3 พ.ค. 2020 เวลา 07:04 • ความคิดเห็น
สรุปประเด็นสำคัญ : CPTPP และการทำ CL
เกี่ยวข้องอย่างไรกับการเข้าถึงยา
CPTPP และการทำ CL เกี่ยวข้องอย่างไรกับการเข้าถึงยา : contemporaryobgyn
1. ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก หรือ CPTPP เรียกง่ายๆว่าเป็นข้อตกลงร่วมกันในประเทศสมาชิกที่จะค้าขายระหว่างกัน ลดการกีดกัน ลดกำแพงด้านภาษีศุลกากร เพิ่มโอกาสการส่งออก ดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ แต่ทั้งนี้ต้องมีมาตรฐานอุตสาหกรรมเป็นไปตามข้อตกลงด้วย
2. เดิมมีสมาชิก 12 ประเทศ แต่อเมริกาซึ่งเป็นตลาดใหญ่ได้ถอนตัวไปแล้วคงเหลือเพียง ญี่ปุ่น,แคนาดา,เม็กซิโก,เปรู,ชิลี,ออสเตรเลีย,นิวซีแลนด์,สิงคโปร์,มาเลเซีย,บรูไนและเวียดนามซึ่งลงนามไปแล้วบางส่วน 7 ประเทศ
3. กระทรวงพาณิชย์ไทยประเมินว่าถ้าเข้าร่วมจะทำให้การส่งออกขยายตัวร้อยละ 3.47 มูลค่าราวๆ 14,560 ล้านบาท GDP ภาพรวมจะขยายตัวร้อยละ 0.12 คิดเป็น 13,323 ล้านบาท แต่ถ้าเลือกปฎิเสธคาดว่า GDP จะปรับลดลงร้อยละ 0.25 โอกาสลงทุนและการส่งออกจะลดลงไปด้วย
ผลกระทบของการเข้าร่วม CPTPP : กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ
4. ความเสี่ยงของการถูกฟ้องร้องและต้นทุนที่สูงขึ้นในจัดหายาเป็นข้อกังวลที่ทางสาธารณสุขไทยต้องแบกรับหากรัฐบาลตัดสินใจเข้าร่วม เหตุเพราะข้อตกลงดังกล่าวมีการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาที่เข้มข้น ไม่เว้นแม้แต่สินค้าจำเป็นประเภทยา
5. สมมุติว่าท่านผู้อ่านสามารถคิดค้นยาชนิดใหม่ขึ้นมาได้ในโลกใบนี้ สำหรับรักษาโรค X ซึ่งเอาไปลองใช้กับคนแถวบ้านพบว่าได้ผลดีมากและผลข้างเคียงแทบจะไม่มี จึงอยากให้นำไปใช้กับผู้ป่วยรายอื่นๆทั่วประเทศได้ใช้
สิ่งที่ต้องทำเป็นอันดับแรกเลยคือต้องนำข้อมูลประสิทธิภาพและความปลอดภัยทั้งการทดสอบในสัตว์ทดลองและในคนไปขอขึ้นทะเบียนกับอย. ซึ่งถ้าหากผ่านการอนุญาตจะสามารถผลิตเพื่อขาย และใช้กับโรคตามที่ขอได้
6. แต่ก็ต้องยอมรับว่ายาใดๆก็ตามสามารถทำเลียนแบบกันได้เสมออาศัยวิธีการทางเคมี ดังนั้นเพื่อให้เกิดแรงจูงใจในการลงทุนพัฒนายาใหม่ๆ กฎหมายทรัพย์สินทางปัญญาหรือการให้สิทธิบัตร (Patent) จึงเป็นสิ่งที่ช่วยคุ้มครองผู้คิดค้นสิ่งประดิษฐ์หรือยาใหม่ๆที่ลงทุนลงแรงไปกับการวิจัยพัฒนา โดยที่เจ้าของสิทธิบัตรจะได้สิทธิผูกขาดแต่เพียงผู้เดียวอย่างน้อย 20 ปีตามข้อตกลงองค์การการค้าโลก (WTO) เรียกง่ายๆว่าจะขายราคาเท่าไหร่ก็ได้ไร้คู่แข่ง
ยาใหม่นั้นจะถูกเรียกว่ายาต้นแบบ (Original drugs)
7. ลองนึกภาพว่าท่านป่วยเป็นโรคชนิดหนึ่งที่ไม่มีทางรักษาหายขาด มีชีวิตอยู่ได้เพียงไม่กี่ปี ไม่สามารถใช้ชีวิตประจำวันได้ด้วยตัวเอง แต่แล้ววันหนึ่งมีบริษัทยาคิดค้นยาชนิดใหม่ที่พบว่าช่วยให้ผู้ป่วยโรคดังกล่าวสามารถใช้ชีวิตได้ปกติ ช่วยเหลือตัวเองได้ซึ่งราคาที่ต้องจ่ายคือหลักหมื่นบาทต่อเดือน หากสามารถจ่ายไหวก็อาจจะไม่เดือดร้อนอะไรมาก แต่ถ้าไม่ชีวิตก็คงต้องจบลงทั้งๆที่มียาที่สามารถช่วยชีวิตได้
8. ยารักษาโรคจึงดำรงสถานะเป็นสินค้าเพื่อมนุษยธรรม การผูกขาดจากเจ้าของสิทธิบัตรยาเป็นสิ่งที่ไม่อาจยอมรับได้ การบังคับใช้สิทธิตามสิทธิบัตรยาหรือที่เรียกว่า CL (Compulsory Licensing) จึงเกิดขึ้นเพื่อให้รัฐบาลสามารถนำเข้าหรือผลิตยาเลียนแบบยาต้นแบบที่มีราคาแพงได้โดยที่คุณสมบัติด้านเคมี และผลต่อการรักษาไม่แตกต่างกัน อาจดำเนินการเองหรือให้เอกชนที่ได้รับอนุญาตเป็นผู้ดำเนินการก็ได้ซึ่งไม่ต้องขออนุญาตจากผู้ถือสิทธิบัตร แต่ต้องแจ้งให้ทราบและต้องจ่ายค่าตอบแทนซึ่งการประกาศ CL ยาต้องอยู่บนเหตุผลสำคัญบางอย่างเช่น
● เป็นยาที่จำเป็นต่อชีวิตมนุษย์
● ต้องการใช้ในภาวะฉุกเฉิน เช่น โรคระบาด
● ยาต้นแบบราคาแพงมากเกินกว่าจะจัดสรรให้ผู้ป่วยเข้าถึงได้ภายในประเทศ
ยาเลียนแบบที่ถูกสร้างขึ้นมาทีหลังจะถูกเรียกว่า ยาชื่อสามัญ (Generic drugs) ปัจจุบันประเทศไทยมีการประกาศทำ CL ยาไปแล้วหลายครั้ง เช่น ยารักษาโรคมะเร็ง ยาต้านไวรัสเอชไอวี ยาลดการเกาะกลุ่มของเกล็ดเลือด
9. ตัวอย่างความสำเร็จของการทำ CL ที่เห็นได้ชัดคือยาต้านไวรัสเอชไอวี " เอฟฟาไวเร็นซ์ (Efavirenz) " กระบวนการดังกล่าวเริ่มต้นเมื่อปี 2547 กระทรวงสาธารณสุขในสมัยนั้นได้เจรจาขอลดราคายาจากบริษัทยาแต่ไม่เป็นผลซึ่งราคายาในสมัยนั้นอยู่ที่ราว 1,400 บาทต่อคนต่อเดือน ต่อมาในปี 2549
สมัยนพ.มงคล ณ สงขลา เป็นรมต.สธ.มีการประกาศ CL ยาเอฟฟาไวเร็นซ์ทำให้สามารถนำเข้ายาชื่อสามัญที่มีคุณภาพทัดเทียมกันจากประเทศอินเดียซึ่งราคาถูกกว่ายาต้นแบบมากอยู่ที่ 650 บาทต่อคนต่อเดือน พร้อมๆกับพัฒนายาของตัวเองภายใต้การดูแลขององค์การเกสัชกรรมจนประสบความสำเร็จในปี 2558 และล่าสุดที่เป็นข่าวเมื่อวันที่ 27 เมษายน 2563 ที่ผ่านมาองค์การอนามัยโลกได้รับรองมาตรฐานการผลิตยาดังกล่าวว่าเป็นไปตามหลักสากลทำให้บ้านเรามียาจำเป็นที่ราคาถูกจัดสรรให้ผู้ป่วยภายในประเทศได้อย่างเพียงพอ นอกจากนี้ยังสามารถส่งออกไปจำหน่ายในต่างประเทศได้อีกด้วย
เอฟฟาไวเร็นซ์เป็นตัวอย่างความสำเร็จในการทำ CL : today.line
10. ด้วยข้อกังวลจากผลกระทบของ CPTPP ต่อการคุ้มครองสิทธิบัตรและการทำ CL ยาจำเป็นในประเทศ เนื่องจากราคายาที่แพงส่งผลกระทบโดยตรงต่องบประมาณของระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (สิทธิบัตรทอง) ซึ่งเป็นระบบสุขภาพหลักที่ดูแลประชาชน ภายหลังก็มีการชี้แจงจากกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศบอกว่าตามข้อตกลง CPTPP ได้กำหนดให้สมาชิกสามารถบังคับใช้สิทธิ CL เพื่อดูแลการเข้าถึงยาของประชาชนได้ไม่ต่างไปจากเดิมทุกๆกรณีและก็ยังไม่สุ่มเสี่ยงจากการถูกฟ้องร้องตามที่กังวลกัน
11. ขณะที่องค์กรภาคประชาชนได้แย้งว่ากรมเจรจาฯ ไม่ได้บอกความจริงกับประชาชนเนื่องจากตามบทกำหนดกรณีพิพาท หากคู่กรณีไม่เห็นด้วยกับการใช้สิทธิ CL ก็สามารถนำเรื่องเข้าสู่กระบวนการฟ้องร้องได้เรียกง่ายๆว่านักลงทุนต่างชาติสามารถฟ้องร้องหน่วยงานรัฐได้ ซึ่งข้อมูลก็ยังมีความขัดแย้งกันอยู่
12. ที่ประชุม CPTPP มีวาระพิจารณาการรับสมาชิกภาคีเข้าร่วมในเดือนสิงหาคมที่จะถึงนี้ หลายฝ่ายเสนอให้รัฐบาลถอนวาระนี้ออกไปก่อน พร้อมทั้งให้แต่ละหน่วยงานไปศึกษาประโยชน์และผลกระทบตามหลักวิชาการเพื่อเผยแพร่ให้ประชาชนรับทราบอย่างทั่วถึงเนื่องจากมีหลายประเด็นที่ต้องติดตามเช่น ผลกระทบต่อภาคการเกษตรและเมล็ดพันธุ์พืช หรือแม้กระทั่งการจัดซื้อจัดจ้างของรัฐ
ดังนั้นเรื่องนี้ต้องมีการติดตามอย่างใกล้ชิดยังไม่จบง่ายๆ แม้จะมีการถอนวาระพิจารณาออกไปจากการประชุมคณะรัฐมนตรีแล้ว แต่ด้วยกระบวนการเข้าเป็นสมาชิก CPTPP อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ 2560 ซึ่งไม่ได้บังคับว่ารัฐบาลต้องขออนุมัติจากรัฐสภาก่อนไปเจรจาทำข้อตกลง การชี้แจงและตอบข้อซักถามในสภาจึงอาจเป็นสิ่งที่เราจะไม่ได้เห็น
References :
โฆษณา