4 เม.ย. 2020 เวลา 02:13 • ความคิดเห็น
ภาพ(ข่าว)ที่อยู่ในกรอบ ย่อมสวยงามกว่า...
การนำเสนอข้อมูลข่าวสารของสื่อมวลชนในยุคปัจจุบันที่มีช่องทางในการบริโภคข่าวมากขึ้น ส่งผลให้มีการแข่งขันสูงขันตามไปนั้น สื่อก็คงจำเป็นต้องพัฒนาขีดความสามารถในการนำเสนอข่าวให้ทันสมัย รวดเร็ว เข้าถึงราย
ละเอียด เพื่อมุ่งตอบสนองความต้องการของผู้เสพข่าวให้ได้มากที่สุด
แต่ในอีกมุมหนึ่งตามความเห็นของผม สิ่งหนึ่งที่ควรอยู่ควบคู่กัน คือ การเป็นแบบอย่างที่ดีในการปฏิบัติตามกรอบแห่งกฎ กติกา ที่กำหนด ไม่ว่าจะเป็นมาตรฐานวิชาชีพ หรือกฎกติกาของสังคม โดยเฉพาะข้อที่กำหนดขึ้นเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยหรือความปลอดภัยของคนในสังคมส่วนรวม
เมื่อคืนนี้ (คืนวันศุกร์ที่ 3 เมษายน) ซึ่งเป็นคืนแรกของการประกาศเคอร์ฟิว ตามข้อกำหนดที่ออกตามความในมาตรา 9 แห่ง พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ (ฉบับที่ 2) ซึ่งทุกคนทราบแล้วว่า เป็นข้อกำหนดห้ามออกจากเคหสถานในช่วงเวลาสี่ทุ่มถึงตีสี่ของอีกวัน ยกเว้นกลุ่มบุคคลตามที่ข้อกำหนดได้ยกเว้นไว้ให้
ซึ่งเกี่ยวกับบุคคลที่ได้รับการยกเว้นนี้ จากที่อ่านข้อกำหนดฯ และฟังท่านรองนายกรัฐมนตรี วิษณุ เครืองาม อธิบายเพิ่มเติม ก็เข้าใจตรงกันได้ว่า มีอยู่สองกลุ่ม คือ กลุ่มคนประกอบอาชีพหรือมีหน้าที่ที่ได้รับการยกเว้นเป็นการทั่วไปตามข้อกำหนด เช่น บุคคลากรทางการแพทย์ เจ้าหน้าที่ทหารตำรวจที่ปฏิบัติหน้าที่ตามข้อกำหนด คนที่ทำงานเข้าเวร-ออกเวรช่วงกลางคืน คนที่ทำหน้าที่ขนส่งสินค้า เครื่องมือแพทย์ น้ำมันเชื้อเพลิง สินค้านำเขาส่งออก หรือขนย้ายประชาชนไปสู่พื้นที่ควบคุม เป็นต้น และอีกกลุ่มหนึ่งเป็นกลุ่มบุคคลที่ต้องขออนุญาตให้ได้รับการยกเว้นเป็นการเฉพาะกิจ คือ คนที่จำเป็นต้องออกนอกเคหสถานในช่วงเคอร์ฟิว ที่มิได้ระบุไว้ในข้อกำหนด ก็ต้องขออนุญาตพนักงานเจ้าหน้าที่เป็นราย ๆ ไป เช่น คนป่วยฉุกเฉิน กลุ่มอาชีพที่ต้องออกทำงานกลางคืน เช่น ชาวสวนยางที่ต้องไปกรีดยาง เจ้าหน้าที่ซ่อมบำรุงสายสัญญาญของบริษัทเครือข่ายสัญญาณโทรศัพท์ เป็นต้น ซึ่งในอนาคตอาจจะได้เพิ่มเติมข้อกำหนดให้ได้รับยกเว้นเป็นการทั่วไป
ขอบคุณภาพจากเพจ ไทยคู่ฟ้า
จากข้อกำหนดและคำอธิบายดังกล่าว จึงสรุปให้เข้าใจได้ว่า ทุกคนยกเว้นคนที่ได้รับการยกเว้นหรือขอนุญาตเพราะมีเหตุจำเป็นดังกล่าว จะต้องปฏิบัติตามข้อกำหนดฯ คือห้ามออกนอกเคหสถานไปเพ่นพ่านข้างนอกในช่วงเคอร์ฟิว
เมื่อคืนซึ่งเป็นคืนแรกของการเคอร์ฟิว ผมนั่งเหงา ๆ อยู่ในห้องพัก ก่อนนอนก็แวะเข้าท่องโลกสังคมออนไลน์ เพื่อตรวจดูความเป็นไปในค่ำคืนที่แทบจะไม่มีความเคลื่อนไหวบนท้องถนนภายนอก ซึ่งเมื่อเข้าไปในเพจหรือเว็บข่าวหลาย ๆ เพจ ก็กล่าวถึงบรรยากาศในค่ำคืนแรกของเคอร์ฟิว ซึ่งถ้าไม่นับรวมกรณีเหตุวุ่นวายที่สนามบินสุวรรณบินจากการพยายามกักตัวคนที่มาจากต่างประเทศนับร้อยชีวิต จนทำให้พวกเขาไม่พอใจและกลายเป็นความอลหม่านแล้ว บรรยากาศที่อื่น ๆ ก็ดูเหมือนว่าผู้คนจะให้ความร่วมมือในการเคอร์ฟิวเป็นอย่างดี
ยกตัวอย่าง ไทยพีบีเอส ได้นำเสนอภาพบรรยากาศ "ก่อนเคอร์ฟิว" หลาย ๆ จุดในกรุงเทพฯ เช่น ถนนวิภาวดีรังสิต ถนนแจ้งวัฒนะ ที่ผู้คนทยอยกลับบ้านให้ทันเวลาเคอร์ฟิว
หรือแม้แต่ใน blockdit ของพวกเราเอง "ลงทุนแมน" ก็ได้โพสภาพบรรยากาศที่เห็นว่าอยู่ในมุมที่ถ่ายออกไปจากอาคารเคหสถานของผู้ถ่าย ให้เห็นท้องถนนและบรรยากาศภายนอกที่โล่งผิดหูผิดตาในช่วงเวลาเคอร์ฟิว และมีการเชิญชวนผู้อ่าน รวมส่งภาพบรรยากาศช่วงเคอร์ฟิวในแต่ละที่มาแบ่งปันหรือประกวดกันด้วย
ภาพเหล่านี้แม้จะดูเงียบเหงา แต่ก็แสดงให้เห็นถึงความร่วมมือของผู้คน ที่ไม่ออกนอกเคหสถานตามมาตรการที่กำหนด เพื่อลดการแพร่กระจายของเชื้อโรค
ทว่าในอีกมุมหนึ่ง ก็ยังมีภาพข่าวจากเพจของสื่อบางแห่ง ที่ผมเห็นแล้วไม่ค่อยสบายใจเท่าไหร่นัก
เพจของสื่อชื่อดังแห่งหนึ่งของไทย โพสบทความนำเสนอภาพถ่าย ที่ระบุว่าเป็นบรรยากาศของ กทม.หลังช่วงเวลาเคอร์ฟิว โดยพาดหัวบทความว่า "กรุงเทพเป็นเมืองร้าง หลังเข้าสู่เวลาเคอร์ฟิว บรรยากาศทั้งเหงาและวังเวง" ซึ่งผมอ่านแล้วรู้สึกทะแม่ง ๆ คือ ประการที่หนึ่ง แทนที่จะใช้ถ้อยคำตอกย้ำบรรยากาศให้รู้สึกหดหู่ น่าจะลองเปลี่ยนมาใช้ถ้อยคำที่สร้างความรู้สึกด้านบวกไม่ดีกว่าเหอ เช่น คนกรุงตอบรับเคอร์ฟิว, covid หงอยเหงาเพราะคนเข้าอยู่ในบ้านกันหมด อะไรประมาณนี้ก็ยังดี และ ประการที่สอง ในช่วงเวลาเคอร์ฟิว ยังสามารถออกไปถ่ายภาพบรรยากาศภายนอกมาเสนอเป็นบทความข่าวได้อีก? ซึ่งตอนแรกคิดว่าตัวเองข้องใจอยู่คนเดียว แต่เข้าไปดูคอมเมนต์ ก็เห็นว่าหลายคนมีข้อสงสัยเช่นเดียวกัน
จากเพจแรก ตัดภาพไปอีกเพจที่เป็เพจของช่องทีวีที่เป็นสื่อหลักรายหนึ่ง รู้สึกจะหนักกว่า เพราะไม่ใช่แต่การถ่ายภาพนิ่ง แต่เป็นการถ่ายทอดสดรายงานสถานการณ์บนท้องถนนในช่วงเวลาเคอร์ฟิวกันเลยทีเดียว โดยเนื้อหาของการถ่ายทอดสด เป็นการนำเสนอบรรยากาศบนท้องถนนแถวถนนราชดำเนิน ที่ยังมีผู้คนบางส่วนที่จะอยู่ในระหว่างเดินทางกลับเข้าเคหสถาน หรืออาจเป็นกลุ่มคนที่ได้รับการยกเว้น ทำให้ยังปรากฎภาพพวกเขาอยู่นอกเคหสถานในช่วงเคอร์ฟิว แต่นั่นยังไม่ติดใจผมเท่ากับประเด็นที่ว่า คนที่ไปถ่ายทอดสดในช่วงเคอร์ฟิวนั่นแหล่ะ อาศัยอำนาจหรือข้อยกเว้นใด?
ในความเห็นผม ซึ่งบอกก่อนว่าไม่ได้มีอคติอะไรกับการทำงานของสื่อรายใด โดยเฉพาะสื่อภาคสนาม ที่ผมก็ชื่นชมในความกล้า และทักษะในการปฏิบัติงานของพวกเขาในหลาย ๆ เหตุการณ์ที่ผ่านมา แต่ผมมองว่า กรณีบรรยากาศหรือเหตุการณ์ในสถานการณ์ปัจจุบันนี้ หากไม่มีเรื่องร้ายแรงใด ๆ เกิดขึ้น การนำเสนอของสื่อน่าจะนำเสนอในลักษณะเดียวกับวิธีการของไทยพีีบีเอสหรือลงทุนแมน คือ อยู่ภายใต้กรอบของกฎกติกาที่ห้ามออกนอกเคหสถานในช่วงเวลาที่กำหนด และในการแถลงข่าวของศูนย์บริการราชการ โควิด-19 ก็ชี้แจงเกี่ยวกับการทำข่าวของสื่อมวลชนว่า ไม่สามารถทำข่าวในเวลาเคอร์ฟิวได้ แต่ก็สามารถใช้รูปแบบนำเสนอภาพข่าวไปถึงผู้บริโภคข่าวสารได้โดยไม่เป็นการละเมิดข้อห้ามหรือฝ่าฝืน
ขอบคุณภาพจากเพจ ศูนย์ข้อมูล covid-19
หรือหากจะอ้างว่าได้ขออนุญาตหรือได้รับการยกเว้นเป็นการเฉพาะหรือเป็นกรณีพิเศษใด ๆ ก็มีข้อที่น่าจะพิจารณาประกอบกัน คือ ความจำเป็นที่ต้องนำเสนอกับผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นมีความสมดุลกันหรือไม่
ผมไม่อยากจะย้อนไปเปรียบเทียบกับกรณีที่เคยผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นกรณีเหตุการณ์ที่ห้างสรรพสินค้าเทอร์มินอล21 นครราชสีมาเมื่อช่วงต้นปี กรณีเหตุน้ำท่วมใหญ่ปี 54 หรือเหตุการณ์ความไม่สงบอันสืบเนื่องจากสถานการณ์ทางการเมืองเมื่อหลายปีก่อน ที่ผมมองว่า บางครั้งข้อมูลและวิธีการนำเสนอของสื่อบางรายก็ออกจะเกินความจำเป็นหรือล้ำเส้นไปหน่อย เหมือนคนวาดภาพที่ละเลงสีจนเลอะออกนอกกรอบหรือผืน canvas ที่กำหนด แทนที่จะสวยงามกลับกลายเป็นความเปรอะเปื้อน
ดังนั้น ผมคิดว่า นำเสนอภาพให้อยู่ในกรอบ(แห่งกฎกติกา) น่าจะสวยงามกว่านะครับ
โฆษณา