28 เม.ย. 2020 เวลา 17:01 • การเกษตร
🔬วิทยาศาสตร์การพืช...เขาวิจัยอะไรกัน?? (001)
ในช่วงนี้เราจะเห็นมะม่วงวางขายกันค่อนข้างเยอะ เพราะเป็นหน้ามะม่วง
ปีนี้เราจะได้กินมะม่วงนานาพันธุ์ ที่สำคัญคือมีโอกาสได้กินมะม่วงเกรดส่งออกราคาถูก
ส่งถึงที่ พร้อมกับสุกแก่ พอดีกิน
วันนี้แอดมินจะมาเล่าให้ฟังว่า งานวิจัยเกี่ยวกับการยืดอายุการเก็บรักษาของมะม่วงที่อุณหภูมิปกติ ไม่ได้ใส่ตู้เย็น ในประเทศอิหร่าน เค้าทำวิจัยอะไรกัน
งานวิจัยนี้เป็นรายงานของ Ebrahimi และ Rastegar ตีพิมพ์ออนไลน์ในวารสาร Scientia Horticulturae เมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2563
เป็นเรื่องของการนำเอา 'สารเคลือบผิวบริโภคได้' หรือ edible coating ที่ทำมาจาก แป้งกัว (guar flour) หรือ กัวกัม (guar gum) มาเคลือบผลมะม่วง
กัวกัม ได้มาจาก การสกัดมาจากเอนโดสเปิร์มในเมล็ดของถั่วกัวร์ (Indian cluster bean)
ถั่วกัวร์มีถิ่นกำเนิดและปลูกมากที่อินเดีย และปากีสถาน
ถั่วกัวร์ ที่มา https://www.ipsingredis.com/product/guar-gum_food-additives/
ไทยเรานำเข้าถั่วกัวร์จากอินเดีย 80% ที่เหลือนำเข้าจากปากีสถาน คิดเป็นมูลค่ากว่า 300 ล้านบาท
ถั่วกัวร์ที่นำเข้ามานั้นเอามาใช้ในอุตสาหกรรมอาหาร เพราะมีคุณสมบัติในการเป็นพอลิเมอร์ธรรมชาติ ขึ้นรูปเป็นเจลได้ หนืด จึงมักนำมาเคลือบอาหาร
บ้านเราเริ่มมีการวิจัยทดลองปลูกถั่วกัวร์ ในปี 2554 โดยมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน เพื่อเป็นทางเลือกให้เกษตรกรในการปลูกเป็นพืชหมุนเวียน
กลับมาที่งานวิจัยนี้
ความพิเศษและความใหม่ของงานนี้ คือ การนำเอาสาหร่ายสไปรูลิน่า และ ว่านหางจระเข้ มาใช้ร่วมกับกัวกัมด้วย
สาหร่ายสไปรูลิน่า และ ว่านหางจระเข้ ก็มีคุณสมบัติเช่นเดียวกับกัวกัม คือ เป็นสารเคลือบผิวบริโภคได้เช่นกัน
ทรีทเม้นท์สารเคลือบผิวมะม่วง มีดังนี้
1. ชุดควบคุม (จุ่มในน้ำกลั่น)
2. กัวกัม 1% + ว่านหางจระเข้ 40%
3. กัวกัม 1% + สไปรูลิน่า 1% ที่ใช้แอลกอฮอล์สกัด
4. กัวกัม 1% + สไปรูลิน่า 1% ที่ละลายในน้ำ 1 ลิตร
กัวกัมที่เตรียมเป็นสารเคลือบ ที่มา https://www.google.com/
การเตรียมสารเคลือบ ทำโดยอุ่นสารเคลือบที่อุณหภูมิ 60 องศาเซลเซียส และใช้แม่เหล็กกวนสาร จนกระทั่งสารใส แล้วปล่อยให้เย็นก่อนนำไปเคลือบ
การเคลือบทำโดยจุ่มผลมะม่วงลงในสารเคลือบนาน 5 นาที ปล่อยให้แห้งที่อุณหภูมิห้อง
นำผลมะม่วงบรรจุใส่กล่องพลาสติก วางไว้ที่อุณหภูมิห้อง (23 - 27 องศาเซลเซียส) ความชื้นสัมพัทธ์ 55-65%
ตรวจสอบผลทุกสัปดาห์ เป็นเวลา 3 สัปดาห์
เขาพบว่า สูตรที่ดีที่สุดคือ สูตรที่ 3 คือ กัวกัม 1% + สไปรูลิน่า 1% ที่ใช้แอลกอฮอล์สกัด
คือสามารถชะลอการสุกของผลมะม่วงได้ และคุณภาพผลภายในยังโอเคอยู่ และดีมากที่สุดเมื่อเทียบกับสูตรอื่นๆ
อย่างไรก็ตาม สารเคลือบสูตรที่เหลือ ก็ให้ผลที่ดีกว่าชุดควบคุมที่มะม่วงไม่ได้เคลือบอะไรเลย
สรุปของงานวิจัยนี้คือ เขาพบว่า การใช้สารเคลือบจากธรรมชาติร่วมกัน โดยเฉพาะกัวกัมและสไปรูลิน่าที่สกัดโดยใช้แอลกอฮอล์ให้ผลดีที่สุด
เกษตรวิถีรอด 28 เมษายน 2563 🐃🌾
อ้างอิง
1) Ebrahimi, F. and Rastegar, S. 2020. Preservation of mango fruit with guar-based edible coatings enriched with Spirulina platensis and Aloe vera extract during storage at ambient temperature. Scientia Horticulturae 265: 1-9.
โฆษณา