24 มี.ค. 2020 เวลา 08:11 • ข่าว
เมื่อสักครู่นี้หลายท่านคงได้ติดตามข่าวที่นายกฯ แถลงหลังประชุม ครม.ว่าจะประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินในวันมะรืน (26 มี.ค.) ซึ่งก็เป็นไปตามกระแสข่าวและความคาดการณ์ของหลาย ๆ คน ในขณะเดียวกันก่อให้เกิดความวิตกกังวลในความเป็นอยู่ด้วย
ที่จริงการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ นี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะกฎหมายนี้มีมาตั้งแต่ พ.ศ.2548 แล้ว และเคยประกาศใช้ในช่วงเวลาที่มีเหตุ เช่น ในสถานการณ์ชุมนุมทางการเมือง เป็นต้น
เมื่อมีการประกาศใช้ พ.ร.ก.นี้อีกครั้ง ผมเลยขออนุญาตทบทวนเรื่องสำคัญที่น่ารู้เกี่ยวกับ พ.ร.ก.นี้ โดยสรุปให้ฟังง่าย ๆ เพื่อเตรียมตัวรับการประกาศดังกล่าว
1. อะไรคือ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน?
พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ชื่อเต็มคือ พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน เป็นกฎหมายประเภทหนึ่ง โดยมีลำดับศักดิ์รองลงมาจากพระราชบัญญัติ แต่เป็นกฎหมายที่มีลักษณะพิเศาอย่างหนึ่งคือ จะบังคับใช้ได้มีการประกาศใช้ ถ้าไม่ประกาศหรือยกเลิกประกาศไปแล้ว ก็จะไม่มีผลบังคับใช้ เหมือนเป็นของที่เก็บไว้รอเอาออกมาใช้อีก ประมาณนั้น
2. จะมีการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ได้เมื่อไหร่ อย่างไร
ก็ตามชื่อ พ.ร.ก.เลยครับ คือ เมื่อมีสถานการณ์ฉุกเฉิน ซึ่งคำว่าสถานการณ์ฉุกเฉินนี้ ใน พ.ร.ก.มาตรา 4 มีคำนิยาม (อธิบาย) ไว้อยู่ ว่าคือสถานการณ์แบบใดบ้าง ซึ่งสรุปได้คือ เป็นสถานการณ์ที่ทำให้ประเทศชาติบ้านเมืองและประชาชนตกอยู่มนรสภาวะคับขัน ที่จำเป้นต้องมีมาตรการเร่งด้วนเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อย ความปกติสุขปลอดภัย เยียวยาความเสียหายจากภัยพิบัติ ประมาณนี้ ซึ่งสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 ก็น่าจะถือว่าเข้าข่ายสถานการณ์ฉุกเฉินที่จะเป็นเหตุในการประกาศใช้ พ.ร.ก.ได้
3. .ใครมีอำนาจประกาศ ประกาศแล้วใครมีอำนาจอย่างไร
นายกรัฐมนตรีมีอำนาจประกาศ โดยต้องได้รับความเห็นชอบจาก ครม.ก่อน (ตาม พ.ร.ก. มาตรา 5) เมื่อประกาศแล้ว เขาจะมีคณะกรรมการบริหารสถานการณ์ฉุกเฉิน คอยติดตาม ตรวจสอบสถานการณ์ และเสนอแนะต่อนายกฯ (มาตรา 6) มีการโอนอำนาจของรัฐมนตรีที่มีตามกฎหมายอื่น ๆ มาเป็นอำนาจของนายกฯ ชั่วคราว เฉพาะในส่วนของการอนุญาต อนุมัติ สั่งการ ที่เกี่ยวกับสถานการณ์ฉุกเฉิน ตัวนายกฯ เองก็มีอำนาจแต่งตั้งพนักงานเจ้าหน้าที่ในการดำเนินการ และแต่งตั้งข้าราชการทหาร ตำรวจ หรือพลเรือน ตำแหน่งไม่น้อยกว่าอธิบดีหรือ ผบ.เหล่าทัพ เป็นหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน รวมถึงมีอำนาจในการออกข้อกำหนดต่าง ๆ ที่เดี๋ยวจะกล่าวถึงในหัวข้อต่อไปด้วย และนอกจากนี้ หากมีการยกระดับความรุนแรงของสถานการณ์ฉุกเฉิน จากธรรมดาเป็นสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง ก็จะมีเรื่องของอำนาจการจับกุม ควบคุมตัวผู้ต้องสงสัยเกี่ยวกับสถานการณ์ฉุกเฉินด้วย แต่ตอนนี้ยังไม่ถึงขั้นนั้น (ยังไม่ต้องตระหนก) ผมเลยยังไม่ขอพูดถึง
1
4. นายกฯ มีอำนาจออกข้อกำหนด หรือสั่งห้ามอะไรบ้าง
ตาม พ.ร.ก. มาตรา 9 มาตรา 10 ให้อำนาจนายกฯ ออกข้อกำหนดเพื่อประโยชน์ในการดำเนินการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน เช่น ห้ามออกนอกเคหสถาน (เคอร์ฟิว) ห้ามชุมนุมมั่วสุม ห้ามเสนอข่าวบิดเบือน ห้ามใช้เส้นทางหรือยานพาหนะตามที่กำหนด ห้ามเข้าใช้อาคารสถานที่ ห้ามอพยพประชาชนออกนอกพื้นที่ เป็นต้น ซึ่งถ้าใครฝ่าฝืน ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ตาม พ.ร.ก. มาตรา 18 นอกจากนี้ ถ้ามีการยกระดับความรุนแรงของสถานการณ์ฉุกเฉิน จากธรรมดาเป็นสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง นายกฯ ก็จะมีอำนาจออกประกาศเพิ่มเติมเป็นมาตรการพิเศษ แต่ ณ เวลานี้ยังไม่ถึงขั้นนั้น ผมเลยยังไม่ขอพูดถึง
5. ประกาศนานแค่ไหน
ตาม พ.ร.ก.ฯ มาตรา 5 บอกว่า การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินจะมีผลใช้บังคับตอลดระยะเวลาที่นายกฯ กำหนด แต่ไม่เกิน 3 เดือนนับแต่วันประกาศ หากจำเป็นต้องขยาย นายกฯ โดยความเห็นชอบของ ครม.อาจขยายได้คราวละไม่เกิน 3 เดือน
6. จะสิ้นสุดการประกาศเมื่อไร
ตาม พ.ร.ก. มาตรา 5 ระบุว่า เมื่อประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินแล้ว การประกาศจะสิ้นสุดเมื่อนายกฯ ประกาศยกเลิก หรือเมื่อสิ้นสุดระยะเวลา 3 เดือนและไม่มีการขยาย นอกจากนี้อาจมีกรณีพิเศษที่ทำให้ประกาศถูกยกเลิก เช่น ครม.ไม่เห็นชอบ หรือกรณีนายกฯ ประกาศเร่งด่วนไปก่อนแล้วไม่ได้ย้อนมาขอความเห็นชอบ ครม. ภายในสามวันตามที่กฎหมายกำหนด แต่กรณีนี้ไม่น่าเกิดขึ้นกับการประกาศในวันที่ 26 นี้
4
ที่สรุปมานี้คือประเด็นสำคัญที่ผมเห็นว่าน่าจะทบทวนให้รู้กัน จะมีความเข้าใจ ลดการตื่นตระหนกหรือสับสน ส่วนรายละเอียดเกี่ยวกับการประกาศหรือออกข้อกำหนดต่าง ๆ ก็ขอให้รอติดตามข่าวกันต่อไปครับ เอาใจช่วยทุกท่านให้ผ่านสถานการณ์นี้ไปด้วยดีครับ
1
โฆษณา