8 มี.ค. 2020 เวลา 02:48 • บันเทิง
The Shawshank Redemption เป็นหนังสร้างแรงบันดาลใจชั้นเยี่ยมครับ
1
หนังสอนให้เรารู้จักยืนหยัดต่อสู้เพื่อตนเองและไม่ย่อท้อต่ออุปสรรคปัญหาที่ผ่านเข้ามาในชีวิต
ทุกวันนี้ Shawshank ได้รับการยกย่องว่าเป็นสุดยอดหนังดี แต่กว่าจะมาถึงจุดนี้หนังต้องฟันฝ่าทั้งเรื่องดีเรื่องร้ายสารพัด และผมก็ยินดีที่จะนำมาเล่าครับ ว่ากว่าที่ Shawshank จะมาเป็นตำนานได้ ต้องเจอกับเรื่องอะไรบ้าง
เรามาเริ่มกันตรงนี้นะครับ ตั้งแต่ที่มาของเรื่องสั้นต้นฉบับครับ
Shawshank ดัดแปลงมาจากเรื่องสั้นขนาดยาวที่เขียนโดย Stephen King ชื่อเต็มๆ ของเรื่องสั้นก็คือ Rita Hayworth and Shawshank Redemption ซึ่งสิ่งที่บันดาลใจให้ King เขียนเรื่องนี้ขึ้นมา ก็มาจาก 2 อย่างครับ
อย่างแรกเลยคือเขาเป็นคนที่ชอบดูหนังเกี่ยวกับคนคุกมาตั้งแต่สมัยเด็กๆ
และอย่างที่ 2 คือ King ได้มีโอกาสอ่านเรื่องสั้นของ Leo Tolstoy ที่ชื่อว่า God Sees the Truth, But Waits ซึ่งเนื้อหาว่าด้วยชายคนหนึ่งที่ต้องติดคุกในข้อหาฆาตกรรมที่เขาไม่ได้ก่อ
King ประทับใจเรื่องนี้มาก และนำมาสร้างสรรค์ดัดแปลงเป็นเรื่องสั้นขนาดยาวของเขาเอง
เรื่องสั้นชิ้นนี้ถูกรวมอยู่ในหนังสือ Different Seasons ที่รวมเรื่องสั้น 4 ฤดูของ Stephen King เอาไว้ โดย Shawshank นี้ก็เป็นเรื่องราวตัวแทนของฤดูใบไม้ผลิครับ (และในเล่มนี้ยังมีเรื่องสั้นที่ชื่อ The Body รวมอยู่ด้วย ซึ่งเรื่องที่ว่านี่ก็ถูกเอามาทำเป็นหนังที่ชื่อ Stand By Me ครับ)
เกร็ดที่น่าสนใจอย่างหนึ่งของชื่อหนังสือ Different Seasons นอกจากจะหมายถึง “ฤดูที่แตกต่าง” แล้ว King กับบรรณาธิการยังซ่อนนัยยะไว้ในชื่อเรื่อง สื่อว่าเรื่องราวในเล่มนี้จะแตกต่างจากเล่มอื่นๆ ของ King ที่มักจะมาในแนวสยองขวัญครับ
Cr.Merry-Go-Round Publishing
เรารู้ที่มาของเรื่องสั้นแล้วนะครับ ทีนี้มาดูกันต่อว่าจากเรื่องสั้นมันกลายมาเป็นหนังได้อย่างไร
อันว่าเรื่องสั้นนี้ถูกตีพิมพ์ออกมาเมื่อปี ค.ศ. 1982 ครับ ทีนี้เรามาย้อนเวลากันนิดนึง ย้อนไปปี 1980 ตอนนั้นมีนักทำหนังหน้าใหม่ที่ชื่อ Frank Darabont ส่งจดหมายมาถึง Stephen King เพื่อติดต่อขอซื้อลิขสิทธิ์เรื่องสั้นที่ชื่อ The Woman in the Room เอาไปทำเป็นหนังสั้นครับ
ซึ่ง King ก็สนับสนุนคำขอของ Darabont ผ่านโครงการที่ชื่อว่า Dollar Deal
อธิบายก่อนว่า Dollar Deal นี้คือโครงการที่ King ตั้งขึ้นครับ เป็นโครงการที่มีไว้เพื่อสนับสนุนคนทำหนังรุ่นใหม่ที่อยากเอาเรื่องสั้นของเขาไปทำเป็นหนัง โดยเขาจะคิดค่าลิขสิทธิ์ต่อเรื่องเพียง 1 เหรียญเท่านั้นครับ ซึ่ง Darabont ก็ถือเป็นคนทำหนังรายแรกๆ ที่ได้เข้าโครงการนี้ของ King
พอ Darabont ทำ The Woman in the Room เสร็จในปี 1983 เขาก็รู้สึกว่างานชิ้นนี้ยังไม่น่าพอใจเท่าไหร่นัก ในขณะที่ King เห็นว่าจริงๆ งานชิ้นนี้ก็ใช้ได้นะ และนั่นคือจุดเริ่มต้นของมิตรภาพระหว่างพวกเขาครับ
Frank Darabont / Cr.denofgeek
หลังจากนั้น Darabont ก็เริ่มทำงานในวงการหนังแบบเต็มตัว ในปี 1987 Darabont ก็มีงานเขียนบทหนังใหญ่ชิ้นแรกออกมาซึ่งก็คือ A Nightmare on Elm Street 3: Dream Warriors หรือนิ้วเขมือบภาค 3 นั่นเอง ซึ่งทำให้เขาเป็นที่รู้จักมากขึ้น และที่สำคัญคือเขามีรายได้จากงานชิ้นนี้ครับ
จากนั้นเขาก็ติดต่อไปยัง Stephen King เพื่อขอซื้อลิขสิทธิ์เรื่องสั้นเรื่องหนึ่งครับ ซึ่งตอนแรก King ก็นึกว่าเขาจะซื้อเรื่องแนวสยองเพราะเห็นว่า Darabont ทำหนังมาในแนวนี้ แต่ Darabont กลับขอซื้อเรื่อง Rita Hayworth and Shawshank Redemption ซึ่ง King ก็ประหลาดใจไม่น้อยครับ และเขาก็ยอมรับว่าในตอนนั้นเขามองไม่ออกเลยว่าเรื่องสั้นชิ้นนี้จะดัดแปลงเป็นหนังออกมาได้อีท่าไหน
แต่ตัว Darabont เองกลับบอกกับ King ว่า "ผมเห็นภาพอย่างชัดเจนเลย ว่ามันจะกลายเป็นหนังได้อย่างไร" และในที่สุด King ก็ตกลงขายลิขสิทธิ์ให้ Darabont ไปในสนนราคา 5,000 เหรียญครับ
-- ขอกระซิบนิดนึงว่า จำเงิน 5,000 เหรียญนี่ไว้ดีๆ นะครับ --
1
Stephen King / Cr.biography
หลังจากได้สิทธิ์มา Darabont ก็สั่งสมประสบการณ์เพิ่มอยู่ 5 ปีครับ ระหว่างนั้นเขาก็เขียนบทหนังอย่าง The Fly II และ The Blob ฉบับรีเมค รวมถึงเขียนบทซีรี่ส์ The Young Indiana Jones Chronicles อยู่ 5 ตอน แล้วก็กำกับหนังทีวีเรื่อง Buried Alive ซึ่งเป็นหนังระทึกขวัญที่ทำได้สนุกและน่าติดตามมากเรื่องหนึ่ง
พอประสบการณ์ได้ที่ เขาก็เริ่มคิดจะกำกับหนังโรงบ้างครับ ตอนแรกเรื่องที่เขาเล็งไว้คือ Child's Play (แค้นฝันหุ่น) แต่แล้วเขาก็เปลี่ยนใจ หันมาเริ่มต้นดัดแปลง Shanwshank จากเรื่องสั้นมาเป็นบทหนังครับ
เขาใช้เวลาอยู่ 8 สัปดาห์ในการเขียนบท ปรับสิ่งต่างๆ ให้เข้ากับแนวทางที่ต้องการ คือเขาต้องการทำ Shawshank ให้ออกมาในแนวสร้างแรงบันดาลใจแบบหนังของ Frank Capra สมัยก่อน อย่างพวก It's a Wonderful Life อะไรแบบนั้นน่ะครับ รวมถึงเพิ่มบทบาทของบางตัวละคร อย่าง ผู้เฒ่าบรูกส์กับเจ้าหนุ่มทอมมี่ให้มีผลต่อเนื้อเรื่องมากขึ้น นอกจากนี้เขายังปรับให้เรื่องราวมีความเหนือจริงนิดๆ แทนที่จะทำให้มันสมจริงแบบที่หนังคนคุกส่วนใหญ่ชอบทำกัน ดังที่เราจะสัมผัสได้ว่าตัวหนังว่ามันเจือด้วยกลิ่นอายแห่งความหวัง มากกว่าจะเป็นโทนโหดร้ายทารุณ
เมื่อเขียนบทเสร็จเขาก็นำเอาบทไปเสนอกับบริษัท Castle Rock Entertainment ครับ ซึ่งจริงๆ โอกาสที่หนังเรื่องนี้จะได้รับไฟเขียวเนี่ยน่าจะน้อย เพราะยุคนั้นนี่หนังเกี่ยวกับคนในคุกถือว่าขายไม่ค่อยออก เลยไม่ค่อยมีใครอยากจะทำสักเท่าไร
แต่เป็นโชคดีมากๆ ที่คนพิจารณาบทเรื่องนี้คือโปรดิวเซอร์หญิงที่ชื่อ Liz Glotzer ซึ่งเธอชอบเรื่องราวเกี่ยวกับคนคุกพอดีครับ และเธอก็ชอบบทหนังเรื่องนี้มากๆ เธอตั้งหน้าตั้งตาผลักดันให้ Castle Rock สร้างหนังเรื่องนี้ แต่คนอื่นๆ ในบริษัทกลับไม่เห็นด้วยครับ เพราะหนังเกี่ยวกับคนคุกมักจะไม่ทำเงิน
Liz Glotzer / Cr.yahoo
ในที่สุด คุณ Liz Glotzer ก็ใช้ไม้ตายประกาศเลยว่าหาก Castle Rock ไม่สร้างหนังเรื่องนี้ เธอจะลาออกจากบริษัททันที เท่านั้นล่ะครับทุกคนก็เงียบกริบเลย... แต่แค่เงียบนะครับ ยังไม่ได้มีการตกลงว่าจะสร้าง
จากนั้นก็มีอีกหนึ่งคนมาหนุน Shawshank ครับ เขาก็คือ Rob Reiner ผู้กำกับ Stand by Me และยังเป็นผู้ร่วมก่อตั้งบริษัทด้วย พอคนนี้มารวมพลังกับ Glotzer ทั้งบริษัทก็ไม่มีใครค้านล่ะครับ ไฟเขียวให้ Shawshank ทันที
แต่เรื่องยังไม่จบแค่นั้นครับ
จริงที่ Castle Rock จะสร้าง Shawshank และ Darabont ก็ยื่นข้อเสนอไปว่า เขาจะขอเป็นคนกำกับหนังเรื่องนี้ด้วยตนเอง แต่ทีนี้ Rob Reiner ก็เกิดถูกใจบทหนังเรื่องนี้ขึ้นมาเหมือนกัน และอยากลงมือกำกับเอง เขาเลยเสนอเงิน 2 ล้าน 4 แสนเหรียญเพื่อให้ Darabont ยอมยกเก้าอี้ผู้กำกับให้เขา
แต่ Darabont ก็ไม่ยอมครับ จากนั้น Reiner ก็ยังเจรจาเสนอเงินเพิ่มให้จนไปสุดที่ 3 ล้านเหรียญ และเสนอเงินทุนอีกก้อนให้ Darabont เอาไปใช้ทำหนังเรื่องอื่นๆ เรื่องไหนก็ได้ที่เขาอยากทำ ขอเพียงยอมมอบเก้าอี้กำกับให้ Rob Reiner ก็พอ
มีข่าวลือว่า Castle Rock มีแผนจะบีบให้ Darabont ออกจากโปรเจคท์นี้ แต่ Darabont เองก็ออกมาบอกในภายหลังว่ามันไม่ถึงขนาดนั้นหรอก แต่ถ้าถามว่าเครียดไหม เขาก็ยอมรับครับว่าเครียดไม่น้อยเหมือนกัน
แต่จนแล้วจนรอด ไม่ว่าจะยังไง Darabont ก็ยืนกรานที่จะกำกับเอง เพราะเขามีความเชื่ออย่างแรงกล้าว่าหนังเรื่องนี้จะเป็นผลงานสร้างชื่อที่ทำให้ทุกคนในวงการจดจำชื่อของเขาได้ เขาเลยยืนกรานที่จะกำกับและปฏิเสธทุกข้อเสนอครับ
ในที่สุด Rob Reiner ก็ยอมถอยครับ และเขายังรู้สึกชื่นชมในความเด็ดเดี่ยวของ Darabont จนยอมผันตัวมาเป็นพี่เลี้ยงแนะนำ Darabont แทน
Rob Reiner / Cr.britannica
Castle Rock ไฟเขียวให้กับ Shawshank โดยมอบทุนสร้างให้ Darabont เป็นจำนวนเงิน 25 ล้านเหรียญ โดย Darabont ได้ค่าตอบแทน 750,000 เหรียญ ในฐานะผู้กำกับและเขียนบท และจะได้เปอร์เซ็นต์จากผลกำไรเมื่อหนังออกฉายด้วย
แล้วหนังก็เริ่มแคสติ้งครับ Morgan Freeman ถูกหมายตาให้มาแสดงเป็นเรดตั้งแต่ต้น โดยได้แรงสนับสนุนจาก Liz Glotzer นี่แหละครับ เธอเห็นว่าบทนี้เหมาะกับเขาที่สุดแล้ว ซึ่ง Darabont ก็หมายตา Freeman ไว้แต่แรกเช่นกัน
ในขณะที่บทแอนดี้นี่ใช้เวลาเลือกนานหน่อย ตอนแรก Darabont เล็ง Gene Hackman กับ Robert Duvall เอาไว้ แต่พวกเขาไม่ว่างครับ นอกจากนั้นดาราที่ได้รับเลือกก็มี Clint Eastwood, Paul Newman, Tom Cruise, Tom Hanks, Kevin Costner, Johnny Depp, Nicolas Cage และ Charlie Sheen แต่ทุกคนก็บอกปัดหมดครับ
อย่าง Tom Cruise บอกปัดเพราะเห็นว่าผู้กำกับ Darabont ยังมีประสบการณ์ไม่มากเท่าไหร่ ส่วน Tom Hanks ก็ติดคิวเล่นเป็นฟอร์เรสต์ กัมพ์อยู่ และ Kevin Costner ก็กำลังจะไปเป็นมนุษย์น้ำใน Waterworld เลยไม่ว่างมาแสดง
ในที่สุด Darabont ก็เลือกที่จะให้ Tim Robbins มารับบทเพราะประทับใจการแสดงของ Robbins ใน Jacob's Ladder และ Robbins เองก็สนใจบทแอนดี้นี้ด้วยครับ เขาถึงขนาดลงทุนเตรียมตัวด้วยการไปสวนสัตว์เพื่อสังเกตพฤติกรรมของสัตว์ที่อยู่ในกรง, ลองเข้าไปอยู่ในห้องขังเดี่ยว, คุยกับนักโทษและผู้คุม และลองสวมกุญแจมืออยู่เป็นชั่วโมงๆ เลยครับ เรียกว่าทุ่มเทและตั้งใจเพื่อบทนี้จริงๆ
หนังใช้เวลาถ่ายทำประมาณ 3 เดือนครับ ทุกคนทำงานกันหนักมาก ทำกัน 18 ชั่วโมงต่อวัน 6 วันต่อสัปดาห์ และ Darabont ก็เป็นคนใส่ใจรายละเอียดมากจนทำให้การถ่ายทำแต่ละฉากต้องใช้เวลามากครับ อย่างฉากที่แอนดี้ขอให้เรดช่วยหาค้อนสลักหินมาให้นั้น ต้องถ่ายทำกันถึง 9 ชั่วโมงทีเดียวครับ ซึ่งฉากนั้นเรดกำลังโยนลูกเบสบอลอยู่ และเขาก็ต้องโยนมันแบบนั้นตลอด 9 ชั่วโมง จนวันรุ่งขึ้น Morgan Freeman ต้องใส่ที่คล้องแขนมากองถ่ายเลยล่ะครับ คือแขนอักเสบไปเลย
ฉากนี้แหละครับที่ Morgan Freeman ขว้างบอลจนแขนอักเสบ / Cr.Medium
และสิ่งหนึ่งที่ Darabont ทำในทุกๆ วันอาทิตย์ตลอดการถ่ายทำ 3 เดือนก็คือ นั่งดูหนังเรื่อง Goodfellas ของ Martin Scorsese เพื่อนำเอาสไตล์การเล่าเรื่องแบบที่ตัวละครคนหนึ่งเล่าเรื่องขณะที่เหตุการณ์ต่างๆ ดำเนินไป เอามาใช้กับ Shawshank
ในที่สุดหนังก็ถ่ายทำเสร็จ ตัดต่อออกมาได้ที่ความยาว 2 ชั่วโมง 22 นาที ซึ่งจริงๆ ตอนแรกมันจะยาวกว่านี้ครับ แต่ Glotzer มองว่ามันจะยาวไป หลายฉากสามารถตัดออกได้อย่างฉากเปิดเรื่องที่เกียวกับการตัดสินคดีของแอนดี้ก็จะมีรายละเอียดมากกว่าที่เห็นครับ แต่สุดท้ายฉากนั้นก็ถูกย่อเหลือเท่าที่เราเห็นในหนัง
และแรกเริ่มเดิมที Darabont ตั้งใจจะให้ฉากจบของหนังคือตอนที่เรดนั่งรถโดยสารมุ่งหน้าไปที่ชายแดนเม็กซิโก แล้วก็จบครับ ปล่อยให้คนดูจินตนาการที่เหลือต่อเอาเอง แต่ Glotzer ก็มองว่าหนังควรจะจบลงในฉากที่เรดและแอนดี้ได้พบกันในตอนท้าย
ตอนแรก Darabont ก็ไม่เห็นด้วยเพราะรู้สึกว่ามันเป็นการจบแบบสูตรสำเร็จเกินไปหน่อย แต่ทั้ง Glotzer, Morgan Freeman และ Tim Robbins ก็เห็นพ้องต้องกันครับว่าเรื่องมันควรไปจบที่ "ทีฮัวทาเนโฮ" Darabont เลยยอมใส่ฉากนี้ลงไป และผลตอบรับในรอบทดลองฉายก็คือผู้ชมรักฉากจบนี้เอามากๆ
Frank Darabont, Morgan Freeman / Cr.imdb
แล้วหนังก็เปิดฉายรอบปฐมทัศน์ที่เรเนอซองค์ เธียเตอร์ ก่อนจะเปิดฉายแบบวงจำกัดเพียง 33 โรง ซึ่งนักวิจารณ์ส่วนใหญ่ชื่นชอบหนังเรื่องนี้ แต่ขณะเดียวกันก็มีบางส่วนที่ไม่ชอบ
ในที่สุดหนังเปิดตัวในวงกว้างวันที่ 14 ตุลาคม 1994 ด้วยจำนวนโรงฉาย 944 โรง หนังเปิดตัวที่อันดับ 9 บนตาราง Box office ด้วยรายได้ 2.4 ล้านเหรียญ ก็ถือว่าไม่มากเท่าไรครับ ซึ่งหากจะให้วิเคราะห์เหตุผลที่มันได้รับความสนใจน้อย ก็น่าจะเป็นเพราะ 4 เหตุผลต่อไปนี้
1. หนังไม่ได้มีการประชาสัมพันธ์มากนัก ถึงขั้นว่าคอหนังจำนวนมากไม่เข้าใจว่าชื่อหนัง The Shawshank Redemption สื่อถึงอะไรกันแน่ ทีนี้พอคอหนังหลายคนไม่เก็ทก็เลยไม่สนใจไปโดยปริยาย
2. เพราะหนังคนคุกขายไม่ได้จริงๆ ครับ มันเป็นแบบนี้มานาน และยังเป็นแบบนั้นอยู่ในตอนที่ Shawshank ออกฉาย
3. คนดูบางส่วนให้เหตุผลว่าหนังมีแต่ผู้ชาย ไม่มีตัวละครหญิงเลย จึงทำให้คนบางส่วนมองข้ามหนังเรื่องนี้ไป
4. ข้อสุดท้าย ที่ถือว่าสำคัญที่สุดก็คือ ช่วงนั้นคอหนังยังฟีเวอร์ Forrest Gump กับ Pulp Fiction อยู่ ไหนจะ Stargate อีกเลยทำให้ Shawshank ไม่ได้เกิด
หนังถูกถอดจากโรงเมื่อฉายไปได้ 1 เดือนครับ รายได้รวมในอเมริกาตอนนั้นคือ 15 ล้าน 4 แสนเหรียญ ซึ่งถือว่าหนังล่มครับ เพราะลงทุนไป 25 ล้าน
หนังถูกมองว่าเป็นหนังที่ล้มเหลวแม้จะได้รับคำชมเยอะก็ตาม ซึ่งในปีนั้นไม่ได้มีแค่ Shawshank ที่เจอเรื่องแบบนี้ครับ หนังดีๆ อย่าง Quiz Show ของ Robert Redford และ Ed Wood ของ Tim Burton ก็ตกอยู่ในสภาพเดียวกัน คือได้คำชม แต่ล่มในแง่ของรายได้
แต่อย่างน้อย King ก็ออกมาบอกว่า Shawshank คือหนึ่งในหนังที่เขาชอบที่สุดเรื่องหนึ่ง ในบรรดาหนังที่ดัดแปลงจากงานของเขา
1
Cr.Wall Street Journal
แต่แล้วกระแสของหนังก็กลับมาอีกรอบหนึ่งเมื่อหนังได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลออสการ์ถึง 7 สาขา รวมถึงภาพยนตร์ยอดเยี่ยมด้วย
ทาง Castle Rock เลยเกาะกระแสเอา Shawshank มาฉายใหม่ช่วงเดือนกุมภาพันธ์ ซึ่งหนังก็เก็บเงินเพิ่มขึ้นมาอีกเล็กน้อย สรุปรวมแล้วหนังปิดโปรแกรมในอเมริกาที่ 28 ล้าน 3 แสนเหรียญ แล้วก็ทำเงินนอกอเมริกาอีกประมาณ 30 ล้านเหรียญ รวมแล้วหนังทำเงินทั่วโลกไปประมาณ 58 ล้านเหรียญ ก็พอจะคืนทุนได้ครับ แต่ก็ไม่ได้ทำกำไร
ในช่วงเวลานั้นเอง Darabont ก็มีบ้างที่รู้สึกสับสนครับ เพราะการตอบรับของหนังไม่มากเท่าไรนัก แต่อย่างน้อยการที่มันได้เข้าชิงถึง 7 ออสการ์ก็ทำให้คนรู้จักหนังเรื่องนี้มากขึ้น (แม้สุดท้ายจะไม่ได้มาเลยสักรางวัลก็ตาม) และนอกจากนั้นเขายังได้รับพลังใจสำคัญ คือ พลังแห่งมิตรภาพครับ
ยังจำเรื่องเงิน 5,000 เหรียญที่ Darabont ไปซื้อลิขสิทธิ์ Shawshank จาก Stephen King ได้ไหมครับ ตอนนั้น Darabont จ่ายให้ King เป็นเช็คเมื่อปี 1987 ปรากฏว่าในปี 1995 หลังหนังออกฉาย Darabont ได้รับของชิ้นหนึ่งที่ King ส่งมาให้ นั่นคือเช็ค 5,000 เหรียญใบนั้น มันถูกใส่ไว้ในกรอบและมีโน้ตติดมาใจความว่า
"In case you ever need bail money. Love, Steve."
แปลตรงๆ ก็คือ เผื่อไว้ในกรณีที่ต้องใช้เงินประกันตัว ด้วยรัก จากสตีฟ
มันสื่อถึงความสนิทสนมระหว่างพวกเขาได้อย่างดีครับ เพราะโดนนัยยะแล้ว King ไม่ได้หมายถึงเงินประกันตัวจริงๆ หรอก แต่เป็นเหมือนการแซวฉันท์เพื่อนมากกว่า ประมาณว่าเผื่อนายร้อนเงิน ก็เก็บเงินนี่ไว้ใช้นะ
แต่ประเด็นสำคัญคือ King ไม่เคยเอาเช็คใบนี้ไปขึ้นเงินครับ เขาเก็บมันไว้อย่างดี รอที่จะคืนให้ Darabont ในวันที่เขาทำ Shawshank ออกมาสำเร็จ
กล่าวคือ Stephen King ไม่คิดค่าลิขสิทธิ์ Shawshank กับ Darabont เลย แม้แต่แดงเดียว
... เขายกมันให้เพื่อน ด้วยใจมิตรภาพครับ
Stephen King, Frank Darabont / Cr.Zimbio
เอาล่ะครับ ผมเชื่อว่าหลายคนรอฟังอยู่ว่าเมื่อไหร่ Shawshank จะมีฟ้าหลังฝนกับเขาเสียที... มาแล้วครับ เวลานั้นมาถึงแล้ว
หลังที่ไม่ประสบความสำเร็จเท่าไรบน Box Office หนังก็ถึงช่วงที่จะออกเป็นวีดีโอครับ ซึ่งแม้หนังจะไม่ดัง แต่ทางบริษัทจัดจำหน่ายก็ยังเชื่อในคุณภาพและความดีของหนัง เลยสั่งผลิตออกมาเลยครับ 320,000 ก็อปปี้ กระจายไปตามร้านวีดีโอทั่วอเมริกา
และผลก็คือยอดการเช่า Shawshank ติดท็อปอันดับต้นๆ ประจำปี 1995 และหนังก็เริ่มมีกระแสปากต่อปาก คนดูบอกต่อๆ กันถึงความเยี่ยม จนยอดเช่าและยอดขายพุ่งกระฉูด
พอได้ฉายทีวี Shawshank ก็ทำลายสถิติ มีผู้ชมนั่งดูมากเป็นประวัติการณ์ และ Shawshank ทำรายได้ตอนออกเป็นวีดีโอและสิทธิ์ในการฉายตามเคเบิ้ลและทีวีไปไม่ต่ำกว่า 100 ล้านเหรียญ
และจนถึงทุกวันนี้ แม้จะไม่มีตัวเลขที่แน่ชัดว่า Shawshank ทำผลกำไรให้บริษัทมากเพียงไหน แต่ก็มีคำบอกเล่าจากอดีตผู้บริหารคนหนึ่งว่า Shawshank เป็นหนึ่งในสินทรัพย์ที่สูงค่า เป็นหนังที่ทำกำไรอย่างมหาศาลให้ Warner Bros. ซึ่งเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ปัจจุบัน
1
แล้วก็อย่างที่เรารู้กันในทุกวันนี้ครับ หนังได้รับคำยกย่องจากทั่วสารทิศ ติดอยู่ในลิสต์หนังยอดเยี่ยมทุกสถาบันและทุกเว็บไวต์ อย่างเว็บ IMDB นี่ครองอันดับ 1 และหนังยังได้รับการบันทึกว่าเป็นหนังเรื่องแรกในประวัติศาสตร์ของเว็บ IMDB ที่มีคนโหวตให้เกิน 2 ล้านคน
Cr.moviesovertherainbow
ระหว่างที่ผมเขียนบทความนี้อยู่ ผมก็นึกย้อนไปเมื่อปี พ.ศ. 2537 (หรือ ค.ศ. 1994) นะครับ ปีนั้นหนังเรื่องนี้ถือกำเนิดขึ้น... แต่ผมพบว่าตัวเองในตอนนั้นไม่รู้จักหนังเรื่องนี้เลยครับ
สื่อบ้านเราพูดถึงหนังเรื่องนี้น้อยมาก สมัยนั้น Forrest Gump ฟีเวอร์กว่าจริงๆ หรือ Pulp Fiction ก็ยังจะถูกพูดถึงมากกว่า
กว่าผมจะได้ดูหนังเรื่องนี้ ก็ปาไปปี 2543 แล้วครับ และพอได้ดู ผมก็ชอบมันมากๆ ผมรู้สึกว่าหนังมันเรื่อยๆ ง่ายๆ แต่ทุกฉากมันมีความหมายอะไรบางอย่าง ตัวละครจับใจเรา เนื้อเรื่องจูงใจให้เราติดตาม และตอนไคลแม็กซ์ก็ทำให้ผมตะลึงอย่างแรงครับ คือไม่นึกว่าแอนดี้จะทำอะไรแบบนั้น มันสุดยอดจริงๆ
ผมได้แง่คิดจากหนังเรื่องนี้เพิ่มขึ้นทุกครั้งที่ดูครับ ตอนแรกๆ ก็ได้แง่คิดเรื่องความอดทน การสู้กับปัญหาด้วยปัญญา และการศรัทธาในตนเอง
พอดูมากครั้งเข้า ผมก็ได้ประเด็นเรื่องการปรับตัว เรื่องการรู้จักคว้าโอกาส เรื่องความจริงของคนที่มีหลากมิติ
บางคนอยู่ได้โดยไม่ระรานใคร ในขณะที่บางคนพร้อมจะระรานคนได้ทั้งโลก เพื่อให้ตัวเองได้ในสิ่งที่ต้องการ...
นี่แหละครับ โลกใบนี้ มันมีครบทั้งมุมสวยและไม่สวย
แต่ไม่ว่าจะอย่างไร เราก็ต้องหาทางอยู่ต่อไป
Cr.totally-90s
บางครั้งชีวิตเราก็เหมือนแอนดี้
ตอนที่โดนพิพากษาว่าผิด ทั้งที่ความจริงเราไม่ได้ทำ
บางครั้งชีวิตเราก็เหมือนแอนดี้
ตอนที่เกือบโดนจับโยนลงจากตึก
บางครั้งชีวิตเราก็เหมือนแอนดี้
ตอนที่โดนพวกคนไม่ดีรังแก จนไม่รู้จะหนีไปที่ไหน
บางครั้งชีวิตเราก็เหมือนแอนดี้
ตอนที่มีคนทำลายความหวัง จนโอกาสพังไปต่อหน้าต่อตา
บางครั้งชีวิตเราก็เหมือนแอนดี้
ตอนที่โดนขังเดี่ยว ต้องเผชิญกับความมืดมนเพียงลำพัง
แอนดี้ ไม่ได้ต่างจากเรา และเรือนจำชอว์แชงค์ ก็ไม่ต่างอะไรกับโลกที่เราอยู่
ที่เหลือก็แค่ว่า เราจะเหมือนแอนดี้ที่สู้ทนจนเห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์
หรือเราจะยอมจมลงไปในชอว์แชงค์ จนไม่เหลืออะไร แม้แต่ตัวตน
Cr.ign
แอนดี้อาจเป็นเพียงตัวละครที่ถูกเขียนขึ้น จนหลายคนเกิดคำถามว่า "ชีวิตเราอาจไม่ได้ลงเอยด้วยดีแบบแอนดี้ก็ได้?"
แต่เราไม่มีวันรู้หรอกครับ... เราไม่มีวันรู้ จนกว่าจะได้จะลองเขียน ลองลิขิตชีวิตตัวเองดู
เขียนของวันนี้ เขียนของวันพรุ่งนี้ และเขียนของวันต่อๆ ไป
เขียน จนกว่าน้ำหมึกที่เราเรียกว่า "ลมหายใจ" จะหมดลง
และตราบใดที่น้ำหมึกนั้นยังไม่หมด เราก็ยังคงสามารถเขียนได้ต่อไป...
อีกอย่างที่ผมรู้สึกเกี่ยวกับ Shawshank คือ ทุกครั้งที่ดู ผมจะสัมผัสได้ถึง "พลังแห่งความนิ่ง" ที่แทรกอยู่ในหนัง
หนังไม่ได้หวือหวา ไม่ได้เร้าอารมณ์ ส่วนมากหนังจะมีความนิ่ง เนิ่บ และเป็นธรรมชาติ
จนทำให้ผมคิดได้ในครั้งหนึ่งที่ดูว่า ยิ่งเจออะไรหนักเท่าไร เราต้องนิ่งให้มากที่สุด อย่าได้ฝืนขืนทำอะไรลงไป
นิ่งจนกว่าน้ำจะใส นิ่งจนกว่าจังหวะและโอกาสจะมา แล้วค่อยเหลื่อนไหว
และหากถึงเวลาต้องเคลื่อนไหวเมื่อไหร่ ก็เคลื่อนไป ทำอย่างเต็มที่
The Shawshank Redemption เป็นหนังที่ควรค่าแก่การดูครับ
ต่อให้ดูแล้วก็ดูซ้ำได้ ผมเชื่อว่าคุณจะได้อะไรจากหนังเรื่องนี้ในทุกครั้งที่ได้ดู
ไม่ว่าจะได้ความเพลิดเพลิน ได้แง่คิด ได้ทบทวนชีวิต ได้สัมผัสกลิ่นอายแห่งความหวัง หรือบางครั้งอาจได้ความนิ่ง
แด่ The Shawshank Redemption
มิตรภาพ ความหวัง ความรุนแรง ครับ
โฆษณา