28 ม.ค. 2020 เวลา 03:18 • ปรัชญา
มาฝึกกันเถอะ.. จิต.. ท่ามกลางความวุ่นวายวิธีลัดจิตแบบง่ายๆ
ในสังคมที่รีบเร่งวุ่นวายมีหลายสิ่งอย่างรุมเร้า ผู้คนในยุคปัจจุบันจึงค่อนข้างจะเร่งรีบ ตั้งแต่ลืมตาขึ้นมาจนกระทั่งกลับเข้านอน ก็ต้องรีบเพื่อจะได้ทำงานให้ทันในวันต่อไป
ทุกๆวันเจเจ้จะเฝ้าติดตามพฤติกรรมของตัวเองและคนใกล้ชิดว่าอารมย์ในแต่ละวันจะเกิดความต่างกันเสมอขึ้นอยู่กับระดับความคิดของสมองและฮอร์โมนในร่างกายพ่วงแถมไปด้วภาวะอากาศสิ่งแวดล้อมรอบๆตัว
การบีบคั้นเร่งรีบแบบนี้ทำให้เกิดปฏิกิริยาบางอย่างขึ้น ในหลักของวิทยาศาสตร์ทางสมอง เมื่อเคมีต่างๆ ที่สัมพันธ์กัน ทำงานอย่างต่อเนื่องหลายสิ่งอย่างในเวลาอันจำกัด นั่นหมายความว่า สมองทำงานหนักมาก ในทางเดียวกัน ถ้าทำงานในสิ่งเดียว โฟกัสเพียงอย่างเดียวสมองมนุษย์จะทำงานน้อยลง และไม่ต่างจากคนที่นั่งสมาธิ
ดังนั้น การที่มนุษย์ทำอะไรรีบๆ เพราะต้องให้จบงาน เพราะมีงานหลายอย่างที่จะต้องทำ การเร่งรีบแบบนี้เอง ภาวะอารมณ์ภายในที่เกิดขึ้นจากการผสมผสานของเคมีบางอย่างในสมองเราจึงเข้มข้น จนกระทั่งอาจจะเกิดค่าแปรผันและเกิดภาวะอารมณ์ถึงกับทำให้แสดงออกมาทางพฤติกรรม
คนรุ่นใหม่หลายคน อารมณ์จึงค่อนข้างรุนแรง บางครั้งอารมณ์ขึ้นๆ ลงๆ จนกระทั่งยากต่อการควบคุม วิธีแก้ไข ต้องอาศัยหลักธรรม เมื่อภาวะอารมณ์ถูกเบรกโดยภาวะธรรม ย่อมจะทำให้เขารู้สึกดีขึ้น
คำว่า ภาวะธรรม ในที่นี้ที่นิยมกันเป็นส่วนมากนั้น คือ การฝึกจิต ไม่ว่าจะฝึกจิตในรูปแบบใด สำนักไหน วัดใดก็ตาม ก็สามารถที่จะยับยั้งอารมณ์ที่ขุ่นมัวได้ทั้งนั้น
การฝึกจิต ทำให้จิตจดจ่อเพียงสิ่งเดียว เช่น การตามดูลมหายใจเข้าและออก (อานาปานสติ) การตามดูลมหายใจ โดยที่ไม่มีความคิดใดๆ ปะปน ย่อมจะทำให้โปร่งเบาสบาย ที่สำคัญสามารถคลายเครียดได้ เมื่อคลายเครียดได้แล้ว อารมณ์ต่างๆ ก็จะเบาลงไปโดยปริยาย
แต่มีอีกวิธีหนึ่งที่สามารถนำเอามาลดภาวะอารมณ์ได้ และทำให้เกิดภาวะธรรมได้ด้วยเช่นกัน นั่นคือ การนั่งพิจารณา คำว่า พิจารณา ต้องเข้าใจก่อนว่า ไม่ใช่การคิดไปเรื่อยเปื่อย แต่อาศัยการคิดนั่นแหละเป็นตัวตั้ง ที่สำคัญวิธีแบบนี้ ทำที่ไหน เมื่อไหร่ก็ได้
เมื่อเริ่มรู้สึกว่า เริ่มจะหงุดหงิดมากขึ้น อารมณ์ร้อนมากขึ้น เร่งรีบมากขึ้น วิธีการฝึก คือ นั่งสบายๆ บนเก้าอี้แบบไหนก็ได้ ทอดสายตาให้ไกลออกไป ถ้าเบื้องหน้ามีวิวธรรมชาติยิ่งจะเป็นการดี มองออกไปให้สุดลูกหูลูกตา ขณะที่มองนั้นจิตต้องไม่คิดอะไรเลยที่เป็นต้นเหตุทำให้เกิดภาวะอารมณ์ที่รุนแรงฉุนเฉียว เหมือนๆ กับการนั่งทอดอารมณ์แบบนั้นแหละ
pinterest
มองไปเรื่อยๆ เมื่อความคิดอะไรที่แทรกเข้ามา...ก็นำเอาความรู้สึกทั้งหมดที่มีไปถามตัวเองว่า คิดทำไม ควรคิดหรือไม่ ถ้าได้คำตอบว่า ไม่ควรคิด ก็เลือกไม่ต้องคิดต่อไป แล้วก็นั่งทอดอารมณ์ต่อไป การนั่งทอดอารมณ์แบบนี้ พุทธศาสนานิกายเซนเป็นที่นิยมนัก โดยเฉพาะในยุโรป เพราะภาวะอารมณ์ที่เกิดขึ้นจะอยู่กับปัจจุบันค่อนข้างง่ายและเป็นภาวะปัจจุบันที่ลืมตาด้วย สำหรับคนที่นั่งฝึกจิตแบบหลับตา ถ้ามีฐานที่แข็งมากพอแล้วมาฝึกจิตแบบนี้จะง่าย
หลวงปู่ดูลย์ อตุโล ลูกศิษย์ในสายพระอาจารย์มั่น ภูริทตฺโต ผู้ที่เป็นพระเถระคณาจารย์ทางด้านสายการปฏิบัติอีกรูปหนึ่ง ท่านเน้นสอนในเรื่องของปัญญา ท่านเคยพูดถึงวิธีการฝึกจิตเอาไว้มากมาย โดยเฉพาะในเรื่องของการเฝ้ารับรู้ดูจิต
หลวงปู่ ท่านเคยปรารภว่า... นั่งกรรมฐานนี่ต้องระวังอย่าไปเผลอนั่งเล่นกับจิต เพราะการไปนั่งเล่นกับจิตนั้นมันทำให้เราเพลิน แล้วที่สุดก็ไม่ได้อะไรสิ่งที่เรามองเห็นในนิมิตต่างๆ ของการทำกรรมฐานนั้น เรามองเห็นจริง แต่สิ่งที่ถูกเห็นมันไม่จริง มันเป็นเพียงอาการของจิตเท่านั้น
จากนั้นหลวงปู่ท่านเคยแนะนำว่า ถ้าเรานั่งลืมตาเฉยๆ เพื่อดูจิตดูใจ เพื่อไม่ให้เกิดความปรุงแต่งใดๆ ก็สามารถทำให้เรามีจิตที่เป็นสมาธิได้เหมือนกัน โดยไม่ต้องไปนั่งหลับตา แต่ไม่ใช่ไปนั่งเฝ้าระวังความคิด แต่นั่งดูความคิด ว่าความคิดมันคิดอะไร คิดฟุ้งซ่าน คิดหงุดหงิด หรือเฉยๆ ไม่ได้คิดอะไรเลย
ใครก็ตามที่มีภาวะอารมณ์ไม่คงที่ มีภาวะอารมณ์ที่หงุดหงิดง่าย หรือทำอะไรรีบร้อนอยู่เสมอ จนเริ่มรู้สึกไม่ค่อยสบายทางใจ ไม่ค่อยสบายทางกาย ลองนำเอาวิธีนี้ไปฝึก เป็นการฝึกจิตที่ตรง ลัด และสั้นที่สุด ไม่ต้องสงสัยว่ามีสอนในพระไตรปิฎกหรือเปล่า แค่เพียงคุณฝึกตาม แล้วก็กลับมาถามใจของคุณเองว่า ใจคุณโล่งหรือเปล่า ลดความเครียดน้อยลงหรือเปล่า เลิกภาวะอารมณ์ต่างๆ ลงได้หรือไม่
ถ้าลดลง ไม่เครียด นั่นก็หมายความว่า คุณสามารถฝึกเพื่อนำเอาไปใช้กับชีวิตจริงได้ โดยไม่ต้องสงสัย
ธรรมะเป็นเรื่องของใจ ไม่ใช่เรื่องของพิธีกรรม ไม่ใช่เรื่องข้างนอก ไม่ใช่เรื่องการรู้ปริยัติ ไม่ใช่เรื่องของการฝึกอยู่ในรูปแบบ แต่เป็นเรื่องของใจล้วนๆ เท่านั้น
เจเจ้มีสาระนำเรื่องราวการฝึกง่ายๆมาฝากกันในวันที่เรารู้สึกเครียดอึดอัดปรับใช้กันให้ใจเราเบิกบานขึ้นและสู้ต่อกับหน้าที่การงานที่ได้รับมอบหมาย
เจเจ้ฝากกดไลค์กดแชร์กดติดตามเพจเจเจ้มีสาระด้วยนะคะขอบคุณค่ะ
Cr.. คำสอนธรรมหลวงปู่ดูลย์ อตุโล
ธรรมะสายหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต
28/1/2563
โฆษณา