19 พ.ค. 2020 เวลา 06:04 • สุขภาพ
พลาสม่าต่างกับเซรุ่มตรงไหน
ใครอยากรู้บ้าง?
เราคงเคยได้ยินเรื่องการนำพลาสม่าของผู้ป่วยที่หายแล้วซึ่งมีภูมิคุ้มกัน เอามาให้กับผู้ป่วยรายใหม่แล้วสามารถรักษาโรคโควิด-19 ให้หายได้
แต่ขณะเดียวกันเราก็ได้ยินคำว่าเซรุ่มแก้พิษงู เซรุ่มรักษาโรคพิษสุนัขบ้า ซึ่งก็ทำมาจากเลือดเช่นเดียวกัน
ตกลงพลาสม่ากับเซรุ่มต่างกันอย่างไร
เป็นประเด็นที่จะมาเล่าสู่กันฟังครับ
พลาสม่า (Plasma)
อาจเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า “น้ำเหลือง” เป็นส่วนประกอบส่วนหนึ่งของเลือด ลักษณะเป็นของเหลวสีเหลือง ได้มาจากการที่เรานำเลือดมาแยกส่วนที่เป็นเม็ดเลือดแดง (45%) เม็ดเลือดขาวและเกล็ดเลือด (น้อยกว่า1%) ออกไป จะเหลือส่วนที่เป็นของเหลวสีเหลือง (55%)เรียกว่าพลาสม่า ซึ่งจะประกอบไปด้วยโปรตีนที่ทำหน้าที่เป็นภูมิคุ้มกัน โปรตีนอื่น และที่สำคัญคือปัจจัยทำให้เลือดแข็งตัว(Clotting Factor) ถ้านำปัจจัยทำให้เลือดแข็งตัวออกไปแล้ว ที่เหลืออยู่นั้นเราจะเรียกว่า เซรุ่ม หรือ ซีรั่ม (Serum)
เซรุ่ม,ซีรั่ม (Serum)
ใช้เรียกของเหลวใสสีเหลืองอ่อนซึ่งลอยอยู่เหนือลิ่มเลือด ถ้าเราเจาะเลือดใส่หลอดแก้วตั้งทิ้งไว้ เลือดจะแข็งตัวโดยใช้ปัจจัยทำให้เลือดแข็งตัว เกิดเป็นลิ่มเลือด(มีทั้งเม็ดเลือดแดง เม็ดเลือดขาว และเกร็ดเลือด) แล้วตกลงสู่ก้นหลอด เหลือน้ำใสสีเหลืองอ่อนอยู่ข้างบน ซึ่งมีองค์ประกอบทุกอย่างเหมือน
พลาสม่า ยกเว้นไม่มีปัจจัยทำให้เลือดแข็งตัว ที่เราคุ้นเคยกันดีคือ เซรุ่มแก้พิษงู เซรุ่มป้องกันพิษสุนัขบ้า ซึ่งเราหวังผลให้ภูมิคุ้มกันที่มีอยู่ในเซรุ่มเข้าไปจัดการกับตัวเชื้อโรคหรือพิษของเชื้อโรค ได้ผลทันทีรวดเร็วกว่าวัคซีน แต่จะไม่มีภูมิคุ้มกันโรคในระยะยาวเหมือนการได้รับวัคซีน
• เพื่อให้เห็นความแตกต่างที่ชัดเจนระหว่าง พลาสม่า กับ เซรุ่ม ดังนี้
พลาสม่า = เซรุ่ม+ปัจจัยที่ทำให้เลือดแข็งตัว
เลือด = พลาสม่า + เม็ดเลือดแดง + เม็ดเลือดขาว + เกล็ดเลือด
• ในผู้ป่วยที่หายจากโรคติดเชื้อแล้ว ก็จะมีภูมิคุ้มกันที่จำเพาะเจาะจงกับเชื้อโรคนั้น มีองค์ประกอบหลักเป็นโปรตีนละลายอยู่ในส่วนของพลาสม่า เมื่อผู้ที่หายป่วยแล้วมาบริจาคเลือด ทางธนาคารเลือดจะทำการแยกส่วนของเม็ดเลือดแดง เม็ดเลือดขาวและเกล็ดเลือดออกไป แล้วนำส่วนของเหลวใสที่เหลือที่เรียกว่าพลาสม่าไปใช้รักษาโรคให้กับผู้ป่วย เนื่องจากในพลาสม่าจะมีโปรตีนที่เป็นภูมิคุ้มกัน สามารถไปทำลายเชื้อโรคได้ เป็นการรักษาวิธีหนึ่ง ไม่ใช่การป้องกันโรค กล่าวคือ ต้องป่วยติดเชื้อแล้วให้พลาสม่ารักษา แต่ถ้าจะป้องกันโรคไม่ให้ติดเชื้อแล้วป่วยต้องให้วัคซีนเพื่อกระตุ้นให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันขึ้นมาและอยู่ได้นาน (Active) ส่วนการให้พลาสม่าร่างกายจะมีภูมิคุ้มกันอยู่ในระยะสั้นๆ และหายไปในที่สุด (Passive)
โฆษณา