1 ก.พ. 2020 เวลา 02:35 • ธุรกิจ
แฟ้มตราช้าง สินค้าพันล้าน ที่เคียงคู่การศึกษาไทย มากว่า 50 ปี
หากจะถามว่าอะไรคือเครื่องมือสำคัญของครูในการสอน คงปฏิเสธไม่ได้เลยว่า สิ่งนั้นคือ "แฟ้มตราช้าง" สินค้าที่ชูโรงธุรกิจเครื่องเขียนมาเป็นเวลานาน นับตั้งแต่ปี 2513
ภายใต้แบรนด์ ตราช้าง ที่ติดหูคนไทยนั้น ยังมีสินค้าอื่นๆ ที่เคียงคู่กับการศึกษาไทยไม่แพ้กัน
มีอะไรบ้าง หยิบสมุดขึ้นมา เขียนวันที่ให้เรียบร้อย คุณครูจะพาไปดู …
ช้างดำสวยเด่น ตั้งตระหง่านบนสันแฟ้มลวดลายสวยงาม
กลายเป็นสัญลักษณ์เด่นชูโรงของธุรกิจเครื่องเขียนรายใหญ่ของประเทศ นามว่า
.
DHAS
.
บริษัท ดี เอช เอ สยามวาลา จำกัด
DHAS ถือกำเนิดจากธุรกิจเล็กๆ ที่ประกอบธุรกิจนำเข้าสินค้า ซื้อมา ขายไป ในช่วงสมัยรัชกาลที่ 5 ซึ่งถือเป็นต้นตระกูล "สยามวาลา"
ทายาทรุ่นที่ 4 ของบริษัท ในวัย 51 ปี "คุณสุหฤท สยามวาลา" เป็นหนึ่งในกรรมการผู้จัดการบริษัท ที่เติบโตมาพร้อมๆ กับการเปลี่ยนแปลงของยุคสมัย
Cr.forbesthailand.com
คุณสุหฤทเล่าว่า ในสมัยนั้นธุรกิจนำเข้าสินค้ากำลังไปได้สวย จนถึงภาวะสงคราม บริษัทของครอบครัวก็ประสบปัญหาการทำธุรกิจเป็นอย่างมาก ล้มลุกคลุกคลาน ต่อสู้อยู่นาน ลองผิดลองถูก คิดค้นสินค้าใหม่ๆ แต่ก็ยังไม่ประสบความสำเร็จ
จนวันหนึ่งได้พระเอกขี่ม้าขาวอย่าง "ธุรกิจเครื่องเขียน"
เข้ามากอบกู้ธุรกิจในช่วงนั้น และนำพาธุรกิจให้เข้มแข็งจนทุกวันนี้
ปี 2513 แฟ้มตราช้าง ได้ถือกำเนิดขึ้น พร้อมกับการพัฒนาเครื่องเขียนชนิดอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็น
สีมาสเตอร์อาร์ท
ปากกาลูกลื่น "Quantum"
สี Pentel
ผลิตภัณฑ์เครื่องเขียน elfen
สิ่งเหล่านี้ล้วนผ่านมือเรามาตั้งแต่เด็กๆ หรือบางคนก็ยังใช้อยู่ มันคืออุปกรณ์ธรรมดาๆ
ที่ไม่ได้พิเศษอะไรมากมาย แต่ยอดขายกลับสร้างรายได้ที่ไม่ธรรมดา
โครงสร้างรายได้ของบริษัท 3 ปีย้อนหลัง มีรายได้นับพันล้านบาท เมื่อเทียบกับมูลค่าตลาดเครื่องเขียน 1.4 หมื่นล้านบาท ถือว่าทำได้ดี
ปี 2559 รายได้รวม 3,404 ล้านบาท กำไรสุทธิ 337.66 ล้านบาท
ปี 2560 รายได้รวม 3,278 ล้านบาท กำไรสุทธิ 361.14 ล้านบาท
ปี 2561 รายได้รวม 3,319 ล้านบาท กำไรสุทธิ 339.79 ล้านบาท
จะเห็นได้ว่า รายได้บริษัทยังคงเติบโตได้อย่างต่อเนื่องเฉลี่ย 3.4 พันล้านบาทต่อปี
ตามทิศทางการเติบโตของศึกษาไทย
หากอนาคตการศึกษาไทยยังคงพัฒนาต่อไปเรื่อยๆ ธุรกิจเครื่องเขียนก็คงต้องดีวันดีคืน เหมือนกับเงาตามตัวอย่างแน่นอน
112 ปี ที่ผ่านมาของ DHAS เป็นเครื่องกระตุ้นให้คุณสุหฤท สยามวาลา ไม่หยุดนิ่งกับความแข็งแกร่งของแบรนด์ แม้จะสามารถครองใจนักเขียนและแวดวงการศึกษามาอย่างช้านานก็ตาม
เขายอมพาตัวเองลุกขึ้นมาพัฒนาธุรกิจอย่างต่อเนื่อง เพื่อตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ของคนยุคนี้ บนหลักการ "ฟังให้มากกว่าพูด ฟังเยอะๆ แล้วจะได้ไอเดียใหม่ๆ ตามมา"
ไอเดียที่เกิดขึ้นก็มักจะมาพร้อมกับสังคมที่เปลี่ยนไป ประกอบกับปัจจัยความเสี่ยงในประเทศที่เพิ่มขึ้น ดังนั้นการแตกแขนงธุรกิจไปยังประเทศเพื่อนบ้าน จึงเป็นสิ่งที่ดี
คุณสุหฤทกล่าวไว้ในตอนหนึ่งว่า มีแนวคิดจะขยายธุรกิจไปยังกลุ่มประเทศ CLMV มากขึ้นเพื่อเพิ่มสัดส่วนรายได้ต่างประเทศให้เพิ่มสูงถึง 60% ของรายได้ จากปัจจุบันอยู่ที่ 30%
Cr.dhas.com
น่าสนใจที่ว่า บนความเข้มแข็งของแบรนด์ 100 กว่าปี เขายังต้องพัฒนาตัวเองอยู่เสมอ
ตราบใดที่ยังมีหนทางอยู่ สมดังวลีที่เขาเคยบอกว่า "ผมจะเป็นวัยรุ่นที่แก่ที่สุดในโลก"
หรือนี่อาจเป็นแนวความคิดที่แข็งแกร่งตั้งแรกเริ่มของบริษัท ที่นำ "ช้าง"
ตัวแทนแห่งความเข้มแข็งหนักแน่น มาเป็นตราสินค้า เพื่อให้ทุกคนมองช้าง เป็นตัวอย่าง
ในการยืนหยัดต่อสู้บนความเข้มแข็ง เพื่อพัฒนาธุรกิจเคียงคู่การศึกษาไทย ต่อไป
ครูสายเลือดใหม่ : เรียบเรียง
หากมีข้อมูลบางส่วนที่ผิดพลาดประการใด ครูสายเลือดใหม่ขอน้อมรับ
และพร้อมที่จะแก้ไขและพัฒนาต่อไป 🙂 ขอบคุณที่ติดตามครับ
โฆษณา