29 พ.ค. 2020 เวลา 00:16 • ท่องเที่ยว
เลียบชุมชนเก่า เล่าเรื่องกรุงเทพ : บ้านโซวเฮงไถ่ บ้านประวัติศาสตร์สมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์
ชุมชนเก่าในกรุงเทพมหานคร เต็มไปด้วยเรื่องราวในอดีตที่น่าสนใจ น่าตามไปดูถึงความรุ่งเรืองที่เคยมีมาเมื่อวันวาน โดยที่จะมีอาคารสถานที่เก่าแก่มากระซิบเล่าเรื่อง เหมือนนิยายแห่งความหลังให้เราฟัง
One fine day ... เราได้ลัดเลาะเข้ามาในบริเวณตรอกแคบซอกเล็กซอยน้อยภายใน ตรอกศาลเจ้าโรงเกือก
“บ้านที่เป็นโรงเรียนสอนดำน้ำ อยู่ตรงไหนคะลุง?” .. ด้วยความไม่คุ้นเคยเส้นทาง เราจึงใช้วิธีถามผู้คนที่พักอาศัยในพื้นที่
หลังจากที่ได้ที่ตั้งอันเป็นหมุดหมายที่ต้องการ เราก็เดินทางต่อไปยังจุดหมาย … แต่ไม่ใช่จะไปเรียนดำน้ำหรอกนะคะ เรากำลังจะไปชมบ้านโบราณอายุกว่า 250 ปี สไตล์จีนในยุคแรกๆของกรุงรัตนโกสินทร์ที่ซ่อนเร้นจากสายตาของคนทั่วไปในใจกลางชุมชนที่เก่าแก่ที่สุดแห่งหนึ่งของกรุงเทพมหานคร
“บ้านโซวเฮงไถ่” เขียนด้วยตัวหนังสือจีนด้านหน้าประตูบ้าน บนกำแพงสีขาว-น้ำเงินซ้ายขวาประดับลวดลายจิตรกรรมแบบจีน หลังคามองเห็นเส้นสายสวยงาม ด้านบนประดับลายปูนปั้นอ่อนช้อย มีปูนปั้นเป็นลายตุ๊กตาลงสีสวยงาม อยู่ด้านหน้าด้วย
ชั่วขณะที่ส่งสายตาไปชื่นชมความงดงามนี้ ฉันรู้สึกเหมือนกำลังจะก้าวผ่านไทม์แมชีนเข้าสู่บรรยากาศเมื่อหลายร้อยปีก่อน
บ้านหลังนี้ตั้งอยู่ในบริเวณตลาดน้อย เขตสัมพันธวงศ์ กรุงเทพมหานคร สถาปัตยกรรมของบ้านเป็นแบบสไตล์จีนที่เรียกกันว่า "สี่เรือน ล้อม ลาน"
ผู้เป็นเจ้าของดั้งเดิม คือ “พระอภัยวานิช” นายอากรรังนกชาวจีนฮกเกี้ยน สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นราวปี พ.ศ. 2340 ต้นกรุงรัตนโกสินทร์ …ปัจจุบันเป็นที่พักอาศัยของทายาทที่สืบทอดกันมา ที่นี่ ยังเป็นที่ตั้งของโรงเรียนสอนดำน้ำและร้านกาแฟอีกด้วย
น่าสนใจหากจะตั้งคำถามว่า … อะไรที่ทำให้ คฤหาสน์จีนฮกเกี้ยนแบบโบราณหลังนี้ที่ผ่านร้อนผ่านหนาวมายาวนาน จากรุ่นบุกเบิกมาจนถึงรุ่นปัจจุบัน แต่ยังคงสืบทอดคุณค่าแห่งความเป็น ‘บ้าน’ ได้อย่างไม่เปลี่ยนแปร แม้รูปแบบและการใช้งานจะเปลี่ยนไป
เล่าขานตำนานของ “บ้านโซวเฮงไถ่”
ในสมัยบุกเบิก พื้นที่ด้านหน้าของ “บ้านโซวเฮงไถ่” เป็นท่าเรือที่อยู่ติดแม่น้ำเจ้าพระยาชื่อ “ท่าเรือโปเส็ง” .. เป็นท่าเรือสำเภาที่ติดต่อค้าขายกับจีน โดยมีสินค้าหลักเป็นรังนกที่รวบรวมจากภาคใต้ รวมไปถึงสินค้าอื่นๆ อย่างข้าวสาร
พระอภัยวานิช (เจ้าสัวจาด) บรรพบุรุษของตระกูลโปษยะจินดาซึ่งเคยดำรงตำแหน่งนายอากรรังนก สร้างบ้านโซว เฮง ไถ่แห่งนี้ขึ้นเพื่ออยู่อาศัยและดูแลกิจการท่าเรือ ในความคิดของคนจีนโพ้นทะเลสมัยนั้น การเสียเงินสร้างบ้านเพื่ออยู่อาศัยอย่างเดียวเป็นเรื่องที่แปลกและสิ้นเปลือง … คนจีนยุคนั้นมองว่าบ้านเป็นเครื่องมือหนึ่งในการประกอบธุรกิจ
เมื่อก่อนท่าเรือโปเส็งจุดขนถ่ายสินค้านี้เป็นพื้นที่เศรษฐกิจสำคัญที่สร้างความมั่งคั่งแก่ตระกูลโซว คฤหาสน์กว้างคึกคักอบอุ่นด้วยบริวารนับร้อย ห้องหลายสิบห้องมีผู้คนเดินขวักไขว่ … มีลานกว้างๆ เอาไว้ตากของแห้ง ด้านข้างเป็นโกดังเก็บสินค้า อีกข้างเป็นที่พักของคนที่ทำงานในท่าเรือ
ส่วนตัวบ้านโซว เฮง ไถ่ ถูกสร้างขึ้นเพื่อเป็นสำนักงาน ที่เก็บเงิน ที่อยู่อาศัย จะได้ดูแลส่วนต่างๆ ของท่าเรือได้อย่างใกล้ชิด และเอาไว้รับรองลูกค้าหรือแขกเหรื่อได้อีกด้วย
“บ้านโซวเฮงไถ่” เป็นหนึ่งในเก๋งจีนที่โอ่อ่าที่สุดในยุคเริ่มกรุงรัตนโกสินทร์ สร้างตามหลักฮวงจุ้ยแบบจีนคือ ผังบ้านผสมรูปแบบ “ซื่อเหอหยวน” หรือ “สี่เรือนล้อมลาน” (四合院) มีอาคาร 4 ด้านล้อมลานหินกว้าง
ด้านหน้าเป็นซุ้มประตูทางเข้า ด้านหลังเป็นเรือนประธาน ที่เก็บป้ายวิญญาณบรรพบุรุษ เข้ากับลักษณะเรือน 2 ชั้น และพื้นชานยกระดับแบบไทยที่เป็นบ้านใต้ถุนสูงเข้าไปด้วย
โครงของอาคารด้านบนสร้างด้วยไม้สักทองแผ่นหนาและกว้างแทบจะทุกส่วน รวมถึงมีงานแกะสลักและการเข้าไม้แบบช่างไม้ฮกเกี้ยนประดับอยู่แทบจะทุกจุดอีกด้วย การก่อสร้างทั้งหมดเป็นแบบโบราณที่ไม่ใช้ตะปู แต่ใช้ไม้แกะสลักในการประกอบทั้งหมด
ต่อมา .. เมื่อเรือสำเภาถูกแทนที่ด้วยเรือกลไฟ ความนิยมท่าเรือโปเส็งก็ค่อยๆ ซาลง … ก่อนจะเกิดเป็นท่าเรือกลไฟที่อยู่ใกล้กันอย่าง ล้ง 1919 ของพระยาพิศาลศุภผล (ชื่น พิศาลบุตร) รวมไปถึงตระกูลที่มีชื่อเสียงหลายตระกูลในบ้านเราอย่างพิศาลบุตร ตัณฑเศรษฐี ปันยารชุน ศรีวิกรม์ จาติกวณิช ต่างก็เป็นลูกหลานจากบ้านโซว เฮง ไถ่ แห่งนี้นี่เอง
เจ้าของบ้านคนปัจจุบัน คือ คุณภู่ศักดิ์ โปษยะจินดา ผู้ปรับเปลี่ยนบ้านเก่าแก่หลังนี้ให้กลายเป็นโรงเรียนสอนดำน้ำ ซึ่งรายรอบด้วยอาคารจีนเก่าแก่แบบที่เปี่ยมเอกลักษณ์ ซึ่งน่าจะมีแห่งเดียวในโลก
บ้านหลังนี้จึงไม่ได้เป็นเพียงแค่ที่อยู่อาศัยเพียงอย่างเดียว แต่เปรียบเสมือน “โฮมออฟฟิศ” มาตั้งแต่สมัยก่อนรัตนโกสินทร์ เรื่อยมาจนถังปัจจุบันที่เป็นที่ตั้งของโรงเรียนสอนดำน้ำ
ผู้ใหญ่จากหลายสถาบันบอกคุณภู่ว่า ฮวงจุ้ยของถนนเยาวราชดูเหมือนมังกร และตำแหน่งของบ้านโซว เฮง ไถ่ คือลูกแก้วมังกร … การตัดสินใจปรับเปลี่ยนลานกลางบ้านแบบดั้งเดิมให้เป็นโรงเรียนสอนดำน้ำจึงเป็นเหมือนการเปลี่ยนฮวงจุ้ยของบ้านทั้งหลัง
“คุณแม่ค้านครับ ไม่ยอมรับความคิดนี้เลย เพราะฮวงจุ้ยของบ้านแบบเดิมคือต้องมีลานโล่งกลางบ้าน และต้นชมพู่ต้นใหญ่ก็มีกิ่งก้านสาขาสร้างร่มเงาให้ความร่มรื่นแก่ทุกคนที่อาศัยในบ้าน พอเราตัดต้นไม้ สร้างสระว่ายน้ำ ก็เปลี่ยนลักษณะของบ้าน
“ตามหลักฮวงจุ้ย บ้านหลังนี้มีหน้าบ้านติดแม่น้ำ หลังบ้านควรโล่ง แต่ด้านหลังมีคนสร้างตึกสูงขึ้นมาฮวงจุ้ยก็ผิดแล้ว ทั้งที่เราไม่ได้ทำอะไรเลย ผมมองว่าศาสตร์ของฮวงจุ้ยคืออยู่ดีมีสุข ร่ำรวยเงินทอง การทำสระแบบนี้ก็ช่วยให้เรามีเงินมาดูแลบ้าน ซ่อมบ้าน แม้หน้าตาจะเปลี่ยนไป แต่เพื่อให้ตัวบ้านยังคงอยู่ต่อไปแกเลยยอม” … คุณภู่เล่า
“หลังจากโรงเรียนสอนดำน้ำแล้ว (พ.ศ. 2547) การท่องเที่ยวชุมชนเริ่มได้รับความนิยม โดยเฉพาะในย่านเมืองเก่าอย่างตลาดน้อยและเยาวราช
ทางสถาบันอาศรมศิลป์มาถามเราว่าเป็นไปได้มั้ยที่จะเปิดให้คนทั่วไปเข้าชม เพราะตัวบ้านเป็นอาคารเก่าซึ่งหาดูได้ยากมากๆ คนที่มาก็มีทั้งมาดูบ้านเก่า และมาขอดูว่าจะจัดการบ้านเก่าเพื่อให้เป็นการท่องเที่ยวชุมชนยังไง …
ทางผมก็ยินดีแค่ต้องคิดถึงความเป็นส่วนตัวของผมด้วย เพราะนี่เป็นทั้งบ้านและที่ทำงานของผม ก็เลยคุยกันว่าให้นัดมาก่อน ผมจะได้ทำความสะอาดและเตรียมตัวต้อนรับ
“แต่บางทีคนที่เคยมาดูเขากลับมาดูใหม่แบบไม่ได้นัดล่วงหน้าเพราะชอบบ้านเรามากจริงๆ ด้วยพื้นที่บ้านขนาด 1 ไร่เราทำความสะอาดไม่ได้ทุกวัน เลยมีคนมาบอกเราว่าบ้านขาดการดูแล ผมก็กังวล เพราะถ้าอยากให้บ้านดูสะอาดสะอ้านอยู่ตลอดต้องจ้างคนมาดูแลความสะอาด ซึ่งมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น
“การตั้งกล่องบริจาคหรือขายตั๋วเข้าชมบ้านดูเหมือนบังคับให้เขาจ่ายเงิน อาจทำให้คนที่มารู้สึกไม่ค่อยดีกับบ้านเรา ด้วยความที่ผมเน้นทำธุรกิจให้ทุกคนรู้สึกดี ทั้งตัวผมและคนที่มา เวลาผมสอนดำน้ำก็สอนเต็มที่ ถ้าคนมาเรียนแล้วดำน้ำไม่คล่องหรือไม่รู้สึกปลอดภัย ก็มาลงเรียนต่อได้ฟรีเลย ไม่คิดว่านักเรียนไม่เก่ง แต่คิดว่าเพราะเราสอนไม่ดี
เลยได้ข้อสรุปว่าเราขายเครื่องดื่มให้คนที่มาชมบ้าน ยอมรับว่าขายในราคาแพงกว่าร้านข้างถนน เพื่อเอาเงินเอามาจ่ายคนที่คอยดูแลความสะอาด และให้บ้านยังคงอยู่ต่อไปได้ ทุกคนก็เข้าใจ มีคนมาอุดหนุนอยู่ตลอด ถ้าอยากเข้าห้องน้ำเราก็ยินดีเปิดให้ใช้บริการ”
เงินรายได้จากการขายเครื่องดื่มไม่ได้มากมายเป็นกอบเป็นกำ และการเปิดบ้านเช่นนี้ก็มีความเสี่ยงที่จะเจอมิจฉาชีพ แล้วอะไรทำให้เจ้าของบ้านเก่าแห่งนี้ยังคงยินดีเปิดบ้านให้คนทั่วไปมาชม
“ผมอยากสื่อสารว่าในเมืองไทยมีคนจีนที่อพยพมาตั้งแต่ปู่ย่าตายายแบบเสื่อผืนหมอนใบ เราโชคดีมากเลยนะครับ ถ้าอากงอาม่าเราลงเรือผิดลำไปนี่ยุ่งเลยนะ
ในบางประเทศคนจีนก็อยู่ในสถานะพลเมืองชั้นสองแบบกลายๆ แต่ไทยหรือสยามซึ่งมีกษัตริย์ปกครอง อ้าแขนต้อนรับคนจีนเป็นอย่างดี ทุกคนได้รับโอกาสเท่าเทียมกันหมด อยากค้าขายก็ทำได้ ตั้งตัวกันได้หลายคน เป็นเศรษฐีระดับโลกก็มากมาย
พอมาอยู่ก็ได้สัญชาติไทยโดยไม่มีการแบ่งแยกว่าไทยเชื้อชาติอะไร คนไทยก็คือคนไทย เราก็ควรรักและเทิดทูนสถาบันกษัตริย์ที่ให้เราเข้ามาทำมาหากินในประเทศ
“ผมอยากเปิดบ้านเพื่อให้ความรู้ผู้คนและพูดเรื่องเหล่านี้ ส่วนเรื่องของความปลอดภัยและความเป็นส่วนตัว ด้วยอาชีพผมที่เจอคนจำนวนมาก ทำให้ผมไม่ได้มองทุกคนเป็นคนร้าย ซึ่งคนส่วนมากก็เป็นแบบนั้น มีคนส่วนน้อยที่เข้ามาแล้วไม่ให้เกียรติสถานที่ พอเราเตือนเขาก็ไม่ทำอีก ผมเลยโอเคกับการเปิดบ้านไว้แบบนี้นะ” ภู่อธิบายในสิ่งที่ผมสงสัยไว้ตั้งแต่ตอนแรก
“ปู่ย่าตายาย บรรพบุรุษของผมสร้างบ้านนี้ขึ้นมาด้วยวัสดุที่ดีที่สุดในยุคนั้น ทั้งเสา ทั้งคาน บ้านถูกออกแบบและก่อสร้างมาให้คงอยู่อย่างถาวรจริงๆ แต่ทุกสิ่งบนโลกนี้ไม่มีอะไรอยู่คงทนถาวรตลอดไปหรอก ผมพยายามจะให้มันอยู่ต่อไปนานเท่าที่จะเป็นไปได้นะ เพราะนี่คือบ้านเรา
“แต่พูดกันตรงๆ ผมไม่ได้ต้องการให้ลูกผมมาดูแลบ้านหลังนี้หรอก เพราะมันเหมือนยกหินก้อนใหญ่ไว้บนบ่าคนรุ่นถัดไป แค่ค่าดูแลและค่าน้ำค่าไฟของที่นี่เดือนๆ หนึ่งก็แพงมาก แล้วเวลาที่บ้านมีปัญหาต้องซ่อมแต่ละครั้งก็ราคาสูงมาก พื้นไม้ที่ผุจะไปหาไม้ที่กว้างเท่าเดิมมาเปลี่ยน แม้บางครั้งมีเงินก็อาจจะหาซื้อมาเปลี่ยนไม่ได้ด้วยซ้ำ แล้วลูกชายผมต้องทำงานหาเงินเดือนละเท่าไหร่ถึงจะรับผิดชอบดูแลบ้านหลังนี้ได้
ผมเลยตั้งใจว่าจะไม่ปลูกฝังว่าพ่อรักบ้านหลังนี้ ต่อไปลูกต้องดูแลมันนะ จะไม่มีเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นแน่ๆ เราคงบอกเขาให้รู้ถึงความเป็นมาของบ้าน ประวัติของครอบครัวเรา บรรพบุรุษของเรา เพื่อให้ลูกหลานรุ่นถัดๆ ไปรู้คุณค่าของสถานที่แห่งนี้ แต่ว่าในอนาคตถ้าเขาเลือกที่จะทำอย่างอื่นก็ไปทำได้เลย”
แม้ว่าฟังก์ชันของบ้านโซว เฮง ไถ่ จะเปลี่ยนไปตามยุคสมัยและความต้องการของเจ้าของแต่ละรุ่น แต่ตลอดเวลา 250 ปีที่ผ่านมา สถานที่แห่งนี้ก็ยังคงคุณค่าและความหมายแห่งความเป็น ‘บ้าน’ ที่เป็นที่พึ่งทางใจของคนในครอบครัวทุกรุ่นอย่างไม่เปลี่ยนแปลง
บ้านโซวเฮงไถ่
ที่อยู่ | 282 ซอย ดวงตะวัน ถนน เจริญกรุง แขวงตลาดน้อย เขตสัมพันธวงศ์ กทม.
โทร | 02 639 6262
ขอบคุณเนื้อความบางส่วนจาก : http://readthecloud.co/replace-9/
โฆษณา