12 มี.ค. 2020 เวลา 16:04 • หุ้น & เศรษฐกิจ
แจกเกราะป้องกันในวันที่ภาพรวมหุ้นถูก แต่บางตัวแพง เลือกยังไงไม่ให้เจ๊ง?
สำหรับคนที่เห็นโอกาสและไม่ตื่นตูมตามคนอื่นเท่านั้น!
หลังจากที่ตลาดหุ้นค่อยๆคลานขึ้นบันไดหรือเรียกได้ว่าแทบไม่ไปไหนมานานกว่า 5 ปี
วันนี้นักลงทุนรุ่นใหม่ได้รับประสบการอันล้ำค่าอย่างการได้เห็น Circuit Breaker หรือ การหยุดพักการซื้อขายหุ้นชั่วคราว
ที่เกิดขึ้นเพราะตลาดหุ้นที่คลานมานานกลับลงลิฟต์มากว่า 10% ในวันเดียว
และถ้านับจากช่วงปีก่อนที่ 1,600 จุด เรียกได้ว่าติดลบไปแล้วกว่า 30%
ถ้ามองย้อนกลับไปในอดีตทั้ง 2 ครั้งก่อนหน้านี้ที่เกิด Circuit Breaker คือ ช่วงวิกฤตซับไพร์ม ในปี ค.ศ.2008 ที่เกิดห่างกันเพียงไม่กี่วันเท่านั้น
ช่วงนั้น คือ ช่วงที่ตลาดหุ้นทำจุดต่ำสุดที่ 400 จุด จากนั้นตลอด 10 ปี ตลาดหุ้นได้พุ่งทยานมาถึง 1,800 จุด คิดเป็นผลตอบแทนสุทธิ 350% หรือ อัตราผลตอบแทนเฉลี่ยทบต้นต่อปีที่ 16.23% เลยทีเดียว
แต่ปัญหามีอยู่ว่า ไม่ใช่หุ้นทุกตัวจาก 400 จุดในวันนั้นจะสามารถอยู่รอดมาจนถึงทุกวันนี้
และหุ้นบางตัวก็ไม่ได้ให้ผลตอบแทนน่าพอใจนักเทียบกับหุ้นตัวอื่นๆ
วันนี้ The Owner จึงขอแจกวิธีเกระป้องกัน เพื่อไม่ให้นักลงทุนที่ติดตามเพจนี้ติดกับดักหุ้นแพงหรือผลตอบแทนต่ำที่แฝงอยู่ในกลุ่มหุ้นถูกทั้งหลายครับ
1.หลีกเลี่ยงหุ้นสายป่านสั้น
หุ้นที่มีโอกาสจะอยู่ไม่ตลอดรอดฝั่งคือหุ้นที่สามารถทนสภาพเศรษฐกิจที่ย่ำแย่ได้นานไม่เท่าบริษัทอื่นๆ
สายป่านสั้นเกิดได้จากหลายกรณีด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็น
1.1 หนี้ท่วม มักเกิดกับบริษัทที่ไม่ระมัดระวังในการดำเนินธุรกิจ ติดประมาทในช่วงเศรษฐกิจปกติ และเมื่อมีเหตุไม่คาดคิดจะไม่สามารถหาเงินมาชดใช้หนี้ได้จนอาจจะต้องปรับโครงสร้างหนี้หรือเพิ่มทุนนั่นเอง
1.2 อัตราการทำกำไรย่ำแย่ มักเกิดกับบริษัทที่มีความสามารถในการแข่งขันต่ำ ฝ่ายบริหารละเลยการลดต้นทุนอย่างมีประสิทธิภาพ จนเกิดการขาดทุนในช่วงเศรษฐกิจมีปัญหา
2. หลีกเลี่ยงหุ้นที่อยู่ในอุตสาหกรรมหนีตาย
ในบางอุตสาหกรรมการปิดโปรเจคเพื่อหนีขาดทุนจะทำได้ง่าย แต่ไม่ใช่กับธุรกิจที่ต้องลงทุนไปก่อนเป็นจำนวนมากและไม่สามารถขายเปลี่ยนเป็นเงินสดได้อย่างรวดเร็ว
พอภาพรวมเริ่มมีปัญหา กำลังซื้อผู้บริโภคเริ่มหดตัวจนบริษัทต้องออกมาลดแลกแจกแถมเพื่อหนีตาย
ซ้ำร้ายในบางอุตสาหกรรม ขนาดลดก็แล้ว ให้ฟรีก็แล้ว ผู้บริโภคยังไม่อยากใช้บริการในช่วงนี้เลยก็มี
ถ้าไม่เจ๊งก็ต้องก่อหนี้เพื่อยื้อชีวิตหรือไม่ก็เพิ่มทุนให้ลำบากผู้ถือหุ้นอย่างเราๆอีกด้วย
3. หลีกเลี่ยงหุ้น PE สูง, ปันผลต่ำ
ที่จริงแล้วหุ้นบางตัวอาจจะแค่ PE สูงชั่วคราว แต่ในเมื่อวิกฤตอยู่ตรงหน้า เวลาศึกษาหุ้นอย่างละเอียดลึกซึ้งก็น้อย ผมขอแนะนำให้หลีกเลี่ยงไว้ก่อนเลยครับ
PE ที่สูงสามารถบอกเป็นนัยได้ว่าจริงๆแล้ว ราคาก็ไม่ได้ลงมาจนน่าซื้อเท่าไหร่ แถมปันผลที่ต่ำยังเป็นความเสี่ยงที่นักลงทุนต้องลุ้นให้ราคาเพิ่มในอนาคตเสียมากกว่า ซึ่งอนาคตไม่มีใครรู้ได้
แต่จงระวังหุ้นที่จ่ายปันผลมากเกินไปจนเงินสดไม่พอเลี้ยงกิจการจนต้องก่อหนี้เพิ่มขึ้น สิ่งนี้ไม่ใช่เรื่องดีเช่นกัน
4. เลือกหุ้นผู้ชนะ
ผู้บริโภคในแต่ละอุตสาหกรรมนั้นเลือกได้ไม่ยาก โดยเฉพาะเมื่อเราเป็นผู้บริโภคเสียเอง
การเลือกผู้ชนะจะทำให้เรามั่นใจได้ว่าหุ้นตัวนี้ถ้าจะตาย ก็ตายหลังสุดแน่นอน
1
แถมส่วนใหญ่ยังมีความสามารถในการทำกำไรค่อนข้างดี ทำให้ปลอดภัยต่อสภาวะขาดทุน
แต่ทั้งนี้ถ้าเกิดไปซื้อตัวที่แพงเกินไปก็อาจจะทำให้ผลตอบแทนต่ำได้ จึงต้องดูความถูกแพงประกอบ
ที่ผมเขียนบทความนี้ขึ้นมาเพราะได้เห็นนักลงทุนบางคนยังให้ความสนใจกับหุ้นที่มีราคาแพงเกินไป หรือหุ้นที่ลวงตาด้วยปันผลแต่ไม่ได้มีความสามารถในการแข่งขันที่ดีพอ
ผมจึงกลั่นกรอง 4 ข้อนี้ เพื่อเป็นกรอบคร่าวๆสำหรับใครที่ไม่ได้ศึกษารายตัวลึกซึ้งจริงจัง
ส่วนใครที่ศึกษาลงลึกรายตัวจนเข้าใจธุรกิจและเค้นออกมาเป็น Valuation แล้วปรากฎว่าถูก ก็อย่าลังเลที่จะหว่านเมล็ดพันธุ์แห่งอิสรภาพทางการเงินในช่วงนี้นะครับ
หวังว่าบทความนี้จะช่วยให้หลายคนไม่หลงไปซื้อหุ้นที่ไม่ได้ถูกจริงๆ และสามารถสร้างเนื้อสร้างตัวจากโอกาสครั้งนี้นะครับ
The Owner ลงทุนหุ้นอย่างเจ้าของกิจการ
สนับสนุนให้ทุกท่านลงทุนอย่าง รู้จริง ปลอดภัย และ ยั่งยืน
โฆษณา