19 เม.ย. 2020 เวลา 14:40 • สุขภาพ
4 บทเรียนควรรู้..เพื่ออยู่ให้รอดในวิกฤติ Covid -19
...วิกฤติมักแวะมาเยี่ยมเราบ่อยๆ แต่มีความจริง 4 เรื่องที่เราน่าจะได้เรียนรู้จากวิกฤติ Covid -19 อย่างน้อยก็เพื่อจะได้เอาไว้รับมือกับวิกฤติครั้งต่อไป
1.ความหมายของคำว่า "รอดพ้นวิกฤติ"
"วิกฤติโรคระบาดครั้งนี้ เราจะรอดไปด้วยกัน"
เราคงได้ยินคำๆนี้ตลอดระยะเวลา1เดือนที่ผ่านมา คำว่า"รอด"มีความหมายที่อาจจะแตกต่างกันไปดังนี้
...1.1"รอด"หมายถึง รอดพ้นจากการติดเชื้อและมีชีวิตที่ปลอดภัยหรือหากติดเชื้อก็อาการไม่รุนแรง ไม่แพร่เชื้อสู่ผู้อื่น
...1.2"รอด" หมายถึง การมีอยู่ มีกิน มีรายได้เพียงพอที่จะใช้จ่ายสำหรับสิ่งจำเป็น เช่น อาหาร ที่อยู่อาศัย เครื่องนุ่งห่มและยารักษาโรค รวมถึงมีพอที่จะชำระหนี้สิน จนกว่าสถานการณ์จะดีขึ้น
...1.3"รอด"ในมุมของธุรกิจคือการที่ธุรกิจสามารถดำเนินกิจการได้ต่อเนื่องหรือหากต้องหยุดก็เป็นการหยุดชั่วคราวและสามารถกลับมาดำเนินธุรกิจต่อไปได้ในอนาคต
2.วิกฤติมีผลกระทบต่อทุกคนแต่...ไม่เท่ากัน
ผลกระทบที่เกิดขึ้นนั้น จะกระทบกับคนทุกคน แต่ระดับจะแตกต่างกันออกไป โดยแบ่งเป็น 3 ระดับ
...2.1"ผลกระทบน้อย"
...คนบางกลุ่ม ได้รับผลกระทบเพียงเล็กน้อย เช่นโรคระบาดนี้ทำให้ต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการระวังตัวในสังคม ใส่หน้ากากอนามัย ถูกวัดไข้ในสถานที่ต่างๆ อดไปเที่ยว อดเดินห้าง ไม่ได้กินข้าวนอกบ้าน ความสะดวกในชีวิตลดลง ความสุขอาจลดลง
...2.2"ผลกระทบปานกลาง"
...คนบางกลุ่มมีผลกระทบรุนแรงขึ้น เช่นอาจตกงาน หรือหยุดงานชั่วคราว มีรายได้ลดลง ต้องวางแผนใช้จ่ายอย่างประหยัด แต่ยังใช้ชีวิตต่อไปได้ แต่ก็มีความเครียดเพิ่มขึ้น แต่ยังพอจะหาความสุขได้บ้าง
...2.3"ผลกระทบรุนแรง"
...ผู้คนส่วนหนึ่งได้รับผลกระทบเช่นเดียวกับสองกลุ่มแรกแต่ไม่อาจต้านทานผลกระทบได้ จนถึงกับท้อแท้ สิ้นหวัง เครียด ไม่มีความสุข เช่นผู้คนที่ติดเชื้อ หรือปกติก็มีรายได้น้อย ไม่พอกับรายจ่าย มีหนี้สินติดตัวเช่น หนี้บ้าน ส่งงวดรถ เป็นหนี้บัตรเครดิต ยิ่งถ้าเป็นหนี้นอกระบบผลกระทบก็อาจจะรุนแรงมากๆถึงขนาดไม่อยากใช้ชีวิตอยู่ต่อไปเลยก็เป็นได้
3.มี 2 ปัจจัยที่ทำให้ผู้คนได้รับผลกระทบจากกวิกฤติ
...3.1"ปัจจัยภายนอก"
...เช่นตัวโรคระบาดเอง มาตรการต่างๆจากรัฐบาล มาตรการต่างๆของบริษัทห้างร้านที่เราทำงานด้วย หากเราอยู่ในสาขาอาชีพที่ได้รับผลกระทบทางตรง เราอาจต้องตกงาน ถูกลดค่าจ้าง หรือยอดขายลดลง บางทีอาจต้องปิดร้าน ปิดกิจการ ซึ่งแน่นอนว่าผลกระทบอาจจะรุนแรงกว่าคนอื่น
...3.2"ปัจจัยภายใน"
...หมายถึง สภาพคล่องทางการเงิน จำนวนเงินเก็บ สัดส่วนของทรัพย์สิน สัดส่วนของหนี้สิน และหมายรวมถึงพฤติกรรมการใช้จ่ายส่วนบุคคล ใครที่มีการใช้จ่ายเกินตัว และมีภาระหนี้สินสูง ย่อมได้รับผลกระทบที่รุนแรง
4.พฤติกรรมทางการเงิน "ใครมีโอกาสรอด....ไม่รอด"
...4.1"รายได้ vs รายจ่าย"
...การใช้จ่ายของแต่ละคนนั้นแตกต่างกัน แต่สรุปคือ
คนที่รอด..จะรายได้มากกว่ารายจ่ายเสมอ
คนไม่รอด..มักจะรายจ่ายมากกว่ารายได้เสมอ
พูดง่ายๆคือ คนมีรายได้ 10,000 ใช้จ่าย 8,000 จะรอดแต่หากมีรายได้ 30,000 ใช้จ่าย 35,000 แบบนี้ไม่รอด
...4.2"เงินเก็บ vs รายจ่าย"
...คนที่มีเงินเก็บเมื่อเอามาเทียบสัดส่วนกับรายจ่ายต่อเดือน หากมีมากก็มีโอกาสรอดสูงกว่า ยกตัวอย่างง่ายๆ
คนที่รอด..คือคนที่มีเงินเก็บ 1 แสน แต่รายจ่ายต่อเดือน 8 พัน ส่วนคนที่อาจจะไม่รอดคือคนมีเงินเก็บ 1 แสน แต่รายจ่ายต่อเดือน 8 หมื่น
...4.3"หนี้สิน vs ทรัพย์สิน"
...หนี้สินเป็นตัวชี้วัดความอยู่รอดอย่างหนึ่งไม่ว่าจะเป็นหนี้ส่วนบุคคลหรือธุรกิจ คือถ้าใครมีหนี้สินเมื่อเทียบกับทรัพย์สินต่ำๆก็มีโอกาสรอด แต่ถ้าหนี้สินเมื่อเทียบกับทรัพย์สินสูงโอกาสไม่รอดก็สูงไปด้วย
...4.4"การสะสมทรัพย์สิน"
...ทรัพย์สินมีหลายประเภท แต่สรุปคือ
คนที่รอด..จะชอบสะสมทรัพย์สินที่ไม่เสื่อมมูลค่าและอาจเพิ่มมูลค่าในอนาคต เช่น เงินฝาก ทองคำ บ้านหรือที่ดินในทำเลดีๆ
คนที่ไม่รอด..จะชอบสะสมทรัพย์สินด้อยค่า เช่น รถ โทรศัพท์มือถือ
...ยกตัวอย่าง เช่น คนที่ใช้เงิน 3 หมื่นซื้อทองคำหนัก 2 บาท มีโอกาสรอดสูงกว่าคนซื้อ iphone ในราคาเดียวกัน อย่างน้อยตอนเดือดร้อนก็ยังขายทองคำมาแก้ปัญหาได้ แต่ถ้าจะขาย iphone คงได้ไม่กี่บาท
...4.5"ประเภทของหนี้สิน"
...หนี้สินมีหลายประเภทแม้ว่าคนเป็นหนี้จะมีโอกาสไม่รอดสูงกว่าคนไม่มีหนี้ แต่ประเภทของหนี้ก็มีผลต่อการอยู่รอดหรือไม่ ยกตัวอย่างเช่น
คนที่รอด..จะเป็นหนี้ซื้อทรัพย์สินที่ไม่ด้อยค่า เช่นหนี้ซื้อบ้าน ซื้อที่ดิน
คนที่ไม่รอด..คือคนที่เป็นหนี้สำหรับสินค้าฟุ่มเฟือยต่างๆ เช่นหนี้ซื้อรถ ซื้อเครื่องเสียง
ยกตัวอย่างเช่น คนเป็นหนี้บ้าน1ล้าน ย่อมมีโอกาสรอดมากกว่าคนเป็นหนี้รถราคา1ล้านแน่นอน
...4.6"สภาพคล่องของทรัพย์สิน"
...ในที่นี้หมายถึงทรัพย์สินที่ให้สภาพคล่องต่างกันย่อมส่งผลต่อการรอดหรือไม่รอดพ้นวิกฤติ
คนที่รอด..จะมีทรัพย์สินสภาพคล่องสูงอยู่มาก
คนที่ไม่รอด..จะมีทรัย์สินสภาพคล่องต่ำอยู่มาก
ยกตัวอย่างเช่น คนที่มีเงินฝาก 1 ล้านบาท ย่อมมีโอกาสรอดสูงกว่าคนที่มีบ้านราคา 1 ล้านบาท ซึ่งอาจจะขายไม่ได้ในช่วงวิกฤติแบบนี้
...ความจริงที่เกิดขึ้นนี้ในช่วงวิกฤตินี้ เป็นสิ่งที่ควรเรียนรู้ จดจำ และนำไปเป็นแนวทางปฎิบัติตน โดยเฉพาะการบริหารด้านการเงิน ครั้งนี้เงินที่รัฐบาลนำมาช่วยเหลืออาจจะทำให้ใครบางคนรอดพ้นไปได้. แต่ใครจะไปรู้ว่าวิกฤติจะผ่านมาอีกเมื่อไหร่ แต่ที่ผมและทุกๆคนรู้เหมือนกันก็คือ วิกฤติมันไม่เคยหมดไป และมันจะกลับมาใหม่เสมอ..เหมือนในอดีตที่ผ่านมา
...หวังว่าบทเรียนที่ยิ่งใหญ่ในครั้งนี้ จะนำพาพวกเราทุกคนผ่านพ้นทุกวิกฤติไปได้....ด้วยกัน
โฆษณา