3 เม.ย. 2020 เวลา 09:06 • กีฬา
คำถามคลาสสิคที่ทุกคนสงสัยเกี่ยวกับโศกนาฏกรรมมิวนิค คือ คู่ปรับตลอดกาล ลิเวอร์พูล ได้แสดงเจตนาดีด้วยการยื่นข้อเสนอ ให้แมนฯยูไนเต็ด ยืมตัวนักเตะไปใช้จริงหรือไม่? คำตอบคือ ใช่ มันเป็นเรื่องจริง แต่ไม่แน่ว่าจะเป็นเรื่องที่สวยงามเหมือนที่คนยุคหลังคิดกันหรือเปล่า
[ นี่คือซีรีส์โศกนาฏกรรมมิวนิคตอนสุดท้าย PART 6 บทสรุปสุดท้ายของเรื่องราว ตอนจบของซีรีส์นี้ครับผม ]
เหตุการณ์ที่สนามบินมิวนิคเกิดในช่วงบ่ายของวันพฤหัสบดี สมาคมฟุตบอลอังกฤษ ประกาศเลื่อนเกมระหว่างแมนฯยูไนเต็ด กับ วูล์ฟแฮมป์ตัน ช่วงบ่ายวันเสาร์ไปทันที และเลื่อนโปรแกรมต่างๆของปีศาจแดงออกไปก่อนอย่างไม่มีกำหนด
แน่นอนด้วยสภาพจิตใจย่ำแย่อย่างนั้น ใครจะไปแข่งได้ และข้อสำคัญอีกเรื่องคือ แมนฯยูไนเต็ดจะเอานักเตะที่ไหนไปเล่น
7 คนเสียชีวิตในที่เกิดเหตุ ส่วนอีก 6 คนบาดเจ็บหนัก คนที่ร่างกายพอจะเล่นไหวมีแค่ 3 คน คือบ๊อบบี้ ชาร์ลตัน, แฮร์รี่ เกรก และ บิลล์ โฟ้ก ซึ่งแค่ 3 คนนี้ เอามารวมกับนักเตะทีมชุดใหญ่ที่เหลือ ที่ติดโทษแบน ไม่ได้เดินทางไปเบลเกรดด้วย ยังไงก็ยังไม่ครบ 11 คนในสนาม
ตอนเกิดเหตุมันคือต้นเดือนกุมภาพันธ์ บอลลีกเพิ่งผ่านไปแค่ 28 นัด เหลืออีก 14 นัดให้เล่น แถมแมนฯยูไนเต็ดยังอยู่ในรอบ 16 ทีมสุดท้ายของเอฟเอคัพ และ รอบรองชนะเลิศของยูโรเปี้ยนคัพอีกต่างหาก
จริงๆพวกเขามีโอกาสได้ทริปเปิ้ลแชมป์เลยด้วย แต่ด้วยตัวผู้เล่นที่มีอยู่ โอกาสพลาดทั้ง 3 รายการนั้นง่ายกว่าอีก
ในขณะที่ฝั่งแมนฯยูไนเต็ดกำลังเครียด สโมสรแรกที่แจ้งความจำนงว่าพร้อมให้ยืมตัวนักเตะได้คือลิเวอร์พูล ผู้จัดการทีมฟิล เทย์เลอร์ ยื่นข้อเสนอให้นักเตะยืมใช้งาน 5 คน
นอกจากลิเวอร์พูลแล้ว สโมสรอื่นก็เสนอตัวให้ความช่วยเหลือกันอย่างคับคั่ง เช่นน็อตติ้งแฮม ฟอเรสต์, โบลตัน, เปรสตัน นอร์ธเอนด์,แบล็คพูล,กริมสบี้,นอร์ธแฮมป์ตัน รวมไปถึงคู่ปรับร่วมเมืองแมนเชสเตอร์ ซิตี้ด้วย
อย่างไรก็ตามในความหวังดีนั้น มันมีความ Tricky อยู่เล็กๆ คือ แต่ละสโมสรไม่ได้ระบุว่าจะให้ยืมนักเตะ "คนไหน" แต่บอกว่าจะช่วยเฉยๆ ซึ่งถ้ามองในมุมหวังดีอยากช่วย ก็อาจจะใช่ แต่ถ้ามองในอีกมุมหนึ่ง คือนักเตะที่พร้อมจะให้ยืม ก็ล้วนแล้วแต่เป็นเป็น Fringe Player หรือผู้เล่นส่วนเกินที่สโมสรนั้นไม่ใช่งานทั้งนั้น
เหมือนจะช่วยให้แมนฯยูไนเต็ดมีนักเตะให้ครบ 11 คน สำรองอีก 5 คน เพื่อพอจะลงแข่งขันได้ เกมการแข่งทั้งบอลลีก บอลถ้วย จะได้ดำเนินต่อไปได้ไม่สะดุด
คือในมุมนี้ก็เข้าใจบรรดาสโมสรต่างๆเช่นกัน คือ ใครจะไปปล่อยคีย์แมนของตัวเองให้คู่แข่ง ลองคิดในปัจจุบัน สมมุติเกิดเหตุการณ์แบบนี้กับแมนฯยูไนเต็ด แล้วลิเวอร์พูลอยากช่วย ก็คงไม่ส่ง ซาลาห์, มาเน่, ฟาน ไดค์, อลิสซอน, โรเบิร์ตสัน ให้แน่ๆ แต่คงเลือกส่งนักเตะที่ไม่ใช่ตัวหลักอย่าง เคอร์ติส โจนส์ หรือ ฮาร์วีย์ เอลเลียตต์ ไปให้มากกว่า
บ๊อบ ลอร์ด ประธานสโมสรเบิร์นลีย์ ในปี 1958 อธิบายตรงๆว่า "แน่นอน สโมสรต่างๆอยากช่วยแมนฯยูไนเต็ด แต่การช่วยนั้น ไม่ใช่การเสียสละสตาร์ของตัวเอง เราอยากช่วยให้แมนฯยูไนเต็ดลงแข่งขันต่อไปได้ แต่ไม่ได้คิดจะช่วยให้พวกเขาคว้าแชมป์ลีก แชมป์ยุโรป หรือเอฟเอคัพ คือมันคนละเรื่องกัน"
"ที่สโมสรต่างๆต้องการช่วย คือเอานักเตะกลุ่มตัวสำรองไปให้แมนฯยูไนเต็ดใช้งานเพื่อให้โปรแกรมมันดำเนินต่อไปได้ต่างหาก ฟุตบอลมันคือธุรกิจนะ ใช่ เราก็เศร้าเสียใจกับเหตุการณ์ที่มิวนิค เรื่องความช่วยเหลือ แน่นอนเราช่วย แต่ยอมปล่อยสตาร์ของทีมงั้นหรือ มันเป็นไปไม่ได้หรอก"
สโมสรเดียวจริงๆ ที่ยินดีให้แมนฯยูไนเต็ด ยืมซูเปอร์สตาร์คือ เรอัล มาดริด ที่ประกาศว่าพร้อมให้ทีมปีศาจแดงยืมอัลเฟรโด้ ดิ สเตฟาโน่ นักเตะดีกรีบัลลงดอร์เอาไปใช้งานได้ 1 ปี โดยตัวดิ สเตฟาโน่ ตกลงแล้ว แมนฯยูจะจ่ายค่าเหนื่อยให้ครึ่งหนึ่ง ส่วนอีกครึ่งเรอัล มาดริดจะจ่ายให้ ทุกอย่างไม่มีปัญหา นี่เป็นการสานความสัมพันธ์อันดีของสองสโมสร
1
แต่สุดท้ายดีลนี้ก็ไม่เกิดขึ้น เพราะสมาคมฟุตบอลอังกฤษไม่ยอม โดยอ้างกฎดั้งเดิมของเอฟเอว่า นักเตะต่างชาติจะได้เล่นในลีกอังกฤษ ต้องใช้ชีวิตอยู่ที่อังกฤษมา 2 ปีก่อน ดังนั้นดีลของดิ สเตฟาโน่ที่ไปขัดกฎจึงล่มไป และนักเตะก็ไปสร้างความยิ่งใหญ่กับเรอัล มาดริดต่อ
2
สุดท้าย แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด จึงไม่ได้รับความหวังดีจากสโมสรไหนเลย ถ้าต้องให้เอาตัวผู้เล่นสำรองของทีมอื่นๆมาใช้งาน มันจะมีประโยชน์อะไร เอามาจากทีมอื่นอย่างละคนสองคนแล้วมันจะเล่นด้วยกันได้อย่างนั้นหรือ
ดังนั้นทีมปีศาจแดงจึงขอสู้ด้วยตัวผู้เล่นที่มี ถ้าตำแหน่งไหนขาดก็ดันนักเตะจากทีมสำรอง และทีมเยาวชนขึ้นมา ขณะที่ในตลาดซื้อขาย ก็จ่ายเงินซื้อนักเตะตัวใหม่มาเพิ่มแค่ 1 คนเท่านั้นคือ เออร์นี่ เทย์เลอร์ จากแบล็คพูลด้วยค่าตัว 8,000 ปอนด์
ในช่วงวิกฤติที่ขาดแคลนผู้เล่นจากโศกนาฏกรรม ทีมต่างๆยื่นมือช่วย แต่สุดท้ายแมนฯยูไนเต็ดปฏิเสธทั้งหมด และขอยืนหยัดด้วยตัวเอง จะแพ้ จะชนะ พวกเขาก็จะสู้ไปด้วยตัวเอง
สถานการณ์ตอนนั้นเต็มไปด้วยความวุ่นวายอย่างที่สุด สมาคมฟุตบอลอังกฤษ สั่งว่าแมนฯยูไนเต็ด ไม่สามารถเลื่อนโปรแกรมได้มากกว่านี้อีกแล้ว ต้องกลับมาแข่งขันเอฟเอคัพ รอบ 16 ทีมสุดท้าย ในวันพุธที่ 19 กุมภาพันธ์ ไม่งั้นก็จะโดนปรับแพ้
แมตต์ บัสบี้ ยังบาดเจ็บหนัก เขายังไม่ได้สติเลยด้วยซ้ำ ตอนนี้นอนอยู่ที่โรงพยาบาลในมิวนิค ดังนั้น จิมมี่ เมอร์ฟี่ ผู้ช่วยผู้จัดการทีมก็จำเป็นต้องรับหน้าที่บอสใหญ่เป็นการชั่วคราว
โค้ชสองคน เบิร์ท เวลลีย์ กับ ทอม เคอร์รี่ เสียชีวิตในเหตุการณ์นี้ แล้วใครจะเป็นเทรนเนอร์ให้นักเตะที่เหลือ? ซึ่งแจ๊ค ครอมป์ตัน อดีตนักเตะแมนฯยูไนเต็ด ที่รับงานเป็นโค้ชที่ลูตัน ทาวน์ ขออนุญาตสโมสรลูตันไปช่วยแมนฯยูไนเต็ดเป็นการชั่วคราวให้ผ่านพ้นฤดูกาลนี้ไปก่อน และเมื่อแมนฯยูเข้าที่เข้าทางอีกครั้ง เขาจะกลับมาทำงานที่ลูตันใหม่
ส่วนเรื่องนักเตะก็วุ่นวาย เพราะ 11 ตัวจริง มีไม่พอ ก็เลยต้องดึงเอาผู้เล่นทีมสำรองขึ้นมาร่วมซ้อมกับทีมชุดใหญ่ทันที
ทีนี้พอนักเตะทีมสำรองถูกดันมาเล่นทีมชุดใหญ่แล้ว แล้วโปรแกรมทีมสำรองล่ะ จะเอาใครลงสนาม ดังนั้นอดีตนักเตะแมนฯยูไนเต็ดหลายคน ที่แขวนสตั๊ดไปแล้ว ก็แสดงสปิริตยอมกลับมาช่วยสโมสรแม้จะไม่ได้รับค่าจ้าง เพื่อช่วยให้ทีมได้ลงแข่งในโปรแกรมเกมสำรอง ให้ผ่านพ้นฤดูกาลนี้ไปได้ก่อน
1
สุดท้ายทีมปีศาจแดง ยืนหยัดด้วยความพยายามของตัวเองล้วนๆ โดยไม่พึ่งพาทีมอื่น นี่คือศักดิ์ศรีของแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด
สำหรับผลการแข่งขันในสนาม ด้วยตัวผู้เล่นที่มีคุณภาพน้อยกว่าเดิมหลายเท่า ทำให้แมนฯยูไนเต็ดมีผลงานย่ำแย่ หลังจากเกิดเหตุที่มิวนิค แมนฯยู ลงแข่ง 14 นัดในลีก ชนะ 1 เสมอ 5 แพ้ 8 จากที่เป็นรองจ่าฝูงอยู่ดีๆ จบฤดูกาลได้อันดับ 9
ในยูโรเปี้ยนคัพ เมื่อต้องเจอแชมป์อิตาลี เอซี มิลาน พวกเขาจะเอาอะไรไปต้าน สองนัดรวมกัน แมนฯยูไนเต็ด โดนยิงไป 6-1 ตกรอบรองชนะเลิศ
ส่วนในเอฟเอคัพ ผลการจับสลากที่ค่อนข้างเป็นใจ บวกกับแรงฮึดว่าเป็นถ้วยความหวังเดียวที่เหลืออยู่ ทำให้แมนฯยู ทะลุถึงรอบชิงชนะเลิศได้ แต่สุดท้ายก็แพ้โบลตันไป 2-0 ได้แค่รองแชมป์เท่านั้น
โดยในเกมนัดชิง เอฟเอคัพ มีนักเตะที่อยู่ในเครื่องบินที่มิวนิค แค่ 4 คนเท่านั้น คือแฮร์รี เกรก,บิล โฟ้กส์, บ๊อบบี้ ชาร์ลตัน และ เดนนิส ไวโอเล็ต ที่เหลืออีก 7 คน คือนักเตะทีมสำรอง รวมกับนักเตะเยาวชน ดังนั้น ด้วยศักยภาพทีมระดับนี้ มันเป็นการยากจริงๆ ที่จะไปถึงแชมป์
บทสรุปฤดูกาล 1957-58 แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด จากที่มีลุ้นทริปเปิ้ลแชมป์ พวกเขาวืดหมดทุกรายการ จบซีซั่นด้วยมือเปล่า
และทีมชุด Busby Babes ได้รับการยกย่องว่าเป็นหนึ่งในทีมที่ดีที่สุดของอังกฤษ ก็แตกสลายไปเรียบร้อย แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ต้องใช้เวลาสร้างทีมกันใหม่ นับหนึ่งกันแต่แรกอีกครั้ง
สำหรับในสถานการณ์ที่เยอรมัน นักเตะที่หายดีแล้วก็ทยอยกลับอังกฤษ เหลือแค่คนอาการหนักๆที่ต้องดูแลอย่างใกล้ชิด ยังไม่สามารถเคลื่อนย้ายได้
ดันแคน เอ็ดเวิร์ดส์ เสียชีวิตวันที่ 21 กุมภาพันธ์ แต่จอห์นนี่ เบอร์รี่ ที่บาดเจ็บหนักพอๆกัน แพทย์ชาวเยอรมันสามารถรักษาได้สำเร็จราวปาฏิหาริย์ ขณะที่แจ๊กกี้ แบลนช์ฟลาเวอร์ ที่เจ็บหนักมากเช่นกัน ก็รอดชีวิต โดยสามารถออกจากโรงพยาบาลได้ในวันที่ 22 มีนาคม
แต่ด้วยอาการที่บาดเจ็บหนักเกินไป ทั้งเบอร์รี่ กับ แบลนช์ฟลาเวอร์ ต้องแขวนสตั๊ดทันที ร่างกายของพวกเขาไม่สามารถกลับมาลงสนามได้อีกแล้ว
ส่วนแมตต์ บัสบี้ ผู้จัดการทีมแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ก็รอดจากอาการโคม่าได้แล้ว เขาลืมตาตื่นขึ้นมา และออกจากห้องผู้ป่วยอาการหนัก มาอยู่ห้องพักธรรมดาได้แล้ว แต่ ดร.จอร์จ เมาเรอร์ ขอร้องให้ทุกคนเก็บเรื่องนักเตะในทีมเสียชีวิตเอาไว้ก่อน คือหมอก็กลัวว่า ถ้าบัสบี้ต้องรู้ความจริงว่ามีคนตายมากมาย เขาจะมีสภาพจิตใจย่ำแย่ และจะส่งผลให้อาการทรุดหนักลงอีก
บัสบี้ นอนอยู่ในโรงพยาบาล 3 สัปดาห์ ก็รู้สึกสงสัยว่าทำไมเขาถามเรื่องนักเตะในทีม อย่างโรเจอร์ เบิร์น กับ ดันแคน เอ็ดเวิร์ดส์ไป แต่ก็ไม่ได้รับคำตอบอะไรกลับมาเลย ในที่สุด เขาจึงคาดคั้นกับภรรยา จีน บัสบี้
แมตต์ จ้องตาของจีน แล้วพูดขึ้นมาว่า "ผมต้องการรู้ความจริง แม้มันจะเลวร้ายที่สุดก็ตาม ขอร้อง ไม่งั้นผมอยู่ไม่ได้แน่" แต่จีนรับปากคุณหมอเอาไว้แล้วว่า จะไม่พูดอะไร ดังนั้นแมตต์ บัสบี้ จึงเอ่ยชื่อออกมา และถ้าใครเสียชีวิตจีนก็จะส่ายหน้าเป็นการบอกว่าไม่รอดชีวิตแล้ว
วันนั้นทำให้บัสบี้ได้รู้ว่า นักเตะในทีมของเขาเสียชีวิตไปมากมายขนาดไหนแล้ว ซึ่งเรื่องนี้กลายเป็นสิ่งที่สร้างความเจ็บปวดในใจของบัสบี้ เพราะเขาเป็นคนดึงดันให้แมนฯยูไนเต็ด มาแข่งในรายการยุโรปเอง ถ้าเขาไม่ดื้อดึง โศกนาฏกรรมครั้งนี้คงไม่มีเกิดขึ้น ยิ่งไปกว่านั้น ในวันที่เกิดเหตุ ก่อนนักบินจะเอาเครื่องขึ้นครั้งที่ 3 เขาไม่มีความพยายามจะหยุดยั้งเลย ทั้งๆที่เขาคือผู้จัดการทีมแท้ๆ
บัสบี้โทษตัวเองว่า เขาเป็นคนพรากพรสวรรค์ของนักเตะอัจฉริยะแต่ละคนไปด้วยมือของตัวเอง แล้วแบบนี้เมื่อเขากลับไปอังกฤษ จะกล้ามองหน้าครอบครัว และภรรยาม่ายของนักเตะแต่ละคนได้อย่างไร
ซึ่งบัสบี้มีความตั้งใจจะฆ่าตัวตายให้มันจบๆไปด้วย
1
แต่หลังจากอยู่กับตัวเอง และรู้ข่าวสารมากขึ้น บัสบี้จึงเห็นว่า ในสถานการณ์แบบนี้ ทุกคนกำลังสู้อย่างเต็มที่ นักเตะและโค้ชที่เหลืออยู่ก็ต้องสู้กันสุดชีวิต แม้แต่แฟนบอลเองก็ต้องรวมพลังใจฮึดสู้เหมือนกัน คิดดูจากทีมที่ลุ้นแชมป์อยู่ดีๆ กลายเป็นทีมระดับกลางตารางไปเลย แฟนบอลก็เฮิร์ทเหมือนกัน
ดังนั้นเขาจะตัดช่องน้อยแต่พอตัวได้อย่างไร เขารู้ดีว่าตัวเองคือผู้นำของสโมสรนี้ และถ้าผู้นำยังสู้ คนอื่นๆในทีมก็จะสู้ตามไปด้วย
บัสบี้มุ่งมั่นทำกายภาพบำบัดอย่างเต็มที่ และในที่สุด 18 เมษายน 1958 เป็นเวลา 2 เดือนกับอีก 12 วัน ในที่สุดบัสบี้ ก็พร้อมที่จะออกจากโรงพยาบาลได้ เขาอำลาดร.เมาเรอร์ และพยาบาลทุกคน ก่อนจะกลับอังกฤษด้วยรถไฟสายไรน์โกลด์ เอ็กเพรสส์ ซึ่งบัสบี้ ยังไม่พร้อมที่จะขึ้นเครื่องบินอีกรอบจริงๆ
เมื่อกลับถึงอังกฤษ บัสบี้ ยังไม่สามารถคุมทีมได้ เขาได้แต่อยู่บนเตียง เพื่อทำกายภาพบำบัดเพิ่มเติม จริงๆแม้แต่ใส่เสื้อ ถอดเสื้อ เขายังทำเองไม่ได้ ต้องให้ภรรยา และลูกชายมาช่วย
บัสบี้ทนความเจ็บปวดทั้งจิตใจและร่างกาย จนเมื่อจบฤดูกาล 1957-58 เขาจึงพร้อมกลับมาคุมทีมอีกครั้ง
แพดดี้ แม็คกรัธ เพื่อนสนิทของบัสบี้ ไปเยี่ยมที่บ้านหลังจากกลับมาจากอังกฤษในวันแรกๆ ทั้งสองคนกอดกัน ก่อนที่บัสบี้จะร้องไห้ออกมา ไม่มีใครพูดอะไรกันเลยแม้แต่คำเดียว
"จากนั้นมา บัสบี้ไม่เคยพูดถึงเรื่องที่มิวนิคอีกเลย" แม็คกรัธกล่าว "แต่มันซ่อนอยู่ในดวงตาของเขา ซ่อนอยู่ตลอดเวลา"
ความเปลี่ยนแปลงของแมนฯยูไนเต็ด อีกจุดที่สำคัญ คือบ๊อบบี้ ชาร์ลตัน
ก่อนเหตุการณ์ที่มิวนิค เขาเป็นเด็กหนุ่มวัย 20 ที่มีพรสวรรค์ ขณะที่บุคลิกนอกสนามก็เป็นคนสบายๆ เวลาไปเที่ยวกับเพื่อนก็ชอบร้องเพลงของแฟรงค์ ซินาตร้า กับ เป๊กกี้ ลี
แต่หลังจากเกิดโศกนาฏกรรมมา ชาร์ลตัน บุคลิกเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง เขาเงียบขรึมมากขึ้น จริงจังมากขึ้น และเป็นนักเตะคนแรกในชุดเครื่องบินตกที่กลับมาซ้อมเต็มรูปแบบ ส่วนเพลงของแฟรงค์ ซินาตร้า ไม่เคยมีใครได้ยินชาร์ลตันร้องอีกแล้ว เหตุการณ์ที่มิวนิคส่งผลกระทบกับเขามากจริงๆ
1
บ็อบบี้ ชาร์ลตัน เป็นเพื่อนสนิทกับดันแคน เอ็ดเวิร์ดส์ ทั้งสองคนอายุห่างกัน 1 ปี เป็นบัดดี้กัน ตัวติดกันเสมอ แต่ตอนนี้ มันเหลือเขาแค่คนเดียวแล้ว
การที่นักเตะชุดใหญ่เสียชีวิตไปมากขนาดนั้น เป็นแรงกระตุ้นให้ชาร์ลตัน พัฒนาตัวเองให้เป็นผู้เล่นที่โค้ชจะฝากความหวังไว้ได้มากขึ้น สุดท้ายเขากลายเป็นเสาหลักอันยิ่งใหญ่ของแมนฯยูไนเต็ดในสนาม
แต่บ็อบบี้ ชาร์ลตันแค่คนเดียวมันไม่พอ ทีมของแมตต์ บัสบี้ ยังไม่แกร่งพอที่จะไปถึงแชมป์เหมือนยุคก่อนมิวนิค ทีมขาดความสม่ำเสมอ และความหลากหลายในการจบสกอร์
1
1957-58 มือเปล่า
1958-59 มือเปล่า
1959-60 มือเปล่า
1960-61 มือเปล่า
1961-62 มือเปล่า
จากที่เคยได้แชมป์มาตลอด และเข้าถึงรอบรองยูโรเปี้ยนคัพ 2 สมัยซ้อน แมนฯยูกลายเป็นทีมกลางตาราง แมตต์ บัสบี้ ต้องใช้เวลาในการสร้างทีมของเขาขึ้นมาอีกครั้ง
และในที่สุดเมื่อถึงปี 1962 เขาก็ได้เจอนักเตะฝีเท้าร้ายกาจอีกคนที่ชื่อว่า เดนนิส ลอว์
ลอว์ คือหัวหอกทีมชาติสกอตแลนด์ที่เล่นอยู่ในกัลโช่ เซเรียอา โดยบัสบี้ จ่ายเงิน 115,000 ปอนด์ ซื้อตัวมาจากโตริโน่ ซึ่งถือเป็นนักเตะที่แพงที่สุดในประวัติศาสตร์ของสหราชอาณาจักร
การเข้ามาของเดนนิส ลอว์ ทำให้แนวรุกปีศาจแดงมีความเฉียบขาดมากขึ้น การเล่นร่วมกันของเขากับบ๊อบบี้ ชาร์ลตัน ทำให้แมนฯยูไนเต็ด คว้าแชมป์เอฟเอคัพได้สำเร็จ ยุติการร้างแชมป์ 5 ปี ลงได้อย่างสวยงาม โดยในเกมนัดชิงเอฟเอคัพ เดนนิส ลอว์ ก็ยิงประตูได้ด้วย
ตอนนี้แมนฯยูไนเต็ด มีเสาหลัก 2 ต้นแล้ว คือชาร์ลตัน กับ ลอว์ ศักยภาพของทีมตอนนี้ สามารถไปลุ้นแชมป์กับทีมใหญ่ๆได้แล้ว
ก่อนที่ในปี 1963 บัสบี้ จะแจ้งเกิดนักเตะอัจฉริยะอันดับ 1 แห่งยุค นั่นคือจอร์จ เบสต์ ปีกที่เลี้ยงบอลได้เก่งกาจที่สุดเท่าที่วงการฟุตบอลอังกฤษเคยพบเห็นมา เบสต์ได้ลงเล่นเป็นตัวจริงนัดแรกในฤดูกาล 1963-64
เบสต์ กลายเป็นเสาหลักต้นที่ 3 ของแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด
ชาร์ลตัน (อังกฤษ), ลอว์ (สกอตแลนด์) และ เบสต์ (ไอร์แลนด์เหนือ) ทั้ง 3 คนคือนักเตะฝีเท้าระดับโลก ที่เล่นอยู่รวมกันในทีมเดียวกัน โดยแฟนแมนฯยูไนเต็ด จะเรียกสามคนนี้ว่า Holy Trinity เป็นเสาหลักสามต้นอันแข็งแกร่งที่สุดของทีมปีศาจแดง
ซึ่งในเวลาต่อมา ทั้ง 3 คน ได้บัลลงดอร์ครบทั้งหมด เดนนิส ลอว์ ได้ในปี 1964, บ็อบบี้ ชาร์ลตัน ได้ในปี 1966 และ จอร์จ เบสต์ ได้ในปี 1968
ลองคิดดูว่า มีนักเตะบัลลงดอร์คนเดียวในทีมก็เก่งจะแย่อยู่แล้ว แล้วนี่เล่นมีสามคนพร้อมกัน มันจะยิ่งสุดยอดขนาดไหน ซึ่งอีกเรื่องที่น่าทึ่งคือ ทั้ง 3 คน สามารถเล่นด้วยกันได้เป็นอย่างดี ภายใต้การนำของแมตต์ บัสบี้
บัสบี้ จากที่เคยมีทีมชุด Busby Babes ที่นำโดยดันแคน เอ็ดเวิร์ดส์ เขาคิดว่าชุดนั้นเก่งที่สุดแล้ว และพอเกิดเหตุการณ์ที่มิวนิค ก็มีเสียงวิจารณ์มากมาย ว่าบัสบี้ไม่มีทางสร้างทีมที่ดีขนาดนั้นได้อีกแล้ว แต่สุดท้ายบัสบี้ก็ทำได้ Holy Trinity ถือกำเนิดขึ้น และสุดท้ายแมนฯยูไนเต็ดก็กลับมาเป็นแชมป์ลีกอีกครั้งในฤดูกาล 1964-65
ยิ่งไปกว่านั้น สิ่งที่ไม่เคยมีทีมจากอังกฤษทำได้เลย นั่นคือแชมป์ยุโรป แต่แมนฯยูไนเต็ดชุดนี้ทำได้ ในปี 1968 แมนฯยูคว้าแชมป์ยูโรเปี้ยนคัพได้สำเร็จ 10 ปีให้หลังจากการเหตุโศกนาฏกรรมที่มิวนิคพอดี
ในเกมนัดชิง แมนฯยูไนเต็ดชนะเบนฟิก้า ของยูเซบิโอไปอย่างเพอร์เฟ็กต์ด้วยสกอร์ 4-1 โดยในสนามวันนั้น มีนักเตะ 2 คนที่อยู่ในเครื่องบินที่มิวนิคคือ บ็อบบี้ ชาร์ลตัน และ บิลล์ โฟ้กส์ ขณะที่ผู้จัดการทีม แน่นอนว่าคือแมตต์ บัสบี้
นัดชิงเกมนี้ เป็นความบังเอิญที่จัดที่เวมบลีย์พอดี นั่นทำให้มีแฟนบอลชาวอังกฤษเข้ามาดูอย่างล้นหลาม และในโควต้าของแมนฯยูไนเต็ด ได้เชิญครอบครัวของคนที่อยู่ในเหตุการณ์ที่มิวนิคเข้ามาชมเกมกันด้วย
หลังจากจบเกมด้วยชัยชนะ โฟ้กส์, ชาร์ลตัน และบัสบี้ ให้สัมภาษณ์
"ผมไม่สามารถหาคำพูดไหน บรรยายความรู้สึกตอนนี้ได้เลย" บิลล์ โฟ้กส์ กล่าว
"เราทุกคนมีความสุข แต่ความรู้สึกที่เราสามารถทำสิ่งนี้ให้แมตต์ บัสบี้ได้ มีความหมายมากที่สุด" บ็อบบี้ ชาร์ลตันเผย
ส่วนตัวบัสบี้ กล่าวอย่างเรียบง่ายว่า "วินาทีที่บ็อบบี้ชูถ้วยยูโรเปี้ยนคัพ มันทำให้ผมรู้สึกสงบ มันช่วยเยียวยาความรู้สึกผิด ที่พยายามเอาทีมไปยุโรปในอดีต"
"นี่คือค่ำคืนที่ผมภูมิใจที่สุดในชีวิต มันเป็นเป้าหมายสูงสุดที่ผมรอคอยมาตลอด 11 ปี"
ไม่มีใครพูดคำว่ามิวนิคเลยแม้แต่ครั้งเดียว ไม่มีใครอยากรื้อฟื้นความเจ็บปวดออกมา แต่ทุกคนรู้ดีว่า ชัยชนะในเกมยุโรปครั้งนี้ มันมีความหมายกับพวกเขาที่ผ่านโศกนาฏกรรมที่มิวนิคมากมายแค่ไหน
ในเดือนตุลาคม 1958 นิตยสารชื่อ Sing เขียนกลอนเอาไว้เพื่อเป็นการระทึกเหตุการณ์ที่มิวนิค โดยตั้งชื่อบทกลอนว่า "The Flowers of Manchester" หมู่มวลดอกไม้แห่งแมนเชสเตอร์ จากนั้นมีแฟนแมนฯยูไนเต็ด ชื่อมิก โกรฟส์ เอากลอนท่อนนี้ ไปใส่ทำนองของเพลงชื่อ High Germany แล้วนำมาร้องเป็นการรำลึกถึงนักเตะผู้ล่วงลับ
เพลงนี้ถูกร้องต่อๆกันมาเรื่อยๆหลายสิบปี มีการนำไปร้องในหลายเวอร์ชั่น แต่ยังยึดเนื้อคำกลอนแต่แรกสุดเหมือนเดิม
สำหรับแฟนๆตั้งแต่ปี 2001 เป็นต้นมา แมตช์ที่ใกล้กับวันที่ 6 กุมภาพันธ์ ที่ได้เล่นในโอลด์แทรฟฟอร์ดของแต่ละปี แฟนบอลจะมารวมตัวกันที่ มิวนิค เมโมเรียลที่สนาม เพื่อร่วมกันร้องเพลง The Flowers of Manchester ซึ่งแต่ละปี คนก็มาร่วมกันร้องเพลงมากขึ้น จนกลายเป็นเหมือนเหตุการณ์ประจำปีของสโมสร
โดยเนื้อเพลง มีความหมายดังนี้
วันพฤหัสบดีที่เหน็บหนาว ณ มิวนิค เยอรมนี
นักเตะปีศาจแดงชุดนี้ คว้าชัยชนะได้เหมือนฝัน
แต่แล้วนักเตะ 8 คน ต้องจบชีวิตไปโดยพลัน
ดอกไม้ที่ร่วงโรยนั้น เจ้าคือความฝันแห่งแมนเชสเตอร์
ทีมของบัสบี้เตรียมเหินฟ้า เตรียมกลับมาจากเบลเกรด
สู้สุดใจในต่างประเทศ เพื่อครอบครัวยูไนเต็ดอันยิ่งใหญ่
กัปตันพาบินถึงครึ่งทาง ปล่อยนักเตะลงด้านล่างให้พักเตรียมใจ
ครึ่งชั่วโมงผ่านไป กัปตันเรียกขึ้นเครื่องใหม่ ได้เวลาเดินทาง
สองครั้งบินไม่ได้ ต้องวัดใจหนที่สาม
กัปตันใช้ความพยายาม แต่มันกลับตามมาด้วยหายนะ
หิมะลื่น เครื่องยนต์พัง พุ่งทะลุไปยังนอกสนามบิน
ทีมฟุตบอลแทบจบสิ้น แปดนักเตะบิน กลับไม่ถึงบ้าน
ผู้ตาย โรเจอร์ เบิร์น และทอมมี่ เทย์เลอร์ เคยติดทีมชาติอังกฤษ
จอร์จ เบนท์ และ บิลลี่ วีแลน ดาวเตะไอร์แลนด์ก็เสียชีวิต
มาร์ก โจนส์, เอ็ดดี้ โคลแมน และ เดวิด เพ็กก์ ล้วนแต่จากไป
7 ชีวิตแรก ทิ้งชีวิตไว้ ใต้กองหิมะที่เยอรมัน
จากนั้นบิ๊กดันแคนก็จากไปอีกคน เพราะเขาทนความเจ็บไม่ไหว
แจ๊กกี้ แบลนช์ฟลาวเวอร์ หมดกำลังใจ เลิกเล่นฟุตบอลไป อีกหนึ่งราย
แมตต์ บัสบี้ผู้ยิ่งใหญ่ ขอต่อสู้จนวาระสุดท้าย
และแล้วเขารอดพ้นความตาย กลับสู่อังกฤษได้ในสามเดือน
เทรนเนอร์ โค้ช เลขาทีม และผู้โดยสารหลายคนจบชีวิต
นักข่าวกีฬาชื่อดังชาวอังกฤษ 8 ชีวิตก็ไม่รอดจากเหตุการณ์นี้
หนึ่งคนที่เราไม่ลืมคือบิ๊ก สวิฟตี้ นักข่าวที่เคยเป็นนักกีฬา
สุดยอดผู้รักษาประตูที่เราเคยเห็นมา แฟรงค์ สวิฟต์ยอดนายประตู
โอ้ นี่คือสุดยอดทีมที่ดีที่สุดของอังกฤษ ทุกคนบอกเป็นเสียงเดียวกัน
เก่งกาจราวกับทีมแห่งความฝัน แต่โชคชะตากลับพลันกลั่นแกล้ง
8 นักเตะผู้เก่งกาจ โดนเผาไหม้จากเปลวเพลิงอันรุนแรง
เจ้าดอกไม้ใต้ตะวันทอแสง หมู่ดอกไม้แห่งแมนเชสเตอร์
#ManchesterUnited
โฆษณา