29 พ.ค. 2020 เวลา 23:24 • ท่องเที่ยว
เลียบชุมชนเก่า เล่าเรื่องกรุงเทพ : ล้ง 1919 ท่าเรือกลไฟ ประวัติศาสตร์ ไทย – จีน
ล้ง 1919 (อักษรจีน: 廊 1919; อังกฤษ: Lhong 1919) เป็นอาคาร ประวัติศาสตร์ ไทย - จีน อายุ 170 ปี ตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาด้านฝั่งธนบุรี ตั้งอยู่ที่ปลายสุดของถนนเชียงใหม่ แขวงคลองสาน เขตคลองสาน กรุงเทพมหานคร
ดำเนินกิจการโดย ตระกูลหวั่งหลี ตั้งอยู่ติดกับบ้านหวั่งหลี มีเนื้อที่ประมาณ 6 ไร่ และพื้นที่อาคาร 6,800 ตารางเมตร โดยอยู่ฝั่งตรงข้ามกับย่านตลาดน้อย เขตสัมพันธวงศ์ ในฝั่งพระนคร
สถานที่แห่งนี้ เดิมเป็นท่าเรือของพระยาพิศาลศุภผล (ชื่น)ซึ่งเป็นชาวจีนที่เกิดในแผ่นดินสยาม ต้นตระกูลพิศาลบุตร สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2393 โดยมีชื่อว่า "ฮวยจุ่งล้ง" (火船廊; คำแปล ท่าเรือกลไฟ) … เป็นท่าเรือกลไฟและโกดังสินค้า ในช่วงยุคทองของการค้าระหว่างไทย-จีน เมื่อมีการเปิดเมืองท่าในสยาม
ยุคทองของการค้าไทย-จีน เกิดขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 4 … หลังจากมีการทำสนธิสัญญาเบาว์ริง ซึ่งมีสาระสำคัญในการเปิดฉากการค้าเสรีกับต่างประเทศ ในสยามประเทศ ตั้งแต่นั้นมา พ่อค้าต่างประเทศก็เข้ามาติดต่อค้าขายในประเทศไทยอย่างอิสระ
เมื่อมีการเปิดเมืองท่า พระยาพิศาลศุภผล (ชื่น พิศาลบุตร) ริเริ่มลงทุนสร้างเรือกลไฟ ซึ่งคือเรือโดยสารหรือบรรทุกสินค้าที่ใช้ฟืนเป็นต้นเป็นเชื้อเพลิงมีขนาดใหญ่กว่าเรือไฟ นิยมใช้แล่นในทะเลหรือมหาสมุทร และได้สร้างสถานที่แห่งนี้ขึ้น ประมาณปี พ.ศ.2393 (ค.ศ.1850) เป็นท่าเรือชื่อ “ฮวย จุ่ง ล้ง” หมายถึง “ท่าเรือกลไฟ” สำหรับให้ชาวจีนที่เดินทางทางเรือมาค้าขายหรือย้ายถิ่นฐานมาตั้งรกรากที่ประเทศไทยมาเทียบเรือ พร้อมลงทะเบียนชาวต่างชาติที่เป็นชาวจีนแผ่นดินใหญ่โดยเฉพาะที่ท่าแห่งนี้
ท่าเรือกลไฟ “ฮวย จุ่ง ล้ง” จึงเป็นท่าเรือที่ชาวจีนโพ้นทะเลทุกคนในยุคเสื่อผืนหมอนใบจะต้องมาขึ้นที่นี่ เรียกว่าเป็นต้นกำเนิดของเจ้าสัวที่เข้ามาเมืองไทยในยุคนั้น ในสมัยที่ท่าเรือแห่งนี้รุ่งเรืองที่สุด ในขณะที่ท่าเรืออีสต์เอเชียติกเป็นท่าเทียบเรือของฝรั่ง ท่าเรือกลไฟสุรวงศ์เป็นท่าเทียบเรือของญี่ปุ่น
อาคารแห่งนี้ในอดีตยังเป็นแหล่งการค้าธุรกิจ โดยตัวอาคารท่าเรือ เป็นร้านค้าและโกดังเก็บสินค้าที่นำเข้าจากต่างประเทศ เช่น จีน สิงคโปร์ ฮ่องกง ฯลฯ โดยจอดเรือที่ท่าเรือด้านหน้า และนำสินค้ามาโชว์ในร้านในอาคาร เหมือนเป็นโชว์รูม ซึ่งนับเป็นท่าเรือกลไฟที่ใหญ่ที่สุดของไทย ในสมัยนั้น
เมื่อท่าเรือแห่งประเทศไทย (ท่าเรือคลองเตย) เข้ามามีบทบาทในการค้ากับต่างชาติมากขึ้น ส่งผลให้ท่าเรือ “ฮวย จุ่ง ล้ง” ค่อยๆลดบทบาทลง
จนในปี พ.ศ.2462 (ค.ศ.1919) หลังสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง ตระกูล “หวั่งหลี” โดย นายตัน ลิบ บ๊วย ได้เข้ามาเป็นเจ้าของ อาคารท่าเรือ “ฮวย จุ่ง ล้ง” คนใหม่ต่อจาก พระยาพิศาลศุภผล (ชื่น พิศาลบุตร) และได้ปรับท่าเรือดังกล่าวให้กลายเป็นอาคารสำนักงาน และโกดังเก็บสินค้า สำหรับกิจการการค้าของตระกูลหวั่งหลี ต่อมาได้ปรับโกดังสำหรับเก็บสินค้าการเกษตรที่ขนส่งมาทางแม่น้ำเจ้าพระยา
ท่าเรือแห่งนี้ยังเป็นที่อยู่อาศัยของหลงจู๊และคนงานนับร้อยชีวิต คนยุคหลังรู้จักท่าเรือแห่งนี้ในนามโกดังบ้านหวั่งหลี
เมื่อกาลเวลาผ่านไป การค้าทางเรือถูกเข้ามาแทนที่ด้วยการคมนาคมอื่นๆ ที่ทันสมัยขึ้น ท่าเรือแห่งนี้จึงถูกลดบทบาทลง … อาคารแห่งนี้จึงหลับใหล ไม่มีการใช้งานใดๆมายาวนานมากว่าร้อยปีแล้ว อาคารต่างๆจึงค่อนข้างทรุดโทรมมาก
ด้วยความรัก ความภาคภูมิใจ และด้วยหัวใจอนุรักษ์ของลูกหลานครอบครัวหวั่งหลีที่มีต่อ คุณค่าเชิงประวัติศาสตร์ ของสถานที่อันเป็นมรดกของบรรพบุรุษของลูกหลาน จึงเห็นตรงกันที่จะปลุกชีวิตของอดีตท่าเรือกลไฟ หรือที่ภาษาจีนเรียกว่า "ฮวย จุ่ง ล้ง" อันเป็นท่าเรือที่ใหญ่ที่สุดในสมัยรัชกาลที่ 4 อันเป็นมรดกของบรรพบุรุษที่หลับใหลให้ตื่นขึ้นมาโลดแล่นมีชีวิตชีวาอีกครั้ง เพื่อเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงศิลปวัฒนธรรมไทย - จีน
โดยจะต้องคงสภาพความงดงามดั้งเดิมไว้ให้ได้มากที่สุด จะต้องรักษารูปร่างหน้าตาแบบดั้งเดิมตั้งแต่สร้างครั้งแรก เพราะความขลังของอาคารเหล่านี้อยู่ที่ความเก่า ซึ่งไม่มีมนุษย์ที่ไหนจะสร้างได้ นอกจากกาลเวลาจะสร้างได้แบบนี้ ... แต่ได้ผสาน ด้วยการนำเทคโนโลยีด้านวิศวกรที่ทันสมัยมาใช้
เดือนตุลาคม พ.ศ. 2559 ตระกูลหวั่งหลี ได้เริ่มโครงการที่จะเปลี่ยนที่นี่ให้เป็นสถานที่ท่องเที่ยวและจุดหมายตาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา จึงเริ่มเข้ามาพัฒนาพื้นที่ และเปิดอย่างเป็นทางการได้เมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560
ปัจจุบัน ล้ง 1919 มีพื้นที่ที่เป็น พิพิธภัณฑ์การเรียนรู้ความสัมพันธ์ไทย-จีน .. ร้านจำหน่ายสินค้าศิลปะและหัตถกรรม .. ร้านอาหาร ร้านกาแฟ จุดถ่ายรูป และสถานที่พักผ่อนจนทำให้ ล้ง 1919 และเป็นพื้นที่สาธารณะแห่งนี้มีเสน่ห์ไม่เหมือนใคร
เมื่อเดินเลี้ยวเข้ามาที่ ล้ง 1919 เรารู้สึกเหมือนได้นั่งไทม์แมชีนเข้าไปอยู่ในฉากหนึ่งของละครย้อนยุค รู้สึกถึงมนต์ขลังบางอย่าง ที่มีวัฒนธรรมจีนชาวโพ้นทะเลเข้ามาเป็นส่วนสำคัญในการดำเนินเรื่องราว
เมื่อก้าวเท้าผ่านประตูเข้าไป ก็ต้องตื่นตาตื่นใจไปกับงานอาร์ตที่สวยงามดูโดดเด่น ตัวอาคารหลัก ก่อสร้างด้วยสถาปัตยกรรมจีนซึ่งเป็นที่นิยมในสมัยรัชกาลที่ 3 … คือตัวอาคารก่ออิฐถือปูน พื้นและเครื่องหลังคาสร้างจากไม้เสา หลังคามุงกระเบื้อง ไม่มีกันสาด สร้างลักษณะป่องกลางที่คนจีนนิยม ลักษณะเป็นหมู่อาคารแบบ “ซาน เหอ หยวน” (三 合 院) ซึ่งเป็นการออกแบบวางผังอาคารในแบบจีนโบราณ
ลักษณะอาคาร 3 หลัง เชื่อมต่อกัน 3 ด้าน เป็นผังรูปทรงตัว U มีพื้นที่ว่างตรงกลางระหว่างอาคารทั้งสามหลังเป็นลานอเนกประสงค์ … อาคารประธาน ด้านในเป็นที่ตั้งของศาลเจ้าแม่หม่าโจ้ว (MAZU) คลองสาน ส่วนอาคารอีก 2 หลัง ด้านข้างใช้สำหรับเป็นอาคารสำนักงานและโกดังสินค้า
เรือนไม้ที่เห็นอยู่ตรงหน้า จึงเป็นสถาปัตยกรรมจีนโบราณที่มีความงดงาม มีเสน่ห์ที่แตกต่าง และโดดเด่น … แค่มานั่งชื่นชมสถาปัตยกรรม ที่บอกเล่าเรื่องราวประวัติศาสตร์ ผ่านศิลปะและวัฒนธรรมของชาวจีนโพ้นทะเล ตั้งแต่ครั้งสมัยรัชกาลที่ 4 ก็รู้สึกซึมซับถึงคุณค่าของโบราณสถานแห่งนี้แล้ว
ศาลเจ้าแม่หม่าโจ้ว (MAZU) … คุณค่าสำคัญอันเป็นเอกลักษณ์ของชุมชนจีนที่นี่ เป็นศูนย์รวมใจของชาวจีนมาตั้งแต่เริ่มก่อตั้งจนปัจจุบัน ตั้งอยู่บนอาคารประธาน
เจ้าแม่หม่าโจ้วโบราณที่มีมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 4 ทำจากไม้ มี 3 ปาง ปางแรกคือปางเด็กสาว ให้พร ด้านการขอบุตร ปางที่สองคือปางผู้ใหญ่ ให้พรในด้านการค้าขายเงินทองและ ปางที่สามคือปางผู้สูงอายุ ซึ่งเชื่อว่าท่านประทับอยู่บนสวรรค์ และมีเมตตาจิตสูง … ซึ่งทั้ง 3 ปางนี้ เป็นองค์ที่ชาวจีนนำขึ้นเรือเดินทางมาจากเมืองจีน เมื่อมาถึงเมืองไทยจึงอัญเชิญประดิษฐานที่ศาลแห่งนี้ อายุเก่าแก่มากกว่า 170 ปี
เวลาคนจีนเดินทางโพ้นทะเลมาถึงฝั่งประเทศไทย ก็จะมากราบสักการะท่าน เพื่อเป็นการขอบคุณที่ช่วยทำให้เดินทางโดยสวัสดิภาพ และเมื่อจะเดินทางกลับไปประเทศจีน ก็จะมากราบลาเจ้าแม่ที่นี่เช่นกัน
เจ้าแม่หม่าโจ้ว จึงเป็นศูนย์รวมจิตใจของคนจีนในแผ่นดินไทย ซึ่งคนจีนที่ทำการค้าในไทยจนเจริญร่ำรวยเป็นเศรษฐีก็ล้วนก่อร่างสร้างตัวมาจากที่นี่
ล้ง 1919 ยังเป็นสถานที่ตั้งของสิ่งศักดิ์สิทธิ์อย่าง เจ้าแม่ทับทิม ที่พ่อค้าชาวจีน ต้องมาสักการะทั้งตอนมาถึงและก่อนออกจากเมืองไทย ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 4
บนเรือน … โดดเด่นด้วยจิตกรรมฝาพนังโบราณจากช่างฝีมือชาวจีนตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 4 เป็นสุนทรียภาพที่เมื่อเดินชมแล้วรื่นรมย์มากมาย
น่าสนใจมากที่รู้ว่าขณะที่ทำการบูรณะนี่เอง ทำให้ทราบว่าบริเวณวงกบประตู และรอบบานหน้าต่าง มีจิตกรรมฝาพนังที่เป็นการเขียนสีด้วยพู่กันลงบนผนังปูน เป็นลายเส้นแบบจีนซ่อนตัวอยู่ภายใต้สีที่ฉาบทับไว้ ซ้ำไปมาหลายต่อหลายชั้นมาเป็นเวลานาน จึงทำให้ภาพจิตรกรรมเหล่านั้นยังคงผนึกไว้และไม่ถูกลบหายไป … กอปรกับลักษณะการออกแบบและขนาดของแต่ละห้องที่แตกต่างกัน สะท้อนให้เห็นว่าเป็นแหล่งศูนย์ช่างฝีมือของชาวจีนในอดีต
ทางโครงการจึงได้บูรณะไปแล้วบางส่วน ด้วยการใช้สีที่ตรงกับของเดิม ค่อยๆ บรรจงแต้มเติมรอยจางให้ชัดขึ้น โดยไม่ได้เอาสีสมัยใหม่เข้าไประบายทับหรือวาดเพิ่มเติม
สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ทรงเสด็จพระราชดำเนินมาเยี่ยมชม และทรงมีพระมหากรุณาธิคุณเขียนชื่อของพระองค์เป็นภาษาจีนไว้ที่ขอบหน้าต่างบานหนึ่ง ซึ่งทำให้ที่ตรงนี้กลายเป็นสถานที่ประวัติศาสตร์ที่ทรงคุณค่ากับประเทศไทยต่อไปด้วย
ว่ากันว่า … การบูรณะผนังอิฐ ส่วนที่แตกร่อนก็คงสภาพไว้ตามนั้น บูรณะโดยการใช้ปูนจากธรรมชาติแบบโบราณมาบูรณะช่วงรอยต่อที่แตก เพื่อไม่ให้ปูนหลุดร่อนไปมากกว่าเก่า ส่วนโครงสร้างไม้สักนั้น ส่วนไหนที่ชำรุดก็นำไม้จากส่วนอื่นๆ ของอาคารมาต่อเติม โดยไม่ทิ้งไม้เก่า
บนเรือนยังประกอบไปด้วยห้องอีกหลายที่มีฟังชั้นการใช้งานในอดีตที่แตกต่างกันไป ทั้งห้องรับแขก ห้องทำงาน และห้องอื่นๆ รวมถึงจัดวางเฟอร์นิเจอร์ไม้โบราณสไตล์จีนดั้งเดิมด้วย
บนเรือน ... ปีกทั้งสองด้าน ยังไม่เปิดให้เข้าชมในวันที่เราไปเยือน เดิมเป็นอาคารสำนักงาน และที่พัก
ทัศนียภาพมองจากบนเรือนลงมายังลานกลางบ้าน และท่าเรือ
บริเวณที่เคยเป็นโกดังสินค้าเก่า ซึ่งในอดีตเคยเป็นสถานที่เก็บสินค้าที่นำมาจากต่างประเทศ ปัจจุบันกำลังมีการบูรณะเพิ่มเติม …
ส่วนหนึ่งของโกดังที่บูรณะเสร็จแล้ว เป็นร้านอาหาร .. เราแวะทานก๋วยเตี๋ยวซึ่งรสชาติอร่อยทีเดียว
บนผนังกำแพงรอบๆบริเวณของ ล้ง 1919 มีภาพวาดสไตล์ศิลปะจีน เล่าเรื่องราวต่างๆเอาไว้ .. เราชอบและใช้เวลาในการชม และเก็บภาพงานศิลป์พวกนี้ด้วยความรื่นรมย์
เพลิดเพลิน และสนุกกับการโพสท่าล้อเลียนภาพบางภาพที่เป็น Wall Art .. เข้าใจว่างานศิลป์เหล่านี้อาจจะไดรับสร้างสรรค์ขึ้นมาใหม่ (แต่ไม่แน่ใจนะคะ) ให้ผู้คนที่แวะมาเยือนที่นี่ได้มาถ่ายรูป Check in กันตามแบบแผนที่นิยมในการท่องเที่ยวปัจจุบัน
ด้วยความตั้งใจและทุ่มเทอย่างเต็มที่ของลูกหลานตระกูลหวั่งหลี เพื่อให้ “ล้ง 1919” (LHONG 1919) กลายเป็นมรดกทางศิลปวัฒนธรรมไทยจีน ที่นอกจากจะเป็นความภูมิใจของลูกหลานตระกูลหวั่งหลีเองแล้ว ยังรวมถึงลูกหลานชาวไทยจีนทุกคนด้วย … จึงทำให้เราได้เห็นอาคารที่มากคุณค่าหลังนี้ตั้งอยู่อย่างโดดเด่นโดดเด่นด้วยศิลปะและสถาปัตยกรรมที่บอกเล่าประวัติศาสตร์หน้าสำคัญของชาติ ที่จะทำให้ประชาชนคนไทย และนักท่องเที่ยวต่างชาติ ได้เห็นถึงคุณค่าของการอนุรักษ์มรดกที่มีคุณค่านี้ให้คงอยู่ตราบนานเท่านาน
โฆษณา