31 พ.ค. 2020 เวลา 14:21 • สุขภาพ
“ครบ 5 เดือน COVID-19 : ความกว้างขวางและความรุนแรง”
นับจากการพบผู้ป่วยรายแรกอย่างเป็นทางการเมื่อ 31 ธค 2562 ที่เมืองอู่ฮั่น มณฑลหูเป่ย สาธารณรัฐประชาชนจีน นับถึงวันนี้ (31 พค 2563) เป็นเวลา 5 เดือนเต็ม มีอะไรเกิดขึ้นมากมายบนโลกใบนี้ของเรา ทั้งจำนวนคนติดเชื้อ จำนวนผู้เสียชีวิต วิกฤติการณ์ทางด้านเศรษฐกิจและสังคม เราต้องปรับตัวกันมากมายทั้งโดยเต็มใจและไม่เต็มใจ (New Normal) เราลองมามองย้อนหลังทบทวนกันดูนะครับ ในประเด็นเรื่องความกว้างขวาง(จำนวนผู้ติดเชื้อ)และความรุนแรง(จำนวนผู้เสียชีวิต)ว่ามีสถิติตัวเลขเป็นอย่างไรกันบ้าง
ตารางเปรียบเทียบจำนวนผู้ติดเชื้อและเสียชีวิต
เดือนที่ 1 (1-31 มกราคม 2563)
ผู้ติดเชื้อในโลกมีจำนวน 9,807 คน (เกือบทั้งหมดอยู่ในจีน : 9,692 คน) ผู้เสียชีวิตเพียง 213 คน (อยู่ในจีนทั้งหมด) คิดเป็นร้อยละ 2.17 ในตอนนั้นก็เริ่มมีการกังวลกันพอสมควร แต่ถ้ามาพิจารณาตัวเลขตอนนี้ จะรู้สึกได้ว่าจำนวนตัวเลขในเดือนที่ 1 เล็กน้อยมากเมื่อเปรียบเทียบกับปัจจุบัน (31 พฤษภาคม 2563) สำหรับประเทศไทยมีผู้ติดเชื้อ 19 คน ไม่มีผู้เสียชีวิตเลย
เดือนที่ 2 (1-29 กุมภาพันธ์ 2563)
ผู้ติดเชื้อในโลกได้เพิ่มจำนวนเป็นกราฟก้าวกระโดด (Exponential Curve) จาก 9,807 คน เพิ่มเป็น 85,473 คน (อยู่ในจีนเป็นส่วนใหญ่ : 79,360 คน) เพิ่มกว่า 800% (8 เท่าตัว) และมีผู้เสียชีวิตจาก 213 คน เพิ่มเป็น 2,924 คน (ส่วนใหญ่อยู่ในจีน : 2,835 คน) เพิ่มกว่า 1300% (13 เท่าตัว)
สำหรับประเทศไทยมีผู้ติดเชื้อ 42 คน เสียชีวิต 1 คน (2.38%)
เดือนที่ 3 (1-31 มีนาคม 2563)
โลกมีผู้ติดเชื้อเพิ่มรวดเร็วมาก จาก 85,473 คน เป็น 771,104 คน เพิ่มขึ้นกว่า 900% (9 เท่าตัว) และผู้เสียชีวิตเพิ่มจาก 2,924 คน เป็น 36,944 คน เพิ่มขึ้นกว่า 1200% (12 เท่าตัว)
สำหรับประเทศไทยมีผู้ติดเชื้อเพิ่มจาก 42 คน เป็น 1,651 คน เพิ่มกว่า 3,900% (39 เท่าตัว) และผู้เสียชีวิตเพิ่มจาก 1 คน เป็น 10 คน เพิ่มกว่า 1,000% (10 เท่าตัว)
เดือนที่ 4 (1-30 เมษายน 2563)
โลกมีผู้ติดเชื้อเพิ่มจาก 771,104 คน เป็น 3,195,816 คน เพิ่มขึ้นกว่า 400% (4 เท่าตัว) และมีผู้เสียชีวิตเพิ่มจาก 36,944 คน เพิ่มเป็น 227,648 คน เพิ่มขึ้นกว่า 600% (6 เท่าตัว)
สำหรับประเทศไทย เรามีผู้ติดเชื้อเพิ่มจาก 1,651 คน เป็น 2,954 คน เพิ่มกว่า 70% (0.7 เท่าตัว) ซึ่งลดลงอย่างมากจากเดือนมีนาคมและมีผู้เสียชีวิตเพิ่มจาก 10 คน เป็น 54 คน
ในเดือนพฤษภาคม 2563 ณ ขณะนี้วันที่ 31 พฤษภาคม 2563
โลกมีผู้ติดเชื้อทั้งสิ้น 6,161,931 คน และมีผู้เสียชีวิต 371,023 คน พบการระบาดไปทั่วโลกกว่า 215 ประเทศ (รวมเขตปกครองพิเศษ) ส่วนในประเทศไทยพบผู้ติดเชื้อ 3,081 คน เสียชีวิต 57 คน
แนวโน้มที่น่าสนใจคือ การเพิ่มขึ้นของผู้ติดเชื้อที่ยังคงขยายตัวเพิ่มมากขึ้นทุกวันนั้น เป็นการขยายตัวที่มีอัตราเร่งชลอตัวลง กล่าวคือ ในระดับโลก เดิมมีผู้ติดเชื้อเพิ่มเป็น 2 เท่าตัวทุก 2 วัน (มค 2563) ชลอเป็นทุก 4 วัน (กพ-มีค 63) และชลอต่อเนื่องเป็นทุก 20 วัน (เมย 63) และในเดือนที่ 5 คือ เดือนพฤษภาคมนี้ ผู้ติดเชื้อเพิ่มเป็น 2 เท่าทุก 33 วัน
ส่วนในประเทศไทยของเรา การเพิ่มขึ้นของผู้ติดเชื้อมีลักษณะเป็น 2 ระลอก คือ ในระลอกแรก ผู้ติดเชื้อเพิ่มเป็น 2 เท่าทุก 3 วัน (มค 63) แล้วชลอตัวเป็นทุก 26 วัน (กพ 63) แต่หลังจากนั้นกลับมาเป็นอัตราเร่งทุก 6 วัน (มีค 63) และชลอลงเป็นทุก 31 วัน (เมย 63) และปัจจุบัน (31 พค 63) ต้องถือว่าเราควบคุมการเพิ่มของผู้ติดเชื้อได้ดีมาก คือ มีอัตราการเพิ่มของผู้ติดเชื้อเป็น 2 เท่า ทุก 721 วัน
ส่วนอัตราผู้เสียชีวิต ในระดับโลกนั้นพบว่าร้อยละของผู้เสียชีวิตเริ่มด้วยอัตราเร่งจาก 2.17%(มค 63)—>3.42%(กพ 63)—>4.79%(มีค 63)—>7.12%(เมย 63) และชลอลงเป็น 6.02% ในเดือนพค 63
อัตราผู้เสียชีวิตของไทยเราสูงสุดที่ 2.38%(กพ 63) หลังจากนั้นก็อยู่ค่อนข้างคงที่ที่ประมาณ 1.85% ในปัจจุบัน
พอจะสรุปวิเคราะห์ได้ว่า
1) สถานการณ์ของไทยดีกว่าสถานการณ์ของโลกในภาพรวม
2) อัตราการเพิ่มของผู้ติดเชื้อรายใหม่ โดยใช้ตัวเลข “การเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่า” ทั้งไทยและระดับโลก มีแนวโน้มชลอตัวลง แต่ของไทยเราชลอตัวได้ดีกว่าของโลกมาก (เปรียบเทียบตัวเลขผู้ติดเชื้อเพิ่มเป็น 2 เท่าระดับโลกคือ 33 วัน ในขณะที่ของไทยเราเท่ากับ 721 วัน)
3) อัตราผู้เสียชีวิตของไทยเราก็ดีกว่าค่าเฉลี่ยของโลกมาก กล่าวคือ เรามีอัตราผู้เสียชีวิต 1.85% ในขณะที่ค่าเฉลี่ยของโลกอยู่ที่ 6.02%
4) เหตุที่สถานการณ์ของไทยดีกว่าของโลกมากน่าจะมาจาก
4.1) รัฐบาลเลือกใช้วิธีการแก้ไขสถานการณ์ที่ถูกต้องเหมาะสมคือใช้ “การแพทย์นำการเมือง”
4.2) ประชาชนชาวไทยให้ความร่วมมือในมาตรการต่างๆค่อนข้างดี น่าจะเกิดจากความรู้ความเข้าใจที่มีค่อนข้างมาก เหนือกว่าประชาชนในหลายๆประเทศของซีกโลกตะวันตก
4.3) วัฒนธรรม ประเพณีของไทยเราเอื้อในการป้องกันการแพร่เชื้อ เช่น การไหว้แทนการจับมือ มารยาทไทยต้องไม่ล้วง แคะ แกะ เกา และการไม่พูดส่งเสียงดังในที่สาธารณะ เป็นต้น
4.4) ระบบสาธารณสุขไทย ทั้งในมิติการควบคุมโรค และการดูแลรักษาโรคอยู่ในเกณฑ์คุณภาพสูง ซึ่งได้รับการประเมินจากองค์กรระดับโลกมาก่อนหน้านี้แล้ว และได้รับการพิสูจน์ว่าเป็นเรื่องจริงเมื่อมีการระบาดของโรคโควิด19
อย่างไรก็ตาม เราก็ไม่ควรชะล่าใจหรือประมาท เพราะลักษณะเด่นที่เป็นอันตรายของไวรัสนี้คือ สามารถแพร่เชื้อผ่านผู้ติดเชื้อที่ไม่แสดงอาการได้ ดังนั้นแม้ยอดผู้ติดเชื้อเพิ่มรายใหม่จะเป็นศูนย์ ก็ไม่สามารถวางใจได้ว่าจะไม่เกิดการระบาดของโรครอบสอง จนกว่าจะมีการคิดค้นวัคซีนสำเร็จ ซึ่งอาจต้องใช้เวลานานนับปี ทุกคนจึงต้องเข้าใจธรรมชาติของโรคและดูแลตนเองอย่างดีที่สุดต่อไป ซึ่งแตกต่างจากวิถีชีวิตแบบเดิมมาเป็นแบบใหม่ ที่เรียกว่า New Normal นั่นเอง
โฆษณา