6 ก.พ. 2020 เวลา 11:30 • การศึกษา
ความล้มเหลวทางการศึกษา
ความไม่ใส่ใจ หรือแค่ทำตามๆกัน?
เพื่อนๆสังเกตเห็นอะไรในภาพนี้กันบ้าง
ดรีมเปิดอ่าน comment เห็น 3 ข้อความเรียงกันแบบนี้ สารภาพว่าอดขำไม่ได้ในตอนแรก
แต่ย้อนกลับมาคิดอีกมุมนึง ก็พบว่าเรื่องนี้สะท้อนสิ่งที่น่าเป็นห่วงบางอย่างของสังคมการศึกษาไทย ทำไมเราถึงได้เห็นการสะกดคำผิดหลายที่ เรียงกันถึง 3 ข้อความติดๆกัน
เพื่อนๆคงสังเกตเห็นกันแล้วนะคะ
คำว่า “รายละเอียด” และ “คะ/ค่ะ”
ซึ่งต้องบอกว่าทั้งสองคำนี้ เป็นคำพื้นฐานทั่วไปที่ใช้กันบ่อยมากในชีวิตประจำวัน แต่กลับยังเขียนกันผิดอยู่บ่อยครั้งมาก จนมีอยู่ช่วงนึงที่ดรีมเคยเห็น hashtag ขำๆเชิงเสียดสี ที่บอกว่า “เขียนคะ/ค่ะผิด = ประหาร” เพราะเป็นคำที่ใช้กันผิดเยอะมากจริงๆจนน่าตกใจ
แอบเลื่อนลงไปสังเกตดูต่อ ก็ยังเห็นการเขียนผิดที่หลากหลายอยู่
ทีนี้เรามามองกันว่าปัญหานี้เกิดจากอะไร
1. ความล้มเหลวทางการศึกษา?
.
อันที่จริงแล้ว ทักษะการอ่านออกเขียนได้ ถือเป็นทักษะพื้นฐานสำหรับเด็กทุกคนก็ว่าได้
เด็กทุกคนที่เข้าถึงระบบการศึกษา จะผ่านการเรียนเรื่องการออกเสียง การผันวรรณยุกต์ การเขียนพยัญชนะ สระต่างๆ ซึ่งการเขียนได้นั้น ควรจะเป็นการเขียนด้วยตัวสะกดที่ถูกต้องด้วย
.
นอกจากในห้องเรียนแล้ว เราก็ยังได้เจอพวกคำเขียนอ่านพื้นฐานได้ทั่วไป จากการอ่านหนังสือ อ่านบทความตามที่ต่างๆ ซึ่งก็น่าแปลกที่ว่า การเรียนทั้งในห้องเรียนและนอกห้องเรียนนั้น ยังไม่เพียงพอต่อการสะกดคำพื้นฐานให้ถูกต้องจริงหรือ? หรือว่านักเรียนไม่ได้รับการเรียนที่เพียงพอ รวมทั้งอ่านหนังสือน้อยเกินไป แบบที่คนชอบพูดแซวกันว่า “ไม่อ่านแล้ว เกินแปดบรรทัด”
นี่ยังไม่นับการสะกดคำยากๆที่นานๆทีใช้ หรือคำศัพท์ประเภทที่ใช้ทักษะภาษาขั้นสูง ซึ่งอาจจะไม่แปลกมากที่จะไม่รู้
แนวทางการแก้ไขคือ ถ้าเราเห็นเด็กๆสะกดผิด ก็ควรช่วยแก้ความเข้าใจให้ถูกต้อง และลองให้เขียนสะกดใหม่ให้ถูก รวมทั้งการให้เด็กฝึกอ่านหนังสือให้มากขึ้น ส่วนตัวเราเองถ้ามีเขียนผิด ก็ควรจำ และแก้ไขให้ถูกต้องเช่นกัน
2. ความไม่ใส่ใจ
.
สังคมไทยยังมีค่านิยมบางอย่างของความไม่ใส่ใจในความไม่ถูกต้องอยู่ เราจะได้เห็นหรือได้ยินประโยคประเภท “ทำอะไรก็ได้ ไม่ได้ทำให้ใครเดือดร้อน” หรือ “แค่นี้ไม่เห็นเป็นไร หยวนๆกันได้” หรือแม้กระทั่ง “เรื่องแค่นี้ จะอะไรกันนักหนา”
.
ซึ่งการที่เราไม่ใส่ใจในข้อผิดพลาดเล็กๆน้อยๆเหล่านี้ หลายคนจะติดเป็นนิสัย จนละเลยสิ่งเล็กๆน้อยๆทุกอย่าง จนกลายเป็นความไม่ละเอียด ความสะเพร่า ซึ่งอาจกลายเป็นปัญหาใหญ่ได้ในหลายๆครั้ง และที่จริงแล้วสิ่งที่เราทำไปโดยไม่ใส่ใจความถูกต้อง ก็มักจะเป็นตัวอย่างที่ไม่ดีให้เด็กๆมาทำตาม เช่น กรณีเขียนคำผิดๆ เด็กที่อ่านเจอสิ่งผิดๆบ่อยๆ ก็จะเริ่มไม่มั่นใจ และเขียนผิดตาม รวมไปถึงนิสัยที่ไม่พึงประสงค์อื่นๆ ที่เกิดจากความไม่ใส่ใจด้วย เช่น ยืนพิงเสากลางบนรถไฟฟ้า ถ่มน้ำลายตามที่สาธารณะ หรือ ไอจามไม่ปิดปาก เป็นต้น
แนวทางการแก้ไขคือ อะไรที่ทำให้ถูกต้องแล้วไม่เหนือบ่ากว่าแรงนัก ก็ทำให้ถูกต้องไปเลยดีกว่าค่ะ จะส่งผลดีกับเราและสังคมมากขึ้นแน่นอนในระยะยาว และควรมีพฤติกรรมที่เป็นแบบอย่างที่ดีให้แก่เด็ก
3. แค่ทำตามๆกันไป
.
เคยเป็นกันไหมที่เราแค่ทำตามคนส่วนใหญ่ หรือคนส่วนน้อยที่เราเห็นก็ตาม เนื่องจากเราไม่แน่ใจว่าอะไรคือสิ่งที่ถูกต้อง
.
เรื่องอิทธิพลจากคนหมู่มากหรือสังคมนั้น เคยมีการทดลองและงานวิจัยหลายชิ้น ที่แสดงให้เห็นว่า เราสามารถเปลี่ยนการตัดสินใจจาก ”ถูกเป็นผิด” ได้ ถ้าเราเห็นคนส่วนใหญ่ทำแบบนั้น เช่น การเลือกคำตอบที่ผิดของคำถาม เมื่อเราเห็นคนส่วนใหญ่เลือกข้อที่ผิด รวมไปถึงกระแสแปลกๆที่เราเห็นเป็นระยะว่าไม่น่าทำตามๆกันได้ เช่น การกินโรตีดิบ!
.
การเขียนหรือใช้คำผิดก็เช่นกัน หลายครั้งก็เกิดจากการเขียนตามคนอื่น หรือคัดลอกประโยคที่เขียนผิดของคนอื่นมาเลย ซึ่งอาจเป็นผลจากทุกข้อมารวมกัน คือเริ่มจากการที่เราไม่แน่ใจการสะกดคำ และคิดว่าเขียนผิดคงไม่เป็นไร จึงคัดลอกตามคนอื่นไปเลย
.
อีกปัญหาที่เกี่ยวข้องที่พบบ่อยคือ การใช้ภาษาวิบัติ ซึ่งก็เป็นการทำตามกระแสกันของคนบางกลุ่มซึ่งอาจจะรู้สึกสนุก แต่ก็อาจทำให้เกิดผลกระทบต่อสังคม เช่น การเลียนแบบของเด็กๆตามมา
แนวทางการแก้ไขคือ เราไม่จำเป็นต้องทำตามสิ่งที่เราเห็นทุกอย่างแม้ว่าสิ่งนั้นจะมีคนทำเยอะก็ตาม โดยเฉพาะถ้าเรารู้ว่าสิ่งนั้นไม่ถูกต้อง และกรณีที่เราไม่แน่ว่าถูกต้องหรือไม่ ก็ควรตรวจสอบข้อมูลก่อนนั่นเอง
ฝากเป็นข้อคิดไว้สำหรับทุกคนด้วยนะคะ
แล้วพบกันใหม่ตอนหน้า
พร้อมกับ podcast ของน้องดรีมเร็วๆนี้ ^_^
โฆษณา