5 ก.พ. 2020 เวลา 03:12 • ครอบครัว & เด็ก
การอ่านเสียงดังฟังชัดให้ลูกฟัง จะช่วยให้ลูกเชื่อฟังและเป็นเด็กสมาธิดี
เด็กเล็กเรียนรู้ผ่านความสัมพันธ์และการสื่อสารโต้ตอบ การอ่านหนังสือให้ฟังจึงช่วยพัฒนาสมองลูกได้ไม่ต่างจากการพูดคุย และไม่ใช่แค่ทำให้ทักษะภาษาดีขึ้น เช่น การอ่านออกเขียนได้ แต่ยังส่งผลดีต่อพัฒนาการทางสังคมและอารมณ์ของเด็กอีกด้วย
มีงานวิจัยแสดงให้เห็นว่า เมื่อพ่อแม่ใช้เวลาอย่างมีคุณภาพกับลูก เช่น การอ่านหนังสือ จะช่วยลดพฤติกรรมก้าวร้าว ดื้อ ซน และไม่เชื่อฟังของเด็ก และเพิ่มสมาธิ ทำให้อยู่นิ่งได้มากขึ้น
ซึ่งการอ่านออกเสียงให้ลูกฟังมีประโยชน์ดังต่อไปนี้
1. ช่วยกระชับความสัมพันธ์พ่อแม่ลูก
ช่วง 2-3 ปีแรกถือเป็นช่วงเวลาสำคัญ ที่ส่งผลต่อการพัฒนาสมองลูกน้อย คุณพ่อคุณแม่เริ่มอ่านหนังสือให้ลูกฟังได้ตั้งแต่ตั้งครรภ์ โดยไม่จำเป็นว่าต้องเป็นนิทานอย่างเดียวเท่านั้น คุณแม่จะอ่านป้าย นิตยสาร ใบปลิว หรือโฆษณาให้ลูกฟังก็ได้ เพราะประโยชน์แท้จริงของมันคือให้ลูกคุ้นเคยเสียงคุณพ่อคุณแม่ตั้งแต่อยู่ในครรภ์
และการอ่านหนังสือให้ลูกฟังหลังคลอด ยังเป็นการถ่ายทอดประสบการณ์และสร้างความทรงจำดีๆ ให้ลูกอีกด้วย
2. พัฒนาทักษะภาษา เช่น การอ่านออกเขียนได้
เป็นที่ยอมรับกันทั่วไปว่า การอ่านออกเสียงให้ลูกฟังทำให้ทักษะภาษาของลูกพัฒนา ถึงแม้เด็กยังไม่สามารถโต้ตอบกับเรื่องราวได้ทันที แต่ยิ่งร่างกายถูกกระตุ้นมากเท่าไร สมองก็ยิ่งพัฒนาเร็วขึ้นเท่านั้น และลูกยังจะได้เรียนรู้สิ่งต่างๆ ดังนี้
– รู้ชื่อหนังสือ วิธีการรักษาและถนอมหนังสือ
– เข้าใจวิธีอ่าน เช่น อ่านจากบนลงล่าง อ่านจากซ้ายไปขวา
– เรียงลำดับเรื่องราวของหนังสือที่อ่านได้
– จดจำเสียงและตัวอักษร
– เรียนรู้คำศัพท์ ไวยากรณ์ และวิธีการสื่อสารหลากหลาย
– พัฒนาทักษะการฟัง หูแยกเสียงได้ดี
3. พัฒนาทักษะอารมณ์และสังคม
ดร. อลัน เมนเดลซอห์น—รองศาสตราจารย์กุมารเวชศาสตร์จากโรงเรียนแพทย์ มหาวิทยาลัยนิวยอร์ก (New York University School of Medicine) กล่าวหลังจากศึกษาครอบครัวกลุ่มตัวอย่าง 675 ครอบครัว ที่มีเด็กแรกเกิดจนถึง 5 ขวบว่า “เราเพิ่งค้นพบว่าการอ่านออกเสียงดังฟังชัดให้ลูกฟังและเล่นกับเขา จะช่วยพัฒนาทักษะการเข้าสังคมให้ลูกด้วย”
เพราะการอ่านออกเสียงและเล่นด้วยการให้เด็กใช้จินตนาการ เป็นเหมือนการจำลองการเข้าสังคม จำลองอารมณ์ความรู้สึกตามตัวละครในเรื่องหรือบทบาทสมมติ ซึ่งดร. อลันคิดว่าจะช่วยให้เด็กรู้จักเลือกใช้คำพูด เพื่ออธิบายความรู้สึกหรือสิ่งต่างๆ ได้ และทำให้รู้จักคิดและควบคุมพฤติกรรมตัวเองเมื่อโกรธ เศร้า หรือไม่พอใจ ทำให้ลูกเข้าใจตัวเองและคนอื่นมากขึ้น
นอกจากนี้ยังช่วยให้เด็กมีสมาธิ เป็นผู้ฟังที่ดี และรับมือกับอารมณ์ความรู้สึก เช่น เครียดและวิตกกังวลได้ดียิ่งขึ้น อีกทั้งหนังสือยังพาเด็กๆ ไปยังสถานที่และช่วงเวลาแปลกใหม่ ซึ่งช่วยเสริมจินตนาการและขยายขอบเขตโลกของเขาให้กว้างขึ้น
ได้ประโยชน์เยอะขนาดนี้แล้ว มาดูเทคนิคการเลือกหนังสือดีๆ ให้ลูก และเคล็ดลับการอ่านที่สนุกทั้งคุณพ่อคุณแม่และลูกน้อยกันเลย
เทคนิคการเลือกหนังสือให้ลูกน้อย
– หนังสือภาพรูปภาพใหญ่ๆ สีสันสดใส ลายเส้นให้ความรู้สึกสนุกสนาน จะช่วยเรียกความสนใจ ทำให้ลูกน้อยเรียนรู้ง่ายขึ้น
– หนังสือที่ชื่อและเนื้อหาเป็นคำคล้องจอง โคลงกลอน บทเพลงให้ร้องตามหรือออกท่าทางประกอบได้ เพื่อให้ลูกน้อยร้อง เล่น เต้นตามได้
– เด็กบางคนอาจอยู่กับหนังสือได้แป๊บเดียว ลองแทรกกิจกรรมอื่นเข้าไป หรือถ้าลูกยังเด็กมาก ยังไม่เข้าใจว่าหนังสือต้องเปิดอ่าน หรือเอาหนังสือมาเล่น ก็ไม่เป็นไร… แค่ให้เขาลองจับและสัมผัสสร้างความคุ้นเคยกับหนังสือก่อน
– เมื่อลูกเริ่มหยิบจับสิ่งของได้ ให้ลองหาหนังสือพื้นผิวแปลกๆ เพื่อกระตุ้นประสาทสัมผัส แต่ว่าขอบหนังสือต้องมน ใช้วัสดุขาดยาก ไม่มีเหลี่ยมคม และใช้สีปลอดภัย เพื่อไม่ให้อันตรายกับลูกน้อย
เคล็ดลับการอ่านหนังสือให้ลูกสนุกและได้ประโยชน์
– อ่านหนังสือให้ลูกฟังในอ้อมกอดของคุณพ่อคุณแม่ ลูกจะได้รู้สึกปลอดภัย และควรออกท่าทาง แสดงสีหน้าและอารมณ์ให้เข้ากับเนื้อเรื่อง ใช้โทนเสียงสูงต่ำต่างกันในแต่ละตัวละคร
– ไม่จำเป็นต้องอ่านทุกตัวอักษร คุณสามารถหยุดและตั้งคำถามให้ลูกตอบบ้าง เช่น มีลูกหมูกี่ตัว หรือหนูน้อยใส่หมวกสีอะไร เป็นต้น แม้ว่าลูกอาจยังตอบไม่ได้ แต่การสื่อสารจะช่วยกระตุ้นพัฒนาการได้
– ร้องเพลงประกอบ ทำเสียงสัตว์ เสียงเครื่องยนต์ เสียงสิ่งของประกอบเรื่องราวและตัวละคร เพื่อให้ลูกรู้สึกว่าการอ่านและการฟังสนุกสนาน น่าติดตาม
– เด็กๆ มักเรียนรู้จากการทำซ้ำ ดังนั้นไม่ต้องกังวลว่าอ่านนิทานเรื่องเดิมซ้ำแล้วซ้ำอีก ลูกจะเบื่อไหม… และอย่าลืมร้องเพลงประกอบหรือทำเสียงตัวละครไปด้วย หรืออาจลองทดสอบความจำลูกด้วยการอ่านข้ามตอนสำคัญไป เพราะถ้าลูกจำได้ว่าฉากไหนหายไป เขาจะทักทันที
– เมื่อลูกโตขึ้น ลองให้เขาสัมผัสหนังสือหรือถือเล่นเอง แต่ควรเลือกหนังสือที่ปลอดภัยกับเด็ก แบบที่เอาไปกัดหรืออมได้ เพื่อให้เขาคุ้นเคยกับมัน และได้สัมผัสหนังสือด้วยวิธีการของตัวเอง
โฆษณา