29 มี.ค. 2020 เวลา 08:18
กรณีศึกษา “มาเลเซีย” ปิดประเทศก็ไร้ผล ป่วย - ตาย พุ่งยืนหนึ่งอาเซียน
จำได้ว่าเมื่อตอนมาเลเซียสั่งปิดประเทศใหม่ๆ ตอนนั้นเกิดกระแสชื่นชมในหมู่ชาวโซเชียลไทย ว่ามาเลเซียตัดสินใจเด็ดขาด ปกป้องคนในประเทศจากไวรัส จนเอาประเทศไทยไปเปรียบเทียบสับเละเสียจนไม่มีชิ้นดี.
แต่สิ่งที่เกิดขึ้นในประเทศมาเลเซีย เพื่อนบ้านทางใต้ของเราที่กำลังเจอกับวิกฤติไวรัส Covid – 19 ระบาดอย่างหนัก อาจทำให้เราเข้าใจสิ่งที่เกิดขึ้นในประเทศที่มีการสั่งปิดดินแดนเพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัส แต่มันกลับไม่สามารถควบคุมได้ แม้จะปิดช้าหรือปิดไวกว่าเราก็ตาม
นี่จะเป็นการยกเคสประเทศที่ใกล้ตัวประเทศไทยมากที่สุด ในสังคมที่มีความใกล้เคียงกันมากที่สุด เพื่อให้มองภาพตามได้อย่างง่ายๆ ไม่ต้องไปวัดหรือไปเทียบกับประเทศที่เทียร์สูงกว่าเรา หรือระบบการปกครองแตกต่างจากเราเกินไป เพื่อให้เห็นว่าการสั่งปิดประเทศ อาจใช้ไม่ได้ผลกับทุกประเทศในการควบคุมการแพร่ระบาดได้เสมอไปนั่นเอง
ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 25 มกราคม วันนั้นเป็นวันแรกที่มาเลเซียพบผู้ติดเชื้อรายแรกในประเทศ ซึ่งเป็นนักท่องเที่ยวจีน 4 คนที่เดินทางมาจากสิงคโปร์ โดยชาวจีนทั้งหมดที่ติดเชื้อ เคยมีประวัติเดินทางไปเมืองอู่ฮั่น มณฑลหูเป่ย ประเทศจีน ซึ่งนั่นคือจุดเริ่มต้นที่ทำให้มาเลเซียได้สัมผัสกับไวรัสตัวนี้เป็นครั้งแรก
หลังจากนั้นไม่นาน มาเลเซียก็พบผู้ติดเชื้อในประเทศเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว และทะลุหลักร้อยคนในเวลาเพียง 2 สัปดาห์หลังพบผู้ติดเชื้อรายแรก สิ่งที่มาเลเซียทำอย่างแรกก็คือ การยกเลิกเที่ยวบินทั้งหมดที่เดินทางจากประเทศจีน ก่อนที่จะตามมาด้วยการสั่งห้ามชาวจีนเดินทางเข้ามาเลเซียในเดือนกุมภาพันธ์ เพื่อพยายามสกัดกั้นไม่ให้มีการรับเชื้อเพิ่มเข้ามาในประเทศ
แต่สิ่งที่มาเลเซียเองคาดไม่ถึงก็คือ การระบาดภายในประเทศมันได้ลุกลามไปไกลจากคนในประเทศเริ่มติดเชื้อกันเองแล้ว โดยเฉพาะการรวมกลุ่มกันทำกิจกรรมทางศาสนาในมัสยิดชานกรุงกัวลาลัมเปอร์ นับเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้จำนวนผู้ติดเชื้อพุ่งทะยานอย่างฉุดไม่อยู่ และกิจจะกรรมในครั้งนั้นคือเป็นการถือกำเนิดของ “Super Spreader” ในดินแดนเสือเหลือง เนื่องจากเป็นการจัดงานชุมนุมทางศาสนาครั้งใหญ่ มีผู้เข้าร่วมกว่า 1 หมื่นคน ช่วงระหว่างวันที่ 27 กุมภาพันธ์ - 1 มีนาคม ผลที่ตามมาก็คือ มีผู้ติดเชื้อจากการเข้าร่วมงานนี้นับร้อยคน รวมทั้งคนไทยจากพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ ที่ไปร่วมงานในวันนั้นก็ติดเชื้อกลับมาที่ประเทศไทยด้วย ทำให้วันที่ 16 มีนาคม ที่ผ่านมาหลังรอระยะเวลาการฟักตัวของเชื้อไวรัส 14 วันผ่านไป ก็มีผู้ติดเชื่อเพิ่มขึ้นรวดเดียวอย่างน้อย 553 ราย และทะยานขึ้นสู่ประเทศที่ผู้ติดเชื้อมากที่สุดในอาเซียนนับตั้งแต่วันนั้นเป็นต้นมา
สถานการณ์ในมาเลเซียที่ไม่อาจจะควบคุมการระบาดของไวรัสได้ ทำให้นายกรัฐมนตรีมูห์ยิดดิน ยัสซิน ตัดสินใจบังคับใช้มาตรการปิดประเทศตั้งแต่วันที่ 18 มี.ค. จนถึงวันที่ 31 มี.ค. มีผลทั่วประเทศ ตามการเรียกร้องของกระทรวงสาธารณสุข เรียกร้องให้รัฐบาลพิจารณาประกาศล็อกดาวน์ทั่วประเทศก่อนที่จะเสียหายไปมากกว่านี้
ซึ่งการปิดประเทศของมาเลเซีย ไม่ได้มีการเตรียมการรับมือผลที่จะตามมาอย่างเพียงพอ เพราะมันคือมันแทบจะเป็นการสั่งปิดอย่างกระทันหัน ภายในระยะเวลาเพียงแค่ 2 วันเท่านั้น ประกอบกับกระบวนการสื่อสารระหว่างภาครัฐไปยังประชาชนไม่สามารถทำให้ประชาชนเชื่อมั่นและทำตาม เพราะขณะที่การระบาดยังเกิดขึ้นทั่วโลก มาเลเซียยังมีการจัดการแข่งขันฟุตบอลลีคในประเทศ มีการเดินทางไปรวมตัวของประชาชนในสนามกีฬา พร้อมกับมั่นใจว่าไม่มีทางติดเชื้อแน่นอน ถึงขนาดมีการตอบโต้กันบนโลกออนไลน์ว่า "This is Malaysia not "Wuhan" ทำให้เกิดการละเลยที่จะป้องกันตัวเอง
ผลจากการปิดประเทศทำให้ธุรกิจ ห้างร้าน การเดินทางต่างๆ ในมาเลเซียหยุดชะงักทั้งหมดทันทีในเวลาอันรวดเร็ว แน่นอนว่าเมื่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจหยุดทั้งหมด ประชาชนก็ไม่มีงานทำ โดยเฉพาะคนต่างจังหวัดที่เข้ามาทำงานในมาเลเซีย ที่เป็นทั้งลูกจ้างและพนักงานบริษัทห้างร้าน ต่างเลือกที่จะเดินทางกลับภูมิลำเนา
คำสั่งปิดประเทศขอมาเลเซียที่ไม่รัดกุมและมีช่องโหว่นั้น ยิ่งทำให้การแพร่ระบาดของไวรัสหนักขึ้นกว่าเก่า ด้วยสังคมมุสลิมที่จะต้องมีการรวมกลุ่มกันละหมาดหรือทำกิจกรรมทางศาสนาในมัสยิด ที่ไม่มีคำสั่งห้ามรวมตัวทำพิธี ยิ่งส่งผลให้มีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นรวดเร็ว คนเหล่านี้เมื่อตกงานก็ต้องกลับต่างจังหวัด ก็ยิ่งเอาเชื้อไปแพร่ให้กับคนที่บ้าน และติดต่อๆ กันไปทั่วประเทศ แม้แต่รัฐซาบาร์และซาราวัก ที่อยู่บนเกาะบอร์เนียวก็ยังมีผู้ติดเชื้อด้วยเช่นกัน เพราะไม่ได้มีการสั่งปิดการเดินทางระหว่างรัฐนั่นเอง
และเมื่อวันที่ 23 มีนาคม ที่ผ่านมา มาเลเซียเมียอดผู้ติดเชื้อสะสมเกิน 1,500 รายเป็นที่เรียบร้อย และมีผู้ติดเชื้อรายใหม่ในวันเดียวถึง 200 ราย
อีกหนึ่งสาเหตุของการแพร่ระบาดของเชื้อก็คือ การพิธีศพของผู้เสียชีวิตจากไวรัสชนิดนี้ ซึ่งปกติแล้วหากผู้เสียชีวิตมีการติดเชื้อไวรัส Covid – 19 ทางโรงพยาบาลจะห่อศพของผู้เสียชีวิตด้วยถุงพลาสติกกันเชื้อโรคถึง 3 ชั้น และห้ามมีการแกะถุงเด็ดขาด จะต้องฝังลงไปทั้งถุงเพื่อไม่ให้เชื้อโรคแพร่กระจายมาติดผู้ร่วมงานและญาติของผู้เสียชีวิต แต่ด้วยธรรมเนียมการฝั่งศพของชาวมุสลิมมาเลเซีย ที่ต้องมีการแกะถุงออกเพื่อนำศพมาอาบน้ำแต่งตัวใหม่ ทำให้เชื้อที่ควรจะถูกกักไว้ภายในถุงถูกปลดปล่อยแพร่กระจายไปติดผู้คนที่เข้าไปสัมผัสกับศพ ซึ่งความเชื่อตรงนี้ยังไม่สามารถเปลี่ยนแปลงความคิดของคนในสังคมได้ โดยเฉพาะในชนบท
ปัจจุบันข้อมูล ณ วันที่ 29 มีนาคม มาเลเซียเป็นประเทศที่มียอดผู้ติดเชื้อสูงที่สุดในอาเซียนที่ 2,320 ราย โดยมันนี้มีผู้ติดเชื้อรวดเดียว 159 ราย ส่วนจำนวนผู้เสียชีวิตสะสมอยู่ที่ 27 ราย สูงเป็นอันดับที่ 3 ของอาเซียนรองจากอินโดนีเซียและฟิลิปปินส์ แต่ก็ยังมีผู้ที่อยู่ในข่ายเฝ้าระวังอีกราว 20,000 คนทั่วประเทศ โดยส่วนใหญ่ก็มาจากกลุ่มผู้ที่ไปรวมตัวประกอบพิธีกรรมทางศาสนาร่วมๆ หมื่นคนนั่นเอง
นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้นในมาเลเซียที่พอจะให้เห็นภาพได้ว่า แม้การปิดประเทศจะใช้ได้ผลกับในประเทศที่มีความเด็ดขาดทางกฎหมายอย่างประเทศจีน แต่มันก็อาจไม่สามารถใช้ได้ผลเช่นเดียวกับในหลายๆ ประเทศ ซึ่งมันขึ้นอยู่กับพื้นฐานทางสังคม ความรัดกุมเข้มงวดของกฎหมาย และพฤติกรรมของคนในประเทศนั้นๆ ด้วย และนี่ก็อาจจะเป็นกรณีศึกษาให้พอเห็นภาพได้ว่าหากประเทศต่างๆ จะต้องดำเนินการจัดการภายใน การเอาความสำเร็จของประเทศอื่น มาใช้ในประเทศตัวเองก็ใช่ว่าจะประสบความสำเร็จ แต่การเลือกมาตรการที่เหมาะสมต่างหากที่จะทำให้การรับมือเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและเป็นระบบ
โฆษณา