27 พ.ค. 2020 เวลา 04:20 • ประวัติศาสตร์
ก่อนที่จะทำความรู้จักกับภาษาเจ๊ะเหอย่างลึกซึ้ง ตูนต้องคลายความสงสัยและข้อข้องใจเหล่านี้ก่อน
ทำไมภาษาเจ๊ะเหอยู่ในภาคใต้ แต่ไม่เหมือนภาษาใต้?
ทำไมภาษาเจ๊ะเหไม่ห้วน ไม่ทองแดง?
ทำไมภาษาเจีะเหมีคำศัพท์เฉพาะที่ไม่เหมือนภาษาถิ่นใต้ทั่วไป?
ภาษาเจ๊ะเหกับภาษาใต้ทั่วไป มาจากต้นกำเนิดเดียวกันหรือไม่?
คำตอบก็คือ ภาษาถิ่นใต้ทุกภาษามาจากต้นกำเนิดเดียวกัน แต่สิ่งที่่ทำให้ภาษาเจ๊ะเหนั้นมีความแตกต่างจากภาษาถิ่นใต้ในจังหวัดอื่นๆ เพราะเป็นภาษาเดียวที่เดินทางมาแบบสายตรง และเป็นการเดินทางที่ไกลมากจริงๆ
เจ มาร์วิน บราวน์ เป็นหนึ่งในนักภาษาศาสตร์ที่สนใจศึกษาวิจัยเรื่องภาษาถื่นใต้อย่างจริงจัง ผลการศึกษาของเค้าระบุชัดเจนว่า ภาษาถิ่นใต้ทั้ง 14 จังหวัดภาคใต้ มีต้นกำเนิดมาจากภาษาในสมัยสุโขทัย
แต่...เอ๊ะ ทำไมภาษาเจ๊ะเห จึงเป็นภาษาเดียวในภาคใต้ ที่มีสำเนียงการพูดที่ผิดแผก ผิดเพี้ยน หลุดโลกไปจากภาษาใต้ในถิ่นอื่นๆ เป็นอย่างมาก มาดูกันค่ะ
ภาษาถิ่นใต้วิวัฒนาการมาจากภาษาสุโขทัย ประมาณ ค.ศ.1300 และแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่ๆ คือ
กลุ่มที่ 1 กลุ่มนครศรีธรรมราช
กลุ่มที่ 2 กลุ่มตากใบ
กลุ่มนครศรีธรรมราช แบ่งออกเป็น 2 สาย คือสายไชยา กับสายนครศรีธรรมราช
สายไชยา ยังแบ่งย่อยออกเป็น 2 กลุ่ม
กลุ่มที่ 1 คือกลุ่มภาษาระนอง ภาษาไชยา จ.สุราษฎ์ธานี และภาษาหลังสวน สวี จ.ชุมพร
กลุ่มที่ 2 คือ ภาษาตะกั่วป่า จ.พังงา ภาษาภูเก็ต
กลุ่มที่ 3 คือ ภาษาเกาะสมุย
ส่วนสายนครศรีธรรมราช ก็ยังแบ่งออกเป็ 2 กลุ่มย่อย คือ กลุ่มนครศรีธรรมราช กับกลุ่มสงขลา
กลุ่มนครศรีธรรมราช แบ่งย่อยออกเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่
1. กลุ่มภาษากระบี่
2. กลุ่มภาษานครศรีธรรมราช ทุ่งสง ตรัง ควนขนุน จ.พัทลุง
3. กลุ่มภาษาหัวไทร ซึ่งเป็นอำเภอหนึ่งใน จ.นครศรีธรรมราช
กลุ่มสงขลา แบ่งออกเป็น 2 กลุ่มย่อย คือ
1. กลุ่มภาษาสงขลา และระโนด (ซึ่งเป็นอำเภอหนึ่งในสงชลา)
2. กลุ่มภาษายะลา ซึ่งแบ่งย่อยเป็น ยะละ และสตูล
คราวนี้มาดูอีกหนึ่งกลุ่มใหญ่ คือกลุ่มภาษาตากใบ
ภาษาตากใบ หรือภาษาเจ๊ะเห นั้นเป็นภาษาเดียวในภาคใต้ ที่มีวิวัฒนาการมาจากภาษาสุโขทัยโดยตรง เมื่อราว คศ.1400
นี่เป็นเหตุผลว่าทำไมภาษาเจ๊ะเหจึงมีสำเนียงที่ไม่เหมือนกับภาษาภาคใต้ในจังหวัดอื่นๆ ไม่ห้วน ไม่ทองแดง แต่กลับช้า เลื้อย อ้อยสร้อย เนิบๆ ไม่ทันใจใครหลายคน เป็นเพราะเราเป็นสายตรง ไม่ผ่านจังหวัดอื่นๆ ในภาคใต้มาเลยนั่นเอง
นั่นเป็นเพราะบรรพบุรุษของชาวภาษาเจ๊ะเหนั้นมาจากชนเผ่าไทลื้อ ที่ถูกส่งตัวมาตั้งภูมิลำเนาที่หัวเมืองในแหลมมลายู ในสมัยสมเด็จพระธรรมราชาที่ 2 สมัยสุโขทัย ภาษาของพวกเราจึงมีวิวัฒนาการมาจากภาษาสุโขทัยโดยตรง และที่สำเนียงของเราช้าๆ เลื้อยๆ เหมือนภาษาเหนือ ก็เป็นเพราะว่าชาวไทยลื้อมีภูมิลำเนาเดิมอยู่ที่ล้านนา หรือเชียงใหม่ เชียงราย แต่อพยพลงมาอยู่สุโขทัยในยุคกรุงสุโขทัยตอนปลาย
นี่คือการเดินทางอันยาวนานของภาษาเจ๊ะเห ตูนไม่อาจยืนยันได้ว่าข้อมูลเหล่านี้จริงแท้แค่ไหน เพราะศึกษามาจากงานวิจัยของชาวต่างประเทศ และเป็นสมัยที่เราทุกคนเองก็ยังไม่เกิด แต่อย่างน้อยก็ทำให้พวกเราภูมิใจในรากเหง้า ถิ่นกำเนิด ภาษาที่มีเอกลักษณ์เฉพาะ และหวังที่จะอนุรักษ์ไว้ให้นานที่สุดเท่าที่จะนานได้
โฆษณา