9 เม.ย. 2020 เวลา 14:58 • บันเทิง
In Time (2011) : เงิน เวลา ชีวิต
จากหนังสู่ชีวิตจริง - วิพากษ์นโยบายแจกเงิน 5,000 บาท เพื่อการจัดสรรอย่างมีประสิทธิภาพในมุมมองเศรษฐศาสตร์สวัสดิการ
1
In Time : ล่าเวลาสุดนรก (2011) เป็นหนังแอคชั่นไซไฟสุดระทึก ว่าด้วยโลกในอนาคต ยุคที่มนุษย์ถูกดัดแปลงพันธุกรรมให้มีชีวิตอยู่โดยปราศจากความชรา กลไกของระบบที่ถูกสร้างขึ้นมานี้ ทำให้มนุษย์ทุกคนเมื่ออายุครบ 25 ปีแล้วจะเข้าสู่โหมดนับถอยหลัง
.
ในโหมดนี้ เวลาในชีวิตของทุกคนจะถูกนับถอยหลังให้เหลือเพียงหนึ่งปี โดยนับผ่าน " นาฬิกาชีวิต " ที่จะขึ้นเวลาไว้ที่แขนเพื่อบอกเวลาของชีวิตที่เหลืออยู่ หากตัวเลขที่นับถอยหลังนี้นับถึงศูนย์เมื่อไหร่ ก็จะทำให้หัวใจวายและตายในทันที
1
" นาฬิกาชีวิต "นี้ จึงมีความสำคัญมาก มันไม่ใช่แค่เครื่องบอกอายุขัย คุณค่าของมันมีมากกว่านั้น เพราะผู้คนได้นำเวลาชีวิตมาใช้เป็นสื่อกลางการแลกเปลี่ยนสินค้าและบริการแทน " เงินสด " เราสามารถโอนเวลาในชีวิตของตนเองให้ใครก็ได้ เพื่อใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน
1
ความร่ำรวยในยุคนี้ จึงไม่ใช่ความรวยที่เกิดจากเงิน แต่เป็นความรวยเพราะมีเวลาในชีวิตมากมายไม่มีขีดจำกัด
.
ความรวยได้สถาปนาตนเองเพื่อให้ชีวิตดำรงอยู่ด้วย " ความเป็นอมตะ "
นี่คือยุคที่บางคนมีอายุเป็นหมื่นปี ขณะที่บางคนต้องดิ้นรนอย่างหนักเพราะเหลือเวลาในชีวิตไม่ถึงหนึ่งวัน
1
ระบบที่เกิดขึ้นไม่ได้จบเพียงเท่านี้
เมื่อเวลาในชีวิตไม่เท่ากัน จึงมีการกำหนดโซนให้ประชาชนอยู่ตามโซนของเวลาชีวิต มีการแบ่งโซนเป็นย่านคนจน ชนชั้นกลาง คนรวย และชนชั้นสูง
หากต้องการผ่านด่านข้ามโซนไปพื้นที่ที่สูงกว่าจะต้องจ่ายค่าธรรมเนียมการผ่านทางด้วยเวลาชีวิตของตน ยิ่งไปในพื้นที่โซนสูงมากขึ้นเท่าไหร่ก็ต้องแลกด้วย " มูลค่าชีวิต " ในราคาที่สูงขึ้น
1
หนังใส่ประเด็นนี้ออกมาได้อย่างชัดเจนและคมคาย การสร้างเงื่อนไขว่า เงิน คือ เวลาในชีวิตทำให้ผู้ชมเห็นถึงความเหลื่อมล้ำใน " ระบบ " นี้อย่างชัดเจน
ขณะที่คนจนต้องดิ้นรนด้วยความเร่งรีบเพื่อให้มีชีวิตรอดแบบรายวัน รายชั่วโมง แต่คนรวยกลับใช้ชีวิตสโลว์ไลฟ์เพราะมีเวลาเหลือมากมาย
1
คนจนเมื่อถึงคราวจวนตัวเพราะใกล้จะหมดเวลาก็ต้องกู้และเสียดอกเบี้ย " มหาโหด" ให้กับคนรวย มันแย่ตรงที่ว่าดอกเบี้ยนี้ คิดเป็น " เวลาของชีวิต "
.
.
ตรงนี้ไม่ต่างอะไรกับชีวิตจริงเลย คนส่วนใหญ่ทำงานโดยใช้ทั้ง " แรงงาน " และ " เวลาในชีวิต " เพื่อแลกกับผลตอบแทนเพื่อประทังชีวิต ถ้าเป็นคนที่รายได้ไม่มาก ผลตอบแทนที่ได้รับจากการทำงานก็ประทังชีวิตได้แบบวันต่อวัน เมื่อมีไม่พอก็ต้อง " กู้ " เมื่อ " กู้ " บางทีก็กู้มามากเกินจำเป็น สุดท้ายเงินทุกบาททุกสตางค์ที่หามาได้ก็หมดไปกับการใช้หนี้ และ เสียดอกเบี้ย ยิ่งทำให้ความเหลื่อมล้ำมากขึ้นไปอีก
2
หนังไม่ได้กล่าวถึงบทบาทของรัฐบาลมากนัก ? ทั้งๆที่ควรจะเป็นองค์กรที่มีบทบาทต่อปัญหานี้มากที่สุด ในฐานะที่ได้รับงบประมาณและอำนาจจากคนในสังคมเพื่อทำหน้าที่ในการจัดสรรทรัพยากรของประเทศ
แต่ผู้ชมก็พอจะ "อนุมาน"ได้ว่ารัฐบาลในหนังไม่ได้ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มากนัก แถมยังเป็นพวกเขาเองที่สร้างให้เกิดเงื่อนไขนี้ ด้วยการแบ่งโซนที่อยู่ตามเวลาของชีวิตที่เหลืออยู่ เพื่อแยก "คนจน"และ"คนรวย"ออกจากกัน
1
เรื่องราวคงเป็นอย่างนั้นและระบบก็อยู่แบบนี้ต่อไป
ถ้าไม่มีชายชื่อ " วิล ซาลัส (Will Salas)"
1
วิล ซาลัส (Will Salas)เป็นชายยากจนผู้ช่วยชีวิตเฮนรี่ แฮมิลตัน(Henry Hamilton)เศรษฐีผู้มีเวลาชีวิต " 100 ปี " ให้รอดพ้นจากการถูกปล้น ซึ่งท้ายที่สุดเฮนรี่ แฮมิลตันได้มอบเวลาชีวิตทั้งหมดของเขาให้วิล ซาลัส
2
วิล ซาลัส อาศัยอยู่กับแม่เพียงสองคน ทั้งคู่อยู่กันอย่างขัดสน ต้องดิ้นรนให้มีชีวิตรอดไปวันๆ และวันที่ซาลัสได้ชีวิตร้อยปีมานั้น เขาตั้งใจทำให้ชีวิตของแม่มีความสุขสบายขึ้น ....
1
แต่เหตุการณ์ก็ไม่เป็นแบบนั้นเพราะแม่ของเขาเสียชีวิตไปเสียก่อน
เธอตายเพราะเอาเวลาชีวิตสองวันไปจ่ายดอกเบี้ย ทำให้มีเวลาชีวิตเหลือไม่พอที่จะกลับบ้านมาพบกับซาลัสเพื่อรับโอนเวลาชีวิตจากลูกชาย มันเป็นเวลาเพียงเสี้ยววินาทีที่ซาลัสใกล้จะแตะมือแม่ได้ แต่ก็ไม่ทัน เขาสูญเสียแม่ไปเพราะเวลาที่ช้าเพียงไม่กี่วินาที นั่นทำให้วิล ซาลัส ตัดสินใจที่จะทำบางสิ่งบางอย่างเพื่อเปลี่ยนแปลงระบบนี้ให้ได้
1
เขามุ่งหน้าเข้าสู่โซนของคนรวย เพื่อที่จะเอาเวลามากมายของคนรวยมาแบ่งปันให้คนจน ในขณะที่ตัวเขาเองก็ต้องหนีการไล่ล่าจากเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ไม่เชื่อว่าเขาได้เวลาร้อยปีของเฮนรี่ แฮมิลตันมาอย่างสุจริต
1
เนื่องจากหนังมีความเป็นแอคชั่นพอสมควร หนังจึงใส่ประเด็นของ มูลค่า , ชีวิต และความเหลื่อมล้ำของชนชั้นผ่านสัญลักษณ์ต่างๆ ไปพร้อมกับฉากแอคชั่นอันตื่นตา ส่วนประเด็นที่ผู้ชมต้องนำมาคิดต่อเพื่อตีความก็แล้วแต่มุมมองของแต่ละคน หนังมีความลงตัวของความสนุกกับประเด็นที่กระตุ้นให้ผู้ชมได้กลับมาคิดต่อ
.
นี่คือเสน่ห์ของหนังเรื่องนี้
2
ในโลกความจริงปัญหาเรื่องความเหลื่อมล้ำคือสิ่งที่เกิดขึ้นในทุกประเทศ
และนั่นก็เป็นหน้าที่โดยตรงของ " รัฐบาล " ที่ต้องจัดสรรทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดให้เกิดประสิทธิภาพและเป็นธรรมเพื่อสร้างความพึงพอใจสูงสุดให้กับคนในสังคม และนี่ก็เป็นหนึ่งในเป้าหมายข้อหนึ่งของวิชา "เศรษฐศาสตร์สวัสดิการ " (Welfare Economics)
1
"เศรษฐศาสตร์สวัสดิการ " คือหนึ่งในทฤษฎีทางเศรษฐศาสตร์ที่สามารถนำมาใช้ประเมินนโยบายของภาครัฐว่าก่อให้เกิดความสูญเสีย หรือผลประโยชน์ต่อสังคมอย่างไร ?
1
ขออธิบายให้เห็นภาพว่าทรัพยากรที่มีอย่างจำกัดนั้นจะถูกนำไปสร้างให้เกิดประสิทธิภาพและทำให้เกิดความพอใจสูงสุดผ่านกลไกรัฐได้อย่างไร ก่อนอื่นเราต้องเข้าใจถึงระดับความพอใจเชิงบุคคลเสียก่อน ในที่นี้ขอยกตัวอย่างจากระดับความพอใจของ " เงิน "
1
เงิน คือ สื่อกลางในการแลกเปลี่ยนสินค้าและบริการ ดังนั้นหน้าที่ของมันคือตัวกลางในการแลกเปลี่ยนสิ่งต่างๆที่ทำให้เกิดความพอใจ ถ้ามองความพอใจในระดับบุคคล แต่ละคนจะมีความพอใจที่แตกต่างกัน นาย A จะพอใจกับเงิน 100 บาท ไม่เท่ากับ นาย B
1
ขอยกตัวอย่างประกอบเพื่อให้เห็นภาพมากขึ้น หากคุณมีเงิน 1,000,000 บาท ความพอใจของคุณคงจะเพิ่มขึ้นไม่มากถ้าได้เงินเพิ่มมาอีก 100 บาท
แต่ถ้าคุณมีเงิน 100 บาท แล้วได้เพิ่มมาอีก 100 บาท คุณจะได้รับความพอใจเพิ่มขึ้นมามากว่ากรณีแรก เพราะได้รับเงินเพิ่มเข้ามาอีกเท่าตัว
.
ในทางตรงข้ามหากคุณมีเงิน 1,000,000 บาท แล้วคุณต้องเสีย 100 บาทไป
ความพึงพอใจของคุณจะลดลงนิดหน่อย เพราะเมื่อเทียบแล้วเงิน 100 บาทเป็นสัดส่วนเเพียง 0.01 เปอร์เซนต์ของทรัพย์สินที่คุณมี
1
ดังนั้น หากเงิน 100 บาทนี้ของคุณ ถูกนำมาจัดสรรให้กับคนที่มีเงิน 100 บาท โดยกลไกทางภาษีของรัฐบาล ความพึงพอใจที่เพิ่มขึ้นของคนที่มีเงิน 100 บาท ย่อมมากกว่าความพอใจที่ลดลงของคนมีเงินล้านที่เสียเงินไป 100 บาท เมื่อรวมความพอใจของทั้งสองคนเข้าด้วยกัน สุดท้ายสังคมจะมีความพอใจโดยรวมสูงขึ้น
.
.
นี่คือหนึ่งในหน้าที่ของรัฐบาล ที่จะต้องจัดสรรทรัพยากรให้มีประสิทธิภาพและก่อให้เกิดความพอใจรวมสูงสุดของสังคม
1
มีประโยคหนึ่งในหนังที่สะท้อนเรื่องนี้ได้อย่างชัดเจน เป็นบทสนทนาก่อนที่เฮนรี่ แฮมิลตัน จะมอบเวลาชีวิตให้กับ วิล ซาลัส
1
เฮนรี่ ถาม วิล ซาลัสว่า " ถ้านายมีเวลาเหลือเฟือเหมือนกับนาฬิกาชีวิตของฉัน นายจะทำยังไงกับมัน ? "
วิล ซาลัส คิดอยู่ครู่หนึ่ง ก่อนจะตอบไปว่า " ฉันก็จะเลิกมองมัน "
ประโยคนี้สะท้อนให้เห็นว่า เมื่อสิ่งใดมีเหลือเฟือ มูลค่าของมันก็จะถูกลดทอนลง กลับกัน เมื่อสิ่งใดขาดแคลน สิ่งนั้นก็จะมีทั้งคุณค่าและมูลค่า
1
อย่างไรก็ดี ความสุขหรือความพึงพอใจโดยรวมนั้นไม่สามารถวัดเป็นตัวเลขได้ เพราะเราไม่สามารถวัดความพอใจของแต่ละคนออกมาได้ แต่สิ่งที่สามารถวัดได้เมื่อต้องประเมินโครงการใดโครงการหนึ่งคือ โครงการหรือมาตรการนั้นได้สร้างความพึงพอใจให้คนกลุ่มหนึ่งโดยต้องไม่กระทบกับความพอใจของคนอีกส่วนหนึ่ง
.
หรือถ้ามีผลกระทบเกิดขึ้น รัฐก็ต้องชดเชยให้กับผู้ที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการนั้น ดังนั้นบทบาทของรัฐในการแทรกแซงเพื่อสร้างความพอใจสูงสุดนั้น
อาจมีทั้งการลดความพอใจจากคนส่วนที่มีมากเกินมาจัดสรรช่วยคนที่ขาด หรือ ช่วยคนทางหนึ่งและชดเชยให้ผู้เสียประโยชน์อีกทางหนึ่ง ส่วนจะมากน้อยแค่ไหน ขึ้นอยู่กับผลกระทบอันเกิดจากนโยบายนั้นๆ
1
เมื่อนำแนวคิดนี้มาวิพากษ์นโยบายแจกเงินเพื่อบรรเทาผลกระทบอันเกิดจากสถานการณ์ไวรัสโควิด19 ของรัฐบาลแล้ว ถือเป็นความชอบธรรมที่รัฐบาลสามารถทำได้
1
กรณีนี้ต่างจากนโยบายประชานิยมที่เกิดขึ้นก่อนหน้านี้ เพราะการมาของโควิด19 ทำให้ระบบเศรษฐกิจเกิดการหยุดชะงัก และเมื่อรัฐมีมาตรการให้บางธุรกิจหยุดกิจการชั่วคราว รวมถึงการปิดประเทศ ทำให้เกิดผลกระทบทางเศรษฐกิจกับทั้งภาคธุรกิจและประชาชน รัฐก็ต้องชดเชย ช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบต่อมาตรการนี้ ซึ่งผลตอบรับจากการที่เปิดให้ประชาชนลงทะเบียน ซึ่งแต่เดิมตั้งเป้าไว้ที่ 3 ล้านคนทั่วประเทศ
1
ปรากฏว่าได้ผลตอบรับดีเกินคาด มีคนเข้ามาลงทะเบียนมากกว่า 24 ล้านคน ทั้งที่ข้อมูลในระบบของแรงงานนอกประกันสังคมมีอยู่ราว 21 ล้านคน จะด้วยการประเมินตัวเลขที่ผิดพลาดหรืออย่างไรก็แล้วแต่ สุดท้ายรัฐบาลก็ประกาศเพิ่มเติมว่าจะเพิ่มจำนวนการเยียวยาจาก 3 ล้าน เป็น 9 ล้านคน
1
ล่าสุดหลังดูงบประมาณที่ต้องดึงมาจากงบกลาง เงินที่ต้องใช้ในนโยบายอาจมีไม่เพียงพอ จึงต้องมีการใช้นโยบายการคลังแบบขาดดุล กู้เงินมาอีกจำนวน 1.9 ล้านล้านบาท เพื่อมาช่วยในส่วนนี้ และเพิ่มเติมในส่วนอื่นๆอีก ข่าวนี้มาพร้อมกับการประกาศว่าจะเพิ่มเงินช่วยเหลือจากเดิมที่จะให้ 5,000 บาท จำนวน 3 เดือน จะเพิ่มให้เป็น 6เดือน
(จำนวนเงินช่วยเหลือรวมจาก 15,000 บาทต่อคน เป็น 30,000 บาทต่อคน)
ซึ่งว่ากันตามตรง ผู้ได้รับผลกระทบจากสถาการณ์โควิด19 ซึ่งเป็นแรงงานนอกระบบประกันสังคมมีมากกว่า 9 ล้านคนแน่นอน
.
.
ดังนั้น หากมองถึงการชดเชยเพื่อให้เกิดความพอใจสูงสุดและการช่วยเหลือแบบทั่วถึง ผมมองว่าเงินที่ได้มาเพิ่มเติมควรแจกจ่ายเพื่อเยียวยาคนให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ หากมองในมุมนี้แทนที่จะขยายเวลาการจ่ายเงินจาก 3 เดือนเป็น 6 เดือน รัฐบาลควรจ่าย 3 เดือน ตามที่ประกาศไว้แต่แรก แล้วนำงบประมาณส่วนเพิ่มเติมมาจัดสรรเพื่อคนให้มากขึ้น จากเดิมที่จะช่วยเหลือ จำนวน 9 ล้านคน ควรปรับเพิ่มเป็น 18 ล้านคน
1
ตรงนี้ตัวเลขก็จะใกล้เคียงกับจำนวนแรงงานนอกระบบประกันสังคมที่ระบุว่ามีประมาณ 21 ล้านคน ถ้าเป็นไปในแนวทางนี้การเยียวยาน่าจะกระจายสู่วงกว้างได้มากกว่า ต้องยอมรับว่าคนที่ได้รับผลกระทบจากสถาณการณ์นี้มีจำนวนมาก รัฐควรจะจัดสรรเงินนี้ให้มีประสิทธิภาพมากที่สุด
1
ในความจริง เราไม่ได้ใช้ " มูลค่าชีวิต " ซื้ออาหาร บริการ หรือซื้อปัจจัยสำคัญของชีวิตเหมือนในหนัง
1
แต่ " เงิน " ซึ่งเป็นสื่อกลางการแลกเปลี่ยนก็ทำหน้าที่นั้นแทน ซึ่ง " เงิน " อย่างเดียวอาจไม่ครอบคลุมถึง " ชีวิต " เช่นเดียวกับที่หนังได้สื่อสารออกมา
แต่เมื่อใดก็ตามที่ชีวิตต้องการเงิน ยามที่มันขาดแคลนและแข่งกับเวลา " เงิน " ก็มีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่า " ชีวิต"
1
เราอยู่ในสังคมที่ทุกวันมีค่าใช้จ่าย " ค่ากิน " "ค่าใช้ " ยิ่งเยียวยาช้าเท่าไร " เงิน " และ " เวลา " จะบวกรวมกันและเร่งจนกระทบกับ " ชีวิต " ในทางใดทางหนึ่งอย่างแน่นอน
รัฐต้องเด็ดขาดในการใช้นโยบาย คิดให้รอบคอบและต้องนำ " ภาษี " ที่ได้จากเงินของ " ประชาชน " มาจัดสรรอย่างเหมาะสม ทันเวลา ....
1
สำหรับบางคน การได้รับเงินช้าเพียงนิดหน่อย อาจมีผลต่อชีวิตเขามากมายมหาศาล " เร็ว ช้า หนัก เบา " คือ สิ่งที่ต้องตัดสินใจให้ดีที่สุดภายใต้สถาณการณ์ที่แย่ที่สุด
1
" คนส่วนน้อยเป็นอมตะ ในขณะที่คนส่วนใหญ่ต้องตาย " และข้อเท็จจริงอีกข้อหนึ่งก็คือ" เวลาที่มีทั้งหมดมากจนเกินพอ ไม่มีใครสมควรต้องตายก่อนเวลา "
ทั้งสองประโยคนี้ต่างก็อยู่ในหนังเรื่อง In Time แม้จะเป็นการกล่าวถึงในช่วงเวลาที่ต่างกัน(ต้นเรื่องกับท้ายเรื่อง)แต่มันเติมเต็มและตอบคำถามในตัวมันเองได้เป็นอย่างดี
1
ปัญหาที่เกิดขึ้นตอนนี้คงต้องการทั้งความช่วยเหลือจากภาครัฐและการช่วยเหลือตนเองควบคู่กันไป ไม่ว่าในทางไหนทุกคนล้วนต้องทำอะไรสักอย่างเพื่อผ่านเรื่องนี้ไปให้ได้ ขอเป็นกำลังใจให้ทุกคนที่กำลังประสบปัญหาอยู่ในตอนนี้ ขอให้มีกำลังใจสู้ต่อ เพราะเรายังมีลมหายใจและยังมีชีวิตที่ไม่ได้ผูกติดอยู่กับเวลาที่ข้อมือ หากแต่มันผูกอยู่กับใจที่เข้มแข็ง
และกำลังกายที่แข็งแรงเพื่อพร้อมจะฝ่าฝันอุปสรรคให้ผ่านไปให้ได้
 
" Don't Waste my time " อย่าทำให้เวลาของฉันสูญเปล่า
เฮนรี่ แฮมิลตัน : IN Time (2011)
เครดิตข้อมูล :
ความหมายเศรษฐศาตร์สวัสดิการอ้างอิงจาก " เศรษฐศาสตร์ว่าด้วยสวัสดิการสังคม กรณีศึกษาข้าวไทย "
ผู้เขียน วรพล ยะมะกะ และ ภารวี มณีจักร
1
โฆษณา