6 เม.ย. 2020 เวลา 07:23 • กีฬา
เกิดอะไรขึ้นกับลิเวอร์พูล ทำไมการที่สโมสรขอรับความช่วยเหลือจากรัฐบาลถึงกลายมาโดนด่าได้ จนเป็นดราม่าใหญ่โต วิเคราะห์บอลจริงจังจะเล่าสถานการณ์ทั้งหมดให้ฟัง
สถานการณ์โควิด-19 ที่สหราชอาณาจักร ตึงเครียดมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะมีผู้ติดเชื้อเกิน 5 หมื่นคนแล้ว ขณะที่ผู้เสียชีวิตก็แตะหลัก 5 พันแล้วเช่นกัน
ดังนั้นมาตรการ Social Distancing จึงเริ่มเข้มงวดขึ้น กิจกรรมต่างๆโดนยกเลิกทั้งหมดแล้ว แม้แต่การออกกำลังกายที่สวนสาธารณะ ก็เตรียมโดนแบนเช่นกัน
รัฐต้องการให้คนอยู่บ้านให้มากที่สุดเพื่อลดการแพร่เชื้อ ยิ่งติดต่อกันน้อยเท่าไหร่ ก็มีโอกาสควบคุมโรคได้ดีขึ้นเท่านั้น
ปัญหาสำคัญของ UK ก็เหมือนกับที่ไทยในเวลานี้ คือถ้ารัฐต้องการให้หยุดกิจกรรมทุกอย่างเพื่อ Social Distancing เต็มตัว ก็แปลว่าธุรกิจทั้งหมดในประเทศจะเกิดภาวะหยุดนิ่ง
ธุรกิจทุกอย่างจะไม่มีลูกค้า เพราะทุกคนอยู่บ้านกันหมด ซึ่งเมื่อผู้ประกอบการขายของไม่ได้ คำถามคือจะเอาเงินที่ไหน มาจ้างพนักงานต่อ เจ้าของกิจการจึงจัดการเตรียมปลดคนออกจำนวนมาก เพื่อลดค่าใช้จ่ายของบริษัทในสถานการณ์นี้
ซึ่งแน่นอน มันจะส่งผลให้เกิดอีกหนึ่งปัญหาตามมานั่นคือ เมื่อพนักงานโดนไล่ออกแล้ว พวกเขาจะเอาเงินที่ไหนมาใช้ชีวิต ในช่วงที่กักตัวอยู่บ้าน
เมื่อเห็นปัญหาแบบนี้ รัฐบาล UK จึงออกมาตรการพิเศษชื่อ Furlough (เฟอ-โล) ขึ้นมา โดยขอความร่วมมือกับบริษัทต่างๆ อย่าไล่พนักงานออก ถ้าไม่มีงานอะไรให้ทำตอนนี้ แค่พักงานชั่วคราว 3 เดือนก็พอ
โดยใน 3 เดือนนี้ รัฐจะช่วยจ่ายเงินให้พนักงานทุกคน 80% ของเงินเดือนตามจริง โดยจะจ่ายสูงสุดไม่เกิน 2,500 ปอนด์ต่อเดือน (101,288 บาท)
พอภาครัฐมาช่วยซัพพอร์ทเงินเดือน 80% เป็นระยะเวลา 3 เดือน นั่นทำให้บริษัทต่างๆพออยู่ได้ ไม่จำเป็นต้องไล่ใครออก เพราะบริษัทไม่ต้องควักเนื้อเยอะเกินไป ตัวเองจ่ายแค่ 20% เท่านั้น ซึ่งก็จัดว่าพอไหว
ขณะที่พนักงานนั้น ก็จะได้เงินเดือน 100% เต็มเหมือนเดิม ซึ่งพอมีเงินแล้ว ก็เตรียมพร้อมเข้าสู่กระบวนการ Social Distancing กักตัวอยู่บ้านต่อไป
สำหรับมาตรการ Furlough นั้น บริษัทเอกชน ก็ต้องไปขอสิทธิ์กับทางรัฐ ซึ่งถ้าภาครัฐตรวจเช็กแล้วว่าพนักงานคนดังกล่าวเป็นผู้เสียภาษีอย่างถูกต้อง ก็จะจัดการจ่ายค่าจ้าง 80% ให้ในลำดับต่อไป
ข้ามมาที่ประเด็นดราม่าที่เกิดขึ้นกับลิเวอร์พูลตอนนี้ ต้องอธิบายก่อนว่า สตอรี่มันแบ่งเป็น 2 ส่วนด้วยกัน
1) Playing Staff - ผู้เล่นของสโมสร
2) Non-Playing Staff - พนักงานทั่วไปของสโมสร เช่นพนักงานขายตั๋ว ฝ่ายธุรกิจ แม่บ้าน แม่ครัว คนตัดหญ้า เป็นต้น
เริ่มจากประเด็น 1) เกี่ยวกับ Playing Staff ก่อน แน่นอนว่านักเตะทุกทีม จำเป็นต้องยอมโดนหักรายได้ส่วนหนึ่งอยู่แล้ว
นั่นเพราะนักเตะแต่ละคน มีค่าจ้างมหาศาลระดับแสนปอนด์ต่อสัปดาห์ เมื่อเกมฟุตบอลไม่มีแข่งขันเพราะวิกฤติไวรัส คนทั่วประเทศเดือดร้อนกันหมด คุณจะนอนรับเงินสบายๆอยู่แค่กลุ่มเดียวก็ไม่ใช่เรื่อง นักฟุตบอลต้องยอมเจ็บตัวบ้าง
ในเรื่องนี้ นักเตะเองก็รู้ดี และแทบทุกคนก็ยินดียอมโดนหักเงินเดือนของตัวเอง
แต่คำถามคือ เงินก้อนที่หักไป ควรจะเอาไปให้ใคร ให้สโมสร หรือบริจาคเข้า NHS (National Health Service) หน่วยงานที่ดูแลเรื่องสาธารณสุขของสหราชอาณาจักรโดยตรง
จุดน่าสนใจของฟุตบอลอังกฤษคือ รายจ่ายส่วนที่เยอะที่สุด ของทั้ง 20 สโมสร คือเรื่องค่าเหนื่อยนักเตะ
ตัวอย่างเช่น สโมสรลิเวอร์พูล ในฤดูกาล 2018-19 ทำรายได้ทั้งซีซั่น 533 ล้านปอนด์ แต่แค่ลำพังค่าเหนื่อยของนักเตะอย่างเดียวก็ 310 ล้านปอนด์ต่อปีแล้ว ค่าเหนื่อยของนักเตะลิเวอร์พูล คิดเป็น 58% ของรายได้ทั้งซีซั่นของสโมสร
ทุกสโมสรต้องแบกค่าเหนื่อยมหาศาลแบบนี้เป็นเรื่องปกติ คือถ้าฟุตบอลเตะได้ตามที่ควรจะเป็น มันก็คงไม่มีปัญหาอะไร สโมสรก็ไปทำเงินเอา จากตั๋วเข้าชมเกม, สปอนเซอร์ตัวใหม่ๆ หรือ ยอดขายสินค้าที่ระลึกทั่วโลก
แต่เมื่อเจอโควิด-19 มันมี แนวโน้มว่าอาจจะต้องแข่งแบบปิดสนาม แปลว่ารายได้จากตั๋วก็หายไปเลย สปอนเซอร์ก็ไม่มี เพราะแบรนด์ต่างๆก็ต้องระงับแผนการลงทุนชั่วคราว ขณะที่ยอดขายสินค้าก็ขายแทบไม่ออกเลย ในสถานการณ์แบบนี้ ต่อให้เป็นแฟนพันธุ์แท้แค่ไหน ก็ยังอยากจะเก็บเงินสดไว้กับมือมากกว่า ไม่อยากใช้จ่ายฟุ่มเฟือยโดยไม่จำเป็น
ว่ากันตรงๆ หลายสโมสรนั้นเสียรายได้มากมาย บางทีมอาจต้องควักเนื้อของตัวเองด้วยซ้ำ
ดังนั้นกลุ่มซีอีโอของ 20 สโมสร จึงประชุมรวมกัน และขอให้พรีเมียร์ลีกออกมาตรการ อนุมัติให้ลดค่าเหนื่อยนักเตะได้ 30% จากสัญญาเดิม
คือถ้าค่าเหนื่อยผู้เล่นลดไป 30% สโมสรก็พอหายใจหายคอได้บ้าง ไม่ต้องควักเนื้อจนเจ็บตัวเกินไป
อย่างไรก็ตาม ทาง PFA หรือสมาคมนักเตะอังกฤษ ออกมาแถลงการณ์ว่า พรีเมียร์ลีก และซีอีโอของ 20 สโมสร ไม่ควรออกมาบังคับกันในลักษณะนี้
นักเตะยินดีให้หักค่าเหนื่อยอยู่แล้ว แต่เงินที่หักไปนั้น ควรจะเอาไปมอบให้แพทย์ พยาบาลในชุมชนที่กำลังต่อสู้กับไวรัสอยู่ หรือไม่ก็มอบให้ NHS เพื่อเอาไปต่อสู้ภัยโควิด-19 มากกว่า คือนักเตะพร้อมที่จะให้หักรายได้ แต่ไม่ใช่หักเพื่อเอาไปช่วยเหลือนายทุนเจ้าของทีม
ทาง PFA บอกว่าถ้าคิดจะหักเงินรายได้ของนักเตะ ก็ควรใช้เป็นเครื่องแสดงความจริงใจให้คนในประเทศได้รู้ว่า นักฟุตบอลที่มีรายได้มหาศาลถึงคราวสังคมลำบาก ก็พร้อมช่วยเหลือสังคมกลับคืนเช่นกัน ไม่ใช่ว่าหักเงินไปแล้วเอาไปพยุงสโมสรของตัวเอง
เรื่องนี้จึงกลายเป็นข้อถกเถียงกัน ยังไม่ได้คำตอบว่า เงิน 30% ของนักเตะ สุดท้ายมันควรจะเอาไปใช้อย่างไรกันแน่
คือการเอาไปบริจาคเพื่อ NHS หรือแพทย์-พยาบาล ในชุมชนก็เป็นเรื่องดี แต่ถ้านักเตะเอาไปบริจาค ก็แปลว่าสโมสรยังต้องจ่ายค่าเหนื่อย 100% เหมือนเดิม แล้วแบบนี้สโมสรเล็กๆจะทำอย่างไร
ไมค์ การ์ลิค ประธานสโมสรเบิร์นลีย์ บอกว่าทีมอื่นยังไงไม่รู้ แต่เบิร์นลีย์ถ้าต้องจ่ายเงินเท่าเดิมแบบนี้ทุกเดือน ก็ทำใจได้เลยว่าต้องถังแตกแน่นอน
เรื่องนี้ยังต้องรอดูต่อไปอีก ถึงจะได้ข้อสรุปว่า เงินของนักเตะพรีเมียร์ลีกสุดท้ายจะเอาไปช่วยรัฐบาลสู้โควิด-19 หรือจะเอาไปช่วยสโมสรตัวเองไม่ให้ล่มสลาย
ถัดจาก Playing Staff แล้ว ไปที่ประเด็นที่ 2 คือ Non-Playing Staff ที่ถือว่าดราม่าไม่ด้อยไปกว่ากัน
ด้วยความที่ยังไม่ได้ข้อสรุปว่าเงินที่นักเตะจะยอมโดนหักนั้น จะเข้าไปสู่ NHS หรือเข้าไปสู่สโมสร ดังนั้นจึงมีหลายๆทีมที่ต้องเมกชัวร์ไว้ก่อน ด้วยการลดค่าใช้จ่ายทันทีเท่าที่จะทำได้
นั่นคือการเข้าร่วมมาตรการ Furlough ของรัฐบาลอังกฤษ โดยสโมสรฟุตบอลจะไปขอเงินช่วยเหลือ 80% จากรัฐ เพื่อเอามาจ่ายให้ Non-Playing Staff
สโมสรที่ขอใช้สิทธิ์ Furlough ประกอบไปด้วย นิวคาสเซิล,นอริช,สเปอร์ส, บอร์นมัธ และล่าสุดคือลิเวอร์พูล
ดราม่าของเรื่องนี้เกิดขึ้น เพราะประชาชน และอดีตนักฟุตบอลในทีมลิเวอร์พูลเองมองว่า ลิเวอร์พูลจะขอไปเข้าร่วมโครงการ Furlough จากรัฐบาลทำไม ในเมื่อตัวเองสามารถจ่ายเงินให้ Non-Playing Staff ได้แบบ 100% อยู่แล้ว ไม่เห็นต้องพึ่งพาความช่วยเหลือจากรัฐเลย
ปีที่ผ่านมา ได้กำไรตั้ง 42 ล้านปอนด์ กำไรขนาดนี้ แบกรับค่าเหนื่อยของสตาฟฟ์ของสโมสรแค่ 200 คนไม่ได้หรอ จะไปขอเงินรัฐทำไม
รัฐต้องแบ่งเงินส่วนหนึ่ง เอามาให้ลิเวอร์พูลแทนที่จะเก็บเงินภาษีของประชาชนเอาไว้ใช้จ่ายอย่างอื่น ที่มีประโยชน์มากกว่านี้
สแตน คัลลีมอร์ อดีตนักเตะของทีม วิจารณ์ว่า "มาตรการ Furlough มันมีไว้เพื่อช่วยประคองธุรกิจขนาดเล็กต่างหาก ไม่ให้ล้ม"
"เจ้าของพรีเมียร์ลีกมีเงินกันเยอะอยู่แล้ว พวกเขาทำเงินได้เยอะขึ้นเรื่อยๆ จากมูลค่าของสโมสรที่เพิ่มขึ้น แล้วทำไมคราวนี้คุณไม่กระตุ้นให้พวกเศรษฐีเจ้าของทีม ควักเงินตัวเองจ่ายให้พนักงานล่ะ"
เช่นเดียวกับดีทมาร์ ฮามันน์ อดีตนักเตะลิเวอร์พูลก็ทวีตว่า "สโมสรลิเวอร์พูลฉกฉวยประโยชน์จากมาตรการ Furlough โดยให้รัฐบาลช่วยจ่ายเงิน 80% ให้สตาฟฟ์ของตัวเอง คือนั่นไม่ใช่มาตรการที่ออกแบบมาเพื่อใช้แบบนี้ นั่นไม่ใช่แนวทาง และค่านิยมของสโมสรที่ผมรู้จัก"
อ่านถึงตรงนี้ สงสัยกันไหมครับ ว่าทำไมลิเวอร์พูลโดนด่าอยู่ทีมเดียว สเปอร์ส, นิวคาสเซิล, บอร์นมัธ, นอริช ที่ขอเงินจากรัฐบาล 80% เหมือนกัน ไม่เห็นโดนด่าเลย
จุดนี้เราต้องเข้าใจ "รากฐาน" ของลิเวอร์พูลก่อน
ในอดีตช่วงยุค 1950 ลิเวอร์พูลเป็นทีมระดับกลางตารางทั่วไป แต่พวกเขากลายเป็นทีมที่ยิ่งใหญ่ได้ ตั้งแต่ยุคสมัยของบิลล์ แชงคลีย์
รากฐานที่แชงคลีย์วางเอาไว้ ไม่ใช่แค่เกมในสนามเท่านั้น แต่ยังรวมถึงเรื่องนอกสนามด้วย นั่นคือเขาได้วางปรัชญาเรื่อง "สังคมนิยม" เอาไว้ และมันได้กลายเป็นสัญลักษณ์ของลิเวอร์พูลมาตลอด
ระบบแนวคิดแบบทุนนิยม ข้อดีคือใครทำเยอะกว่า ก็รวยกว่า แต่ข้อเสียของมันคือสร้างความเหลื่อมล้ำได้ง่าย คนที่รวยก็จะพยายามรวยต่อไปเรื่อยๆ และกดคนจนเอาไว้ไม่ให้ลุกขึ้นยืนได้
แต่สิ่งที่แชงคลีย์เชื่อ คือระบบสังคมนิยม ที่ชุมชนและสังคมมีความสำคัญมากที่สุด เรื่องผลกำไรคือเรื่องรอง
ตั้งแต่ยุคสมัยของแชงคลีย์เป็นต้นมา จุดยืนของลิเวอร์พูลคือ สังคมส่วนรวมมาก่อนเสมอ ต่อให้ทีมไม่มีกำไรก็ไม่เป็นไร ต่อให้ทีมไม่ประสบความสำเร็จก็ไม่เป็นไร สิ่งสำคัญคือ อย่าทิ้งจุดยืนของตัวเองก็แล้วกัน
ดังนั้นการที่ลิเวอร์พูลใช้มาตรการ Furlough มันก็เหมือนกับสโมสรไปแย่งงบประมาณของรัฐมาเป็นของตัวเอง ซึ่งเงินก้อนนี้อาจเอาไปมอบให้ธุรกิจเล็กๆในเมืองก็ได้ หรือ สามารถเอาไปซื้ออุปกรณ์ทางการแพทย์ก็ได้ แต่ทั้งหมดก็ไม่สามารถทำได้ เพราะต้องเอามาจ่ายให้สตาฟฟ์ลิเวอร์พูล
ยิ่งเจ้าของลิเวอร์พูลคือ เฟนเวย์ สปอร์ตกรุ๊ป ซึ่งเป็นนักธุรกิจชาวอเมริกัน ยิ่งกลายเป็นแรงบวกเพิ่มไปอีก โดยผู้คนก็ด่าเจ้าของทีมว่า ลิเวอร์พูลได้กำไรไปเท่าไหร่แล้ว กอบโกยเงินจากอังกฤษไปตั้งเยอะแล้ว ทีนี้พอประเทศเจอวิกฤติไวรัส จะแสดงสปิริตจ่ายเงินให้ Non-Playing Staff โดยไม่เบียดเบียนภาษีรัฐไม่ได้หรือไง
ลิเวอร์พูลโดนด่าเยอะเป็นพิเศษ เพราะมันขัดกับหลักการของบิลล์ แชงคลีย์เต็มๆ ที่เชื่อว่าสังคมต้องมาก่อนกำไร แต่การตัดสินใจหนนี้ของสโมสร พวกเขาเลือกกำไรมาก่อนสังคม
นั่นคือในมุมของคำวิจารณ์ฝั่งตำหนิ แต่มันก็มีอีกมุมที่มองว่า สิ่งที่ลิเวอร์พูลทำ ไม่ได้เป็นเรื่องผิด
คนชอบคิดว่าในยามวิกฤติ รัฐต้องออกมาช่วยเหลือคนจนก่อน ส่วนคนมีฐานะก็ต้องเอาชีวิตรอดกันไปเอง
ดูอย่างในประเทศไทย เราเห็นมาตรการรัฐแจกเงิน 5 พันบาท ให้กับคนที่ไม่อยู่ในระบบประกันสังคม ไม่มีรายได้เป็นหลักแหล่ง
ในขณะที่คนที่อยู่ในระบบประกันสังคม จ่ายให้รัฐทุกเดือน กลับได้รับความช่วยเหลือช้ากว่า เพราะมองว่ากลุ่มคนเหล่านี้พอมีเงินอยู่แล้ว ไม่ได้ลำบากอะไรขนาดนั้น
ซึ่งก็นับว่าแปลก เพราะคนกลุ่มนี้เป็นผู้จ่ายภาษีชั้นดีให้ประเทศมาตลอด แต่พอจะขอรับสิทธิใดๆบ้าง กลายเป็นว่าเป็นคนใจดำไปเลย และต้องเห็นใจคนจนก่อนเป็นอันดับแรก
สำหรับสโมสรลิเวอร์พูล ใช่ พวกเขาเป็นทีมที่มีฐานะดี ถือเป็นองค์กรที่มีชื่อเสียงของประเทศ แต่คำถามคือพวกเขาไม่มีสิทธิจะได้รับการช่วยเหลือจากภาครัฐหรืออย่างไร
ทั้งๆที่แต่ละปีลิเวอร์พูลเป็นองค์กรที่จ่ายภาษีให้รัฐอย่างสม่ำเสมอ ยิ่งลิเวอร์พูลทำกำไรมากเท่าไหร่ รัฐก็เก็บภาษีได้เยอะเท่านั้น แต่คราวนี้เมื่อพวกเขาจะขอรับความช่วยเหลือจากรัฐ กลับกลายเป็นคนผิดไปเฉยเลย
แล้วมาตรการ Furlough ที่รัฐเตรียมไว้ นี่คือมอบเงินให้กับธุรกิจทั้งประเทศ ไม่ใช่ว่าสโมสรลิเวอร์พูลได้เงินก้อนนี้ แล้วธุรกิจอื่นๆในเมืองจะไม่ได้เงินซะเมื่อไหร่ ทุกคนก็ยังได้เงินกันครบเท่าเดิม
ยิ่งไปกว่านั้น ไม่มีใครรู้หรอกว่า สถานการณ์โควิด-19 จะไปสิ้นสุดเอาเมื่อไหร่ มันไม่ใช่เหตุการณ์ทั่วไป และอาจส่งผลให้สโมสรอาจไม่มีรายได้ไปอีกหลายเดือนติดๆกัน ดังนั้นอะไรเซฟค่าใช้จ่ายได้ ทำไมจะไม่ควรทำล่ะ
เข้าใจว่า ปรัชญาของลิเวอร์พูลคือ ส่วนรวมสำคัญที่สุด แต่ลองคิดดูว่าการรับเงินจากรัฐมา เพื่อประคองให้ธุรกิจอยู่รอดได้โดยไม่ต้องไล่ใครออก พนักงาน 200 คน ยังได้มีงานทำต่อ นี่ก็คือการทำเพื่อส่วนรวมเช่นเดียวกัน
และถ้าเคสนี้ การรับความช่วยเหลือจากรัฐเป็นสิ่งผิด มันก็แปลว่าคนฐานะดี ที่ตั้งใจส่งภาษีให้รัฐปีละมหาศาล ก็จะไม่มีสิทธิได้รับการช่วยเหลืออะไรเลยอย่างนั้นหรือ
นี่จึงกลายเป็นดีเบทที่ถกเถียงกัน ณ เวลานี้ ว่าลิเวอร์พูลทำถูก หรือผิดกันแน่
ในมุมหนึ่ง พวกเขาใช้เงินภาษีของประชาชน เอามาจ่ายเงินเดือนให้พนักงานของสโมสร ทั้งๆที่ด้วยศักยภาพทางการเงินแล้ว ลิเวอร์พูลจ่ายเองได้สบายๆ โดยไม่ต้องใช้ภาษีประชาชนเข้าช่วยเลย
แต่อีกมุมหนึ่ง ลิเวอร์พูลจ่ายภาษีให้รัฐมาหลายล้านปอนด์ในทุกปี แล้วทำไมในวิกฤตินี้ ในฐานะบริษัทแห่งหนึ่ง ถึงจะไม่มีสิทธิขอรับมาตรการรัฐล่ะ แถมพนักงานทั้งหมดก็ไม่ได้ไล่ใครออก ทุกคนยังได้เงิน 100% เท่าเดิม
จะว่าไป เหตุผลก็นับว่าฟังได้ทั้งสองด้าน แล้วแต่จะว่ามองมุมไหน
สิทธิโดยชอบ หรือ ฉวยโอกาส ?
อืม ตอบยากจริงๆนั่นล่ะ
#Liverpool
โฆษณา