15 ก.พ. 2020 เวลา 12:19 • ความคิดเห็น
ปริศนาธรรม
”อยากเรียนรู้ถามหญิงคันหูก
อยากทำถูกถามเด็กเลี้ยงควาย”
ปริศนาธรรมนี้
พระเดชพระคุณหลวงพ่อจรัญ ฐิตธัมโม
ได้เคยเทศน์สอนไว้
ปริศนาธรรมนี้สำคัญอย่างไร?
เพราะเหตุใด หลวงพ่อจึงสอนให้เราปฏิบัติธรรม
ดังเช่นปริศนาธรรมนี้?
🌿“อยากเรียนรู้ถามหญิงคันหูก”🌿
คำว่า "หญิงคันหูก" หมายถึง “หญิงทอผ้า”
งานทอผ้าเป็นงานที่ประณีตมาก
ต้องอาศัยฝีมือและความรู้ความชำนาญ
ของผู้ทออย่างมาก มีขั้นตอนที่สลับซับซ้อน
งานทอผ้า เป็นงานศิลปะที่มีอยู่เพียงชิ้นเดียวในโลก
เพราะความสามารถของแต่ละคนในการทำแต่ละขั้นตอน จึงทำให้ผ้าทอมีความแตกต่างกัน
...
เส้นไหมที่สาวได้แต่ละช่วงเวลาหรือแต่ละระยะของฝักไหมให้ความหนาของเส้นไม่เท่ากัน สีไม่เหมือนกัน
...
ความสามารถในการทอ การสอดกระสวย ความแรงในการตีกระทบหรือการฟัดทำให้ได้สีเข้มอ่อนต่างกัน
...
อากาศ อุณหภูมิ หรือแม้แต่อารมณ์ความรู้สึกของผู้ทอ สิ่งเหล่านี้มีผลกับความสวยงามของผ้าผืนนั้นๆ
🍁อยากเรียนรู้ถามหญิงคันหูก จึงมีความหมายว่า
ทุกคนที่มีความปรารถนาที่จะก้าวหน้าในปฏิบัติธรรม
สิ่งที่ควรทำคือการเรียนรู้จากผู้รู้ผู้ชำนาญ
นั่นคือ การเสาะแสวงหาครูบาอาจารย์ที่เก่ง มีความรู้ความสามารถ ขอความรู้จากท่าน ขอคำแนะนำจากท่าน ศึกษาวิธีการปฏิบัติจากท่าน การเรียนรู้จาก
คนเก่งจะทำให้เรา ปฏิบัติได้อย่างถูกต้องและเก่งได้อย่างรวดเร็วกว่าการลองผิดลองถูกเอง
นอกจากนี้ ถ้าสังเกตจะเห็นว่า การทอผ้านั้นมีเทคนิคหลายอย่าง หากไม่ลงมือทำด้วยความเพียรพยายาม เรียนรู้ ลองผิดลองถูก สังเกตแล้วนำมาปรับปรุงแก้ไข พัฒนาฝีมือก็ไม่สามารถทอผ้าออกมาได้สำเร็จอย่างสวยงามได้
การปฏิบัติธรรมก็เช่นกัน เมื่อรู้วิธีจากครูบาอาจารย์แล้ว
ต้องลงมือทำด้วยความเพียรพยายาม มุ่งมั่นตั้งใจฝึกฝน ด้วยความใจเย็น เป็นขั้นเป็นตอนอย่างถูกต้องด้วย จึงจะมีความก้าวหน้าและประสบความสำเร็จ
🌿“อยากทำถูกถามเด็กเลี้ยงควาย”🌿
1
การไถนาด้วยควาย เด็กเลี้ยงควายจะให้ควายเดินลากคันไถครูดไปกับพื้นผิวดินจนเกิดการพลิกตัวของดิน
ตลอดทางจนเป็นแนวร่อง โดยเด็กเลี้ยงควาย
มีหน้าที่บังคับคันไถแล้วเดินตามควาย
คนสมัยก่อนเวลาที่เด็กโง่ ผู้ใหญ่มักจะพูดเปรียบเปรยว่า “ให้ไปเลี้ยงควาย” เด็กเลี้ยงควาย
จึงเปรียบเสมือน “คนโง่” ที่เดินตามควาย
ไม่ทำเป็นรู้มาก เดินตามอย่างเดียว
🍁อยากทำถูกถามเด็กเลี้ยงควาย จึงมีความหมายว่า
ให้ปฏิบัติเหมือนเด็กเลี้ยงควาย คือ ทำเหมือนกับคนโง่ ไม่รู้มาก ทำตามวิธีที่ครูบาอาจารย์ท่านสอน
ท่านแนะนำ จึงจะนำไปสู่สำเร็จได้ในที่สุด
การมีปัญญามาก อ่านมามาก รู้มามาก
หากไม่ระมัดระวังก็เป็นเสมือนดาบสองคม
ที่ทำให้เรามีทิฐฏิมานะมาก จิตเกิดการปรุงแต่งมาก
ตกอยู่ใต้อำนาจความโลภและความหลง
ไม่เป็นไปตามธรรมชาติ การเรียนรู้ที่ดีที่สุดคือการลงมือปฏิบัติด้วยจิตที่เป็นกลาง ไม่ยึดมั่นถือมั่น
🍃พระพุทธเจ้าทรงตรัสไว้ว่า...
“สพฺเพ  ธมฺมา  นาลํ  อภินิเวสาย”
แปลว่า ธรรมทั้งปวงไม่ควรยึดมั่น
คือ เราไม่อาจจะยึดมั่นถือมั่นไว้ได้
สิ่งทั้งหลายทั้งปวง มันไม่ได้อยู่ใต้อำนาจความปรารถนาของเรา แต่มันเป็นไปตามกฎธรรมชาติ
เป็นไปตามเหตุปัจจัยหรือมีอยู่ดำรงอยู่ตามสภาวะของมัน เพราะฉะนั้นเราจึงไม่สามารถยึดมั่นถือมั่นมันได้ เราจะต้องวางใจปฏิบัติต่อสิ่งเหล่านั้นให้ถูก
อีกนัยหนึ่งควายเปรียบได้ดั่งจิตของเรา การบังคับควายให้ได้ดี เด็กเลี้ยงควายต้องรู้จักควายของตัวเองเป็นอย่างดี ต้องมีเทคนิคที่ดี ต้องรู้ว่าจะฝึกมันอย่างไร
ต้องรู้ว่าควายของเรามีกำลังมากแค่ไหน
การปฏิบัติธรรมก็เช่นกัน เราต้องรู้กำลังจิตของตนเอง
หมั่นสังเกตและเลือกวิธีฝึกที่มีอยู่มากมายหลายรูปแบบ
เพื่อให้เหมาะสมกับการฝึกจิตของตนเองที่สุด
จากปริศนาธรรมข้างต้น
สามารถนำคติธรรมนี้ไปใช้ในชีวิตประจำวัน
ได้ทุกเรื่องทั้งกิจการงานทางโลกและทางธรรมปฏิบัติ
ขอให้ทุกท่านมีความเจริญในทางโลกและทางธรรม
ยิ่ง ๆ ขึ้นไปนะคะ😊😊
นมัสการในธรรมคำสอน🙏🏻
ของพระเดชพระคุณหลวงพ่อจรัญ ฐิตธัมโม
ทั้งหมดเป็นเพียงการวิเคราะห์จากผู้เขียนเท่านั้น
โปรดใช้วิจารณญาณในการอ่านค่ะ
ขอบคุณทุกคนที่เข้ามาอ่านนะคะ❤️💚
#กระเรียนน้อย

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา