10 มี.ค. 2020 เวลา 03:10 • ธุรกิจ
กรณีศึกษา สงครามราคาน้ำมัน ของซาอุดีอาระเบีย
บอกได้คำเดียวว่า คนอายุ 30 ปีลงไป ไม่เคยเจอเหตุการณ์แบบนี้มาก่อน
เหตุการณ์ที่ราคาน้ำมันดิบลดลงวันเดียวกว่า 30% ซึ่งเป็นการลดลงมากที่สุดนับตั้งแต่สงครามอ่าวเปอร์เซียในปี 1991 หรือเมื่อ 29 ปีที่แล้ว
ราคาน้ำมันที่ลดลง ได้ส่งผลทำให้ราคาหุ้นบริษัทพลังงานหลายบริษัทลดลงทันที และ ปตท. บ้านเราก็เป็นหนึ่งในผู้โชคร้ายคนนั้น
เรื่องนี้เกิดขึ้นเพราะสงครามราคาน้ำมัน ที่นำโดยซาอุดีอาระเบีย
ทำไมเรื่องนี้จึงเกิดขึ้น?
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
อย่างที่หลายคนรู้ตอนนี้ Covid-19 คือ จุดเริ่มต้นสำคัญที่ส่งผลอย่างหนักต่อหลายอุตสาหกรรม จนตามมาด้วยการคาดการณ์กันว่า มูลค่าของเศรษฐกิจโลกจะได้รับความเสียหายไม่ต่ำกว่า 85 ล้านล้านบาท
ขณะที่ในจีนนั้น คาดกันว่าเศรษฐกิจจีนจะเติบโตเพียงแค่ 5% ซึ่งเป็นตัวเลขการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ต่ำสุดในรอบ 30 ปี
และเมื่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจต่างๆ ชะลอตัว นั่นหมายความว่า ความต้องการพลังงานมีแนวโน้มที่จะลดลงไปด้วย
ปัจจุบัน จีนคือประเทศที่บริโภคน้ำมันมากเป็นอันดับที่ 2 ของโลก อยู่ที่ 13.6 ล้านบาร์เรลต่อวัน หรือประมาณ 14% ของการบริโภคน้ำมันทั่วโลก
พอทั้งเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจจีนมีแนวโน้มที่ชะลอตัว จากการระบาดของ Covid-19 ทำให้ราคาน้ำมันดิบมีแนวโน้มลดลง
นับตั้งแต่ต้นปี 2020 เป็นต้นมา ราคาน้ำมันดิบ (เบรนท์) ลดลงมาแล้วกว่า 54%
พอเรื่องเป็นแบบนี้ ทำให้กลุ่มประเทศผู้ผลิตน้ำมันเพื่อการส่งออกหรือ OPEC ซึ่งนำโดยซาอุดีอาระเบียจึงมีการพูดคุยหารือกับกลุ่มประเทศสมาชิกนอกกลุ่มหรือที่เรียกว่า Non-OPEC ซึ่งนำโดยรัสเซีย
เพื่อพยุงราคาน้ำมันให้สูงขึ้น วิธีการที่ได้ผลเร็วและดีที่สุดก็คือ การขอความร่วมมือในการลดกำลังการผลิตน้ำมันดิบลงจำนวน 1.5 ล้านบาร์เรล
ในปี 2019 ซาอุดีอาระเบียและรัสเซียผลิตน้ำมันดิบรวมกันกว่า 22.8 ล้านบาร์เรล หรือประมาณ 28% ของปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของทั้งโลก
จึงทำให้การเพิ่มหรือลดกำลังการผลิตน้ำมันดิบจาก 2 ประเทศนี้ มีอิทธิพลต่อการเคลื่อนไหวของราคาน้ำมันในตลาดโลกมากพอสมควร
อย่างไรก็ตาม ข้อเสนอในการลดกำลังการผลิตของกลุ่ม OPEC ที่นำโดยซาอุดีอาระเบีย กลับถูกปฏิเสธโดยรัสเซีย
Cr. Daily Mail
เมื่อเป็นแบบนี้ ซาอุดีอาระเบียจึงออกมาประกาศว่าจะเพิ่มกำลังการผลิตน้ำมันดิบไปให้เลย 10 ล้านบาร์เรลต่อวัน จากปัจจุบันอยู่ที่ประมาณ 9 ล้านบาร์เรลต่อวัน
ที่ซาอุดีอาระเบียทำแบบนี้ก็เพราะมั่นใจว่าตนเองมีต้นทุนการผลิตที่ต่ำกว่า และบีบให้รัสเซียกลับมาเจรจากันอีกครั้ง
พอเรื่องเป็นแบบนี้ ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกจึงลดลงอย่างรุนแรง โดยราคาน้ำมันดิบ (เบรนท์) ลดลงวันเดียวกว่า 30% ซึ่งนับเป็นการลดลงต่อวันมากที่สุดในรอบ 29 ปี
แล้วผลกระทบต่อทั้ง 2 ประเทศนี้เป็นอย่างไร?
สำหรับรัสเซียนั้น การลดลงของราคาน้ำมันดิบทำให้คาดกันว่า รัสเซียอาจสูญเสียรายได้จากการขายน้ำมันวันละ 3,150 ล้านบาท หรือปีละ 1.1 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็นสัดส่วนกว่า 2.1% ของ GDP ของรัสเซีย เลยทีเดียว
ซึ่งถ้ายังจำกันได้ช่วงปี 2014 ที่ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกลดลง รายได้จากการส่งออกน้ำมันของรัสเซียหายไปอย่างมาก เศรษฐกิจในประเทศชะลอตัว
ทำให้ค่าเงินรูเบิลของประเทศอ่อนค่าลงอย่างรวดเร็วจนแทบจะขาดความน่าเชื่อถือ ทำให้ธนาคารกลางของรัสเซียต้องใช้เงินทุนสำรองระหว่างประเทศมาพยุงค่าเงินด้วยจำนวนเงินกว่า 2.5 ล้านล้านบาท
สำหรับซาอุดีอาระเบียนั้น รายได้จากการส่งออกน้ำมันคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 90% ของรายได้จากการส่งออกทั้งหมด และยังคิดเป็นสัดส่วนกว่า 42% ของมูลค่า GDP ของประเทศ พูดง่ายๆ ว่า ราคาน้ำมันนั้นมีความสำคัญต่อเศรษฐกิจของซาอุดีอาระเบียอย่างมาก มากกว่ารัสเซียหลายเท่า
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าการลดลงของราคาน้ำมันจะกระทบกับประเทศผู้ส่งออกน้ำมันทั้งหมด ซึ่งรวมถึงซาอุดีอาระเบียและรัสเซีย
แต่รู้ไหมว่า Saudi Aramco ที่ปัจจุบัน รัฐบาลของซาอุดีอาระเบียถือหุ้นอยู่จำนวน 98.5% นั้น เป็นบริษัทที่มีต้นทุนการผลิตน้ำมันดิบอยู่ที่ 2.8 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล ซึ่งถือว่าต่ำที่สุดในโลก
Cr. New York Daily News
เรียกได้ว่าถ้าราคาน้ำมันปรับตัวลงมากๆ ซาอุดีอาระเบียอาจจะกลายเป็นประเทศส่งออกน้ำมันรายสุดท้ายที่เดือดร้อน ขณะที่ประเทศอื่นๆ อาจได้รับผลกระทบไปเยอะแล้วนั่นเอง
แต่ตอนนี้ เมื่อรัสเซียไม่ให้ความร่วมมือ ซาอุดีอาระเบียจึงหันมาใช้สงครามราคา เพื่อสั่งสอนรัสเซีย ทั้งๆ ที่รู้ว่าสิ่งนี้จะกระทบกับตนเองด้วยก็ตาม
ปิดท้ายด้วยข้อมูลที่น่าสนใจ
การลดลงของราคาน้ำมันนั้นส่งผลต่อราคาหุ้นของบริษัทพลังงาน โดยเฉพาะบริษัทที่ทำการผลิตและสำรวจปิโตรเลียม ซึ่งประเทศไทยนั้นบริษัทที่ว่าก็คือ บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือหุ้น PTTEP
แค่เมื่อวานวันเดียว ราคาหุ้น PTTEP ปรับตัวลดลง 30% ทำให้มูลค่าของบริษัทนั้นหายไปกว่า 146,000 ล้านบาท ในเวลาเพียง 1 วันเท่านั้นเอง..
โฆษณา