15 พ.ค. 2020 เวลา 04:08 • ประวัติศาสตร์
ไขปริศนา “วัดพระยาพระคลัง” จากแผนที่ของหมอแกมป์เฟอร์
“วัดพระยาพระคลัง” เป็นชื่อวัดที่ปรากฏในบันทึกของ เอนเยลเบิร์ต แกมป์เฟอร์ (Engelbert Kaempfer) นายแพทย์ชาวเยอรมัน ที่ได้เดินทางมายังกรุงศรีอยุธยา พร้อมกับคณะทูตฮอลันดาของบริษัทอีสต์อินเดียของฮอลันดา หรือ VOC ซึ่งเข้ามากรุงศรีอยุธยาในต้นรัชกาลสมเด็จพระเพทราชา
ภาพสเก็ตวัดพระยาพระคลัง
แกมป์เฟอร์ได้เริ่มเล่าเรื่องราวของวัดพระยาพระคลังไว้ในบันทึกว่า “ของแปลกประหลาดยิ่งอีกอย่างหนึ่ง ได้แก่ พื้นที่รูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสลักษณะเป็นลานสองลานต่อกัน อยู่ทางทิศตะวันออกไม่ห่างจากตัวเมืองมากนัก พื้นที่ทั้งสองผืนนี้มีคลองกั้นกลาง มีโบสถ์ เจดีย์ วิหาร และอาคารรูปแปลก ๆ ต่าง ๆ กันเป็นอันมาก สร้างอยู่ภายในกำแพงอันงาม เพื่อมิให้ยาวความมากไป ข้าพเจ้าได้ทำแผนผังพื้นที่ดังกล่าว กับรูปอาคารที่สำคัญๆ บางหลังแสดงไว้ไนที่นี้แล้ว...”
แต่เดิม เรามักจะเชื่อกันว่า “วัดพระยาพระคลัง” มี 2 แนวคิดหลัก คือ
กลุ่มวัดในทฤษฎีเดิมที่เชื่อว่าเป็นวัดพระยาพระคลัง
(1) วัดสมณโกฐาราม กับ วัดกุฎีดาว เพราะจากแผนผังอาคารต่างๆ ของทั้ง 2 วัด ที่หมอแกมป์เฟอร์วาดไว้ ค่อนข้างใกล้เคียงกันกับแผนผังของวัดสมณโกฐารามกับวัดกุฎีดาว เป็นอย่างยิ่ง
(2) วัดโบสถ์ราชเดชะ กับวัดอโยธยา(วัดเดิม) เพราะแผนผังของวัดอโยธยา ก็มีความคล้ายคลึงแผนผังในภาพวาดของแกมป์เฟอร์ โดยเฉพาะเจดีย์ทรงระฆังบนฐานสี่เหลี่ยม มีปูนปั้นกลีบบัวปรากฏอยู่บนองค์ระฆัง และมีฐานพระปรางค์ วางในตำแหน่งถัดมา ส่วนวัดโบสถ์ราชเดชะ แม้เจดีย์จะชำรุดทรุดโทรมกว่าวัดอื่นๆ ที่กล่าวมา แต่แผนผังของวัด ทั้งพระอุโบสถ เจดีย์ วิหาร ที่เหลือเพียงโคกร้าง ก็นับว่าใกล้เคียงกับผังที่หมอแกมป์เฟอร์วาดไว้
ทั้งนี้ ผู้ศึกษามุ่งเน้นไปที่รูปแบบของสถาปัตยกรรมที่สอดคล้องกับภาพสเก็ตของหมอแกมป์เฟอร์ แต่การที่จะฟันธงไปเลยว่าเป็นวัดใดวัดหนึ่งใน 2 กลุ่มนี้ อาจจะยังมีบางอย่างที่ยังไม่ชัดเจนและยังมีปริศนาแอบซ่อนอยู่ โดยเฉพาะเมื่อได้พิจารณาแผนที่ของแกมป์เฟอร์ที่ได้ระบุตำแหน่งของวัดพระยาพระคลังไว้ ทำให้เราได้เห็นสิ่งที่ผู้วิเคราะห์ก่อนหน้านั้น อาจมองข้ามไป นั่นก็คือเส้นทางลำคลองที่แยกออกจากเกาะเมือง มุ่งหน้าสู่วัดพระยาพระคลัง
ในที่นี้ เราจะมาเริ่มแกะรอยเส้นทางลำคลอง โดยใช้แผนที่ของหมอแกมป์เฟอร์ เป็นลายแทงในการไขปริศนาทั้งหมด เพื่อให้รู้กันว่า วัดพระยาพระคลังคือวัดใดในกรุงศรีอยุธยา?
แผนที่ฉบับที่ 1
ถือว่าเป็นแผนที่ฉบับมาตรฐานของหมอแกมป์เฟอร์ คือเป็นฉบับที่นำไปแกะบล็อก เพื่อตีพิมพ์ลงหนังสือ เป็นแผนที่ที่ให้รายละเอียดภายในเกาะเมือง ที่ประกอบไปด้วยถนนหนทาง ลำคลองในเกาะเมือง แม่น้ำกับคลองแยกรอบพระนคร และสถานที่สำคัญต่างๆ
แผนที่ฉบับ 1 สำหรับแกะบล็อคตีพิมพ์ลงหนังสือ
ในส่วนของตำแหน่งวัดพระยาพระคลังในแผนที่ฉบับนี้ ปรากฏอย่างชัดเจนว่า ถ้าจะเดินทางไปวัดนี้ ต้องพายเรือไปตามคูขื่อหน้าด้านทิศตะวันออกของเกาะเมืองขึ้นไปทางทิศเหนือ ก่อนจะถึงหัวโค้งตรงเกาะลอยที่จะมุ่งหน้าสู่พื้นที่หน้าวังจันทรเกษม มีคลองแยกทางขวามือเข้าสู่พื้นที่ของเมืองเก่าอโยธยา คลองเส้นนี้ได้นำคณะนักสำรวจไปยังวัดพระยาพระคลัง โดยคลองเส้นดังกล่าวจะผ่ากลางระหว่างวัดสองวัดและไปชนกับลำคลองอีกเส้นหนึ่งที่ไหลจากเหนือลงไปทางทิศใต้ ตรงกับสภาพทางภูมิศาสตร์ที่แกมป์เฟอร์ได้บรรยายไว้ในจดหมายเหตุ
ปัจจุบัน เป็นที่ทราบกันดีว่า ลำคลองโบราณในพระนครศรีอยุธยาหลายแห่ง เปลี่ยนสภาพจากที่เคยเป็นในอดีตไปอย่างสิ้นเชิง บางแห่งกลายเป็นลำรางเล็กๆ หรือไม่ก็ถูกถมหายไปจนคนรุ่นใหม่ไม่ทราบเลยว่าที่ตรงนี้เคยเป็นคลองมาก่อน เช่นเดียวกับคลองที่มุ่งตรงไปวัดพระยาพระคลังที่หมอแกมป์เฟอร์วาดไว้ เราได้พบว่าคลองสายนี้ได้สูญหายไปจากแผ่นดิน
แต่เมื่อได้ลงพื้นที่สำรวจหาลำคลองที่ปรากฏบนแผนที่ โดยการสืบค้นแผนที่ฉบับเก่าๆ และได้เข้าไปคุยกับคนเฒ่าคนแก่ที่อยู่ตรงนี้มานาน ก็ได้พบข้อมูลสำคัญที่ว่า ลำคลองเส้นนี้เคยมีอยู่จริง
แผนที่ฉบับที่ 2 (ฉบับร่าง)
แผนที่ฉบับที่ 2 นี้ เป็นฉบับวาดลายเส้นตัวพระนคร ที่ลงรายละเอียดของถนนหนทาง, ลำคลองหลักๆ และสะพานข้ามคลองภายในเกาะเมือง สถานที่สำคัญอย่างพระราชวัง กำแพงเมือง ป้อมปืน ประตูหอรบต่างๆ ที่ค่อนข้างละเอียด รวมทั้งเส้นทางลำคลองสายสำคัญที่แยกออกจากแม่น้ำที่ล้อมรอบตัวพระนคร
แผนที่ร่างตัวพระนคร
เมื่อเราเพ่งมองไปที่ตำแหน่งของวัดพระยาพระคลัง ก็จะเห็นว่าจากปากคลองที่แยกออกจากคูขื่อหน้า ผู้วาดได้ใส่รายละเอียดเพิ่มเข้าไปอีก นั่นคือตำแหน่งของวัด 2 แห่ง ซึ่งถ้าเราพายเรือเลี้ยวเข้ามาในคลองนั้น ฝั่งซ้ายจากปากคลองเข้ามาไม่ไกล จะมีคลองเล็กๆ แยกขึ้นไปทางทิศเหนือ และตรงหัวมุมคลองนี้เองจะเป็นที่ตั้งของวัดแห่งที่ 1
ส่วนวัดแห่งที่ 2 ที่ผู้วาดแผนที่ลงตำแหน่งไว้นั้น ถ้าเราพายเรือในคูขื่อหน้า (แม่น้ำป่าสัก) จากทิศใต้ขึ้นมาทิศเหนือ เราจะเจอวัดแห่งที่ 2 นี้ตั้งอยู่ก่อนถึงปากคลองเส้นที่จะเลี้ยวไปยังวัดพระยาพระคลัง
จากแผนที่จากการสำรวจวัดร้างและเส้นทางคลองโบราณของ ดร.สุเมธ ชุมสาย ณ อยุธยา ในหนังสือ “อาษา 3” 09” มีความสอดคล้องกันว่า ลำคลองที่เป็นเส้นทางไปยังวัดพระยาพระคลังของหมอแกมป์เฟอร์นั้น มีชื่อว่า “คลองวัดประดู่” โดยตำแหน่งของวัดแห่งที่ 1 นั้น น่าจะเป็น “วัดกระโจม” (วัดที่กรมหมื่นเทพพิพิธ เคยเสด็จฯ มาผนวชในแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าเอกทัศน์) และตำแหน่งของวัดที่ 2 นั้น น่าจะเป็น “วัดนางชี” ซึ่งทั้ง 2 วัดนี้ ปัจจุบันมีสภาพเป็นวัดร้าง เหลือเพียงซากอิฐ ชิ้นส่วนพระพุทธรูป ปรากฏอยู่ในพื้นที่ส่วนบุคคล
แผนที่ในในหนังสือ “อาษา 3” 09” จะเห็นว่ามีการสำรวจพบคลองวัดประดู่ 2 แห่ง เส้นคลองวัดประดู่ที่อยู่ทางใต้ ควรจะเป็นคลองวัดนางชี
ส่วนคลองวัดประดู่ ในปัจจุบัน ถูกถมไปจนหมดทั้งบนพื้นที่บ้านเรือน, ถนน และทางรถไฟพาดทับ จนไม่เหลือสภาพความเป็นคลองอีกต่อไป
ถ้าคลองในแผนที่ของหมอแกมป์เฟอร์ ตรงกับคลองวัดประดู่จริง ตำแหน่งของวัดพระยาพระคลัง ก็จะไม่ใช่พื้นที่วัดสมณโกฐารามกับวัดกุฎีดาว หรือวัดโบสถ์ราชเดชะกับวัดอโยธยา แต่มันมาตรงกับพื้นที่ของ “วัดประดู่ทรงธรรม”
แผนที่ฉบับที่ 3 (แผนที่ฉบับจารกรรม)
แผนที่ฉบับที่ 3 เป็นแผนที่เกาะเมืองอยุธยาที่สเก็ตด้วยมือ แต่วาดสิ่งต่างๆ ทั้งถนน สะพาน แม่น้ำ ลำคลอง ป้อม ประตู กำแพงเมือง วัด พระราชวัง ได้อย่างละเอียดลออจนน่าทึ่ง มีลายมือชื่อสถานที่พร้อมระยะทางเป็นตัวเลขกำกับไว้ในจุดที่สำคัญ และถ้าหากเราตามรอยตามเรื่องภูมิสถานกรุงศรีอยุธยาจากแผนที่ฉบับนี้ ก็จะพบกับความแม่นยำชนิดที่เราต้องสงสัยว่า แกมป์เฟอร์คงไม่ใช่หมอธรรมดาๆ แต่อาจพ่วงอาชีพ “นักจารกรรม” ด้วยอีกตำแหน่งหนึ่งก็เป็นได้
แผนที่ฉบับ 3 ที่ลงรายละเอียดไว้มากที่สุด
ไม่ว่าคุณหมอและคณะสำรวจ จะเป็นทีมนักจารกรรมหรือไม่ เราจะขอเรียกแผนที่ฉบับนี้เป็นการชั่วคราวว่า “แผนที่ฉบับจารกรรม” ก็แล้วกัน
เมื่อขยายแผนที่ฉบับจารกรรมไปยังตำแหน่งของวัดพระยาพระคลัง จะเห็นว่ามีลักษณะคล้ายกันกับแผนที่ฉบับที่ 2 แต่เพิ่มตัวเลขบอกระยะทางเข้าไป เป็นการเพิ่มรายละเอียดที่แม่นยำมากขึ้นกว่าเดิม
รายละเอียดอันเป็นกุญแจสำคัญที่ทำให้เห็นภาพชัดขึ้น คือคลองเส้นที่ 2 ที่ไหลจากเหนือลงทิศใต้ผ่านด้านฝั่งทิศตะวันออกของวัดพระยาพระคลัง ผู้วาดแผนที่ใส่รายละเอียดให้ชัดเจนยิ่งกว่าเดิมอีกว่า จากพื้นที่วัดพระยาพระคลังลงไปทางใต้เป็นระยะทาง 200 ฝั่งขวาของคลองเส้นที่ 2 นั้นมีวัดอีกหนึ่งวัดตั้งอยู่ ทั้งยังมีคลองเส้นที่ 3 โผล่มาในตำแหน่งทางทิศตะวันออกที่ถัดจากวัดดังกล่าว แถมคลองเส้นที่ 3 นี้ ฝั่งตะวันออกหรือขวาสุดของคลอง มีภาพวัดและลายมือที่อาจระบุชื่อวัดเรียงรายลงไปอีกเป็นจำนวนมาก
รายละเอียดรอบตำแหน่งวัดพระยาพระคลัง
ถ้าเอาข้อสันนิษฐานจากแผนที่ฉบับที่สองที่ว่า ถ้าวัดพระยาพระคลังคือตำแหน่งของวัดประดู่ทรงธรรมในปัจจุบัน วัดที่ห่างลงมาทางทิศใต้ 200 ก็จะมีตำแหน่งตรงกับ “วัดกุฎีดาว” และคลองที่โผล่มาทางขวามือสุดก็ควรจะเป็นคลองวัดกุฎีดาวนั่นเอง
จากแผนที่ทั้ง 3 ฉบับ มีสิ่งที่น่าสังเกตอีกจุดหนึ่งที่สำคัญ นั่นคือเส้นทางของคลองที่ไหลจากเหนือลงใต้ ผ่านพื้นที่ด้านทิศตะวันออกของวัดพระยาพระคลัง เป็นเส้นทางที่คลองวัดประดู่ก็พุ่งเข้ามาบรรจบกับลำคลองเส้นนี้
ย้อนกลับไปพิจารณาดูแผนที่ฉบับที่ 1 จะเห็นว่าคลองนี้ไหลลงมาตัดเป็นสี่แยกกับคลองบ้านบาตร และไหลต่อลงมาทางทิศใต้ของพระนคร ก่อนจะโค้งหักไปทางซ้าย ไหลออกสู่ปลายแม่น้ำป่าสักทางทิศใต้ ตรงบริเวณวัดเกาะแก้ว โดยปากคลองวัดเกาะแก้วนี้ จะมีชื่อเรียกกันว่า “คลองปากข้าวสาร”
ถ้าเรายังเชื่อกันว่า พื้นที่วัดสมณโกฐารามกับวัดกุฎีดาว คือวัดพระยาพระคลังอยู่ คลองเส้นนี้จะตรงกันกับ “คลองวัดกุฎีดาว” แต่จุดสิ้นสุดของคลองวัดกุฎีดาวที่มาบรรจบกับคลองบ้านบาตร เมื่อเชคจากแผนที่ภาพถ่ายดาวเทียม ใน Google map กลับไม่สัมพันธ์กันกับจุดตัดของคลองในแผนที่ทุกฉบับของแกมป์เฟอร์ เพราะจุดตัดของคลองที่ตัดกันเป็นสี่แยกในแผนที่ของหมอแกมป์เฟอร์มีระยะห่างที่เยื้องกันไม่มากนัก แต่จุดสิ้นสุดของคลองกุฎีดาวที่ไหลมาชนกับคลองบ้านบาตรนั้น กลับไม่มีคลองที่ไหลต่อไปยังทิศใต้เหมือนในแผนที่ และมีระยะห่างจากจุดบรรจบของคลองที่ไหลไปทางทิศใต้มากเกินไป
เทียบภาพแผนที่กับ GPS ตรงจุดตัดคลองบ้านบาตร
ภาพถ่ายทางอากาศของวิลเลี่ยม ฮันท์
ภาพถ่ายทางอากาศจำนวน 2 ภาพของ ปีเตอร์ วิลเลี่ยม ฮันท์ (Peter Williams Hunt) เมื่อ พ.ศ. 2489ที่เขาได้ถ่ายภาพบริเวณพื้นที่ฝั่งตะวันออกของคูขื่อหน้า โซนทิศเหนือของเมืองเก่าอโยธยา ก็เป็นหลักฐานอีกชิ้นหนึ่ง ที่พอจะเอามาเปรียบเทียบได้
จากภาพหนึ่ง ที่ถ่ายติดแม่น้ำป่าสัก เราจะเห็นเส้นถนนสีขาวเริ่มต้นทางฝั่งริมแม่น้ำป่าสัก ทอดยาวข้ามทางรถไฟไปจนถึงพื้นที่วัดประดู่ ถนนเส้นนี้เรียกกันว่า “สะพานยาว” นี่คือเส้นทางที่คนในชุมชนท่าน้ำวัดประดู่ สร้างไว้เป็นทางสัญจรเพื่อไปทำบุญกันที่วัดประดู่ทรงธรรม
ภาพที่ 1 ของวิลเลี่ยม ฮันท์
จากสะพานยาวขึ้นไปทางเหนือ เราจะเห็นลำคลองสายหนึ่ง ซึ่งปากคลองนั้นจะอยู่ก่อนถึงหัวโค้งของแม่น้ำป่าสักหรือคูขื่อหน้าก่อนถึงเกาะลอยเพียงนิดเดียว ตีคู่ขนานกับสะพานยาวพุ่งตรงไปยังวัดประดู่ทรงธรรม นี่จึงเป็นหลักฐานสำคัญที่แสดงให้เห็นว่า ในช่วงปี พ.ศ.2489 ลำคลองวัดประดู่ยังคงมีอยู่ และเมื่อเทียบตำแหน่งของลำคลอง ก็จะเห็นว่ามีความใกล้เคียงกับแผนที่ทุกฉบับของแกมป์เฟอร์เป็นอย่างยิ่ง
ส่วนอีกภาพที่ให้มุมมองกว้างขึ้น ภาพนี้จะเห็นพื้นที่วัดประดู่ทรงธรรม วัดจักรวรรดิ วัดกุฎีดาว และวัดสมณโกฐารามอย่างชัดเจน เมื่อพิจารณาไปยังเส้นทางลำคลองวัดประดู่ ก็ยิ่งทำให้เกิดความเข้าใจได้ง่ายขึ้นไปอีกว่าคลองเส้นนั้น ผ่ากลางพื้นที่ของวัดประดู่ทรงธรรม และคลองก็หายไปในพื้นที่ของวัดแห่งนี้
ภาพที่ 2 ของวิลเลี่ยม ฮันท์
จากภาพมุมกว้างนี้เอง เราจะเห็นคลองอีกเส้นหนึ่งทางทิศใต้ ขนานกับคลองวัดประดู่ คลองนี้เริ่มจากริมแม่น้ำป่าสัก ไหลเข้ามาก่อนที่คลองนี้ถูกทางรถไฟตัดผ่านเหมือนกับคลองวัดประดู่ แต่ก็ยังมีลำคลองไหลต่อเข้าไปผ่านพื้นที่ระหว่างวัดสมณโกฐารามกับวัดกุฎีดาว และไปบรรจบกับคลองวัดกุฎีดาว จากเส้นทางของคลองที่มาบรรจบกันนี้ ก็มีลักษณะเดียวกันกับแผนที่ของแกมป์เฟอร์ นี่จึงเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้นักวิชาการหลายท่านสรุปตรงกันว่า วัดพระยาพระคลังแกมป์เฟอร์และคณะเข้าไปสำรวจนั้น คือพื้นที่ของวัดกุฎีดาวและวัดสมณโกฐาราม
ด้วยภาพแผนผัง และภาพแผนที่ตำแหน่งที่มีลำคลองประกอบ จึงไม่แปลกที่ทำให้มีความเชื่อเช่นนั้น แต่ถ้าลองเข้าไปเปิด Google map เทียบกันกับภาพถ่ายทางอากาศของวิลเลี่ยม ฮันท์ ก็จะเห็นความใกล้เคียงกันอยู่ และจะเห็นได้ชัดเจนขึ้นอีกว่า จากปากคลองที่ไหลผ่านวัดกุฎีดาวกับวัดสมณโกฐารามนั้น ค่อนข้างห่างจากตำแหน่งปากคลองในแผนที่ของหมอแกมป์เฟอร์มากพอสมควร
เทียบภาพแผนที่ของหมอแกมป์เฟอร์กับภาพถ่ายดาวเทียม ตรงตำแหน่งปากคลองวัดประดู่กับปากคลองหอรัตนชัยที่ขนานไปกับถนนป่ามะพร้าว
จากภาพนี้ จึงเป็นข้อพิสูจน์ได้อย่างหนึ่งว่า แผนที่ของแกมป์เฟอร์ทุกฉบับมีโครงสร้างของเส้นทางที่ค่อนข้างแม่นยำ และความแม่นยำในตำแหน่งแผนที่ของแกมป์เฟอร์นี้ไม่ใช่เรื่องบังเอิญ กล่าวคือ ตำแหน่งปากคลองวัดประดู่ จะเยื้องๆ กันกับฝั่งตรงข้ามที่เป็นปากคลองหอรัตนชัยขนานไปกับถนนป่ามะพร้าวในฝั่งเกาะเมือง เหมือนกันทุกฉบับ ทั้งยังสอดคล้องกันกับภาพถ่ายของวิลเลี่ยม ฮันท์ และภาพถ่ายดาวเทียมในปัจจุบัน
ลงสำรวจพื้นที่จริง
ผู้เขียนใช้เวลา 1 สัปดาห์ ในการลงพื้นที่สำรวจยังสถานที่ต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง และได้บทสรุปจากการลงสำรวจพื้นที่ดังนี้
(1) การสำรวจเริ่มขึ้นที่ชุมชนท่าน้ำวัดประดู่ ผู้เขียนได้พบกับคุณลุงเกย คำศิริ ซึ่งเป็นคนเก่าคนแก่ที่อยู่ในชุมชนวัดประดู่มาตั้งแต่เกิด ผู้เขียนได้พบกับคุณลุงที่บ้านซึ่งติดอยู่กับโคกวัดนางชี คุณลุงให้ข้อมูลว่า สมัยที่ลุงยังเป็นวัยรุ่น เคยเห็นสะพานยาวจากท่าน้ำวัดประดู่ ทอดยาวไปถึงทางรถไฟ เมื่อข้ามทางรถไฟไปก็จะมีสะพานยาวช่วงที่สองจากทางรถไฟ ผ่านพื้นที่โรงเรียน ตรงไปยังวัดประดู่ทรงธรรม สะพานยาวนี้ถูกทุบทิ้งไปในปีใด คุณลุงเกยจำปีไม่ได้ แต่ก็เห็นช่วงที่ถูกทุบ ก่อนจะสร้างเป็นถนนปูนตั้งแต่ท่าน้ำวัดประดู่ออกยังยังถนนเลียบทางรถไฟเหมือนดังที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน
ลุงเกย คำศิริ กับโคกวัดนางชี
เมื่อถามคุณลุงว่าเคยเห็นคลองวัดประดู่ไหม? ก็ได้คำตอบว่า คลองวัดประดู่ที่ลุงเกยเคยเห็นนั้นเป็นลำรางอยู่ทางทิศเหนือคู่ขนานไปกับสะพานยาว ลำรางคลองวัดประดู่เก่านี้จะหายไปเมื่อถึงถนนเลียบทางรถไฟ และเมื่อข้ามทางรถไฟไป ก็จะเป็นบึงน้ำที่ถูกขุดลอกขึ้นใหม่จากนั้นก็ไม่ปรากฏคลองอีกเลยเหมือนดังปัจจุบัน
ท่าน้ำวัดประดู่ ต่อด้วยถนนในซอยชุมชนวัดประดู่
เมื่อเปิด GPS เพื่อดูภาพถ่ายทางดาวเทียม ในตำแหน่งของท่าน้ำวัดประดู่ ก็จะเห็นเส้นทางของซอยชุมชนวัดประดู่ ที่เคยเป็นสะพานยาว เมื่อมองถัดทางซอยขึ้นไปทางเหนือเล็กน้อย ถ้าตรงนั้นเคยมีคลองวัดประดู่ ปากคลองจากทิศเหนือก็จะตรงกับตำแหน่งของโคกวัดกระโจม ที่เป็นวัดร้างภายในพื้นที่ส่วนบุคคลนั้นนั่นเอง
นอกจากนี้ คุณลุงเกยยังบอกว่า ถัดจากหลังบ้านของคุณลุงไปทางทิศใต้ มีคลองอีกเส้นหนึ่ง เรียกกันว่า “คลองวัดนางชี” แต่ก็มีสภาพเหมือนคลองวัดประดู่คือคลองถูกถมจนสิ้นสภาพไปแล้วเช่นเดียวกัน โดยคลองวัดนางชีนี้ เป็นคลองที่ไหลตรงไปยังวัดสมณโกฐาราม ตรงกันกับในภาพถ่ายทางอากาศของวิลเลี่ยม ฮันท์ ในปี พ.ศ.2489 ที่ยังเห็นลำคลองวัดนางชีนี้อยู่
(2) ผู้เขียนเดินเท้าข้ามทางรถไฟตรงข้ามปากซอยชุมชนวัดประดู่ ตรงนี้เคยเป็นจุดสิ้นสุดของสะพานยาวช่วงที่ 1 ก่อนข้ามทางรถไฟ เมื่อเดินข้ามทางรถไฟไปอีกฝั่ง ก็จะเป็นถนนที่ตรงไปยังโรงเรียนวัดประดู่ทรงธรรม ถ้าสะพานยาวช่วงที่ 2 ทอดยาวจากตรงนี้ ก็จะทะลุพื้นที่โรงเรียน ไปโผล่ที่สะพานขึ้นเขตสังฆาวาสของวัดประดู่ทรงธรรมพอดี
สะพานข้ามทางรถไฟที่ต่อออกมาจากถนนซอยชุมชนวัดประดู่ ตรงนี้เคยเป็นสะพานยาวที่ตรงไปถึงวัดประดู่ทรงธรรม
ผู้เขียนเดินเลียบทางรถไฟขึ้นไปทางทิศเหนือ ลองกะระยะไปยังจุดที่ควรจะเป็นคลองวัดประดู่เก่า ซึ่งขนานกับอดีตสะพานยาว เพียงไม่นานก็ไปเจอกับบึงน้ำใหญ่ มีบ้านหลังหนึ่งตั้งอยู่ริมบึง จากสภาพภูมิศาสตร์ที่เกิดความเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอด ก็มีความเป็นไปได้มากว่าบึงน้ำแห่งนี้ เคยเป็นส่วนหนึ่งของคลองวัดประดู่นั่นเอง
บึงน้ำริมทางรถไฟ เคยเป็นส่วนหนึ่งของคลองวัดประดู่
(3) ผู้เขียนขับรถมุ่งตรงไปยังวัดประดู่ทรงธรรม ในวันนั้น ได้มีโอกาสพบกับท่าน “หลวงปู่ผิว อภิชาโต” ท่านเป็นเจ้าอาวาสกิตติมศักดิ์ของวัดประดู่ทรงธรรม ซึ่งในวันที่ผู้เขียนได้เข้าพบนั้น ท่านมีอายุได้ 92 ปีแล้ว ถือเป็นพระสงฆ์องค์เก่าแก่ของชุมชนวัดประดู่ทรงธรรม จึงได้สอบถามถึงคลองวัดประดู่จากท่านหลวงปู่ และได้คำตอบว่า คลองวัดประดู่ตอนนั้นเป็นลำรางเล็กๆ ที่ผ่าเข้ามากลางวัด แต่เดี๋ยวนี้ ถูกถมเป็นพื้นดินไปหมดแล้ว
“หลวงปู่ผิว อภิชาโต” เจ้าอาวาสกิตติมศักดิ์ของวัดประดู่ทรงธรรม
แต่ยังมีลำรางช่วงสั้นๆ แต่ปรากฏอยู่ตรงหลังกำแพงด้านทิศตะวันออกของวัด ไหลผ่านหลังห้องน้ำวัด ไปสิ้นสุดที่ศาลพระพุทธรูปตรงลานจอดรถ จากนั้นคลองเส้นนี้ก็หายไปจากการถูกถนนและบ้านเรือนปลูกทับ ลำรางสั้นๆ นี้อยู่ในตำแหน่งคลองเส้นที่ 2 ของแกมป์เฟอร์ที่ไหลจากทิศเหนือลงสู่ใต้ และถ้าลำรางนี้ไม่ถูกถมไป ก็จะเป็นเส้นคลองที่ไหลผ่านกำแพงด้านทิศตะวันตกของวัดกุฎีดาว และไปจะไปบรรจบกับคลองบ้านบาตร
คลองเส้นที่ 2 ในแนวเหนือ - ใต้ ที่เหลืออยู่และเป็นคลองที่ปรากฏในแผนที่หมอแกมเฟอร์
(5) ใน ซอยโรจนะ 1/3 ซึ่งอยู่ริมถนนโรจนะที่ลงสะพานออกจากเกาะเมืองมุ่งตรงไปยังวงเวียนเจดีย์วัดสามปลื้ม ซอยโรจนะ 1/3 นี้จะอยู่ก่อนถึงวงเวียน เมื่อเข้าไปไม่ไกล จะมีพื้นที่ลานกว้าง อยู่ติดฝั่งคลอง คลองนี้มีป้ายติดตรงสะพานข้ามคลองเส้นโรจนะก่อนถึงวงเวียนว่าเป็น “คลองวัดดุสิต”
คลองวัดดุสิตใกล้กับจุดตัดคลองบ้านบาตร
ตรงลานกว้างภายในซอยที่อยู่ริมคลองนั้น เมื่อมองเข้าไปในลำคลอง ก็จะเห็นว่าคลองไปบรรจบกับคลองอีกเส้นเกิดเป็นสามแยก คลองที่ไหลตัดผ่านนั้น คือคลองบ้านบาตร ที่ไหลจากแม่น้ำป่าสักหรือคูขื่อหน้า โดยปากคลองจะอยู่ตรงวัดพิชัยสงคราม เมื่อเปิด GPS จากโทรศัพท์มือถือ ดูตำแหน่งของตัวเองในภาพถ่ายดาวเทียม ก็จะเห็นว่า ผู้เขียนกำลังยืนใกล้กับจุดตัดของคลองบ้านบาตร (ในมือถือขึ้นตำแหน่งชื่อว่า “คลองข้าวเม่า”)
เทียบ GPS กับแผนที่หมอแกมป์เฟอร์ตรงจุดตัดคลองวัดดุสิตกับคลองบ้านบาตรที่เรายืนอยู่
ใช่แล้ว นี่คือตำแหน่งที่ใกล้เคียงกับจุดตัดของคลองบ้านบาตรกับคลองดุสิต ที่ปรากฏในแผนที่ของหมอแกมป์เฟอร์!!
แต่ทว่า ในภาพถ่ายดาวเทียม ไม่ปรากฏคลองเส้นบนที่เป็นจุดสิ้นสุดของเขตวัดพระยาพระคลัง อาจเป็นเพราะว่าคลองเส้นนั้นคงถูกถมทับไปจนหมดสภาพคลอง แต่ถ้าเราลองวาดเส้นตรงจากบริเวณจุดตัดของคลองบ้านบาตรกับคลองดุสิตขึ้นไปทางทิศเหนือ ก็จะเห็นว่า เส้นคลองนี้พุ่งตรงขึ้นไปผ่านกำแพงด้านทิศตะวันออกสุดของวัดประดู่ทรงธรรมอย่างพอดิบพอดี และตรงกับลำรางเล็กๆ ที่กั้นระหว่างหลังห้องน้ำวัดประดู่ทรงธรรมกับกำแพงของเทศบาลเมืองอโยธยา
เพียงเท่านี้ จิ๊กซอก็ได้ประกอบเป็นรูปเป็นร่างแทบจะสมบูรณ์ มันคือภาพเดียวกับแผนที่ทุกฉบับของหมอแกมป์เฟอร์ นั่นเอง!!
วัดพระยาพระคลัง - วัดประดู่ทรงธรรม
เมื่อทุกสิ่งอย่างได้ถูกพิสูจน์แน่ชัดว่า พื้นที่วัดพระยาพระคลังของหมอแกมป์เฟอร์ ตรงกันกับพื้นที่ของ “วัดประดู่ทรงธรรม” ในปัจจุบัน ผู้เขียนก็ได้เข้ามายังวัดแห่งนี้อีกครั้ง และเริ่มค้นหาถึงความเป็นมา
วัดประดู่ทรงธรรม
วัดประดู่ทรงธรรม ในอดีตเคยเป็นพื้นที่ 2 วัดติดกัน สอดคล้องกับแผนที่อยุธยาฉบับพระยาโบราณราชธานินทร์ ปี พ.ศ.2469 ว่าแต่เดิมมีพื้นที่ 2 วัด คือ “วัดประดู่” และ “วัดโรงธรรม” (บ้างก็เรียกว่า “วัดโรงทาน”)
วัดแห่งนี้ ปรากฏชื่อในพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาเป็นครั้งแรก ช่วงรัชกาลของสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม เมื่อปี พ.ศ. 2163 โดยเล่าเรื่องราวของพระสงฆ์วัดประดู่โรงธรรม ได้เข้ามาช่วยสมเด็จพระเจ้าทรงธรรมจากการบุกจู่โจมของพวกญี่ปุ่น และมาปรากฏชื่ออีกครั้งในช่วงแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าเอกทัศน์ เมื่อสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอุทุมพร ทรงสละราชสมบัติ มาผนวชเป็นพระภิกษุ ณ วัดประดู่โรงธรรม
แผนที่พระยาโบราณราชธานินทร์ แยกเป็น 2 วัดคือ วัดประดู่กับวัดโรงธรรม ส่วนคลองวัดประดู่ที่ระบุในแผนที่ ที่จริงคือคลองวัดนางชีในปัจจุบัน
หลังเสียกรุงปี พ.ศ.2310 วัดประดู่กับวัดโรงธรรม คงรกร้างอย่างหนัก จนเมื่อเข้าสู่แผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ได้มีการบูรณะปฏิสังขรณ์ครั้งใหญ่ มีการคัดลอกภาพจิตรกรรมฝาผนังจากวัดยมลงบนสมุดข่อยนำมาเขียนลงในวิหารวัดประดู่ทรงธรรมเป็นภาพเรื่อง ไตรภูมิ เทพชุมนุม พุทธประวัติทศชาติชาดก ขบวนช้าง ภาพการละเล่น และชีวิตความเป็นอยู่ของชาวบ้าน
ดังนั้น อาคารทั้งวิหาร พระอุโบสถ เจดีย์ ต่างๆ ที่คงสภาพอยู่ในปัจจุบัน รวมทั้งคูน้ำที่ล้อมรอบวัด ล้วนเป็นสิ่งที่สร้างขึ้นใหม่ในสมัยรัชกาลที่ 4 ทั้งหมด และสร้างบนพื้นที่ของ “วัดโรงธรรม” จากนั้นก็มีการตั้งชื่อวัดขึ้นใหม่โดยรวมชื่อทั้ง “ประดู่” และ “โรงธรรม” เข้าเป็นชื่อเดียวกัน คือ “วัดประดู่โรงธรรม” ก่อนที่จะเปลี่ยนชื่อใหม่อีกครั้งเป็น “วัดประดู่ทรงธรรม” ดังในปัจจุบัน
ส่วนพื้นที่ของ “วัดประดู่” เดิม ในปัจจุบันเป็นโคกวัดร้าง ตั้งอยู่ทางทิศเหนือของวัดประดู่ทรงธรรม ที่มีถนนเล็กๆ และบ้านผู้คนอยู่รายรอบ โดยมีพื้นที่ของเทศบาลเมืองอโยธยาคั่นกลาง ด้านทิศใต้ของโคกจะติดกับกำแพงเทศบาล ถ้าเรามองพื้นที่จากภาพถ่ายดาวเทียม เราจะเห็นว่าโคกวัดประดู่ร้าง มีพื้นที่ที่คู่ขนานกันกับวัดประดู่ทรงธรรม และถ้าลากเส้นแนวคลองวัดประดู่เดิมผ่าเข้ามาในบริเวณวัด ก็จะเห็นเป็นผืนดินคู่ที่มีคลองกั้นกลาง เหมือนดังวัดพระยาพระคลังของหมอแกมป์เฟอร์
โคกวัดประดู่เก่า ที่รกร้าง
ถ้าเป็นดังที่สันนิฐานไว้ พื้นที่ส่วนหนึ่งของเทศบาลอโยธยาที่คั่นกลาง เคยเป็นส่วนหนึ่งของวัดประดู่ร้างด้วยนั่นเอง
 
จึงเกิดคำถามสำคัญว่า หลังเสียกรุงปี พ.ศ.2310 เกิดอะไรขึ้นกับวัดประดู่และวัดโรงธรรม จึงไม่เหลือสภาพดั้งเดิมที่เคยโอ่อ่า ยิ่งใหญ่อย่างที่หมอแกมป์เฟอร์ได้บรรยายเอาไว้เลย
เป็นไปได้ไหมว่า วัดพระยาพระคลัง คงถูกรื้ออิฐจากกองทัพพม่า ที่มาล้อมกรุงในแผ่นดินพระเจ้าเอกทัศน์ เพราะในพงศาวดาร ได้ระบุว่าพม่าได้มาสร้างค่ายที่วัดกระโจมและวัดนางชี ซึ่งเป็นวัดริมแม่น้ำที่อยู่ใกล้กันกับวัดพระยาพระคลัง การสร้างค่ายแต่ละครั้งของพม่า จะมีการรื้ออิฐวัดรอบนอกมาก่อเป็นป้อมขนาดใหญ่ วัดพระยาพระคลังจึงอาจเป็นเป้าหมายของการรื้ออิฐ นำใส่เรือล่องไปทางปากคลองวัดประดู่ และนำอิฐทั้งหมดไปก่อป้อมที่วัดกระโจมกับวัดนางชี
ซากอาคารเก่าวัดประดู่(ร้าง)
พอหลังเสียกรุง ก็ได้มีการรื้ออิฐวัดกันอีกหลายวาระ จนสุดท้าย วัดพระยาพระคลังคงจะยับเยินและถูกปรับเปลี่ยนอยู่ในสภาพดังที่เห็นในปัจจุบัน นี่คือความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ที่ทำให้ภาพอันตระการตาของวัดพระยาพระคลัง ที่หมอแกมป์เฟอร์เคยมาเห็นนั้น เหลืออยู่แค่ภาพสเก็ตจากคณะสำรวจเมื่อราว 300 กว่าปีก่อนนั่นเอง
สังเกตจากแผนที่ ถ้าผืนดิน 2 วัดเป็นวัดสมณโกฐฯ - วัดกุฎีดาว หมอแกมป์เฟอร์ควรจะวาดผืนดินของวัดที่ 3 ต่อกันด้วย นั่นคือ วัดจักรวรรดิ
ตีพิมพ์แล้วใน นิตยสารศิลปวัฒนธรรม ปีที่ 41 ฉบับที่ 5 มีนาคม พ.ศ.2563
โฆษณา