23 พ.ค. 2020 เวลา 12:27 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี
หน้าที่และความสำคัญของระบบน้ำเหลือง
(เรียบเรียง โดย มิติ เจียรพันธุ์)
ระบบน้ำเหลือง(lymphatic system) เป็นระบบสำคัญที่มีโครงข่ายกระจายอยู่ทั่วร่างกายของเรา หน้าที่หลักๆของมันเปรียบได้กับสัญญาณกันขโมยและหน่วยฝึกทหาร(เซลล์ภูมิคุ้มกัน) โดยอวัยวะที่เกี่ยวข้องคือ ท่อน้ำเหลืองและต่อมน้ำเหลือง รวมทั้ง ม้าม ต่อมไทมัส (ควบคุมรักษาระดับของเซลล์เม็ดเลือดขาวบางชนิด) ไขกระดูกและต่อมทอลซิล
ระบบน้ำเหลืองช่วยรักษาระดับของเหลวในเนื้อเยื่อไม่ให้มีมากเกินไป ด้วยการดูดซึมแล้วส่งกลับเข้าสู่กระแสเลือด ส่วนท่อน้ำเหลืองที่วิลไล (ส่วนที่คล้ายขนเส้นเล็กๆ ในลำไส้) ก็ช่วยการดูดซึมไขมันจากอาหารที่เรากินและผ่านการย่อยแล้ว
ภายในในท่อน้ำเหลืองมีลิ้นที่คอยควบคุมของเหลวภายในให้ไหลไปในทิศทางเดียวกัน และท่อน้ำเหลืองจะเปิดเข้าสู่เส้นเลือดบริเวณไหปลาร้า ก่อนที่จะไหลเข้าสู่กระแสเลือด ของเหลวเหล่านี้จะไหลผ่านต่อมน้ำเหลืองที่มีเม็ดเลือดขาวเพื่อคัดกรองไม่ให้แบคทีเรียผ่านไปได้
เครดิตผู้ที่ค้นพบระบบน้ำเหลืองนั้นยังเป็นที่ถกเถียงกันอยู่ ระหว่างนักวิทยาศาสตร์สองท่าน
ท่านแรกคือ Thomas Bartholin นักกายวิภาคศาสตร์ชาวเดนมาร์ก โดยเมื่อทราบข่าวการค้นพบท่อน้ำเหลืองในสุนัข เขาก็ผ่าศพนักโทษที่ได้รับมาเพื่อศึกษาในมนุษย์ และเผยแพร่การค้นพบระบบน้ำเหลืองในปี ค.ศ. 1652
Thomas Bartholin
ส่วนอีกท่านคือ Olof Rudbeck แพทย์และนักวิทยาศาสตร์ชาวสวีเดน เขานำเสนอการค้นพบระบบน้ำเหลืองแก่ราชินีคริสตีนา แห่งสวีเดนในปี ค.ศ. 1652 แต่เขียนรายงานเป็นลายลักษณ์อักษรในปีถัดมา (แน่นอนว่าเขียนเสร็จหลัง Bartholin)
Olof Rudbeck
เนื่องจากระบบน้ำเหลืองมีความเกี่ยวพันกับเนื้อเยื่อต่างๆ ในร่างกาย ทำให้บางครั้งระบบนี้ก็เป็นตัวกระจายเซลล์มะเร็ง จริงอยู่ที่ต่อมน้ำเหลืองช่วยดักจับเซลล์มะเร็งได้ แต่ถ้ามันกำจัดเซลล์นั้นไม่ได้ ต่อมน้ำเหลืองก็อาจจะกลายเป็นมะเร็งเสียเองซึ่งนับว่าเป็นโรคที่น่ากลัวมากจริงๆ
อ้างอิง
The Biology Book: From the Origin of Life to Epigenetics, 250 Milestones in the History of Biology
1
โฆษณา