27 พ.ค. 2020 เวลา 07:00 • ประวัติศาสตร์
กว่าจะเป็น...เจ๊ะเหหวานเจี๊ยบ ตาปีนิ
การเข้ามาเรียนหนังสือและใช้ชีวิตในกรุงเทพเป็นเวลาสิบกว่าปี ทำให้บางครั้งเราลืมอะไรบางอย่างซึ่งเป็นรากเหง้าทางวัฒนธรมของเราไป ทั้งที่สิ่งนี้อยู่กับเรามาโดยตลอดนับตั้งแต่จำความได้ สิ่งนั้นก็คือ "ภาษาถิ่นบ้านเรา"
ด้วยความที่ภาษาเจ๊ะเห เป็นภาษาที่เล็กมากๆ น้อยคนนักที่จะรู้จัก จึงทำให้ยิ่งอยู่ห่างไกลจากบ้านมากเท่าไหร่ ก็ยิ่งไม่ได้ใช้ ไม่ได้พูดมากขึ้นเท่านั้น เพราะตูนมีความรู้สึกอายที่จะบอกใครๆ ว่าภาษาบ้านเราคือภาษาเจ๊ะเห ตูนกลัวที่จะต้องมาตอบคำถามว่าภาษานี้คือภาษาอะไร ทำไมเป็นภาษาในภาคใต้ แต่มีสำเนียงแปลกๆ ตูนกลัวการถูกหัวเราะเยาะในภาษาที่มีสำเนียงตลกๆ ตูนจึงเลี่ยงที่จะบอกทุกคนว่าที่บ้านตูนพูดภาษาอะไร
อยู่ที่กรุงเทพ ตูนไม่มีโอกาสได้พูดภาษาเจ๊ะเหกับใครเลย เพราะคนที่พูดภาษานี้จะไม่มีสำเนียงทองแดงเหมือนคนใต้ทั่วๆ ไป เราจึงมิอาจรู้ได้ว่าใครพูดเจ๊ะเหได้บ้าง ถ้าไม่ได้รู้จักกันแบบจริงจังจนถึงขั้นถามถึงภูมิลำเนาถิ่นฐานบ้านเกิด เพราะฉะนั้นตูนจึงใช้ภาษาเจ๊ะเหเฉพาะเวลาโทรศัพท์คุยกับครอบครัวญาติพี่น้อง และเวลาที่กลับไปเยี่ยมบ้านปีละ 2-3 ครั้ง เท่านั้น นั่นจึงทำให้ตูนคิดถึงภาษาเจ๊ะเหและเรื่องราวที่เป็นความทรงจำในวัยเด็กอยู่เสมอ
และแล้ววันหนึ่ง ขณะที่กำลังไล่ดูคลิปต่างๆ บนโลกยูทูบ ตูนได้เห็นายูทูบเบอร์บางคนพูดภาษาอีสาน ภาษาเหนือ ภาษาใต้ มันทำให้ตูนถึงกับต้องพิมพ์ค้นหาคำว่า "ภาษาเจ๊ะเห" ในยูทูบ และผลลัพธ์ที่ได้ก็คือคลิปการพูดจาภาษาเจ๊ะเหของคนในพื้นที่ แต่ไม่เป็นที่สนใจของคนทั่วไป เพราะคนส่วนใหญ่ฟังไม่ออก ประกอบกับระยะหลังๆ ตูนสังเกตเห็นได้ว่าเด็กรุ่นใหม่ๆ ในบ้านเรา ไม่นิยมพูดภาษาเจ๊ะเหกันแล้ว แต่หันมาพูดภาษาบางกอก หรือภาษากรุงเทพกันมากขึ้น ความคิดแรกที่แว้บออกมาจากสมองในตอนนั้นก็คือ ตูนอยากจะอนุรักษ์สืบสาน และเผยแพร่ภาษาเจ๊ะเหอย่างจริงจัง เพื่อเป็นคลังความรู้เล็กๆ ที่บอกเล่าถึงเสน่ห์และเอกลักษณ์ที่ไม่เหมือนใครของภาษาบ้านเรา
ช่องตาปีนิ จึงถือกำเนิดขึ้นมาบนโลกใบนี้ นับตั้งแต่บัดนั้น
ตาปี คือ ความหมายของสายน้ำตาปี เส้นเลือดใหญ่ที่หล่อเลี้ยงพื้นที่ด้ามขวานของประเทศไทย
นิ คือคำสร้อยในภาษาถิ่นใต้ ที่หลายคนคุ้นหู เช่น หรอยแรงนิ (อร่อยมาก)
ตา-ปี-นิ จึงเป็นอีกหนึ่งช่องทางที่ตูนตั้งใจอยากบอกเล่าเรื่องราวของภาษาเจ๊ะเห ภาษาเล็กๆ ที่ซ่อนตัวอยู่บนพื้นที่ปลายด้ามขวาน ผ่านความรู้สึก "คิดถึงบ้าน" ของตูนเอง
ส่วนคำว่าเจ๊ะเหหวานเจี๊ยบ ก็หมายถึง ความอ่อนหวานมีเสน่ห์ ของภาษาเจ๊ะเหนั่นเอง
ตูนดีใจที่คนบ้านเราเริ่มสนใจที่จะอนุรักษ์และสืบสานภาษาเจ๊ะเหมากขึ้น ส่วนคนที่อาศัยอยู่ในต่างถิ่นต่างแดนก็เริ่มรู้จักภาษาเจ๊ะเหจากช่องตาปีนิ จากคลิปเจ๊ะเหหวานเจี๊ยบมากขึ้น สิ่งที่ตูนทำอยู่ทุกวันนี้ ไม่ได้หวังให้ทุกคนพูดภาษานี้ได้ เพียงแค่ทุกคนรับรู้ว่าประเทศไทยของเราก็มีภาษานี้ ตูนก็ดีใจมากแล้ว หลายคนไม่รู้ด้วยซ้ำว่าภาษานี้มีวิวัฒนาการอันยาวนาน เป็นภาษาโบราณและเป็นรากเหง้าทางวัฒนธรรม
ขอบคุณสำหรับกำลังใจที่ส่งมาจากทุกช่องทางด้วยนะคะ ถ้าใครอยากเรียนรู้คำศัพท์ต่างๆ และเรื่องราวของภาษาเจ๊ะเห ตูนขอฝากช่องตาปีนิ ไว้ในหัวใจของทุกคนด้วยนะคะ https://www.youtube.com/channel/UCJNSV-9ivfeLMvkEPsd9uIA/about?view_as=subscriber
โฆษณา