถึง 2 เท่า
ปัญหาที่ว่านั้นคืออะไร?
1
ยินดีต้อนรับเข้าสู่ ซีรีส์บทความ ประเทศที่ “เคยรวยกว่า” ไทย ตอน ศรีลังกา
1
ปัญหาที่กัดกร่อนเศรษฐกิจของศรีลังกามาตลอดก็คือ “ความขัดแย้งระหว่างเชื้อชาติ”
ประชากรศรีลังกาแบ่งออกเป็นกลุ่มใหญ่ 2 กลุ่ม ได้แก่
1
ชาวสิงหล ส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธ มีสัดส่วน 74% ของประชากรทั้งหมด
ชาวทมิฬ ส่วนใหญ่นับถือศาสนาฮินดู มีสัดส่วน 18% ของประชากรทั้งหมด
ยังมีชาวมัวร์ที่นับถือศาสนาอิสลามอีกประมาณ 7%
โดยปัญหาระหว่างชาวสิงหลกับชาวทมิฬ มีรากฐานมาตั้งแต่ครั้งศรีลังกายังเป็นอาณานิคมของอังกฤษ และใช้ชื่อว่า ซีลอน
แม้อังกฤษจะช่วยวางรากฐานที่สำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจ ทั้งระบบการศึกษา ระบบขนส่ง และการทำการเกษตร แต่ภาคการเกษตรโดยเฉพาะไร่ชาขนาดใหญ่นั้น
ต้องการแรงงานจำนวนมาก
2
ชาวสิงหล และชาวทมิฬเดิม ซึ่งเป็นชาวพื้นเมืองของซีลอน ไม่สนใจทำงานในไร่ชาของอังกฤษ
1
อังกฤษจึงได้นำแรงงานชาวทมิฬอินเดีย ซึ่งเป็นชาวพื้นเมืองทางตอนใต้ของอินเดีย
เข้ามาทำงานในไร่ชาที่เกาะซีลอน
1
Cr. Daily News
และสิ่งนี้เองที่สร้างรอยร้าวให้กับผู้คนบนเกาะแห่งนี้
ชาวทมิฬอินเดียที่ถูกนำเข้ามาทำงานในไร่ของอังกฤษ
มักได้รับสถานะทางสังคมและเศรษฐกิจที่ดีกว่าชาวพื้นเมืองเดิม
โรงเรียนแบบตะวันตกส่วนใหญ่ตั้งอยู่ทางตอนเหนือ ซึ่งมีชาวทมิฬอาศัยอยู่หนาแน่น
ชาวทมิฬจึงได้รับการศึกษาที่ดีกว่า
นำมาสู่ความเหลื่อมล้ำทางด้านการศึกษาและการประกอบอาชีพของคนทั้ง 2 กลุ่ม
หลังจากซีลอนได้รับเอกราชจากอังกฤษในปี 1948
แม้เศรษฐกิจ การเมือง และสังคม จะค่อยๆ พัฒนาขึ้นตามลําดับ
แต่ความขัดแย้งระหว่างชาวสิงหลกับชาวทมิฬยังคงอยู่
ชาวทมิฬซึ่งมีการศึกษาดีกว่า ฐานะดีกว่า ผูกขาดกิจกรรมทางเศรษฐกิจ
สร้างความไม่พอใจให้กับชาวสิงหล ซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ
เมื่อรัฐบาลที่ได้รับเลือกตั้งเป็นชาวสิงหล
จึงมีการเปลี่ยนชื่อประเทศจาก ซีลอน มาเป็น ศรีลังกา ในปี 1972
พร้อมกับการกำหนดให้ศาสนาพุทธเป็นศาสนาประจำชาติ
2
และเริ่มดำเนินนโยบายกีดกันชาวทมิฬ ทั้งการบังคับไม่ให้มีการเรียนการสอนภาษาทมิฬ
การบรรจุเข้ารับราชการต้องใช้ภาษาสิงหลเท่านั้น
ทำให้เกิดการต่อต้านรุนแรงจากชาวทมิฬ
ชาวทมิฬจึงมารวมกันอยู่ทางตอนเหนือของประเทศมากขึ้นเรื่อยๆ
2
จนมีการก่อตั้ง กลุ่มเสรีภาพพยัคฆ์ทมิฬอีแลม (Liberation Tigers of Tamil Ealam) ในปี 1976
จุดประสงค์หลักของการก่อตั้งกลุ่มนี้ คือ การแบ่งแยกดินแดนทางตอนเหนือของศรีลังกา
ซึ่งประชากร 3 ล้านคนส่วนใหญ่เป็นชาวทมิฬ
Cr. International Crime Database
กลุ่มพยัคฆ์ทมิฬอีแลมมีกองทัพเป็นของตัวเอง
มีกองกำลังครบทั้งทางบก ทางน้ำ และทางอากาศ มีการฝึกซ้อมทหารเข้ารบอย่างเป็นระบบ
เพื่อผลิตคนที่มีความเชี่ยวชาญในการโจมตี
โดยมีเงินทุนสนับสนุนจากชาวทมิฬที่ตั้งรกรากในยุโรปและสหรัฐอเมริกา
และจากธุรกิจผิดกฎหมาย
2
จนกระทั่งในปี 1983 เหตุการณ์ได้รุนแรงถึงขั้นลุกลามกลายเป็นสงครามกลางเมือง
กลุ่มกบฏพยัคฆ์ทมิฬอีแลม ได้ประกาศสงครามอย่างเป็นทางการกับรัฐบาล
วิธีการต่อสู้ของกลุ่มกบฏที่แพร่หลายที่สุดก็คือ การก่อการร้ายโดยการก่อวินาศกรรม
และการระเบิดพลีชีพ
ตลอดระยะเวลาการสู้รบที่ยาวนานนับตั้งแต่ปี 1983 - 2009
ผลจากสงครามทำให้มีผู้เสียชีวิตถึง 65,000 คน
และผู้คนนับล้านต้องลี้ภัย และสูญเสียทรัพย์สิน
เศรษฐกิจของศรีลังกาได้รับผลกระทบอย่างหนัก
ทั้งภาคการท่องเที่ยวและภาคการผลิต
ในภาคการท่องเที่ยว ศรีลังกาเป็นแหล่งวัฒนธรรม มีทั้งโบราณสถาน เมืองเก่า
และชายหาดที่สวยงาม
2
แต่จากเหตุการณ์ก่อการร้าย
ทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ มีอยู่เพียง 300,000 - 500,000 คนต่อปี
ตลอดช่วงเวลายาวนานของสงคราม
ในภาคการผลิต ความรุนแรงจากสงครามกลางเมืองทำให้ศรีลังกาดึงดูดการลงทุนจากต่างชาติได้น้อย
อุตสาหกรรมหลักของประเทศมีเพียงอุตสาหกรรมสิ่งทอ ซึ่งถือเป็นสินค้าส่งออกหลักของประเทศจวบจนปัจจุบัน
1
ทั้งที่ศักยภาพและการศึกษาของแรงงานชาวศรีลังกาสามารถพัฒนาไปได้ไกลกว่านี้
Cr. Textile Today
เมื่อสินค้าส่งออกหลักมีเพียง สิ่งทอ ชา อัญมณี
ในขณะที่ศรีลังกาจำเป็นต้องนำเข้าสินค้ามากมาย
ทั้งอิเล็กทรอนิกส์ ยานยนต์ เครื่องจักร และเชื้อเพลิง
ศรีลังกาจึงขาดดุลการค้าอย่างต่อเนื่องยาวนานมานับตั้งแต่ปี 1983
2
การขาดดุลการค้าทำให้เงินตราต่างประเทศร่อยหรอ
ในขณะที่รัฐบาลต้องมีค่าใช้จ่ายในงบประมาณป้องกันประเทศที่สูงถึง 6% ของ GDP ในปี 1995 ซึ่งเป็นช่วงที่สงครามกลางเมืองรุนแรงที่สุด
รัฐบาลจึงจำเป็นต้องกู้เงินจากต่างประเทศ
หนี้สาธารณะของศรีลังกาจึงเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนมาอยู่ที่ระดับ 86% ของ GDP ในปี 2009
แต่อย่างไรก็ตาม ในปี 2009 นี้เอง
กองทัพศรีลังกาภายใต้การนำของรัฐบาล นายมหินทรา ราชปักษา
ได้บุกปิดล้อมปราบปรามกลุ่มพยัคฆ์ทมิฬอีแลมอย่างหนัก
Cr. Kerala Kaumudi
จนทำให้ฝ่ายกบฏต้องยอมยุติการสู้รบกับฝ่ายรัฐบาล
เป็นการยุติสงครามกลางเมืองที่ยาวนานมากว่า 26 ปี
4
หลังสงครามกลางเมือง เศรษฐกิจของศรีลังกาเริ่มดีขึ้น อัตราการเติบโตของเศรษฐกิจเพิ่มสูงขึ้น
1
มีการลงทุนจากต่างประเทศมากขึ้น โดยเฉพาะจากอินเดีย
ในขณะที่ภาคการท่องเที่ยวก็เติบโตขึ้น จนมีนักท่องเที่ยวมาเยือนศรีลังกากว่า 2.3 ล้านคน ในปี 2018
GDP ที่เพิ่มขึ้น ทำให้สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP เริ่มลดลง
1
แต่อย่างไรก็ตาม ศรีลังกาจำเป็นต้องพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่ถูกทำลายไปในช่วงสงคราม
ทำให้สัดส่วนหนี้สาธารณะกลับมาเพิ่มสูงอีกครั้ง
ในขณะที่ความขัดแย้งระหว่างเชื้อชาติครั้งใหม่ก็ได้ปะทุขึ้นอีกครั้ง
แต่ครั้งนี้ไม่ใช่ระหว่างชาวพุทธกับชาวฮินดู
แต่เป็นปัญหาระหว่างชาวพุทธกับชาวมุสลิม..
ก็เป็นที่น่าติดตามต่อไป ว่าเศรษฐกิจของศรีลังกาจะเป็นอย่างไร
ท่ามกลางความขัดแย้งครั้งใหม่ที่ก่อตัวขึ้น..
ในสัปดาห์หน้า จะเป็นตอนสุดท้าย ของซีรีส์ประเทศที่เคย “รวย” กว่าไทย
เป็นเรื่องราวของประเทศหนึ่ง ที่เคยเป็นที่ตั้งของจักรวรรดิโบราณแห่งเทือกเขาแอนดีส
มีทรัพยากรธรรมชาติอย่างแร่ทองแดงเป็นสินค้าส่งออกสำคัญ
ผู้คนในประเทศนี้เคยมี GDP ต่อหัวมากกว่าคนไทยถึง 2.5 เท่า
แต่ทุกวันนี้กลับจนกว่าไทย
ประเทศนั้นคือ “สาธารณรัฐเปรู”...
ติดตาม ซีรีส์ ประเทศที่ เคย “รวย” กว่า ไทย ตอนต่อไปได้ในสัปดาห์หน้า
โหลดแอป Blockdit เพื่ออ่านซีรีส์ตอนก่อนหน้านี้ ได้ที่ Blockdit.com/download

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา