6 พ.ค. 2020 เวลา 03:59
#เรื่องสั้นย้อนยุค,#จันทร์เจ้าขาบทที่1ตอนที่1
สวัสดีครับ เพื่อนๆ วันนี้ขออนุญาตส่งคลิป เพลงแสงเดือน และเรื่องสั้นทดลองเขียนของผม ให้เพื่อนๆเพลิดเพลินในวันหยุดนี้นะครับ, สุขสันต์วันหยุดนะครับเพื่อนๆ :)
บทที่ 1 อรุณรุ่ง,
ตอนที่ 1 หม่อมทินกร,
อากาศยามเช้าวันนี้ กลับแปลกยิ่งนัก
ช่างร้อนอบอ้าว
ผิดกับทุกๆวัน ..
ร้อนจนกระทั่ง ..
หรีดหริ่งยังต้องถนอมเสียงร้อง ไม่ส่งเสียงระงมดังเช่นเคย
ร้อนจนกระทั่ง..
แขนซ้ายที่วางบนโต๊ะเขียนหนังสือของพีระนั้น ดูประหนึ่งคล้ายดั่งเรือ ที่ทอดสมอนิ่ง อยู่ในทะเลเหงื่อยามเช้า,
.
.
สายตาที่มองเหม่อของพีระ มองไกลออกไปจนถึงขอบรั้วปูนเสริมเหล็กที่บริเวณท่าน้ำ ที่กิ่งใหญ่ของต้นลำพูยื่นออกไปนอกรั้ว โผล่พ้นไปใน ริมคลองบางหลวง เวลาที่บ่าวตัวน้อยในเรือนนี้ ปีนขึ้นขย่มที่กิ่งลำพูนี้แต่ละครั้ง, กิ่งยิ่งโน้มลงมาที่น้ำ จนรูปร่างของมัน ราวกับเป็นมือที่กำลังวักน้ำอยู่
น่าแปลกยิ่งนัก,
พีระค่อยๆไล่สายตามองบ่าวที่กำลังป่ายปีนทีละคนสองคนขึ้นบนกิ่งลำพูนั้น
ในใจของพีระ นึกสนุกอยากไปโหนตัว กระโดดเต้นเหยงๆ อยู่บนกิ่งนั้น และกำลังลังเลว่า..
ถ้าพีระ อยู่บนกิ่งนั้นจริงๆ จะกล้ากระโดดตาม เจ้าพวกบ่าวเด็กๆในเรือน ลงไปในคลองที่ใสเย็นนั่น หรือไม่,
“..พีระเองยังว่ายน้ำไม่แข็งเท่าใดนัก แต่ถ้าโดดลงไป แล้ว พวกบ่าวคงจะตกใจรีบดำลงไปช่วยพีระ อย่างน่าสนุกแน่ๆ.. “พีระแอบนึกในใจ อย่างสนุก ..จนกระทั่ง
“เปรี้ยะ..”
.
.
เสียงดังแถวๆ แขนซ้าย
ทำเอาใจพีระ ล่วงวูบไปอยู่ตาตุ่ม
.
.
สายตาพีระจ้องไป ที่รอยแดงปื้นยาวพาด อยู่บนผิวขาวนุ่มเรื่อชมพูของพีระอย่าง งงงวย
รอยแดงนั้น ขึ้นค่อยๆนูนขึ้นชัดราวกับตะเกียบเซียมซีคู่สีแดงของวัดจีนในตลาดนั้น วางพาดอยู่บน ซาลาเปาสีขาวนวล..
ก่อนที่พีระจะปาดน้ำตาที่เล็ดออกมา ด้วยความเจ็บนั้น
.
.
“..คุณเจ้าขา ครูช้อย เรียกคุณเจ้าขาให้ส่งงานปั้นตุ๊กตาชาววังอยู่นานแล้ว, หนูพา เห็นคุณเจ้าขาใจลอย เลยตีแขนเบาๆเรียกสติคุณเจ้าขา เองแหละ เจ้าค่ะ..”
เสียงใสของเด็กผู้หญิงเกล้าจุก ที่นั่งพับเพียบข้างๆ พีระ ดังกังวาลทั่วห้อง จนคนในห้องนั้น หันมามองทั้งสองคน พร้อมทำเสียงเอ็ดเบาๆ ให้ลดเสียงลง,
พีระจึงถามนางกลับ ด้วยน้ำเสียงที่ยังคงขุ่นมัวว่า
“แล้วคุณหนูพา ทำไม ต้องตีพีระแรงแบบนี้ ฮึ?!?”
หนูพา กลับทำตาแบ๊ว จ้องหน้าพีระ กลับ ก่อนที่จะนิ่งครู่หนึ่ง แบบไม่กระพริบตา แล้วยื่นหน้ามากระซิบเบาๆ บอกพีระว่า..”อ่านปากหนูพาดีๆนะเจ้าคะ คุณเจ้าขา”..
(หนูพา)
.
(ไม่)
.
(ตบ)
.
(ศีรษะ)
.
(คุณเจ้าขา)
.
(ก็บุญโขแล้วนะเจ้าคะ)
.
.
.
“หนูพาเรียกคุณเจ้าขา.. นานหลายเพลานักแล้ว” นางกล่าวด้วยเสียงยะเยือกเย็นจนพีระรู้สึกเกรงในทีจนต้องลดเสียงลง ว่า “พีระไม่ได้ยิน คุณหนูพา เรียกชื่อพีระ เลย”
“ถูกแล้วเจ้าค่ะ คุณเจ้าขา หนูพาเรียกว่า คุณเจ้าขาครั้งแรก ก็แล้ว เรียกคุณเจ้าขา สองครั้งก็แล้ว, ครั้งที่สามเลยลองเรียกว่า.. คุณเป็ด คุณเป็ดแทน แล้วก็ตีเรียกที่แขนเบาๆ นี่ละเจ้าค่ะ”
“หนูพาขอโทษที่ตีเรียกคุณเจ้าขา แรงไปนะเจ้าคะ”
“ก็หนูพา เห็นคุณเจ้าขา ไม่ตั้งใจเรียน วันๆเอาแต่มองออก ไปริมคลองบางหลวง อย่างกับเป็ด อยากลงเล่นน้ำนี่เจ้าคะ..”
“ครูช้อย..ตีเด็กดื้อ เด็กซนแรงกว่าหนูพา เยอะนะเจ้าคะ.หนูพาเคยโดนกับตาบั๊ค ครั้งนึง เข็ดไปนานเลยเจ้าค่ะ”
หนูพาพูดพลางก็ยื่นมือมาหยิบตุ๊กตาชาววังบนโต๊ะของพีระ ไปดูใกล้ๆอย่างสนใจ..
.
.
“คุณเจ้าขาปั้นอะไรส่ง ครูช้อย ละนี่เจ้าคะ หนูพาไม่รู้จักเจ้าสิ่งนี้เลย เจ้าค่ะ” หนูพาถามด้วยความสงสัย
.
.
พีระค่อยยิ้มได้ และตอบเบาๆอย่างภูมิใจว่า
“พีระ ปั้นรถถีบจิ๋ว น่ะคุณหนูพา พีระปั้นไว้หลายสีเลยนะ.. “
.
.
หนูพาทำตาโตแป๋วจ้องพีระ ก่อนจะกระซิบเบาๆว่า
“แต่ครูช้อยสั่งให้ทุกคนปั้นข้าหลวงกำลังทำงานในหน้าที่ต่างๆ ของตำหนักนะเจ้าคะ..”
“คุณเจ้าขา ปั้นแบบนี้.. จะตอบครูช้อย ว่ากระไรเจ้าคะ..คุณเจ้าขารีบปั้นใหม่ ยังพอทันนะเจ้าคะ..”
.
.
พีระอมยิ้มน้อยๆ อีกครั้งก่อนตอบหนูพาว่า
“..ทุกคนปั้นตุ๊กตาข้าหลวงทำงานกันเยอะขนาดนั้น ตุ๊กตาข้าหลวงเหล่านั้นคงได้เงินขวัญถุง กันมากโข, พอมีเงินก็มักจะชอบซื้อของแปลกๆใหม่ๆ..
พีระเลยปั้นรถถีบวางขาย
รถถีบของพีระก็ต้องขายดี แน่ๆ คุณหนูพา..
และทีนี้ครูช้อยต้องอึ้งจนพูดอะไรไม่ออกแน่ๆ ..”พีระหัวเราะอย่างอารมณ์ดี ก่อนจะถามหนูพาว่า..
“แล้วคุณหนูพาปั้นอะไร รึ?
พีระถามและอมยิ้มรอฟังคำตอบ..คุณหนูพาอย่างตั้งใจ”
และแอบนึกในใจถึงคราวที่แล้ว ที่คุณหนูพาปั้นส่งครูช้อย มันเป็นแมวรูปร่างประหลาด หูกางใหญ่ๆ และไม่มีขน คุณหนูพาเรียกมันว่า “สฟิงซ์” และก็ลงไปคลานกับพื้นกระดานเรือนครูช้อย และส่งเสียงร้องของ “แมวสฟิงซ์” ว่าร้องยังไง อย่างน่าเอ็นดู..
.
.
เสียงใสๆ ดังกังวาล ของหนูพา ตอบพีระอย่างฉาดฉานว่า “หนูพาปั้น..หม่อมทินกรกำลังอ่านตำราพยากรณ์ เจ้าค่ะ”
“หม่อมทินกร?!?” พีระนึกสงสัยชื่อนี้ และถามคุณหนูพาว่า “คุณหนูพา เคยพบ หม่อมทินกรคนนี้ ที่ใดรึ?
หนูพา เอามือจุ๊ปาก แล้วบอกพีระว่า “คุณเจ้าขา พูดเบาๆสิเจ้าคะ..หม่อมทินกร ท่านไม่ให้หนูพาบอกใคร”
“หม่อมทินกร ท่านชอบมาตอนกลางคืน แล้วชะโงกหน้าขาวๆ ยิ้มหวานตรวจดูเด็กๆที่นอนบนเรือน แล้วก็ขีดเขียนในตำราพยากรณ์ ทำนายเด็กแต่ละคน เจ้าค่ะ”
“ตอนนั้น หนูพายังไม่หลับ เห็นท่านเลยชวนท่านคุย จนใกล้ย่ำรุ่ง เลยเจ้าค่ะ..หม่อมทินกรท่านใจดีมากเลยนะเจ้าคะ แต่ท่านไม่ให้หนูพาบอกใคร ด้วยท่านเกรงว่า เด็กๆจะตื่นมาคุยกับท่าน จนท่านจะทำงานของท่านไม่เสร็จ ทันเวลา น่ะเจ้าค่ะ”
พีระฟังหนูพาอย่างงงๆ และลุกขึ้นจูงหนูพา เดินออกจากห้องนั้นไปยังเรือนครูช้อย.. อย่างเงียบๆ
ระหว่างทางเดิน ช่วงที่ผ่านต้นปีบ ช่วงโค้งทางเดินในที่ลับตาคนนั้น
พีระหันมามองหนูพา ก่อนกำชับกับหนูพาว่า
“คราวหน้า ถ้าหม่อมทินกรมาอีก .. คุณหนูพาไม่ต้องเรียกพีระมาเจอหม่อมทินกรนะ ..พีระไม่ชอบเจอใครยืนจ้องหน้าพีระตอนดึกๆ..”
หนูพามองหน้าพีระ แล้วยิ้มจนตาหยี พลางมองรูปปั้นตุ๊กตาชาววังหม่อมทินกร ในมือ พร้อมกับคิดในใจ ว่า “หม่อมท่านชอบคุณเจ้าขาจะตาย ท่านเล่าเรื่องอนาคตของคุณเจ้าขาให้หนูพาฟังตั้งเยอะแยะ..แต่หนูพาจะบอกท่านให้ว่า คุณเจ้าขากลัวหม่อม หม่อมท่านคงจะเข้าใจล่ะเจ้าค่ะ”
แดดยามเช้า ยิ่งทำให้เงาจูงมือของพีระและคุณหนูพา ทอดยาวกับพื้นกระเบื้องดินเผาระหว่างทางไปเรือนครูช้อย
จนเหมือนราวกับ คู่หนุ่มสาวจูงมือกัน เข้าสู่ตำหนักอย่างไรอย่างนั้น เสียจริงๆ
จบตอนที่ 1
#เกร็ดเพิ่มเติม,
#หม่อมทินกรกับครั้งแรกของสยามที่พระเจ้าแผ่นดินเสด็จไปพระราชทานเพลิงศพ,
-เมื่อตอนปลายรัชกาลที่ 3 เพราะคนอยากรู้ว่า พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจะได้เป็นพระเจ้าแผ่นดินหรือไม่,หม่อมเจ้าทินกรเป็นผู้รู้ตำราหมอดูพยากรณ์ว่า “คงไม่ได้เป็นพระเจ้าแผ่นดินด้วยพระชันษาจะสั้น”,
-ความทราบถึงรัชกาลที่4 ก็ไม่ทรงนำพา, จนเมื่อเสด็จเสวยราชย์ก็ทรงชุบเลี้ยงตลอดมาจนสิ้นชีพตักษัย, แต่ก่อนมา ไม่มีประเพณีที่พระเจ้าแผ่นดินจะเสด็จไปพระราชทานเพลิงศพ, จะมีเพียงทรงจุดเทียนให้ข้าราชการเอาเพลิงกับเครื่องขมาไปพระราชทาน,
-แต่เมื่อรัชกาลที่4 ทรงเห็นกระดาษบอกนามศพหม่อมเจ้าทินกรที่พานเครื่องขมา ก็ทรงเสด็จเรือพระที่นั่ง เสด็จข้ามไปยังเมรุที่วัดอัมรินทร์ ,ทรงบำเพ็ญพระราชกุศลและ คราเมื่อจะพระราชทานเพลิงศพหม่อมเจ้าทินกรด้วยพระหัตถ์ จึงทรงขออโหสิกรรม และตรัสว่า “เจ้าทินกรแกตายก่อนข้านะ”,
#รถถีบ,
รถจักรยานใน สยาม ที่รู้จักกันในนาม "รถถีบ" มีเข้ามาตั้งแต่รัชกาลที่ 4 ตอนปลายแล้ว โดยเยอรมัน ฝรั่งเศส อังกฤษระดมความคิดสร้างสรรค์จักรยาน ประดิษฐกรรม
ก่อนเปิดยุคอุตสาหกรรมพัฒนาถึงขั้นผลิตส่งออกขายได้ทั่วโลกในปี พุทธศักราช 2428,
#แมวสฟิงซ์
เป็นแมวไร้ขน พบปรากฏในบันทึกของรัสเซีย เทียบกับช่วงรัชกาลที่ 3, แต่มีการพัฒนาการเลี้ยงจนเป็นที่รู้จักในช่วงปี 1960 ที่ประเทศแคนาดา
สวัสดี และขอจบเพียงเท่านี้
ขอบคุณครับ
ร้อยเรียงข้อมูล และฝึกเขียนเรื่องสั้น (T.Mon)
5/5/2020

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา