28 ม.ค. 2020 เวลา 10:59 • สุขภาพ
Lopinavir/ritonavir (โลปินาเวียร์/ริโทนาเวียร์) : ยาต้านไวรัส HIV
ยาต้านไวรัสตัวนี้ไม่พูดถึงไม่ได้เลยเพราะกำลังเป็นกระแสในปัจจุบันว่ามีการทดลองนำมาใช้เป็นยารักษาไวรัสโคโรนาที่กำลังแพร่ระบาดอยู่ในขณะนี้
วันนี้เราจะมาเจาะลึกถึงยาตัวนี้กันครับว่ามีความเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหน หากจำเป็นต้องใช้ยาตัวนี้จริงมีข้อควรระวังอะไรบ้าง
Lopinavir/ritonavir จัดเป็นยาต้านไวรัส HIV ที่อยู่ในกลุ่ม Protease inhibitors (PIs) ยาในกลุ่มนี้มีอีกหลายตัวเช่น Atazanavir, Fosamprenavir, Indinavir, Saquinavir และ Tipranavir เป็นต้น
ผมจะเล่ากลไกของยากลุ่มนี้ให้ฟังครับ แล้วตอนท้ายจะเชื่อมโยงกับไวรัสโคโรนาเพื่อพิจารณาความเป็นไปได้กันครับ
ยาในกลุ่ม Protease inhibitors ออกฤทธิ์โดยการยับยั้งเอนไซม์ Protease ทำให้ไวรัสไม่สามารถตัด polyprotein (Gag & Gag-pol) เมื่อไวรัสไม่สามารถตัดโปรตีนได้ไวรัสก็จะไม่สมบูรณ์ มันจึงแพร่เชื้อไปยังเซลล์อื่น ๆ ไม่ได้
ขอบคุณภาพจาก https://www.sciencedirect.com/science/article/pii/S092544391300344X
หากใครนึกไม่ออกดูรูปประกอบครับ ยา Lopinavir/ritonavir ที่เรากำลังพูดถึงจะไปออกฤทธิ์ที่หมายเลข 7 ครับ (Protease) ซึ่งขั้นตอนนี้เป็นขั้นตอนเกือบสุดท้ายแล้วก่อนที่ไวรัสมันจะออกจากเซลล์ไป มันจะใช้เอนไซม์ Protease ในการตัดแต่งโปรตีนก่อน เพื่อให้พร้อมใช้งาน และยาเราจะเข้าไปจัดการตรงนี้ครับขัดขวางโดยการจับกับ Protease ซะเลย เอนไซม์ตัวนี้จึงไม่ทำงาน ไวรัสจึงตัดแต่งโปรตีนไม่ได้ โปรตีนไม่พร้อมใช้งาน มันจึงแพร่กระจายไปยังเซลล์อื่น ๆ ต่อไม่ได้นั่นเองครับ
พอจะเห็นภาพการทำงานของยา Lopinavir/ritonavir นะครับ
เป้าหมายของยาคือเอนไซม์ Protease !!! (ย้ำอีกครั้ง)
ดังนั้นหากจะถามว่ายานี้ใช้กับไวรัสโคโรนาได้ไหม ก็ต้องถามกลับต่อว่า โคโรนาไวรัสมี Protease หรือไม่ ?
คำตอบคือ ไม่มีครับ แต่ !!! ไวรัสโคโรนา มีกระบวนการคล้าย ๆ กันกับ HIV คือ สร้างโปรตีนออกมายาว ๆ แล้วใช้เอนไซม์ตัดเป็นท่อนเล็ก ๆ ให้พร้อมใช้งานก่อนออกไปแพร่กระจาย ซึ่งเอนไซม์นั้นมีชื่อว่า C30 Endopeptidase หรือ 3C-like proteinase อาจจะเรียกสั้น ๆ ว่า 3CL
ซึ่งโครงสร้างของ 3CL ก็ไม่ได้เหมือนกับ Protease นะครับ เดี๋ยวผมให้ดูรูป
ภาพ 3CL ของ SARS coronavirus (ภาพจาก 1)
HIV-1 Protease (ภาพจาก 2)
ซึ่งยา Lopinavir/ritonavir ที่เราให้เข้าไปมันจะต้องไปจับกับโครงสร้างเหล่านี้ครับ บอกเลยว่าไม่ง่าย เพราะการจับกันนั้นจะต้องอาศัยมุมที่พอดี การบิดองศาของโครงสร้างยาที่พอดี นอกจากนี้พอยาจับกับเอนไซม์ได้แล้วยังต้องลุ้นอีกว่าจับแล้วจะยับยั้งเอนไซม์ได้หรือไม่ ถ้ายับยั้งไม่ได้ เอนไซม์ก็ทำงานได้ ไวรัสก็แพร่ต่อไปครับ
ซึ่งสถานการณ์ปัจจุบันกำลังทดลองใช้ยา Lopinavir/ritonavir ในคนไข้ที่ติดเชื้อไวรัสโคโรนาอยู่ ซึ่งต้องรอผลการศึกษาทดลองอยู่ครับ
ผมมองว่าสถานการณ์ตอนนี้ลองใช้ยาที่มีอยู่แล้วบนสมมติฐานที่พอจะเป็นไปได้ ย่อมเร็วกว่าการคิดยาใหม่แน่นอนครับ
อ่อ เกือบลืม ข้อควรระวังของการใช้ยา Lopinavir/ritonavir ในระยะสั้นคือ ระดับไขมันอาจจะเพิ่มขึ้นได้ หรือมีปัญหาเกี่ยวกับระบบทางเดินอาหาร และอาจจะมีปัญหาเกี่ยวกับสมดุลของระดับน้ำตาลในเลือดได้ครับ
ผมก็แอบหวังว่ายา Lopinavir/ritonavir จะใช้ได้ผลนะครับ เห็นตัวเลขผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้นทุกวันก็น่าใจหายครับ
พวกเราก็อย่าลืมดูแลตนเองให้แข็งแรงด้วยนะครับ เพราะยาที่ต่อกรกับไวรัสได้ดีที่สุดก็คือระบบภูมิคุ้มกันของเรานี่แหละครับ
บทความหน้าจะมียาตัวไหนที่พอจะเป็นความหวังได้อีก
โปรดติดตามตอนต่อไปครับ .... ขอบคุณครับ
โฆษณา