5 เม.ย. 2020 เวลา 06:37 • ธุรกิจ
กองทุน SSF Extra เหมาะกับใคร? เราซื้อดีมั้ย?
ทุกคนน่าจะพอได้ทราบข่าวเกี่ยวกับกองทุน SSF Extra กันมาบ้างแล้ว วันนี้เราจะมาอธิบายในทุกประเด็นให้เพื่อนๆ พี่ๆ ได้เข้าใจกันง่ายขึ้น
มาเล่าช้ากว่าคนอื่นหน่อย แต่ก็ยังดีกว่าไม่มาเนอะ 😁😝
ที่ไปที่มาของกองทุนนี้ เกิดขึ้นเนื่องจากเหตุการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ที่กระทบเศรษฐกิจค่อนข้างหนัก ทางรัฐบาลจึงได้ประกาศเพิ่มกองทุนเฉพาะกิจขึ้นมา เพื่อเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจและสร้างความเชื่อมั่นในระบบตลาดทุนไทย
1
ดังนั้นในปีนี้ เราจะมีกองทุนสำหรับลดหย่อนภาษีทั้งหมด 3 ประเภท ก็คือ กองทุน RMF, กองทุน SSF, และ กองทุน SSF Extra
กองทุน SSF Extra / กองทุน SSF พิเศษ / กองทุน SSF เฉพาะกิจ หรืออีกชื่อหนึ่งที่ทุกคนเรียก “กองทุน SSFX”
ซึ่งมีเงื่อนไข ดังนี้
1️⃣ ซื้อได้ในวันที่ 1 เมษายน – 30 มิถุนายน 2563 เท่านั้น!!
2️⃣ ระยะเวลาถือครองไม่น้อยกว่า 10 ปี นับจากวันที่ซื้อ ถึงจะสามารถขายคืนได้
3️⃣ ต้องลงทุนในหุ้นไทยไม่น้อยกว่า 65% ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ
4️⃣ สามารถซื้อลดหย่อนภาษีได้สูงสุด 200,000 บาท ไม่มีกำหนดขั้นต่ำหรือเพดานในการซื้อ ซึ่งจะไม่นับรวมกับกองทุน SSF และกองเกษียณอื่นๆ ดังนั้นเท่ากับว่าเราได้สิทธิลดหย่อนเพิ่มขึ้นมาอีกก้อนนึง
5️⃣ ไม่ต้องลงทุนต่อเนื่องทุกปี
ตารางเปรียบเทียบเงื่อนไขของกองทุนลดหย่อนภาษี ปี2563
1
สำหรับกองทุน SSFX เราเริ่มเห็นหลายบลจ. เปิดขาย IPO กันเยอะพอสมควรแล้ว โดยเริ่มขายวันที่ 1 เมษายน เป็นต้นไป
ส่วนรายชื่อกองทุน SSFX ที่เปิดขายในตอนนี้
ภาพจาก: Thai Mutual Fund
หลายคนอาจจะกำลังคิดอยู่ว่าควรซื้อดีมั้ย? กองทุน SSFX เหมาะกับใครบ้าง?
เราอยากแนะนำให้ลองพิจารณาในหลายประเด็น ดังนี้
1️⃣ สิ่งแรกที่จำเป็นต้องพิจารณาเลย คือ เงินในกระเป๋า ในช่วงวิกฤตแบบนี้เชื่อว่าทุกคนได้รับผลกระทบไม่มากก็น้อย ดังนั้น สำรวจเงินในกระเป๋าตัวเองก่อน เรามีเงินสำรองฉุกเฉินหรือเงินไว้ใช้จ่ายในชีวิตประจำวันเพียงพอรึยัง ถ้ามีเงินส่วนนึงที่เหลืออยู่และสามารถแบ่งมาลงทุนได้ก็ถือว่าเป็นโอกาสดีสำหรับการได้ใช้สิทธิลดหย่อนส่วนนี้เพิ่ม
2️⃣ สามารถลงทุนระยะยาวได้มากกว่า 10 ปีขึ้นไปได้รึป่าว ไม่ว่าจะลงทุนในกองทุน SSFX หรือ กองทุน SSF ปกติ จะต้องถือนานถึง 10 ปีเต็ม จึงอยากให้ลองพิจารณาก่อนว่าเงินที่นำมาลงทุนตรงนี้จะไม่กระทบหรือยังไม่มีความจำเป็นต้องถอนออกมาใช้ก่อน เพราะถ้ามีการขายก่อนครบกำหนดถือว่าผิดเงื่อนไขลดหย่อนภาษี และเมื่อผิดเงื่อนไขจะต้องจ่ายทั้งภาษีย้อนหลังและโดนค่าปรับด้วย
3️⃣ ประเด็นต่อมา คือ รายได้ต่อปี หากเราเป็นคนที่รายได้สูงและคาดว่าจะใช้สิทธิลดหย่อนจากกองทุน SSF, RMF, ประกันบำนาญและกองทุนเกษียณจนเต็มสิทธิแล้วก็ยังไม่เพียงพอ กองทุน SSFX ก็เป็นตัวช่วยให้เราสามารถใช้สิทธิลดหย่อนเพิ่มได้
4️⃣ เนื่องจากกองทุน SSFX มีนโยบายลงทุนในหุ้นไทยไม่ต่ำกว่า 65% ซึ่งก็คล้ายกับกองทุน LTF ที่ปิดตัวลงไปเมื่อปีที่แล้ว ดังนั้น ควรจะมีความรู้ความเข้าใจและยอมรับความเสี่ยงกับหุ้นไทยได้ด้วย เพราะในช่วงนี้ตลาดหุ้นไทยค่อนข้างมีความผันผวน
1
สำหรับคนที่ต้องซื้อกองทุนเหล่านี้เพื่อใช้สิทธิลดหย่อนภาษี เราอยากให้พิจารณาที่ละตัวแล้วเลือกอันที่เหมาะสมกับตัวเอง
หรืออาจจะแบ่งสัดส่วนลงทุนทั้ง 3 กองทุนเลยก็ได้ ถือว่าเป็นการจัดพอร์ตกระจายความเสี่ยงในการลงทุนได้เหมือนกัน
โดยเรามีคำแนะนำและข้อควรระวังคร่าวๆ ดังนี้
1️⃣ ก่อนจะซื้อกองทุน SSF ปกติ อย่าลืมตรวจเช็คว่าเรามีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (PVD), กองทุน RMF, กบข., กอช. และประกันบำนาญ รวมกันแล้วมีอยู่เท่าไหร่ แล้วค่อยดูว่าเหลือวงเงินสำหรับซื้อกองทุน SSF ปกติอีกเท่าไหร่
2️⃣ คนที่อายุมากกว่า 45 ปี อยากแนะนำให้ลองพิจารณากองทุน RMF ด้วย เนื่องจากกองทุน RMF จะสามารถขายกองทุนได้เมื่ออายุครบ 55 ปีบริบูรณ์ ดังนั้น เราจะมีระยะเวลาถือครองที่น้อยกว่า 10 ปี รวมถึงกองทุน RMF จะมีนโยบายการลงทุนที่หลากหลาย ทำให้เราสามารถสับเปลี่ยนกองทุนได้
3️⃣ คนที่ลังเลอยู่ว่าจะซื้อกองทุน SSF หรือ กองทุน RMF เพราะทั้ง 2 กองทุนนี้ลงทุนได้ทุกประเภทสินทรัพย์ที่เหมือนกัน
🔸กองทุน SSF เหมาะกับคนที่ต้องการลงทุนปีต่อปี ชอบการออมระยะยาว 10ปีขึ้นไป แต่ไม่เน้นการซื้อต่อเนื่อง อยากใช้สิทธิลดหย่อนภาษีปีไหนก็ซื้อปีนั้น
🔸กองทุน RMF เหมาะกับคนที่วางแผนออมเงินส่วนนี้ไว้ใช้ตอนเกษียณ เน้นการลงทุนแบบต่อเนื่อง
5️⃣ ไม่ควรกระจายซื้อกองทุนที่ลงทุนในประเภทสินทรัพย์เดียวกันมากเกินไป การกระจายความเสี่ยงที่ถูกต้อง คือ การซื้อหลายกองทุนที่มีความต่างในสินทรัพย์ที่กองทุนไปลงทุน
ที่สำคัญ❗ก่อนจะซื้อกองทุนเพื่อใช้สิทธิลดหย่อน อย่าลืมคำนวณภาษีกันก่อนนะคะ จะได้รู้ถึงวงเงินที่เราต้องลดหย่อนภาษีและจะได้ไม่ซื้อเยอะเกินตัว
นอกจากนี้ ก็ยังมีรายการประเภทอื่นที่เราสามารถใช้สิทธิลดหย่อนภาษีได้เหมือนกัน เช่น ดอกเบี้ยบ้าน เงินบริจาค ประกันชีวิต เป็นต้น เลือกใช้รายการลดหย่อนภาษีที่เหมาะกับไลฟ์สไตล์ของตัวเองจะดีกว่าค่ะ :)
หากใครสงสัยในประเด็นไหน หรืออยากรู้ข้อมูลส่วนไหนเพิ่มเติม สามารถคอมเม้นในโพสนี้ถามได้เลยนะคะ
เราได้อธิบายในหลากหลายมุมมอง แต่ไม่แน่ใจว่าตกหล่นประเด็นไหนรึป่าว 😆
ฝากติดตาม กด Like 👍 กด Share ❤️ และเป็นกำลังใจให้ด้วยนะคะ จะคอยอัพเดตข้อมูลความรู้เกี่ยวกับกองทุนรวมและการลงทุน
#SecretFund
โฆษณา