29 ม.ค. 2020 เวลา 09:13 • กีฬา
เป็นประเด็นดราม่า ณ เวลานี้ กับเรื่องวินเทอร์เบรก สาเหตุเพราะเจอร์เก้น คล็อปป์ประกาศแล้วว่าในเกมนัดรีเพลย์เอฟเอคัพ กับชรูว์บิวรี่จะไม่ส่งนักเตะชุดใหญ่ลงแน่นอนและตัวคล็อปป์เองก็จะไม่คุมทีมข้างสนามด้วย
แน่นอน คล็อปป์โดนด่าเละจากแฟนบอลครึ่งประเทศ แต่อีกครึ่งประเทศก็แสดงความเข้าใจคล็อปป์เหมือนกันว่าทำถูกแล้ว เรื่องนี้พัวพันหลายสเต็ป และทุกคนก็มีเหตุผลของตัวเอง ดังนั้นเราจะไปไล่เรียงกันแต่แรก ว่าดราม่าเกิดจากอะไร
ไอเดียเรื่อง วินเทอร์เบรก หรือหยุดลีกเพื่อหนีหนาว สำหรับประเทศอื่นในยุโรปมีมานานแล้ว
หลักคิดง่ายๆคือ ฟุตบอลอาชีพเป็นกีฬาที่แข่งยาวนานถึง 9 เดือนเต็ม ถ้ารวมปรีซีซั่นแล้วก็ 10 เดือน ตลอด 10 เดือนนี้นักเตะอาชีพจะไม่มีเวลาให้ตัวเองและครอบครัวเลย
1 สัปดาห์ซ้อมแทบทุกวัน จากนั้นสุดสัปดาห์มีโปรแกรมแข่ง พอพักเบรกทีมชาติก็ต้องไปเก็บตัวทีมชาติ เตะทีมชาติเสร็จกลับมาเล่นให้สโมสรต่อ คือเป็นช่วง 10 เดือนที่ใช้พลังอย่างมหาศาลมาก
และนักเตะจะยื่นใบลาแบบพนักงานบริษัทก็ไม่ได้ มีโปรแกรมให้เล่นคุณก็ต้องเล่น คือชีวิต 10 เดือนนี้จะเต็มไปด้วยความตึงเครียดและความอ่อนล้า
ดังนั้นในลีกยุโรปจึงมีไอเดียคือ พอปรีซีซั่น + แข่งมาสัก 4 เดือนแล้ว ก็ควรหยุดครึ่งทาง ราวๆ 2 สัปดาห์เพื่อให้นักเตะชาร์จแบตบ้าง มีเวลาให้ครอบครัว พาลูกเมียไปเที่ยวต่างประเทศบ้าง จากนั้นจะได้กลับมาแข่งต่อในอีก 5 เดือนที่เหลือด้วยสภาพร่างกายและจิตใจที่สดชื่น
วินเทอร์เบรกของลีกอื่น ก็ใช้ช่วงปลายปีเป็นหลัก คือปลายปีมันมีคริสต์มาส กับวันปีใหม่อยู่แล้ว ดังนั้นก็หยุดมันไปเลยช่วงนั้นล่ะ นักบอลจะได้ไปหยุดเทศกาลเหมือนกับชาวบ้านอาชีพอื่นๆ คือจังหวะช่วงเวลามันลงล็อกพอดี
แน่นอน ไอเดียเรื่องวินเทอร์เบรกถือว่าเป็นแนวคิดที่ดี เพราะใครๆก็อยากมีช่วงพักฟื้นร่างกายและจิตใจกันทั้งนั้น อย่างไรก็ตามปัญหาที่อังกฤษไม่เคยใช้วินเทอร์เบรกเลย นั่นคือ วัฒนธรรมของอังกฤษจะแข่งขันกันช่วงบ็อกซิ่งเดย์ และวันปีใหม่
ธรรมเนียมของอังกฤษ วันคริสต์มาสทุกอย่างจะหยุดหมด รถไฟจะไม่วิ่ง รถบัสจะมีวิ่งจำกัดมาก เป็นวันที่ทุกคนในครอบครัวจะได้รวมตัวกัน คือไม่ได้ต้องเดินทางไปไหน มีเวลาให้กันเต็มที่
และจากนั้นวันรุ่งขึ้น 26 ธันวาคม เป็นวันแกะกล่องของขวัญหรือบ็อกซิ่งเดย์ ซึ่งด้วยการที่ครอบครัวมารวมตัวกันในช่วงคริสต์มาสแล้ว กิจกรรมคลาสสิคที่ประชาชนจะทำกันก็คือพากันออกไปดูบอลกันทั้งบ้าน ไปเชียร์สโมสรที่ตัวเองรัก
มาร์ติน โจเนส ศาสตราจารย์ด้านประวัติศาสตร์ของอังกฤษกล่าวว่า "ในอดีตชนชั้นแรงงาน แม้แต่วันเสาร์อาทิตย์ก็ยังไม่สามารถมาดูบอลได้ เพราะต้องทำงานเสริม แต่เมื่อถึงวันคริสต์มาส และบ็อกซิ่งเดย์ซึงเป็นวันหยุดราชการ พวกเขาจึงมีโอกาสที่จะได้มาดูบอลเหมือนชนชั้นอื่น"
ในอดีตฟุตบอลจะเตะกัน 2 วันติดเลยด้วยซ้ำ วันคริสต์มาส 1 แมตช์ และ วันบ็อกซิ่งเดย์ 1 แมตช์ แต่ในภายหลังมันถี่เกินไปจึงตัดคริสต์มาสออกในปี 1965 และเหลือแค่บ็อกซิ่งเดย์แมตช์เดียวเท่านั้น
บ็อกซิ่งเดย์เตะกันมาตั้งแต่ปี 1918 เกินกว่า 100 ปีแล้ว มันอยู่ในธรรมเนียมคนของอังกฤษมาตลอด มันคือช่วงเวลาแห่งความสุขของประชาชน เรื่องนี้ตัวนักเตะอังกฤษ และโค้ชอังกฤษเอง จะไม่รู้สึกว่าเป็นปัญหาอะไร เพราะเขาอยู่กับมันมาตั้งแต่แรก แต่ในมุมของโค้ชต่างชาติ ที่สัมผัสข้อดีของการพักช่วงคริสต์มาสมาแล้ว แน่นอนก็ย่อมไม่แฮปปี้ ที่ไม่มีช่วงเบรกแบบนี้
เคยมีโค้ชหลายคนแนะนำให้พักเบรกอย่าเตะเลยช่วงบ็อกซิ่งเดย์เนี่ย แต่เรื่องนี้มันเกินกว่าฟุตบอล มันเป็นเรื่องอัตลักษณ์ และตัวตนของวงการฟุตบอลอังกฤษเลย ทุกวันนี้ต่างชาติก็มีอิทธิพลเยอะมากแล้ว และนี่จะยังมาทำลายวัฒนธรรมอันยาวนานของลีกอีกอย่างนั้นหรือ?
ยิ่งไปกว่านั้น ในแง่การตลาด การที่บอลอังกฤษเตะอยู่ลีกเดียวช่วงปลายปี ก็โกยเงินคนเดียว แฟนบอลต่างชาติไม่มีลีกอื่นดูก็เปิดมาดูพรีเมียร์ลีก เป็นการยึดครองเรตติ้ง และตลาดปลายปีได้อย่างสมบูรณ์แบบ
นั่นทำให้แผนวินเทอร์เบรกช่วงบ็อกซิ่งเดย์ ยาวจนถึงปีใหม่ต้องล้มเลิกไป วัฒนธรรมบ็อกซิ่งเดย์ใครก็แตะไม่ได้ทั้งนั้น
แต่ปัญหาการเล่นฟุตบอลแบบน็อนสต็อปไม่มีพัก มันกลับส่งผลกระทบโดยตรงกับทีมชาติอังกฤษ
ในขณะที่นักเตะลีกอื่น ทีมชาติอื่น ได้พักฟื้นร่างกายและจิตใจแบบมนุษย์ทั่วไป เตะไปครึ่งฤดูกาลได้ชาร์จแบตเต็มๆ จากนั้นก็กลับมาเตะต่อในครึ่งฤดูกาลที่เหลือ มันทำให้ผู้เล่นไม่กรอบ ไม่ล้าจนเกินไป
มีการโยงประเด็นว่า สาเหตุที่อังกฤษไม่เคยประสบความสำเร็จเลยในเกมทีมชาติ เพราะนักเตะอ่อนล้ามาจากเกมลีกแล้ว พอถึงทัวร์นาเมนต์ทีมชาติ ก็เลยแผ่วปลายทุกที ไม่มีแรงพอจะใช้สู้กับคู่แข่งในรอบน็อกเอาต์
ตั้งแต่อดีตแล้วที่นักเตะทีมชาติอังกฤษเกือบ 100% เล่นอยู่ในประเทศตัวเองหมด ดังนั้นก็แปลว่าทั้งทีมไม่มีใครได้พักเลย
ตรงข้ามกับทีมชาติอื่นๆ อาจจะมีนักเตะบางคนเล่นในอังกฤษบ้าง แต่ก็มีอีกจำนวนมากที่เล่นในลีกอื่น ดังนั้นมันจะกรอบ ก็ไม่ได้กรอบกันทั้งทีม
เยอรมันชุดแชมป์โลกปี 2014 มีนักเตะเล่นในพรีเมียร์ลีกอยู่ 4 คน คือเมซุต โอซิล (อาร์เซน่อล), ลูคัส โพโดลสกี้ (อาร์เซน่อล), แพร์ แมร์เตซัคเกอร์ (อาร์เซน่อล) และ อันเดร เชือร์เล่ (เชลซี) ใช่ นักเตะเหล่านี้กรอบกว่าคนอื่น แต่นักเตะที่เหลือที่เล่นใน เยอรมัน, อิตาลี หรือสเปน พวกเขาได้พักฟื้นร่างกายในช่วงวินเทอร์เบรกนี่ ดังนั้นพอถึงทัวร์นาเมนต์ทีมก็เลยไม่ได้ส่งผลกระทบในภาพรวม
ต่างกับอังกฤษที่นักเตะร้อยทั้งร้อยไม่มีใครได้พัก ซึ่งอาการเหนื่อยล้ามันไปเห็นผลในช่วงทัวร์นาเมนต์ฟุตบอลโลก หรือยูโร คือเราจะสังเกตได้ว่าอังกฤษมักจะแผ่วปลายตลอด รอบแบ่งกลุ่มผลงานดี แต่พอเข้ารอบน็อกเอาต์เมื่อไหร่ ร่วง
ยูโร 2004 - รอบแบ่งกลุ่มยิงไป 8 ประตูเยอะสุดในทัวร์นาเมนต์ แต่พอเข้ารอบ ก็ไปร่วงในรอบ 8 ทีมสุดท้าย
ยูโร 2012 - แชมป์รอบแบ่งกลุ่ม ฟอร์มเหนือชั้น แต่พอเข้ารอบ ก็ไปร่วงรอบ 8 ทีมสุดท้ายเหมือนเดิม
ยูโร 2016 - ผ่านรอบแบ่งกลุ่มแบบไร้พ่าย แต่พอเข้ารอบ ไปแพ้ไอซ์แลนด์รอบ 16 ทีมสุดท้าย ตกรอบ
จะเห็นได้ว่าทีมชาติอังกฤษมีแพทเทิร์นแบบเดิมๆ คืออาจรวมพลังสู้ได้ดีในรอบแบ่งกลุ่ม แต่พอเล่นไปหลายๆเกม ร่างกายที่อ่อนล้าสะสมมันส่งผล ทำให้เอาชนะคู่แข่งไม่ได้ในรอบน็อคเอาต์
หลายคนบอกว่า มันเพราะตัวนักเตะไม่มีวินเทอร์เบรกแบบชาวบ้านเขา คือถ้าผู้เล่นไม่ได้พักฟื้นร่างกายบ้าง จะไปหวังประสบความสำเร็จในทัวร์นาเมนต์ ไม่มีทางหรอก
เยอรมัน มีวินเทอร์เบรก 30 วัน
ฝรั่งเศส มีวินเทอร์เบรก 24 วัน
สเปน มีวินเทอร์เบรก 18 วัน
อิตาลี มีวินเทอร์เบรก 16 วัน
คือจะมากจะน้อยมันก็ต้องมี แต่ที่อังกฤษมีวินเทอร์เบรกทั้งหมด 0 วัน
นั่นเป็นที่มาของการหยิบไอเดีย วินเทอร์เบรกขึ้นมาถกกันอีกครั้ง เพราะปลายซีซั่นนี้จะเป็นยูโร 2020 ซึ่งรอบรอง และรอบชิง จะแข่งที่เวมบลีย์ ดังนั้นทีมชาติอังกฤษก็อยากจะไปให้ได้ไกลที่สุด ถ้าได้แชมป์ยูโรที่เวมบลีย์ของตัวเองคงเป็นอะไรที่เพอร์เฟ็กต์มาก
แต่แน่นอน การเข้ารอบลึกในยูโรมันจะไม่เกิดขึ้นเลย ถ้านักเตะไม่ได้พักร่างกายอย่าง
เหมาะสม
ดังนั้นพรีเมียร์ลีกผู้จัดโปรแกรมการแข่งขัน จึงต้องจัดการเรื่องนี้แบบครึ่งทาง ต้องมีวินเทอร์เบรก แต่ห้ามเป็นช่วงบ็อกซิ่งเดย์
บทสรุปคือ งั้นบอลอังกฤษวินเทอร์เบรกกันต้นเดือนกุมภาพันธ์มันเลยละกัน
หลังจากเตะเกมที่ 25 ในวันที่ 1 หรือ 2 กุมภาพันธ์แล้ว เอฟเอจะแบ่งทีมเป็น 2 ส่วน
8 ทีมแรก (บอร์นมัธ,ไบรท์ตัน,พาเลซ,เอฟเวอร์ตัน,แมนฯซิตี้,เชฟฯยูไนเต็ด,วัตฟอร์ด,เวสต์แฮม) จะเตะนัดที่ 26 วันที่ 8-9 กุมภาพันธ์จากนั้นจะได้พักยาวขั้นต่ำทีมละ 13 วัน ไปเตะนัดที่ 27 อีกที ในวันที่ 22-23 กุมภาพันธ์นั่นเลย
12 ทีมที่เหลือ (อาร์เซน่อล,วิลล่า,เบิร์นลีย์,เชลซี,เลสเตอร์,ลิเวอร์พูล,แมนฯยูไนเต็ด,นิวคาสเซิล,นอริช,เซาธ์แฮมป์ตัน,สเปอร์ส) จะเตะนัดที่ 26 วันที่ 15-17 กุมภาพันธ์ และเตะนัดที่ 27 วันที่ 22-23 กุมภาพันธ์
เมื่อเป็นแบบนี้ แปลว่าทุกทีมจะได้พักขั้นต่ำ 13 วัน
8 ทีมแรก ได้พัก 9-22 กุมภาพันธ์ =13 วัน
12 ทีมที่เหลือ ได้พัก 2-15 กุมภาพันธ์ = 13 วัน
ตัวเลข 13 วัน แม้ผู้จัดการทีมส่วนใหญ่อย่างคล็อปป์ หรือกวาร์ดิโอล่ายังมองว่าน้อยเกินไป เทียบกับเยอรมัน ฝรั่งเศส สเปน หรืออิตาลีไม่ได้เลย แต่ก็ยังดีกว่าไม่มี การให้นักเตะพักฟื้นร่างกายสัก 10 กว่าวันโดยไม่ต้องเตะบอล ไม่ต้องเข้าแคมป์อะไรเลย มันเป็นการชาร์จแบตทุกคนให้เพิ่มขึ้นมาจากเดิมได้
ยิ่งกับทีม Big Six ของอังกฤษที่มีโปรแกรมแชมเปี้ยนส์ลีก หรือยูโรป้าลีกด้วยตั้งแต่ปลายเดือนกุมภาพันธ์เป็นต้นไป จากนั้นไปจะต้องเตะทุก 3 วัน ไม่มีพักแล้ว เตะกันรัวๆแบบน็อนสต็อป ดังนั้น การมีเวลาพักให้ร่างกายสดขึ้นสักหน่อยช่วงต้นกุมภาพันธ์ก็ถือเป็นเรื่องดี
ไอเดียนี้ของพรีเมียร์ลีก ถือว่าทำให้ทุกฝ่ายพอใจ
สโมสรโอเค - ได้ปล่อยนักเตะพักฟื้น
ทีมชาติโอเค - ผู้เล่นได้พัก 2 วีกก็ยังดี
แฟนบอลโอเค - เพราะไม่ไปเบรกในช่วงบ็อกซิ่งเดย์ มาเบรกตอนนี้ก็รับได้
พรีเมียร์ลีกโอเค - เพราะ 20 ทีม ไม่ได้เบรกพร้อมกันหมด แต่สลับเป็น 2 ชุด แปลว่าไม่ได้หายไปยาว วีก 8-9 ก.พ. ก็มี 8 ทีมลงเตะ วีก 15-17 ก.พ. ก็มี 12 ทีมลงเตะ ก่อนที่ทั้ง 20 ทีมจะกลับมาเตะพร้อมกัน 22-23 ก.พ. แบบนี้ก็ไม่น่าส่งผลกระทบในแง่การตลาดเท่าไหร่
ทุกอย่างเหมือนจะลงตัวแล้ว พรีเมียร์ลีกส่งจดหมายหาทุกสโมสรว่า ในช่วงเบรก 13 วันนี้ กรุณาให้นักเตะได้พักจริงๆ อย่าเอาเกมทางการ หรือเกมกระชับมิตรกับทีมในเอเชียเพื่อประโยชน์ทางการค้า มายัดใส่ในช่องว่าง 13 วันนี้ เพราะจุดประสงค์คือให้ร่างกายนักเตะได้ฟื้นฟู
จริงๆแล้วมันก็ไม่น่าจะมีอะไรเลย แต่สุดท้ายก็มี
และเรื่องที่ทำให้ทุกอย่างมันดราม่าคือโปรแกรมเอฟเอคัพ
บ็อกซิ่งเดย์คือวัฒนธรรมอันเก่าแก่ของอังกฤษ เช่นเดียวกับเอฟเอคัพ นี่ก็คือถ้วยศักดิ์สิทธิ์เช่นกัน คนอังกฤษภูมิใจเสมอกับรายการนี้ ในฐานะที่มันเป็นถ้วยที่เก่าแก่ที่สุดในโลก
ธรรมเนียมของเอฟเอคัพ คือจะเริ่มแข่งรอบ 3 ต้นเดือนมกราคม จากนั้นก็ไล่มาเรื่อยๆ ถ้ามีเตะรีเพลย์ก็จะสอดแทรกแข่งเอาในกลางสัปดาห์
จุดที่เป็นโลโก้ของเอฟเอคัพเลยคือการรีเพลย์ ถ้าเสมอไปแข่งใหม่อีกนัดเพื่อหาผู้ชนะ
ในอดีตแม้แต่นัดชิงถ้าเสมอกันก็ต้องรีเพลย์ ไม่มีการตัดสินด้วยลูกจุดโทษ แต่เมื่อเข้าสู่ยุคพรีเมียร์ลีก ทางเอฟเอก็รู้ว่า ถ้ารีเพลย์เยอะเกินไปมันอาจจะหนักเกินไปสำหรับหลายๆทีม จึงปรับกฎใหม่ ให้รอบรองชนะเลิศ กับรอบชิงชนะเลิศ จะตัดสินแบบแข่งนัดเดียวจบ แต่ในรอบอื่นๆยังต้องเป็นรีเพลย์อยู่
จุดที่การรีเพลย์มีความหมาย เพราะทุกทีมก็ฝันอยากจะเข้ารอบทั้งนั้น แต่ถ้าคุณโชคร้ายจับสลากได้เล่นเป็นทีมเยือนก่อนล่ะ? มันก็มีโอกาสสูงที่คุณจะตกรอบ ดังนั้นคุณต้องสู้เต็มที่เพื่อยันเจ๊าให้ได้เป็นอย่างน้อย จะได้โอกาสกลับไปเล่นแก้ตัวในบ้านตัวเอง
นอกจากนั้นมันก็ยังเป็นความฝันของบรรดาทีมเล็กๆด้วย สมมุติจับสลากเจอทีมใหญ่ในบ้านตัวเอง ก็จะพยายามยันเสมอให้ได้ เพื่อจะได้กลับไปรีเพลย์ที่บ้านทีมใหญ่ ซึ่งนั่นจะทำให้พวกเขาได้เงินส่วนแบ่งค่าเข้าชม และค่าถ่ายทอดสดอีกเป็นจำนวนมหาศาล
เอฟเอคัพจึงอยู่คู่กับการรีเพลย์มาตลอด ในรอบรองหรือรอบชิงที่ส่วนใหญ่จะเป็นทีมใหญ่แล้ว ทางสมาคมฟุตบอลอังกฤษจึงกล้าที่จะตัดเกมรีเพลย์ออกให้เหลือแมตช์เดียวจบ แต่ถ้าตั้งแต่รอบแรก รอบสอง รอบสาม ที่มีทีมเล็กๆอยู่เต็มไปหมด คุณจะทำลายความฝันของทีมเหล่านี้ด้วยการตัดรีเพลย์ทิ้งไม่ได้หรอก
ดังนั้นรีเพลย์ก็ต้องคงอยู่
ประเด็นคือเอฟเอคัพนั้นไม่สามารถเลื่อนโปรแกรมใดๆได้ เพราะมันเป็นรายการใหญ่ ทุกทีมทั่วอังกฤษหลายร้อยทีม สามารถส่งชื่อลงแข่งขันได้หมด และรอบคัดเลือกกว่าจะคัดกันเสร็จก็ต้องใช้เวลาหลายเดือน ดังนั้นสล็อตเวลาทุกอย่างจึงล็อกหมดแล้ว ขยับไม่ได้เลย
ปัญหาอยู่ตรงนี้ คือในรอบ 4 ที่เป็นเกมรีเพลย์ เขามีการล็อกไว้แต่แรกแล้วว่า ต้องแข่งวันที่ 4 หรือ 5 กุมภาพันธ์
หลังจากที่ลิเวอร์พูลเสมอชรูว์บิวรี่ 2-2 ทำให้ลิเวอร์พูลเองก็ต้องไปรีเพลย์วันที่ 4 กุมภาพันธ์เช่นกัน
แต่โยงกลับไปในช่วงวินเทอร์เบรกที่เรากล่าวไว้ตอนแรก โปรแกรมวินเทอร์เบรกของลิเวอร์พูล คือแข่งกับเซาธ์แฮมป์ตันเสร็จวันที่ 1 ก.พ. จากนั้นจะได้พักยาว 13 วัน แล้วลงแข่งขันวันที่ 15 ก.พ. กับนอริช ซิตี้
เมื่อมีโปรแกรมเอฟเอคัพรีเพลย์แทรกเข้ามา ในวันที่ 4 กุมภาพันธ์ แปลว่าวันหยุดของลิเวอร์พูลจากเดิมที่ควรจะเป็น 13 วัน ก็จะลดลงเหลือ 10 วันเท่านั้น ซึ่งแน่นอนว่าน้อยกว่าทีมอื่นๆในลีก
นี่คือจุดที่ทำให้เจอร์เก้น คล็อปป์ไม่แฮปปี้นัก เพราะเขาวางแผนไว้แล้วว่าจะให้นักเตะ และสตาฟฟ์โค้ชพักยาว ก่อนจะกลับมาซ้อมอีกทีก่อนใกล้ๆวันที่จะเบรกเสร็จ แต่เมื่อต้องมารีเพลย์แบบนี้ มันเหลือวันหยุดน้อยลงกว่าเดิมมาก ระยะเวลาแค่ 10 วัน ก็ไม่ได้หยุดอะไรเป็นชิ้นเป็นอันหรอก
และดราม่าทั้งหมดก็เกิดขึ้นจากจุดนี้
คล็อปป์ประกาศว่านัดรีเพลย์กับชรูว์บิวรี่ จะไม่ใช้งานนักเตะชุดใหญ่ ทีมจะขนนักเตะชุดเล็กจากอคาเดมี่ลงเล่นในเกมนั้น เหมือนกับตอนที่ส่งนักเตะอคาเดมี่ลงเล่นลีกคัพรอบ 8 ทีมสุดท้าย ก่อนจะโดนวิลล่าถล่ม 5-0
"ผมบอกกับลูกทีมไปแล้วเมื่อ 2 วีกก่อนว่าเราจะมีวินเทอร์เบรก นั่นหมายถึงเราทุกคนจะไม่อยู่ในเกมรีเพลย์ด้วย พรีเมียร์ลีกบอกให้เราเคารพวินเทอร์เบรก ไม่หาโปรแกรมมาแข่งเพิ่ม เราก็จะทำแบบนั้น ถ้าเอฟเอรับไม่ได้กับเรื่องนี้ เราก็ทำอะไรไม่ได้ แต่เราจะไม่อยู่แน่ๆ"
จริงๆมันก็น่าจะโอเคถ้า คล็อปป์ทิ้งตัวสำรองบางคน เช่นมินามิโนะ, โอริกี้, ลอฟเรน หรือ เคอร์ติส โจนส์เอาไว้ แต่เราพอจะเห็นจากแนวทางของคล็อปป์แล้วว่า สำหรับเขาทีมชุดใหญ่คือทีมชุดใหญ่ทุกคน คล็อปป์ไม่มีครึ่งๆกลางๆแบ่งทีมชุดใหญ่บางคนไปพัก บางคนลงเล่นแน่ๆ คล็อปป์ต้องการให้ทีมเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน ซ้อมก็ซ้อมพร้อมกัน พักก็พักพร้อมกัน
ชุดใหญ่ไม่มี ขณะที่ตัวโค้ชที่จะคุมทีมเกมนั้นคือนีล คริชลีย์ โค้ชเยาวชน ส่วนตัวคล็อปป์เองก็จะไม่อยู่
ในเรื่องนี้ เราต้องเข้าใจจุดยืนของคล็อปป์ก่อน นั่นคือเขาสนับสนุนวินเทอร์เบรกอยู่แล้ว และเมื่อมีโอกาสได้พักถึง 13 วัน ทำไมเขาต้องได้พักแค่ 10 วันด้วยล่ะ 3 วันมันก็มีความหมายนะ
คล็อปป์นั้นวางเป้าหมายคือแชมป์พรีเมียร์ลีก กับยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ลีก เขาโฟกัสที่สองรายการนี้เป็นหลัก ส่วนเอฟเอคัพ หรือลีกคัพ ถือเป็นรายการรอง เข้ารอบก็ได้ ไม่เข้าก็ได้ ไม่เป็นไร คืออย่าทำให้เป้าหมายหลักเขวไปก็พอ
จุดที่เราห้ามลืมคือคล็อปป์ยังไงเสียเขาก็ไม่ใช่คนอังกฤษ เขาเป็นคนเยอรมัน และคล็อปป์เองก็ไม่ได้เห็นความสำคัญของเอฟเอคัพขนาดนั้น ส่งทีมชุดเล็กก็ได้นี่ ไม่เห็นเป็นไร แพ้ก็แพ้ได้ ซึ่งในเรื่องนี้เป็นสิ่งที่แฟนบอลอังกฤษหลายทีมไม่พอใจอย่างหนัก ว่าทำไมคล็อปป์ถึงดูถูกถ้วยเก่าแก่ที่สุดในประเทศขนาดนี้
พอล แม็คอินเนส นักข่าวจากเดอะการ์เดี้ยน วิจารณ์ว่า "คล็อปป์ทำเป็นเล่นลิ้น จดหมายของเอฟเอที่บอกอย่าหาโปรแกรมเพิ่ม เขาไม่ได้หมายถึงเอฟเอคัพนัดรีเพลย์ แต่เขาหมายถึง สโมสรไปหาโปรแกรมอุ่นเครื่องเพื่อหาเงินจากประเทศกาตาร์อะไรแบบนั้นต่างหาก"
แอนดี้ โฮลท์ เจ้าของทีมแอคคริงตัน สแตนลีย์ในลีกวันเปิดหน้าโจมตีคล็อปป์อย่างหนัก "เขามันน่าอับอาย นี่คือความเห็นแก่ตัวขั้นสูงสุด ถ้าเป็นผมต่อให้เข้าโรงพยาบาลก็จะลากตัวเองขึ้นมาจากเตียงเพื่อลงเล่นนัดรีเพลย์ เพราะนั่นคือเรื่องถูกต้องที่ควรจะทำ"
แม้แต่เจมี่ คาร์ราเกอร์ ตำนานของสโมสรที่ปกป้องลิเวอร์พูลและคล็อปป์มาเสมอ ก็ไม่เห็นด้วยนัก "นักเตะทีมชุดใหญ่อาจได้พักในวินเทอร์เบรก แต่คล็อปป์ควรจะมาคุมเกมรีเพลย์ด้วยตัวเอง"
นี่เป็นประเด็นดราม่าที่เกิดขึ้นในตอนนี้และแบ่งความรู้สึกของคนออกเป็นสองมุม
สำหรับคนที่เห็นด้วยกับคล็อปป์ก็มีเยอะ คือสโมสรเขา เขาจะส่งตัวผู้เล่นอย่างไรก็ได้ ในเมื่อเป้าหมายสำคัญคือพรีเมียร์ลีก กับแชมเปี้ยนส์ลีก ไม่มีกฎข้อไหนห้ามว่าต้องใช้ผู้เล่นเยาวชนลงเล่นในเอฟเอคัพนี่ ถ้าตัวชุดใหญ่ลงเล่นแล้วเจ็บ ใครจะรับผิดชอบ แล้วอีกอย่างรู้ได้ไงว่านักเตะเยาวชนลิเวอรพูลจะชนะทีมลีกวันแบบชรูว์บิวรี่ไม่ได้
ราล์ฟ ฮาเซนฮัทเทิล ผู้จัดการทีมเซาธ์แฮมป์ตันบอกว่า "นี่เราต้องมาเล่นเกมรีเพลย์ในช่วงวินเทอร์เบรกเนี่ยนะ มันไม่เมกเซนส์เลย"
แต่คนที่ไม่เห็นด้วยก็มีเยอะมากๆ โดยบอกว่าคล็อปป์ไม่ให้ความสำคัญกับฟุตบอลรากหญ้าเลยแม้แต่นิด เอฟเอคัพเป็นรายการแห่งความฝันของชาวอังกฤษ แต่คล็อปป์กลับไม่ให้เกียรติมัน ด้วยการจะส่งนักเตะเยาวชนที่ไม่เคยเล่นเกมลีกมาก่อนลงแข่งขัน
ยิ่งไปกว่านั้น พักจาก 13 วัน เหลือ 10 วันมันจะหนักหนาแค่ไหนเชียว คุณไม่ต้องเอาซาลาห์ ฟาน ไดค์ หรืออลิสซอนลงก็ได้ แต่นี่คุณเล่นใช้นักเตะแบบหลุยส์ ลองสตาฟฟ์, มอร์แกน บอยส์,โทมัส ฮิลล์ และ โทนี่ กัลลาเกอร์ ลงสนาม คือเด็กพวกนี้คือใคร? มันไม่เกินไปหน่อยหรือ นี่มันไม่ให้เกียรติคู่แข่งกันเลยนี่นา
ประเด็นนี้ทำให้มันกลายเป็นเรื่องดราม่าขึ้นมา และน่าจะเป็นครั้งแรกจริงๆ ที่ผู้จัดการทีมมหาชนอย่างเจอร์เก้น คล็อปป์ โดนแรงต่อต้านมากขนาดนี้
บทสรุปของเรื่องนี้ ก็เข้าใจเหตุผลของทุกฝ่าย
การมีวินเทอร์เบรกนั้นถือว่ามีความสำคัญ ยิ่งในปีที่มีทัวร์นาเมนต์อย่างยูโร และฟุตบอลโลกแล้วด้วย การที่นักเตะได้พักย่อมส่งผลดีต่อทีมชาติตัวเอง
ดังนั้นพรีเมียร์ลีกจึงพยายามทำดีที่สุดเท่าที่ทำได้แล้ว เพื่อจัดโปรแกรมให้ลงตัวกับทุกฝ่าย
ส่วนเจอร์เก้น คล็อปป์เองเขาก็ต้องทำทุกอย่าง เพื่อผลประโยชน์ของลิเวอร์พูล และเป้าหมายสำคัญคือแชมป์ลีก กับแชมเปี้ยนส์ลีก ที่จะเข้าสู่ช่วงตึงเครียดแล้ว
ดังนั้นเมื่อทีมมีโอกาสได้พักก็ควรได้พักจริงๆ ที่สำคัญเขาสัญญากับลูกทีมไปแล้วด้วย จะให้เขาผิดคำพูดตัวเองหรือ
แต่ในมุมของชาวอังกฤษทั่วๆไปก็เข้าใจเช่นกัน ว่ามองเอฟเอคัพเป็นรายการสำคัญ นี่ไม่ใช่ถ้วยกิ๊กก๊อกที่คุณจะส่งเด็กๆลงเล่นยกเซ็ตได้ คุณอาจเป็นโค้ชต่างชาติฝีมือดี แต่ก็ควรให้เกียรติถ้วยศักดิ์สิทธิ์ของประเทศเขาด้วย
ดราม่าเรื่องนี้ มันเลยพัวพันกันโยงใยไปหมด และที่สำคัญคือทุกคนไม่มีใครผิดด้วย เพราะมีเหตุผลรองรับในการกระทำของตัวเองทั้งนั้น
ในปีนี้ ใช่ ทุกอย่างคงเลยตามเลยไปก่อน แต่เมื่อปัญหาเกิดแล้ว ในปีหน้าก็จะเป็นบทเรียนให้พรีเมียร์ลีกวางแผนให้รัดกุมยิ่งกว่านี้อีก อาจจะวางตารางให้ลงล็อกกว่านี้ และระบุให้เคลียร์ไปเลยว่าช่วงวินเทอร์เบรก ไม่เกี่ยวกับนัดรีเพลย์เอฟเอคัพ
ส่วนคล็อปป์เองก็ต้องคิดเช่นกันว่าเจอสถานการณ์แบบนี้อีก จะวางตัวผู้เล่นอย่างไรถึงจะเหมาะสมที่สุด
จากเรื่องนี้ เราจะเห็นว่าในบางสถานการณ์มันไม่มีใครเป็นผู้ผิดหรอก เพียงแต่แนวคิดของแต่ละฝ่ายมันไม่ตรงกันแค่นั้นเอง
ดังนั้นถ้าเกิดปัญหาอะไรขึ้นแล้วรู้ว่าไม่มีคนผิด เราก็ไม่จำเป็นต้องด่าฝ่ายนั้นฝ่ายนี้ เพราะมันไม่มีประโยชน์ ต่างคนก็ต่างทำในสิ่งที่ตัวเองคิดว่าถูกต้องไปก่อน
จากนั้นพอผ่านสถานการณ์นี้ไปได้ ค่อยๆกลับมาวางแผนทุกอย่างกันใหม่
นับ 1 กันไปอย่างช้าๆ เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาซ้ำเดิมอีกในอนาคต
#WinterBreak
โฆษณา