14 เม.ย. 2020 เวลา 02:06 • สุขภาพ
Exit Strategy
เมื่อพูดถึงคำนี้หลายท่านที่เป็นนักลงทุนอาจจะคุ้นเคยกันดี ซึ่งมีหลากหลายกลยุทธ์ ทั้งการ exit เพื่อตัดขาดทุน exit เพื่อทำกำไร หรือการทยอย exit เพื่อบริหารความเสี่ยง
แต่สิ่งที่ผมจะเขียนถึงไม่ใช่เรื่องการลงทุน แต่คือการ exit จากสถานการณ์วิกฤต COVID-19 คำโบราณนั้นกล่าวไว้ว่า การลงจากหลังเสือนั้นยากกว่าการขึ้นหลังเสือเสียอีก คงไม่ง่ายเหมือนที่ทรัมป์เคยพูดว่า "One day it's like a miracle, it will disappear."
สถานการณ์ในตอนนี้ในหลายประเทศเริ่มมีแรงกดดันทางด้านเศรษฐกิจมากขึ้น และแรงกดดันทางด้านเศรษฐกิจก็จะตามมาด้วยแรงกดดันทางการเมือง มีหลายประเทศทั่วโลกที่หลังจากตัวเลขผู้ติดเชื้อมีแนวโน้มลดลง เริ่มมีการวางแผนจะเปิดพื้นที่ทางเศรษฐกิจมากขึ้น ซึ่งรวมถึงไทย
การบริหารจัดการการแพร่ระบาดนั้น มีปัจจัยที่ต้องจัดการมากมาย เช่น การขยาย capacity ในการรองรับผู้ป่วย หรือกักตัว การค้นหาแนวทางการรักษาที่มีประสิทธิภาพ การตรวจเชื้อให้ครอบคลุมกลุ่มเสี่ยงอย่างทั่วถึง โดยมาตรการต่างๆจะต้องมีการ balance ระหว่างแรงกดดันทางด้านเศรษฐกิจด้วยเช่นกัน
ส่วนประเด็นการค้นหาวัคซีนนั้น เราจะหวังพึ่งแต่ต่างชาติอย่างเดียวไม่ได้ เราต้องมีแผนเตรียมการไว้ล่วงหน้า ซึ่งรวมถึงการสร้างโรงงานรองรับการผลิตวัคซีนเพื่อใช้อย่างทั่วถึง อย่างที่มีผู้เชี่ยวชาญออกมาพูดว่าต่อให้มีวัคซีนในตอนนี้ กำลังการผลิตในโลกตอนนี้ก็ยังไม่เพียงพอ ประเทศไหนที่ผลิตได้ก็จะต้องผลิตเพื่อให้ประชาชนในประเทศเค้าก่อนอย่างแน่นอน และถ้าเราช้าในตอนนั้น ผลกระทบเชิงลบจะตามมาอีกมากมาย
ถ้าอะไรที่เรารู้ว่าเรายังขาดความสามารถ เช่น วัคซีน ผมคิดว่าเราต้องเริ่มขยายความร่วมมือระหว่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นการทำสัญญาความร่วมมืออะไรก็แล้วแต่ ที่ไม่ทำให้ประเทศเราฟื้นตัวได้ล้าหลังประเทศอื่นๆ
โฆษณา