24 พ.ค. 2020 เวลา 11:42 • สุขภาพ
"9 ดาวเด่น"หลังฉากโควิดในไทย!!!
ในสถานการณ์ระบาดของโรคโควิด-19หลายคนอาจจะรู้จักและชื่นชมชื่นชอบ "นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน" ในฐานะโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19(ศบค.)ด้วยว่าเจอหน้ากันเป็นประจำทุกวัน จากการแถลงข่าวเกี่ยวกับสถานการณ์โควิด-19 ที่ทำเนียบรัฐบาล เรียกได้ว่ามีแฟนคลับและแม่ยกมากมาย
ล่าสุด มีการเปิดตัวผู้ช่วยโฆษกศบค.สาวสวยดีกรีเป็นถึงนางสาวไทย "พญ.พรรณประภา ยงค์ตระกูล"ที่กำลังได้รับการจับตาจากคนไทย ซึ่งทั้ง 2 ท่านนับเป็น"ดาวเด่นหน้าม่าน"
แต่สำหรับคนที่คลุกคลีติดตามทำข่าวโควิด-19มาตั้งแต่ต้น ช่วงที่ยังไร้ชื่อ โดยเรียกว่า ปอดอักเสบไม่ทราบสาเหตุ จนขยับมาเป็น โรคปอดอักเสบจากไวรัสโคโรนา กระทั่งมีชื่อทางการในภาษาไทยว่า โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา2019(โควิด-19) รู้ดีว่าในการทำงานนั้นมี "ดาวเด่นหลังฉาก" หรือบุคคลที่อาจจะไม่ได้อยู่หน้าม่านอย่างสม่ำเสมอ
"นอกวงข่าว"ขอรวบรวมมาเฉพาะในสายสาธารณสุขอย่างน้อย "4คน 5ทีม"
ช่วงเริ่มต้นนั้น การให้ข่าวเกี่ยวกับโรคนี้ ซึ่งถือเป็นโรคติดต่ออุบัติใหม่ เพราะไม่เคยมีมาก่อนนั้น ดำเนินการโดยกระทรวงสาธารณสุข(สธ.)เป็นหลัก ซึ่งจะมีการแถลงข่าวที่สธ.วันละ 2 ช่วงเวลา คือ 11.00 น. และ 15.00 น.จนเมื่อสถานการณ์ระบาดวงกว้างถึงมีการขยับไปแถลงที่ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19(ศบค.) ซึ่งมีคุณหมอทวีศิลป์เป็นโฆษก
ขณะที่แถลงข่าวที่สธ. ซึ่งมีการไลฟ์สดผ่านเฟศบุ๊คเพจกระทรวงสาธารณสุข บุคคลที่นับเป็นดาวเด่นที่แฟนคลับมีการเรียกหาและร้องขอให้มาเป็นผู้ให้ข่าวและข้อมูลอยู่เสมอ เรียกได้ว่า วันไหนหายหน้าไปก็จะมีการถามถึงว่า "ท่านไปไหน" ก็คือ "นพ.ธนรักษ์ ผลิพัฒน์" รองอธิบดีกรมควบคุมโรค ซึ่งเป็นแพทย์เฉพาะทางด้านระบาดวิทยา และเติบโตมาจากสายงานนี้โดยเฉพาะ เคยเป็นผู้อำนวยการกองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรคมาก่อน
ผ่านประสบการณ์ในการควบคุมโรคระบาดที่เป็นโรคอุบัติใหม่มาอย่างโชกโชน อาทิ ซาร์ส ไข้หวัดนก ไข้หวัดใหญ่2009 หรือโรคเมอร์ส เป็นต้น
ด้วยประสบการณ์การรับมือกับโรคระบาด บวกกับการจบเฉพาะทางด้านระบาดวิทยาโดยตรง ทำให้การให้ข้อมูลของ "คุณหมอแก้ว ธนรักษ์" ในช่วงเวลาที่ทั่วโลกยังมีข้อมูลเกี่ยวกับโรคนี้ไม่มาก ช่วยสร้างความใจต่อสถานการณ์โรคที่เกิดขึ้นจริงให้ประชาชนรับรู้ได้เป็นอย่างดี รวมถึง การสื่อสารตวามเสี่ยงของคนไทยในแต่ละช่วงเวลา และแนะนำแนวทางการป้องกันตัวได้อย่างชัดเจน
ที่สำคัญ!!! คุณหมอแก้ว ยังเป็นแพทย์ไทยที่ออกมาให้สัมภาษณ์ว่า "เป็นไปได้ที่โรคนี้จะติดต่อจากคนสู่คน"ในจังหวะที่ประเทศจีนยังไม่มีการยืนยันในเรื่องนี้แต่อย่างใด ก่อนที่อีก1-2วันต่อมาจีนจึงประกาศว่า "โรคนี้ติดต่อจากคนสู่คน"
ควบคู่มากับอีกท่านที่แฟนๆถามหาไม่ต่างกัน คือ "นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร" ผู้อำนวยการกองโรคติดต่อทั่วไป ในฐานะผู้บัญชาการศูนย์ภาวะการณ์ฉุกเฉิน(EOC) กรมควบคุมโรค ซึ่งเป็นแพทย์เฉพาะทางระบาดวิทยา จึงได้รับมอบหมายให้ทำหน้าที่บัญชาการเกตุการณ์ ตั้งแต่การคัดกรองผู้เดินทางเข้าไทย จนการตรวจยืนยันเชื้อ การสอบสวนโรค จนประสานโรงพยาบาบในการเข้ารักษา
ซึ่งนพ.โสภณเคยบอกกับ "นอกวงข่าว"ว่า "ต้องทำงานตลอด24ชั่วโมง บางวันต้องตื่นมารับโทรศัพท์ตอนตี2ตี3 เพราะมีไฟลท์บินมาถึงช่วงเวลานั้นและมีผู้ต้องสงสัย ทำให้ต้องประสานรพ.ในการส่งตัวเข้ารับการตรวจ"!!!
เพราะเป็นผู้บัญชาการเหตุการณ์ ทำให้เป็นบุคคลที่รู้ความเป็นไปของสถานการณ์โรตในประเทศไทยที่รอบด้านที่สุด โดยเฉพาะเมื่อมีกรณีผู้ต้องสงสัย หรือผู้ติดเชื้อเกิดขึ้น เรียกได้ หากต้องการผลการสอบสวนโรคและการติดตามเฝ้าระวังผู้สัมผัสเสี่ยงเป็นใคร อย่างไร ต้องสอบถามจากคุณหมอโส เรียกได้ว่าเป็นบุคคลที่ "ถามอะไร ตอบได้ และข้อมูลชัดเจน"
นพ.โรม บัวทอง แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านระบาดวิทยา กรมควบคุมโรคเจ้าของฉายา "ผู้พยากรณ์" หัวหอกคนสำคัญในการเป็นหัวหน้านำทีมคัดกรองผู้เดินทางที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ตั้งแต่เมื่อวันที่ 3 มกราคม 2563 ช่วงต้นการระบาดของโรคในประเทศจีน โดยในช่วงที่สังคมออนไลน์มีการวิพากษ์วิจารณ์ว่าประเทศไทยค่อนข้าง"หลวม"ในการคัดกรอง
ก็มีผู้ใช้เฟซบุ๊คออกมาเปิดเผยภาพนพ.โรม ขณะทำงานที่ด่านควบคุมโรคท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ พร้อมข้อความว่า "53 ไฟลท์ที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ เดินวันละเป็นหมื่นๆก้าว" ซึ่งเป็นการสะท้อนถึงความทุ่มเทการทำงานในการคัดกรองผู้เดินทางของเจ้าหน้าที่
และว่ากันว่า นพ.โรม เป็นผู้ชี้เป้าว่า "หญิงชาวจีนคนนี้น่าสงสัยจะติดไวรัสอู่ฮั่น" หลังจากมีการคัดกรองอาการที่สนามบินสุวรรณภูมิแล้ว และส่งตัวเข้ารับการตรวจรักษาที่สถาบันบำราศนราดูร ก่อนที่ต่อมาจะได้รับการยืนยันจากแล็บว่า "ติดเชื้อจริง"
ดร.สุภาภรณ์ วัชรพฤษาดี รองหัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ รพ.จุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ซึ่งเป็นนักเทคนิคการแพทย์ และเป็นหัวหน้าทีมที่สามารถยืนยันได้ว่า "ประเทศไทยมีผู้ติดเชื้อไวรัสจากเมืองอู่ฮั่นเกิดขึ้น" โดยสามารถยืนยันได้ก่อนที่ประเทศจีนจะเผยแพร่รหัสพันธุกรรมให้นานาชาติรับรู้เพื่อใช้ในการตรวจเปรียบเทียบเชื้อถึง 2 วัน
ทำให้ประเทศไทยเป็นประเทศแรกนอกจีนที่สามารถตรวจยืนยันการพบผู้ติดเชื้อนอกจีนและประกาศอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 13 มกราคม 2563 เป็นหญิงชาวจีนที่เดินทางมาไทย
ดร.สุภาภรณ์ เคยให้สัมภาษณ์ว่า หลังจากที่กรมควบคุมโรค(คร.) ได้คัดกรองพบผู้เข้าเกณฑ์สงสัยต้องเฝ้าระวังที่สนามบินสุวรรณภูมิ และนำตัวเข้ารับการรักษาที่ห้องแยกโรคความดันลบสถาบันบำราศนราดูร และตรวจเชื้อเบื้องต้นไม่พบเชื้อที่ก่อโรคระบบทางเดินหายใจ 33 ชนิดที่รู้จักมาก่อน จึงส่งตัวอย่างเชื้อให้ศูนย์ฯทำการตรวจ โดยระบุโจทย์ว่า “สงสัยจะเป็นโรคใหม่ในจีน ซึ่งไม่รู้โรคอะไร”
ศูนย์ดำเนินการตรวจมุ่งไปที่ไวรัส 2 ตระกูล คือ โคโรน่า และอินฟลูเอนซา เนื่องจากช่วงเวลานั้นจีนยังไม่เปิดเผยว่าเป็นไวรัสตระกูลโคโรน่า โดยใช้วิธีพิเศษเพราะการตรวจวิธีปกติไม่สามารถตรวจเจอเชื้อ คือ เพิ่มปริมาณไวรัสแบบทั้งตระกูล(Family wide PCR) แล้วถอดรหัสพันธุกรรม ซึ่งมีค่าใช้จ่ายสูงในการตรวจต่อ 1 ตัวอย่าง 1.2 แสนบาท ก่อนนำมาเปรียบเทียบรหัสพันธุกรรมจากธนาคารรหัสพันธุกรรมโลก
วันที่ 9 ม.ค.63 ไทยพบว่า เป็นเชื้อไวรัสตระกูลโคโรน่า แต่ไม่สามารถระบุสายพันธุ์ย่อยได้
แต่พบว่า มีความคล้ายคลึงกับเชื้อที่ก่อโรคซาร์ส เพราะไม่มีรหัสพันธุกรรมของสายพันธุ์นี้ในธนาคาร
กระทั่งหลังจากไทยพบลักษณะเชื้อเช่นนี้ 2 วัน ในวันที่ 11ม.ค.2563 ทางการจีนนำรหัสพันธุกรรมไวรัสสายพันธุ์ใหม่ที่พบในเมืองอู่ฮั่นใส่ในธนาคาร และระบุว่าเป็นไวรัสโคโรน่า สายพันธุ์ใหม่ 2019 ทำให้ไทยสามารถนำรหัสพันธุกรรมของไวรัสมาเทียบเคียงและพบว่าตรงกับที่ตรวจเจอจากผู้ป่วยชาวจีนในไทย
รวมถึง บุคคลต่างๆที่ทำงานในสถานการณ์โรคโควิด-19 ที่ทุ่มเททำงานอย่างเข้มข้น เข้มแข็ง อย่างเต็มที่ภายใต้ #ทีมไทย ทั้งทีมสอบสวนโรค
ทีมแพทย์พยาบาลที่ให้การดูแลรักษาผู้ป่วย ทีมห้องแล็บที่ทำหน้าที้ในการตรวจยืนยันเชื้อ
ทีมโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล(รพ.สต.)และอสม.ที่ทำหน้าที่เป็นด่านหน้าในการตรวจคัดกรองเฝ้าระวังประชาชนในชุมชน
เหล่านี้ล้วนถือเป็นบุคคลดาวเด่นในช่วงโควิด-19ทั้งสิ้น แม้จะไม่ได้ปรากฎอยู่หน้าฉากบ่อยครั้งก็ตาม
โฆษณา