21 พ.ค. 2020 เวลา 10:53 • ท่องเที่ยว
Egypt .. Abu Simbel Temple (A1) Egypt : วิหารอาบูซิมเบล อียิปต์
มหาวิหารอาบูซิมเบล (Abu Simbel Temple) .. เป็นมหาวิหารที่ประกอบขึ้นจากหินขนาดใหญ่สองก้อน สร้างระหว่างปี 1264-1244 หรือ 1244-1224 ก่อนคริสตกาลในสมัยอาณาจักรใหม่ (New Kingdom) แห่งอียิปต์ โดยฟาโรห์รามเสสที่ 2 ( Ramses II ) ในราชวงค์ที่ 19 และเสร็จสมบูรณ์ในอีก 20 ปีต่อมา รู้จักกันในนาม "วิหารแห่งรามเสสอันเป็นที่รักของเทพเจ้าอามูน"
4
ปัจจุบันตั้งอยู่ในแคว้นนูเบีย ในการปกครองของรัฐอัสวาน ใกล้ชายแดนประเทศซูดาน … มหาวิหารตั้งอยู่ทางฝั่งตะวันตกของทะเลสาบนัสเซอร์ กลุ่มมหาวิหารนี้เป็นส่วนหนึ่งของมหาวิหารที่ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรม จากองค์การยูเนสโก มีชื่อเป็นทางการว่า "Nubian Monuments from Abu Simbel to Philae" (อนุสรณ์สถานแห่งนูเบีย จากอาบูซิมเบล ถึงฟิเลห์)
วิหารอาบูซิมเบลเมื่อแรกสร้าง คงจะสามารถเข้าถึงได้เพียงการล่องเรือเข้ามาทางแม่น้ำ และเข้ามาได้เฉพาะบุคคลที่ได้รับอนุญาตเป็นพิเศษ ส่วนคนธรรมดาคงต้องสักการะอยู่ห่างๆ หรืออาจะได้รับอนุญาตในช่วงเวลาพิเศษที่กำหนดไว้
1
วิหารอาบูซิมเบล แม้จะมีขนาดใหญ่โตมาก แต่เมื่อเวลาผ่านไป … แต่ในช่วงราวศตวรรษที่ 6 ก่อนคริสตกาล มหาวิหารก็ถูกทิ้งร้าง ตกอยู่ในสภาพที่ทรุดโทรม และถูกหลงลืมอย่างยาวนาน กระแสน้ำพัดโคลนตมและทรายมากลบวิหารจนมิด รูปแกะสลักขนาดยักษ์ขององค์ฟาโรห์ทั้งสี่ ถูกกลืนกินโดยทรายจากทะเลทรายซาฮาร่า ที่พัดมากลบทีละเล็กละน้อยตลอดระยะเวลานับพันๆ ปีจนมิดเกือบทั้งหลัง
จนกระทั่งปี ค.ศ. 1813 เมื่อนักประวัติศาสตร์ที่ศึกษาเกี่ยวกับวัฒนธรรมตะวันออกชาวสวิสเซอร์แลนด์ คือ โจฮัน ลุควิก เบิร์คฮารด์ต์ หรือ (เจแอล เบิร์คฮารดต์) ค้นพบส่วนบนของฟรีส (ลวดลายสลักใต้ชายคาของสิ่งก่อสร้าง)
โจฮันได้เล่าถึงการค้นพบของเขาให้แก่ จิโอวานนี่ บาติสต้า เบลโซนี่ นักสำรวจชาวอิตาลีผู้ที่เดินทางไปยังจุดค้นพบ แต่ก็ไม่สามารถขุดไปยังทางเข้าของมหาวิหารได้ เขาได้กลับไปอีกครั้งในปี ค.ศ. 1817 ... และประสบความสำเร็จและในการเข้าไปยังมหาวิหาร .. กลับออกมาพร้อมกับสมบัติล้ำค่า หรือสมบัติที่สามารถแบกติดตัวได้ ออกมาด้วย
"อะบูซิมเบล" มาจากชื่อของเด็กท้องถิ่นที่เคยนำชมมหาวิหารในช่วงที่มีการสำรวจในครั้งต่อมา และเป็นผู้ค้นพบส่วนที่ถูกฝังของมหาวิหาร จากการที่ทรายได้เคลื่อนตัวเผยให้เห็นส่วนที่เหลือ กระทั่งท้ายที่สุดได้มีการเรียกชื่อมหาวิหารตามชื่อเด็กคนนั้น
ต่อมาเมื่อราว ค.ศ. 1964 ก็หวุดหวิดจะสาบสูญอีกครั้งหนึ่ง คราวนี้จะจมลงไปใต้น้ำ เพราะหลังจากอียิปต์สร้างเขื่อนกั้นน้ำอัสวานแล้ว น้ำในทะเลสาบนัสเซอร์สูงขึ้น ต้องหาทางช่วยยกขึ้นหนีน้ำ
2
ปี 1964 มีการเคลื่อนย้ายวิหารนี้จากชายฝั่ง ยกสูงขึ้นกว่าเดิม 65 เมตร …โดยความช่วยเหลือจากยูเนสโก โดยการจ้างคณะวิศวกร และคนงานออกแบบตัดวิหารออกเป็น 1,050 ส่วน แต่ละส่วนหนักเป็นสิบๆ ตัน แล้วยกขึ้นไปประกอบกันใหม่สูงจากระดับเดิมถึง 215 ฟุต โดยสร้างภูเขาเทียมรูปโดม (เป็นโพรงด้านใน) ด้วยคอนกรีตเสริมใยเหล็กให้เหมือนเดิมทุกประการ แล้วเอาชิ้นส่วนที่ตัดมาประกอบเข้าทั้งภายนอกและภายใน เหมือนจริงมาก แม้รอยต่อระหว่างชิ้นก็มองไม่เห็น ใช้งบประมาณในการย้ายไปเกือบ 40 ล้านเหรียญสหรัฐ จากความช่วยเหลือของเยอรมัน สวีเดน ฝรั่งเศส สเปน และอเมริกา
“อาบูซิมเบล” เป็นวิหารที่สวยงามที่สุดแห่งหนึ่งของอียิปต์ อยู่ใกล้เขตแดนประเทศซูดาน มีขนาดใหญ่มาก ประกอบด้วย 2 วิหาร
วิหารใหญ่ ขนาด 38 x 31 เมตร.. สร้างขึ้นสำหรับองค์ฟาโรห์รามเสสที่ 2 ด้วยคติความเชื่อที่ว่า ฟาร์โรห์ เป็นเทพเจ้าที่มีชีวิต (Devine Beings) และเป็นบุตรของเทพเจ้า เรย์ รวมถึงเป็นร่างที่มีชีวิตของเทพฮอรัส เพียงแค่ไม่สามารถแสดงปาฏิหารย์ได้
1
ด้านหน้าของสถานที่แห่งนี้ … มีรูปหินแกะสลักของฟาโรห์ Ramses II นั่งบนบัลลังก์ 4 องค์ เรียงกันข้างละ 2 องค์มือทั้งสองวางบนตัก หันหน้าไปทางแม่น้ำ ตรงกลางเจาะเป็นประตูทางเข้า
รูปพระองค์สวมมงกุฎของสองดินแดนตรงกลางมงกุฎมีรูปงูเห่า (Upper & Lower Egypt) สร้างไว้สูงถึง 21 เมตร (ไกด์ของเราบอกว่า หากสังเกตให้ดี รูปพระพักตร์ของฟาร์โรรามเสสที่ 2 คล้ายกับลักษณะของชาวนูเบีย ซึ่งอาจจะด้วยเหตุผลทางการเมือง ที่ต้องการแสดงให้เห็นว่า พระองค์กับชาวนูเบียนเป็นพวกเดียวกัน) .. อาจจะเพราะต้องการแสดงอำนาจเหนืออาณาจักรคูซ (Kush) ซึ่งมีอิทธิพลมากทางอียิปต์ตอนบนอีกทั้งต้องการให้ผู้คนได้เห็นว่า พระองค์มีบารมีเพราะได้รับการปกป้องจากสุริยะเทพที่ผู้คนกราบไหว้
มีคำจารึกบนไหล่ของรูปสลักรามเสสที่ 2 จากซ้ายไปขวา ดังนี้ The sun of the rulers .. The ruler of the two lands .. The beloved of Amun .. และ The beloved of Atum.
วิหารแห่งนี้จึงสร้างถวายแด่เทพเจ้ารา-ฮอรัคตี้ (Ra-Horakhty) ซึ่งรูปสลักของเทพเจ้ารา-ฮอรัคตี้ ที่ลอยเด่นเหนือขนาบรูปปั้นของกษัตริย์ทั้งสองด้าน เหนือทางเข้าวิหารแห่งรามเสสนี้ .. ในมือด้านขวาขององค์เทพเจ้าถือหัวของสุนัขจิ้งจอก ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของอำนาจ (User) มือซ้ายถือรูปปั้นของเทพีแห่งความยุติธรรม คือ เทพี แมท
ตรงกลางเจาะเป็นประตูทางเข้า ที่เท้าแกะสลักเป็นรูปพระมารดา พระราชินีและโอรสธิดาอีก 8 องค์ ด้านล่างมีภาพแกะสลักแสดงถึงชัยชนะของพระองค์ต่อศัตรู เช่น นูเบีย ลิเบีย และฮิตไทต์ รวมถึงภาพเทพเจ้าผู้คุ้มครอง และพลังอำนาจ
ด้านบนสุดของประตูทางเข้าหลัก มีรูปสลักของลิงบาบูนที่นั่งรอต้อนรับแสงแรกของสุริยะเทพ เชื่อกันว่า .. ลิงบาบูนทีอยู่ในท่ายืนและชูมือสองข้างต้อนรับพระอาทิตย์ยามเช้านั้น เรียกว่า Solar Apes ส่วนลิงบาบูนที่เป็นสัญลักษณ์ของเทพเจ้า Thoth จะอยู่ในท่านั่ง และเอามือวางไว้บนเข่า
ฉันพยายามชะเง้อดูลักษณะของลิงบาบูนที่เห็นอยู่ข้างบนไกลๆ แต่มองไม่ชัด เลยทึกทักว่าคงจะเป็น Solar Apes
The Great Hypostyle Hall .. ตรงเหนือประตูทางเข้า มีรูปสลักของเทพเหยี่ยว รูปของ Ramses II ยืนตรงข้างละ 4 องค์ ตามผนังเขียนประวัติด้วยภาษา Hieroglyphics ถึงพระราชกรณียะกิจของพระองค์ บนเพดานหินมีการสลักรูปเทพโอริซิส ฝาผนังทุกด้าน ถูกแกะสลักเป็นรูปฟาโรห์รามเสสที่สอง
มีรูปสลักเทพเจ้าแห่งแม่น้ำไนล์มีดอกบัวและดอกปาปิรุสเข้าด้วยกัน อันมีความหมายถึงการรวม 2 อาณาจักรเข้าด้วยกัน
The first Pillared Hall of the Great Temple
เพดาน .. มีรูปนกแร้งอยู่เต็มเพดานตรงกลางโถง และตัวคั่นด้วยป้ายพระนาม (Cartouche) ของรามเสสที่ 2 ส่วนเพดานด้านข้างเป็นรูปดวงดารา
1
โถงชั้นนี้มีรูปปั้นขนาดใหญ่ 8 อัน ด้านละ 4 อัน ซึ่งว่ากันว่า คือรูปปั้นเทพที่มือทั้งสองไขว้ไว้บนอก คือรามเสสที่ 2 ในอีกสภานะที่เป็นเทพแห่งโลกใต้พิภพ (God of the underworld) หรือเทพโอซิริส นั่นเอง .. รูปปั้นด้านซ้ายสวมมงกุฎของ Upper Egypt รูปปั้นด้านขวาสวมมงกุฎ Lower Egypt
ด้านหลังของรูปปั้นแต่ละอัน จะมีภาพของรามเสสที่ 2 พระนางเนเฟอตารี และเจ้าหญิง บินทาแนท ในท่วงท่าที่กำลังถวายเครื่องสักการะต่อเทพเจ้า
ผนังในโถงนี้เต็มไปด้วยภาพวาดของรามเสสที่ 2 ในเครื่องแต่งกายนักรบ สื่อถึงความเป็นผู้พิทักษ์อาณาจักรอียิปต์
1
"Pharaoh smiting the enemy" หรือภาพ "ฟาโรห์ง้างคทาฟาดข้าศึก" .. ฟาโรห์จับศีรษะของศัตรูด้วยมือข้างหนึ่ง โดยที่มืออีกข้างกำลังง้างคทาเตรียมฟาดลงไปแบบไม่ยั้ง มักจะเป็นภาพที่เราเห็นบ่อยๆในศิลปะอียิปต์โบราณตลอดช่วงประวัติศาสตร์ 3,000 ปี ทั้งนี้เพื่อแสดงถึงอำนาจของฟาโรห์
ที่พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติที่กรุงไคโร ก็จะมีภาพ"จานสีของฟาโรห์นาร์เมอร์" อายุราว 5,000 ปี ที่ฟาโรห์อยู่ในลักษณะท่าทางของการง้างคทาเช่นกัน
ภาพของกษัตริย์กำลังจะซัดหอกใส่ศตรู คือ พวก ลิเบียน
ภาพของรามเสสที่ 2 พร้อมสัตว์เลี้ยงของพระองค์ คือ สิงโต กำลังขับพวกนูเบียน เข้าไปสู่เงื้อมมือของเทพเจ้าอามูน
ถัดจากห้องโถงใหญ่ มีห้องย่อยออกไปทั้งสองข้าง บนผนังรอบๆห้อง ปรากฏภาพสลักมากมาย แสดงภาระกิจขององค์ฟาร์โรห์ในด้านต่างๆ ทั้งการปกครอง การแผ่พระราชอำนาจ การศาสนา และภาพองค์ฟาร์โรห์กำลังถวายเครื่องสักการะแด่เทพต่างๆ
The small pillared Hall of the Great Temple
ห้องโถงมีขนาดเล็กกว่าด้านนอก มีเสาแค่ 4 ต้น และในสมัยโบราณจะมีแค่นักบวชเท่านั้นที่เข้ามาถึงจุดนี้ ในห้องนี้จะไม่มีภาพเกี่ยวกับการรบพุ่งทำสงคราม เป็นบริเวณที่ใช้ประกอบพิธีกรรม
มีภาพของฟาโรห์ได้รับการต้อนรับโดยเทพเจ้าต่างๆ … ภาพฟาโรห์ถวายช่อดอกไม้ อันเป็นสัญลักษณ์ของชีวิตและการฟื้นฟู
1
The Vestibule of the Great Temple
ห้องนี้สามารถดูการใช้สอยได้จากภาพบนผนังด้านต่างๆ ได้แก่ ฟาโรห์ถวายสักการะแด่เทพเจ้าด้วยสิ่งของต่างๆ เช่น ไวน์ ธูป ขนมปัง ดอกไม้ เป็นต้น แสดงถึงความสัมพันธ์ที่ลึกซึ้งระหว่างอาณาจักรและศาสนจักรในสมัยอียิปต์โบราณ โดยมีฟาร์โรห์อยู่ตรงกลาง เพื่อเป็นสื่อเชื่อมทั้งสองอาณาจักร
1
.. คือเชื่อมเทพเจ้ามายังประชาชน และจากประชาชนสู่เทพเจ้า
The Sanctuary ห้องศักดิ์สิทธิ์ ..
ห้องนี้เป็นสถานที่ที่นักบวชชั้นผู้ใหญ่ และฟาโรห์เท่านั้นที่เข้ามาได้ … นักบวชจะเข้ามาจุดธูปบูชา สวดมนต์ และดำเนินพิธีกรรมต่างๆต่อหน้าเทพเจ้า เป็นในเชิงสัญลักษณ์ถึง ความสามารถของฟาร์โรห์ และความรับผิดชอบของฟาโรห์ในการรักษาความเรียบร้อยของบ้านเมืองผ่านเทพเจ้า
ภายในห้องศักดิ์สิทธิ์ มีรูปหินแกะสลัก 4 ของทำเจ้าองค์ประดิษฐานอยู่ คือ เทพเจ้า ptah .. Amun-Re .. Ramses II (ในฐานะ divine beings เทพเจ้าที่มีชีวิต) .. Re-Horakhty
ในแต่ละปีจะมีอยู่ 2 วันคือวันที่ 21/22 มีนาคม และ 21/22 กันยายน เวลา 5.58 น. แสงอาทิตย์จะส่องผ่านประตูทางเข้ามา ส่องแสงไปที่ Amon และ Ramses II ก่อน แล้วจะค่อยๆเลื่อนไปที่ Hamakis จะส่องสว่างอยู่ประมาณ 20 นาที โดยจะไม่มีแสงส่องไปที่เทพเจ้า Ptah เลย เพราะเทพเจ้า Ptah คือเทพเจ้าแห่งความมืด
มีความพยายามที่จะคาดเดาความเกี่ยวพันของวันเหล่านี้กับเหตุการณ์ต่างๆในช่วงชีวิตของรามเสสที่ 2 เช่นวันที่พระองค์ขึ้นครองราชย์ หรือวันประสูติ … อย่างไรก็ตามนี่เป็นเพียงการคาดเดาเท่านั้น
ฟาโรห์รามเสสที่ 2 มหาราช (Ramses II)
หลังจากฟาโรห์โฮเรมเฮปสวรรคต ขุนทหารของพระองค์คนหนึ่งได้ทำการยึดอำนาจและขึ้นเป็นฟาโรห์รามเสสที่ 1 และเป็นฟาโรห์องค์แรกของราชวงศ์ที่ 19 ซึ่งเป็นราชวงศ์ที่มีชื่อเสียงที่สุด และฟาโรห์ที่โด่งดังที่สุดของราชวงศ์นี้ก็คือ ฟาโรห์รามเสสที่ 2 ผู้เป็นโอรสของฟาโรห์เซติที่ 1
ฟาโรห์รามเสสที่2 ครองราชย์ในปีที่ 1278 - 1212 ปี ก่อน ค.ศ. พระองค์ทรงเป็นนักปกครองที่ทรงความสามารถและนักรบที่เก่งกาจ ในสมัยของพระองค์ อียิปต์ เจริญรุ่งเรืองและมั่งคั่งจากการค้า ทำให้มีการก่อสร้างเทวะวิหารและอนุสาวรีย์มากมายเพื่อแสดงถึงความยิ่งใหญ่ของพระองค์โดยที่โด่งดัง มากที่สุดคือ มหาวิหารอาบูซิมเบลซึ่งแกะสลักเป็นรูปของพระองค์และพระราชินีเนเฟอร์ตารี มเหสีของพระองค์
นอกจากนี้ฟาโรห์รามเสสที่2 ยังได้ปราบปรามชาวนูเบียทางตอนใต้จนยอมสวามิภักดิ์และได้ขยายอำนาจเข้าไปในเอเชียโดยปราบปรามชนเผ่าต่างๆจนราบคาบ จากการ ขยายอำนาจครั้งนี้เองทำให้จักรวรรดิอียิปต์ต้องปะทะกับจักรวรรดิฮิตไตท์ซึ่งเป็นมหาอำนาจแห่งตะวันออกกลางในเวลานั้น
ชาวฮิตไตท์ (Hittite) ตั้งถิ่นฐานบนคาบสมุทรอนาโตเลีย ปัจจุบันคือประเทศตุรกี มีความสามารถในการหลอมโลหะ และเป็นพวกแรกที่นำเหล็กมาใช้ อันที่จริงแล้วนับแต่ยุคของอัคเคนาตัน ทางอียิปต์กับฮิตไตท์ก็มีการกระทบกระทั่งมาตลอดเนื่องจากฝ่ายฮิตไตท์ได้ กำราบไมตานนีพันธมิตรของอียิปต์และต่อมาหลังจากตุตันคาเมนสวรรคตลง พระนางแองคลีเซนปาเตนหรืออนัคซูนามุน ได้ส่งสาส์นไปขอโอรสกษัตริย์ฮิตไตท์มาอภิเษกด้วยแต่กลายเป็นว่าเจ้าชายฮิตไตท์กลับถูกลอบสังหารในอียิปต์สร้างความตึงเครียดให้สูงขึ้น
ในสมัยของรามเสสที่2 ทั้งสองฝ่ายพยายามเข้ามามีอิทธิพลในปาเลสไตน์และซีเรีย ทำให้กองทหารของฮิตไตท์และอียิปต์มีการกระทบกระทั่งกันบ่อยขึ้น ในที่สุดเพื่อคงความยิ่งใหญ่ของอียิปต์ไว้ ฟาโรห์รามเสสที่2 จึงตัดสินใจทำสงครามยึดครองเมืองคาเดซและขับไล่กองทหารฮิตไตท์ออกจาก ซีเรียและปาเลสไตน์ ทางฝ่ายฮิตไตท์ กษัตริย์มุลวาตาลลิส (Mulwatallis) ซึ่งทราบดีว่าสักวันหนึ่งสงครามต้องเกิดขึ้น จึงเคลื่อนกองทัพมารออยู่แล้ว
ในปีที่ 1286 ก่อนคริสตศักราช ฟาโรห์รามเสสที่ 2 ก็ทรงนำกองทัพซึ่งประกอบด้วยทหารราบ 20,000 คน และรถศึก 2,500 คัน เข้าโจมตีกองทัพของมุลวาตัลลิสซึ่งมีรี้พลใกล้เคียงกัน ในการรบอันดุเดือด ท้ายที่สุดไม่มีฝ่ายใดได้รับชัยชนะอันเด็ดขาดทั้งสองฝ่ายต่างสูญเสียรี้พลและอาวุธ เป็นจำนวนมาก และหลังจากที่ มุลวาตัลลิสสวรรคต ทั้งสองฝ่ายจึงทำสัญญาสันติภาพระหว่างกัน โดยสนธิสัญญาฉบับนี้ถือว่า เป็นสนธิสัญญาสันติภาพฉบับแรกของโลก หลังจากนั้น กษัตริย์ฮิตไตท์ยังได้ส่งพระธิดามาอภิเษกกับฟาโรห์รามเสสที่2 เพื่อยืนยันในสันติภาพด้วย
โฆษณา