9 พ.ค. 2020 เวลา 11:34 • ธุรกิจ
📖วิธีแก้วิกฤตของนักบิน
เราอาจจะเข้าใจความรู้สึกของคนที่เจอวิกฤตได้ ถ้านึกภาพตัวเองกำลังอยู่บนเครื่องบินที่กำลังตก
ตอนนั้นน่าจะมีแต่ความโกลาหล เราอาจจะได้ยินเสียงเครื่องยนต์ระเบิด เห็นชิ้นส่วนปลิวว่อนไปกระแทกกับปีกซ้าย ระบบบางอย่างหยุดทำงาน
ในฐานะผู้โดยสารคงทำอะไรไม่ได้มากนอกจากฝากความหวังไว้กับเหล่ามืออาชีพบนเครื่องบิน
cr.christiantruthcenter.com
สิ่งที่เราควรรู้เอาไว้ให้อุ่นใจก็คือทุก ๆ ปีมืออาชีพเหล่านี้จะต้องเข้ารับการฝึก โดยต้องฝึกปีละสองครั้ง เป้าหมายของการฝึกก็เพื่อให้นักบินและลูกเรือสามารถรับมือกับเหตุฉุกเฉินได้และเพื่อให้ฟีดแบ็คกับพวกเขา โดยนักบินจะต้องผ่านการทดสอบเพื่อที่จะรักษาใบอนุญาตเอาไว้อีกหกเดือน
Jan U. Hagen, Zhike Lei และ Avner Shahal เป็นทีมนักวิจัยที่เข้าไปศึกษาวิธีการทดสอบของนักบินและลูกเรือ มาดูกันว่าพวกเขาเห็นอะไรจากการวิจัยนี้บ้าง
นักบินจะได้ฝึกแบบจำลองสถานการณ์ (Simulator) พวกเขาจะเจอสถานการณ์ที่มีแต่ความไม่แน่นอน เช่น เซนเซอร์เสีย เครื่องยนต์ระเบิด หรือไม่ก็ผู้โดยสารที่ตั้งครรภ์กำลังป่วยหนักต้องการให้ลงจอดด่วน
ทีมนักวิจัยจะเฝ้าดูวิธีที่นักบินและนักบินผู้ช่วยสื่อสารกันในห้องนักบิน และดูว่าการสื่อสารนั้นส่งผลอย่างไรกับลูกเรือบนเครื่องบ้าง
ในวิธีการแก้สถานการณ์ฉุกเฉิน ครึ่งหนึ่งจะอยู่ในคู่มือที่ลูกเรือจะต้องท่องจนขึ้นใจ สิ่งที่พวกเขาควรทำคือเลือกทำสิ่งที่เหมาะสมตาม checklist ที่มีแลัวมันจะพาไปสู่ขั้นต่อไป
ทีมวิจัยพบว่าความสามารถของลูกเรือที่ทำตามขั้นตอนไม่มีความแตกต่างกันมากเท่าไหร่นัก แต่ความต่างจะเกิดขึ้นเมื่อต้องเอาเครื่องลงอย่างปลอดภัย
สิ่งที่ส่งผลต่อสมรรถภาพของทีมคือ วิธีการสื่อสารของกัปตัน
ลูกเรือจะทำผลงานได้ดีขึ้น ถ้านักบินผู้ช่วย (Co-pilot) มีส่วนร่วมในการตัดสินใจ
.
กลับกันถ้ามีแต่กัปตันที่วิเคราะห์และตัดสินใจเองอยู่คนเดียว ลูกเรือจะทำผลงานได้แย่
และอีกสิ่งหนึ่งที่ส่งผลดีต่อความสามารถของลูกเรือคือ การที่กัปตันถามคำถามเปิด
“คุณประเมินสถานการณ์นี้อย่างไร”
“คุณเห็นทางเลือกอะไรบ้าง”
“คุณจะแนะนำว่าอะไร”
คำถามประเภทนี้จะพาไปสู่ทางออกที่ดีที่สุด
สิ่งที่ทีมนักวิจัยได้จากการศึกษานี้ก็คือ ทีมที่มีการแลกเปลี่ยนข้อมูล วิเคราะห์ข้อเท็จจริง ประเมินทางเลือก ตัดสินใจและลงมือทำ จากนั้นทบทวนสิ่งที่ทำ จะประสบความสำเร็จมากที่สุดในการทดสอบการบิน
แต่การวิจัยยังไม่จบ พวกเขานำผลการศึกษานี้ไปทดสอบกับนักบินอีกกลุ่มหนึ่งที่ต้องเจอเหตุการณ์ที่ยุ่งเหยิงยิ่งกว่า นั่นคือนักบินกองทัพ
ทีมนักวิจัยไปร่วมศึกษากับนักบินในกองทัพอากาศของเยอรมันและอิสราเอล พวกเขาสัมภาษณ์ผู้บังคับบัญชา นักบินผู้ช่วย เจ้าหน้าที่ฝ่ายอาวุธ และเจ้าหน้าที่ฝ่ายสัมภาระ ถึงวิธีที่พวกเขาทำงานร่วมกัน
สิ่งที่คน 80% พูดถึงคือความสำคัญของการได้พูด ผู้ใต้บังคับบัญชาต้องสามารถแสดงความเห็นและไอเดียได้อย่างเปิดเผย ซึ่งพวกเขาจะทำแบบนั้นได้ก็ต่อเมื่อผู้บังคับบัญชาเปิดโอกาสให้พวกเขาได้พูดก่อน
ผู้บังคับบัญชาชาวอิสราเอลคนหนึ่งบอกว่า เขาจะให้นักบินผู้ช่วยพูดก่อนเสมอเพราะถ้าเขาพูดก่อน ผู้ช่วยจะไม่กล้าโต้แย้ง และมันคงจะอันตรายถ้าเขาเกิดตัดสินใจผิดขึ้นมา
ในช่วงเวลาอันตราย แม้แต่คนที่มีประสบการณ์มากที่สุดก็ยังมองข้ามบางสิ่งบางอย่าง ลงมือหุนหันพลันแล่น หรือไม่ก็ไขว้เขว ดังนั้นการทำงานร่วมกันจึงสำคัญมากเพื่อที่จะรักษาชีวิต
หรือถ้าคุณเคยอ่าน Going Solo ของ Roald Dahl คุณอาจจะจำประโยคตอนที่เขาเป็นผู้นำทหารเกณฑ์ไปด้วยก็ได้
“คอยเตือนผมด้วย ถ้าผมทำอะไรโง่ ๆ ลงไป”
เรื่องการเชิญให้พูดนี่ก็สำคัญ เพราะนักบินผู้ช่วยหลายคนทั้งเยอรมันและอิสราเอลจะไม่พูดขึ้นมาถ้าไม่ได้รับอนุญาต (ถึงแม้ว่าตอนฝึกจะบอกไว้ชัดเจนว่าให้พูดได้ก็ตาม) เพราะพวกเขามักคิดว่าที่ผู้บังคับบัญชาไม่ถาม ก็เพราะเขาสามารถคุมสถานการณ์ได้
แต่ทีมนักวิจัยก็สรุปไว้ว่า การถามคำถามเปิดก็ยังสำคัญสำหรับการตัดสินใจทุกช่วงเวลา ไม่ว่าตอนนั้นจะเป็นสถานการณ์ปกติหรือวิกฤตก็ตาม เพราะคำถามเปิดนั้นสามารถพาไปหาทางออกที่ดีที่สุดและป้องกันเหตุร้ายไม่คาดฝันได้
ถ้าผู้นำองค์กรจะนำวิธีการนี้ไปใช้ ทีมนักวิจัยแนะนำว่าต้องไม่มีโครงสร้างองค์กรที่สูงชันเกินไปจนคนตำแหน่งล่าง ๆ ไม่กล้าออกความเห็น แต่ก็ไม่ต้องถึงกับสร้างองค์กรแบนราบ (flat organization) เพราะใช่ว่าจะทำกันได้ทุกที่
สิ่งที่ทำได้ง่ายกว่าคือ การให้โอกาสพนักงานได้พูดและถามคำถามเปิด และอย่าลืมออกความเห็นเป็นคนท้าย ๆ ด้วย ถึงแม้ว่าตอนนั้นจะเป็นสถานการณ์เลวร้ายก็ตาม ไม่ว่ายังไงก็ให้คนอื่นได้พูดก่อน
อีกอย่างคือลดอีโก้ลง
ผู้นำควรระลึกไว้ว่าการถามคำถามคนที่ตำแหน่งต่ำกว่าไม่ได้ทำให้อำนาจของเขาเสียไป แต่มันคือวิธีที่นำไปสู่การแก้ปัญหาที่ซับซ้อน และควรยอมรับตรง ๆ ว่าคน ๆ เดียวไม่สามารถแก้ปัญหาระดับวิกฤตได้
แต่แนวทางนี้ก็มีจุดอ่อนจุดหนึ่ง
ถ้าสมาชิกในทีมมีความสามารถไม่พอ ประกอบกับเจอปัญหาทางเทคนิคอื่น ๆ ที่ไม่ได้อยู่ในการควบคุม
ผู้นำก็ไม่มีทรัพยากรเพียงพอที่จะนำมาแก้ไขวิกฤตได้
ข้อมูลอ้างอิง :
โฆษณา