12 พ.ค. 2020 เวลา 02:09 • ท่องเที่ยว
วัดทิพย์สุคนธาราม กาญจนบุรี
วัดทิพย์สุคนธาราม ตั้งอยู่ใน อ.ห้วยกระเจา จ.กาญจนบุรี
เริ่มแรกการก่อสร้างโดยจิตศรัทธาในพระพุทธศาสนาของนางฉันท์ทิพย์ กลิ่นโสภณ พร้อมด้วยบิดามารดาและญาติพี่น้อง ซึ่งได้ถวายที่ดิน 339 ไร่และใช้ทุนทรัพย์ส่วนตัวสร้างวัดและเสนาสนะต่างๆถวายสมเด็จพระมหาธีราจารย์ (นิยม ฐานิสฺสรมหาเถร ป.ธ.9) เจ้าอาวาสวัดชนะสงครามราชวรมหาวิหาร กรรมการมหาเถรสมาคม เจ้าคณะใหญ่หนกลาง วัดแห่งนี้ ได้รับอนุญาตให้ตั้งวัดตามประกาศสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ลงวันที่ 4 มิถุนายน พ.ศ.2550
ต่อมา สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ร่วมกับหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน ได้มีการสร้างพระพุทธรูปที่โดดเด่นคือ "พระพุทธเมตตาประชาไทยไตรโลกนาถ คันธารราฐอนุสรณ์" ซึ่งมีพุทธลักษณะตามแบบพระพุทธรูปองค์ที่เคยอยู่บนเทือกเขาบาบียันอายุกว่าสองพันปี ซึ่งถูกระเบิดทำลายไปเมื่อปี 2544
พระพุทธเมตตาฯ จัดสร้างขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษาครบ 7 รอบ 84 พรรษาเพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถ เนื่องในโอกาสมหามงคลทรงเจริญพระชนมพรรษา 80 พรรษา ในปี 2555
พระพุทธเมตตาฯ เป็นประติมากรรมทางพุทธศิลป์ที่งดงาม และเป็นพระพุทธรูปปางขอฝนเนื้อสำริดที่สูง32 เมตร ยืนอยู่บนฐานสูง 8 เมตร จึงเป็นพระพุมธรูปใหญ่ที่สุดในไทย และ โดยมีนัยยะความหมาย 3 ประการ คือ เป็นที่พึ่งของประชาชน เป็นที่พึ่งของ 3 โลก คือ โลกสวรรค์ โลกมนุษย์ และยมโลก
เราไปเยี่ยมชมวัดวัดทิพย์สุคนธาราม ในวันที่อากาศร้อนอบอ้าวมาก และด้วยความกว้างขวางของบริเวณวัดนั้น ทำให้การเดินเที่ยวชมท่ามกลางแสงแดดที่แรงจ้านั้นไม่ง่าย … แต่ทางวัดมีจักรยานให้ปั่นเที่ยวชม ฟรี แต่สิ่งที่ต้องมีคือบัตรประชาชนเท่านั้น แต่เราเลือกใช้บริการของรถกอล์ฟพร้อมคนขับ ติดต่อกับสำนักงานใกล้ๆกับลานจอดรถได้เลย
พื้นที่แห่งนี้เป็นบริเวณเกือบกึ่งกลางหน้าภูเขา มีรูปทรงเฉพาะตั้งอยู่กลางที่ราบ เมื่อรถแล่นเข้ามาใกล้ลานประทักษิณ เบื้องหน้าในสายตาเรา คือ พระพุทธรูปที่อยู่ในท่วงท่ากำลังจะก้าวเดิน มองไกลๆ แล้วสูงเท่าภูเขาด้านหลัง ทรงผ้าวัสสิกสาฎก หรือผ้าอาบน้ำฝน พระหัตถ์ขวายกขึ้นราวพระอุระ ทำกริยากวักเรียกฝน พระหัตถ์ซ้ายหงายขึ้น เป็นกริยารองรับน้ำฝน … ภูเขาที่เขียวชอุ่มด้านหลังองค์พระเป็นดังฉากหลังที่กันสายตาส่งเสริม ให้องค์พระเด่นชัด และสง่างามมากจนน่าทึ่ง โดยที่ไม่มีอาคารหรือสิ่งก่อสร้างขนาดใหญ่ มาบดบังทุกมุมมองขององค์พระ
บรรยากาศของพื้นที่อันเป็นที่ตั้งขององค์พระล้วนได้รับการออกแบบเพื่อส่งเสริมให้องค์พระมีความโดดเด่นประจักษ์ถึงความศักดิ์สิทธิ์และพลังที่ยิ่งใหญ่ สง่างาม โดยมีทางเดินนำสายตามุ่งหน้าสู่องค์พระ ซึ่งบริเวณทางเดินเข้าไปสู่องค์พระเป็นพื้นที่ยกระดับสูงขึ้นไปทีละน้อย เปรียบเสมือนการเดินขึ้นไปนมัสการองค์พระพุทธรูปอันศักดิ์สิทธิ์ที่ตั้งอยู่ บนที่สูง
"พระพุทธเมตตาประชาไทยไตรโลกนาถคันธารราฐอนุสรณ์" สร้างโดยใช้วัสดุทองเหลืองหล่อ รมควันเป็นแผ่น แล้วนำมาเชื่อมต่อ บนโครงเหล็ก มีความสูง 32 เมตร
การสร้างพระพุทธรูปขนาดใหญ่องค์นี้ ต้องคำนึงถึงความมั่นคงแข็งแรงเป็นอันดับแรก เนื่องจากจุดที่รองรับน้ำหนัก คือฝ่าพระบาทรองขององค์พระ ซึ่งมีความแตกต่างจากรูปประติมากรรมขนาดใหญ่อื่นๆในโลก … พื้นที่ส่วนฐานมีการยกพื้นสร้างประทักษิณเพื่อใช้ในพิธีทางศาสนา
ลานสักการะพระพุทธรูป … เป็นลานกลมๆ มีศาลาสองหลัง มีเจ้าหน้าที่นำธูปเทียนและดอกไม้มาไว้บริการคนที่จะมากราบไหว้พระ เป็นจุดที่ผู้คนจะเดินมาจุดธูปเทียน และนำดอกไม้มาบูชาพระพุทธรูป
ระหว่างทางเดินไปสู่องค์พระ 2 ข้างทางเดินเขียวขจีไปด้วยต้นไม้ จากน้ำพุที่ถนน เดินเข้ามาถึงบริเวณลานสักการะก็ว่าไกลแล้ว จากลานสักการะเดินเข้าไปถึงฐานพระพุทธรูปก็ยังอีกไกล เมื่อเราเข้ามากราบขอพรในระยะใกล้ๆ จะสัมผัสได้ว่าพระพักตรขององค์พระเปี่ยมด้วยความเมตตา และองค์สูงใหญ่มากจริงๆ
บริเวณลานรอบๆองค์พระ ใช้เป็นพื้นที่ใช้สำหรับประกอบกิจกรรมทางศาสนา เช่น การสวดมนต์ และเวียนเทียน เป็นต้น … เพื่อนเราหลายคนที่เปี่ยมศรัทธา อยู่ในลักษณะสำรวมขณะที่พนมมือ ก้าวเท้าเดินไปรอบๆพระพุทธรูป พร้อมกับตั้งสมาธิสวดมนต์ตั้งสติมุงจิตมั่นไปกับทุกย่างก้าว
เชื่อกันว่า … หากได้มากราบไหว้องค์พระ ชีวิตจะพบแต่ความร่มเย็นเป็นสุขดั่งแผ่นดินที่ได้รับสายฝน ดังเช่นความเชื่อที่มีมาตั้งแต่เริ่มแรกของการสร้างองค์พระ คือ มีความเชื่อว่าการสร้างพระพุทธรูปดังกล่าว จะทำให้พื้นที่บริเวณ นั้นเกิดความชุ่มชื้นมากขึ้นจากพุทธานุภาพปางขอฝน
พื้นที่ของวัดนั้นกว้างขวางมาก คนที่เคยมาสถานที่นี้ครั้งแรกต่างก็ต้องประทับใจและประหลาดใจกับสิ่งที่เห็น นอกเหนือจากความยิ่งใหญ่ขององค์พระพุทธรูปแล้ว อาคารต่างๆ ภายในบริเวณที่ปรับให้เป็นพุทธอุทยานที่กว้างมากแห่งหนึ่งในประเทศไทย มีลานปฏิบัติธรรม สมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ ทรงมีพระมหากรุณารับโครงการไว้ในพระบรมราชินูปถัมภ์ เมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม พ.ศ.2554
พื้นที่ทั้งหมดของวัดทิพย์สุคนธาราม ออกเป็น 3 ส่วน ได้แก่
1.ส่วนองค์พระพุทธมหาเมตตาประชาไทยไตรโลกนาถ คันธารราฐอนุสรณ์ ตั้งอยู่ที่ลานพระทักษิณซึ่งเสมือนเขตพุทธวาส
2.ส่วนสาธารณประโยชน์ ซึ่งงดงามมาก ทุกอย่างอยู่ในลักษณะสมมาตรเหมือนกับสวนอังกฤษที่เราเห็นบ่อยๆ และดูเหมือนว่าสวนและต้นไม้ทั้งหมดจะไดพ้รับการดูแลอย่างดี .. ได้รับการบอกกล่าวว่า การจัดสวนและการดูแลอยู่ภายใต้การดำเนินงานของ สวนนงนุช
3.ส่วนป่า สำหรับพื้นที่ปฏิบัติธรรม จะมีอาคารในพื้นที่ทั้งหมด 16 หลัง อาคารที่น่าสนใจบางอาคารเราไม่มีเวลาพอที่จะแวะเข้าไปชม แต่อยากเล่าให้ฟัง (Ref: แบกกล้องท่องเที่ยวhttp://baagklong.com/2017/01/wattipsukon/)
อาคารนิทรรศการแห่งการตื่นรู้
เป็นอาคารที่มีความสำคัญยิ่ง เนื่องจากจะเป็นสถานที่เก็บรวบรวมข้อมูลในการจัดสร้างพระพุทธเมตตาประชาไทยไตรโลกนาถคันธารราฐอนุสรณ์ โดยในอาคารนิทรรศการมีลักษณะเป็นอาคาร 2 ชั้น ออกแบบโดยเน้นศิลปกรรมแบบไทยพื้นบ้าน ที่มีลักษณะความเป็นรูปแบบที่เรียบง่าย หลังคารูปจั่วค่อนข้างลาด ไม่มีการยกชั้นอย่างลักษณะสถาปัตยกรรมในการสร้างวัดหรือวัง รวมถึงมีการเลือกใช้อิฐและไม้เป็นวัสดุหลักโดยการจัดแสดงนิทรรศการในอาคารนั้น แบ่งเป็น 4 ส่วน ได้แก่
ส่วนที่ 1 บริเวณทางเข้าสู่อาคารนิทรรศการ จัดแสดงประวัติความเป็นมาของโครงการฯ ตั้งแต่การดำริสร้าง ความท้าทายทางวิศวกรรม รวมทั้งความสัมพันธ์ของสถาบันพระมหากษัตริย์กับพระพุทธศาสนา
ส่วนที่ 2 จัดแสดงนิทรรศการเรื่องของการเดินทางของพระพุทธศาสนาจากดินแดนชมพูทวีปสู่ดินแดนสุวรรณภูมิการหยั่งรากของพระพุทธศาสนาลงบนดินแดนสุวรรณภูมิจวบจนปัจจุบัน
ส่วนที่ 3 จัดแสดงสัญลักษณ์และเครื่องหมายแห่งการระลึกถึงพระพุทธศาสนา ตลอดจนหลักปรัชญาและคติคำสอนเพื่อการเข้าถึงแก่นแท้ของพระพุทธศาสนา
ส่วนที่ 4 จัดแสดงเรื่องราวของการสืบทอดพระพุทธศาสนาของพุทธศาสนิกชนจากทั่วโลกที่ปรากฏให้เห็นในปัจจุบัน นอกจากความน่าสนใจของนิทรรศการภายในแล้ว สถาปนิกยังได้ออกแบบให้มีทางเชื่อมต่อเพื่อนำไปสู่การชมนิทรรศการกลางแจ้งบริเวณสวนป่าพุทธอุทยานด้วย
เราเดินทางโดยรถกอล์ฟต่อไปยังพื้นที่ด้านบน ซึ่งมีอาคารที่สวยงามน่าสนใจตั้งอยู่
ศาลาสมเด็จพระมหาธีราจารย์
แรกเริ่มวัดทิพย์สุคนธารามมีเพียงศาลาการเปรียญ หอสวดมนต์ และกุฏิ 5 หลัง มีพระสงฆ์จำพรรษา 4 รูป จากนั้นจึงได้สร้างพระอุโบสถรูปแบบสถาปัตยกรรมล้านนางดงามขึ้นจนแล้วเสร็จ
โฆษณา