22 พ.ค. 2020 เวลา 13:05 • ประวัติศาสตร์
'คริสโตเฟอร์ โคลัมบัส' จอมโหดที่ประวัติศาสตร์มองข้าม
คริสโตเฟอร์ โคลัมบัส (Christopher Columbus ) เป็นที่รู้จักกันในวัฒนธรรมป๊อปว่าเป็นนักสำรวจชาวเจนัวผู้กล้าหาญท้าท้ายความเชื่อของคนร่วมสมัย ความมานะพยายามทำให้เขาได้รับสปอนเซอร์จากราชบัลลังก์สเปนจนนำไปสู่การค้นพบทวีปอเมริกา
.
ชื่อของเขายังได้รับเกียรติจนนำไปตั้งเป็นชื่อหลายสถานที่ ดินแดน หรือแม้แต่ประเทศ แต่สุดท้ายหลักฐานทางประวัติศาสตร์และบันทึกร่วมสมัยหลายฉบับต่างเห็นตรงกันว่า เขาไม่ได้เป็นผู้บุกเบิกที่ท้าทายความเชื่ออันงมงาย แต่เป็นผู้บุกเบิกความโหดเหี้ยมในการล่าอาณานิคมต่างหาก
.
ภายใน 50 ปี ตั้งแต่โคลัมบัสก้าวเท้าขึ้นเหยียบแผ่นดินครั้งแรกในปี 1492 เกาะฮิสปันโยลา (Hispaniola) ในแถบคิวบาและเฮติปัจจุบัน ดินแดนที่เคยมีประชากรอินเดียนเผ่าทาอิโน (Taino) มากถึง 3 แสนกลับเหลือประชากรหลักร้อยคนเท่านั้น ทั้งระบบที่เขาก่อตั้งโดยตรงและทางอ้อมต่างทำลายล้างประชากรอินเดียนไปคณานับจนนักประวัติศาสตร์จำนวนมากเห็นด้วยว่าการกระทำของนักสำรวจผู้นี้เข้าข่าย ‘การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์’ เต็มๆ ส่วนทฤษฎีเรื่องเชื้อโรคเล่นงานชนพื้นเมืองที่เคยเป็นที่นิยมกลับถูกแย้งโดยนักประวัติศาสตร์สมัยใหม่ว่าระบบทาส การใช้แรงงาน ความอดอยาก และความรุนแรงคร่าประชากรท้องถิ่นในแคริบเบียนมากกว่าโรคฝีดาษเสียอีก
.
โคลัมบัสปกครองหมู่เกาะในแคริบเบียนอยู่นาน 7 ปี เขามีความคิดจะสยบชนพื้นเมืองให้ราบตั้งแต่เขาพบคนอินเดียนคนแรกที่เข้ามาทักทายด้วยซ้ำ
.
เมื่อโคลัมบัสและลูกเรือก้าวเท้าลงบนชายหาดของเกาะบาฮามาสเมื่อวันที่ 12 ตุลาคม ปี 1492 ชาวเกาะออกมาต้อนรับนักสำรวจแดนไกล แต่สิ่งที่โคลัมบัสสนใจเป็นพิเศษคือเครื่องประดับทองชิ้นเล็กน้อยที่ชาวเกาะสวมใส ชาวเกาะไม่ได้มองว่าทองพวกนี้มีค่าอันใด แต่มันเตะตานักสำรวจผู้นี้อย่างยิ่ง สำหรับเขา มันคือขุมทองที่ซ่อนอยู่และจะกลายเป็นรายได้ เมื่อเขาออกเดินทางไปบุกเบิกนิคมบนเกาะฮิสปันโยลา โคลัมบัสยังตอบแทนชาวเกาะด้วยการลักพาตัวชาวบ้านบางส่วนติดเรือไปด้วย
.
ที่เกาะฮิสปันโยลา โคลัมบัสนำทหารเข้าควบคุมชาวทาอิโนให้อยู่ในบังคับ พวกทหารออกไปตามหาทองตามหมู่บ้านที่พบรายทาง ทั้งผู้หญิงและเด็กถูกจับตัวมาบำเรอกาม แต่เมื่อทหารกลุ่มนั้นถูกชาวอินเดียนสังหาร เขาเปลี่ยนแผนและสั่งให้ชาวอินเดียนทุกคนที่อายุ 14 ปีขึ้นไปต้องออกไปขุดแร่ทองมาให้ครบกำหนด ชาวบ้านคนใดขัดขืนมีโทษถึงตาย ส่วนคนที่ไม่อาจหาทองมาได้ครบโควตาจะถูกตัดมือทิ้ง เหยื่อที่ถูกตัดมือจำนวนไม่น้อยต้องเสียชีวิตจากอาการติดเชื้อในไม่นาน อีกหลายคนยังหนีขึ้นไปบนภูเขาเพื่อหลบคนของโคลัมบัส ในบริเวณที่ไม่พบแร่ทอง ชาวทาอิโนส่วนที่เหลือยังต้องทำงานในไร่ฝ้ายของชาวสเปนแทน
.
นักล่าอาณานิคมยังเสาะหาผู้หญิงและเด็กสาวมาเป็นทาสบำเรอกาม แม้แต่โคลัมบัสเองยังลงมือจับตัวหญิงสาวและให้ไฟเขียวกับการซื้อขายทาสเซ็กซ์ ในบันทึกของ ‘มิเคเล เด คูเนโอ’ (Michele de Cuneo) ผู้ร่วมเดินทางไปกับโคลัมบัสได้เล่าอย่างภาคภูมิว่า โคลัมบัสตบรางวัลให้ตนด้วยทาสหญิงบำเรอกาม และเมื่อใดที่พวกเธอแสดงอาการขัดขืนหรือต่อต้าน ก็จะถูกเฆี่ยนตีจนหลังลาย เมื่อผู้หญิงเริ่มหาได้ยากขึ้น โคลัมบัสและคนของเขาก็พุ่งเป้าไปที่เด็กหญิงแทน ในบันทึกของโคลัมบัสเองถึงกับเล่าว่า เด็กหญิงอายุ 9-10 ขวบก็ถูกนำมาซื้อขายกันเยี่ยงสินค้าเพราะกำลังเป็นที่ต้องการมาก
.
ระบบฟิวดัลที่เรียกว่า ‘เอนโคเมียนดา’ (Encomienda) ในสเปนยังถูกนำมาใช้โดยโคลัมบัส แต่ระบบในอาณานิคมนั้นแตกต่างตรงที่ชาวสเปนที่ทำผลงานจะได้รับชาวอินเดียนจำนวนหนึ่งเป็นการตอบแทนจากโคลัมบัส แรงงานพวกนี้ต้องมอบบรรณาการและทำงานจนตัวตายให้นายชาวสเปน ความน่าสะพรึงของมันคือแรงงานพื้นเมืองเหล่านี้สามารถทดแทนได้ตลอดเวลา พวกเขาจึงถูกบังคับใช้แรงงานอย่างหนักจนตายแล้วแทนที่ด้วยคนใหม่ตลอดเวลา เหยื่อส่วนใหญ่ของระบบนี้มักเป็นผู้หญิงและเด็กที่ถูกพรากจากครอบครัว
.
บาร์โทโลเม เด ลาสกาซัส (Bartolomé de las Casas) คือหนึ่งในชาวสเปนที่เคยใช้ชีวิตในนิคมที่ตั้งโดยโคลัมบัสและมีส่วนร่วมในการสังหารหมู่ชาวบ้านหลายครั้ง แต่ภายหลังเขากลับใจและหันมาต่อต้านการรุกรานชนพื้นเมืองและการใช้แรงงานทาสจนกลายเป็นประเด็นร้อนของยุค บันทึกที่เขารวบรวมไว้ยังพรรณาถึงสิ่งที่ชาวสเปนกระทำต่อชนพื้นเมืองไว้มากมาย ความโหดร้ายของทหารสเปนนั้นเหลือเชื่อจนแทบจะกล่าวได้ว่าพวกเขาใช้ชาวอินเดียน 'ลับคมดาบ' ทีเดียว
.
ในบันทึกตอนหนึ่งของเขาเล่าว่า พวกทหารบุกเข้าไปตามหมู่บ้าน ฆ่าฟันทุกคนไม่เว้นแม้แต่เด็กเล็กๆ คนแก่ หญิงมีครรภ์ หรือแม่ลูกที่เพิ่งทำคลอด หลายคนถูกหั่นเป็นชิ้นๆ หรือถูกผ่าท้องทั้งเป็น พวกทหารยังพนันกันว่าจะตัดร่างเหยื่อหรือตัดหัวให้ขาดได้ในดาบเดียวหรือไม่ ส่วนเด็กทารกยังถูกจับฟาดกับก้อนหินจนกะโหลกแตก
ทั้งศัตรูและมิตรของโคลัมบัสยังเห็นพ้องกันว่านักสำรวจผู้นี้บ้าเลือดแค่ไหน รายงานที่จากพยานในนิคมยังเล่าว่าเมื่อใดที่ชาวพื้นเมืองก่อกบฏ เขาจะสั่งทหารไปปราบอย่างเหี้ยมโหดแล้วนำชิ้นส่วนของร่างกายไปเดินขบวนผ่านหมู่บ้านต่างๆ เป็นการขู่ไม่ให้ชาวบ้านกล้าลุกฮือ
.
อีกผลงานที่ไม่พูดถึงไม่ได้คือ การเป็นผู้ริเริ่มนำทาสข้ามมหาสมุทรแอตแลนติกคนแรก และนั่นคือจุดเริ่มต้นของการค้าทาสข้ามมหาสมุทรแอตแลนติก (Trans-Atlantic Slave Trade) ในภายหลัง เพียงแต่ทาสรุ่นบุกเบิกของโคลัมบัสยังไม่ใช่ชาวแอฟริกันที่ถูกซื้อตัวมา เพราะพวกเขาคือชาวอินเดียนจากแคริบเบียนที่ถูกขนลงเรือไปใช้แรงงานในแผ่นดินแม่สเปนถึง 5 ครั้งระหว่างปี 1494-1500 แต่ละครั้งทาสหลายร้อยคนจะถูกจับยัดลงไปใต้กราบเรือจนอัดแน่น ทาสที่พวกลูกเรือมองว่าใช้งานไม่ได้หรือป่วยจะถูกโยนทิ้งลงทะเลอย่างไม่ใยดี
.
ผู้ตั้งรกรากชาวสเปนในอาณานิคมเองก็ต้องเผชิญกับอำนาจของนักสำรวจอำมหิตเช่นกัน แม้จะไม่ร้ายแรงเหมือนชาวอินเดียน มีรายงานว่าหญิงชาวสเปนคนหนึ่งถูกถอดเสื้อผ้าประจานในที่สาธารณะแล้วตัดลิ้นเพียงเพราะเธอนินทาโคลัมบัสและพี่น้องของเขา เด็กชายอีกคนยังถูกจับมือตอกตะปูในที่สาธารณะหลังเขาแอบไปจับปลาในแม่น้ำแห่งหนึ่ง
.
ในปี 1500 เสียงร้องเรียนถึงความโหดเหี้ยมและการปกครองอันไร้ประสิทธิภาพของโคลัมบัสแพร่ไปถึงหูของกษัตริย์เฟอร์ดินานด์และราชินีอิซาเบลลา ทั้งสองจึงส่งขุนนางนาม ฟรานซิสโก เด โบบาดิญ่า (Francisco de Bobadilla) ให้มารับตำแหน่งอุปราชแห่งฮิสปันโยลาแทน ส่วนโคลัมบัสถูกสั่งปลดและโดนจองจำในสเปนเป็นเวลาหกสัปดาห์ เขาไม่มีโอกาสได้ปกครองดินแดนอีกต่อไปแถมยังเสียยศฐาบรรดาศักดิ์ที่สั่งสมมา และเสียชีวิตลงในปี 1506
.
ทุกวันนี้เรื่องราวความโหดเหี้ยมและผลงานที่โคลัมบัสได้ทิ้งในแคริบเบียนเป็นที่รู้กันในหมู่สาธารณชนมากขึ้น ชาวอเมริกันต่างเติบโตมากับเรื่องราวอันน่าอัศจรรย์ใจเกี่ยวกับโคลัมบัส แต่เริ่มมีการตระหนักรู้ถึงอาชญากรรมต่อมนุษยชาติที่เขาได้กระทำลงไป ปัจจุบันหลายรัฐในสหรัฐอเมริกาได้เปลี่ยนชื่อวันที่ 12 ตุลาคม อันเคยเป็น ’วันโคลัมบัส’ ให้เป็น ‘วันชนพื้นเมือง’ (Indigenous People’s Day) เพื่อรำลึกถึงชะตากรรมของเหยื่อชาวพื้นเมืองที่จากไประหว่างการปกครองนองเลือดโดยนักสำรวจผู้นี้
.
แม้จะมีผู้ถกเถียงว่าการกระทำของโคลัมบัสเป็นเรื่องธรรมดาของยุคสมัยนั้น แต่เรื่องราวของผู้ที่ต่อต้านระบบทาสและเสียงร้องเรียนถึงความทารุณของโคลัมบัสในยุคนั้นต่างช่วยยืนยันว่า
.
สิ่งที่โคลัมบัสได้กระทำไปนั้นยังโหดเหี้ยมเกินกว่าคนร่วมสมัยเดียวกันจะยอมรับได้.
.
.
เรื่อง : อันโตนิโอ โฉมชา
ภาพประกอบ : เพ็ญนภา บุปผาเจริญสุข
.
.
อ้างอิง
.
#คริสโตเฟอร์โคลัมบัส #การค้นพบอเมริกา #จักรวรรดิสเปน #โลกใหม่ #ชาวทาอิโน #การสั่งหารหมู่ชาวอินเดียน #ฮิสปันโยลา #gypzyworld
///////////
โฆษณา