2 มิ.ย. 2020 เวลา 00:24 • ท่องเที่ยว
เลียบชุมชนเก่า เล่าเรื่องกรุงเทพ .. บ้านเก่าเล่าเรื่อง นิทรรศการหลังบ้านงิ้ว
ชุมชนเก่าแก่ในกรุงเทพมหานคร มักจะอยู่ในพื้นที่เจริญกรุง และที่ขึ้นชื่อคือ “เยาวราช” อันเป็นชุมชนที่ชาวจีนในยุคเสื่อผืนหมอนใบจากเมืองจีน ที่หนีความแร้นแค้นยากจน เข้ามาพึงพระบรมโพธิสมภาญณ์ในแผ่นดินทองของไทย และก่อร่างสร้างตัว ทำงานด้วยความขยันขันแข็ง หนักเอา เบาสู้ จนกลายเป็นกลุ่มคนที่ร่ำรวย มีกิจการทางธุรกิจที่ใหญ่โตของสังคมไทยในปัจจุบัน
คนจีนโพ้นทะเลเมื่อวันวาน ได้นำวิถีชีวิตด้านต่างๆติดตัวเข้ามา ทั้งความเชื่อด้านศาสนา อาหารการกิน การแสดงทางวัฒนธรรม … วันนี้จะนำทุกท่านไปชมหนึ่งในวัฒนธรรมที่กำลังจะเลือนหาย จนอาจจะเป็นลมหายใจสุดท้ายที่ได้รับการบอกเล่าผ่านการแสดงนิทรรศการ
“บ้านเก่าเล่าเรื่อง” เป็นห้องนิทรรศการชุมชนเมืองเจริญไชย ซึ่งอยู่ใกล้กับ "วัดกมลาวาส" หรือที่หลายคนรู้จักกันในชื่อ “วัดเล่งเน่ยยี่” ซึ่งเป็นชุมชนของชาวจีนแต้จิ๋วที่มีประวัติความเป็นมายาวนานร้อยกว่าปี ในซอยเจริญชัย 23 (ตรอกเจริญไชย) ห้องเลขที่ 32
“ชุมชนเจริญชัย” ซึ่งเป็นหนึ่งในชุมชนเก่าแก่ของเมืองกรุงที่มีประวัติความเป็นมายาวนานมากกว่าร้อยปีเป็นวิถีชีวิตของย่านการค้า ที่ถือได้ว่าเป็นแหล่งผลิตกระดาษไหว้เจ้าที่เก่าแก่ สินค้าประเพณีในความเชื่อชาวจีน ที่เก่าแก่และสำคัญที่สุดของกรุงเทพมหานคร
บรรยากาศที่นี่มีเอกลักษณ์ด้วยตึกรามบ้านช่องที่ยังเป็นบ้านเก่าที่สร้างขึ้นตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5
ด้วยเหตุที่พื้นที่เจริญกรุงนี้มีมาก่อนที่เยาวราชจะถือกำเนิด วัฒนธรรมประเพณีตรงนี้จึงเป็นย่านเก่าของไชน่าทาวน์ก่อนเยาวราชที่ทั่วโลกรู้จัก .. วิถีชีวิตและอาชีพดั้งเดิมของคนในชุมชนที่เปี่ยมคุณค่าทางวัฒนธรรม เปี่ยมอัตลักษณ์ของไชน่าทาวน์เยาวราชที่คนทั่วโลกรู้จัก มีอาทิเช่น งานตัดกระดาษที่ใช้ในประเพณีจีน ร้านอาหารสูตรโบราณรสเลิศ ร้านขายยาสมุนไพรจีน
คณะกรรมการทำงานอนุรักษ์และฟื้นฟูชุมชนเจริญไชย ได้ร่วมกันก่อตั้ง “บ้านเก่าเล่าเรื่อง” แห่งนี้ขึ้น เพื่อให้เป็นศูนย์ข้อมูล แหล่งเรียนรู้วิถีชีวิตชุมชนจีนในเยาวราช และเพิ่มความตระหนักต่อคุณค่ามรดกทางวัฒนธรรมของคนในชุมชนเอง โดยได้รับความอนุเคราะห์จากมูลนิธิจุมภฏ-พันธุ์ทิพย์ ซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินและตึกหมายเลข 32 ที่ทำเป็นพิพิธภัณฑ์แห่งนี้
พิพิธภัณฑ์นี้เปิดตัวเป็นอย่างเป็นทางการ ในวันไหว้พระจันทร์เดือนกันยายน 2554 มีการจัดงานไหว้พระจันทร์ตามแบบประเพณีโบราณ
เราใช้บริการที่แสนสะดวกสบายของ MRT และมาถึงจุดหมายที่สถานีวัดมังกร จากนั้นก็เดินไปในตรอกที่คึกคักด้วยผู้ค้าและคนที่มาจับจ่ายข้าวของ เมื่อเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของความเคลื่อนไหวในชุมชนแห่งนี้ จะรู้สึกว่าบรรยากาศที่นี่มีเอกลักษณ์ไม่เหมือนใคร อันเกิดมาจากวิถีชีวิตแท้จริง กลิ่นหอมเครื่องสมุนไพรยาจีน การจัดแต่งวางของในร้าน รถเข็นของวิ่งผ่านไปมาตามตรอกซอยเล็กๆ ร้านค้าแผงลอยที่มีสินค้าหลากหลายชวนมอง ชวนซื้อ
เดินตามทางมาไม่นาน เราก็มาถึงหน้าบ้านที่มีป้ายชื่อบอกเอาไว้ว่า “บ้านเก่าเล่าเรื่อง” … ว่ากันว่า บ้านหลังนี้เมื่อครั้งอดีต เคยเป็นที่พักของคณะงิ้วจีน
ปัจจุบันที่ชั้นสองของบ้านได้ถูกจัดให้เป็นห้องพิพิธภัณฑ์ .. แสดงนิทรรศการประวัติความเป็นมาอันยาวนานของชุมชนเจริญชัย อุปกรณ์เครื่องใช้ในอดีตและสิ่งของจิปาถะต่างๆ เช่น โต๊ะทำงาน โทรศัพท์ เครื่องคิดเลข
มีภาพถ่ายผู้คนและชุมชนในอดีต .. ภาพเหล่านี้ ได้พาเราย้อนอดีตกลับไปยังช่วงเวลาที่พื้นที่แห่งนี้เคยเจริญถึงขีดสุด เป็นไชน่าทาวน์ที่โด่งดังเป็นที่รู้จักของคนทั่วโลก
นิทรรศการหลัก เป็นการจัดแสดงข้าวของเครื่องใช้ของคณะงิ้วจีนที่เคยอาศัยอยู่ในห้องนี้ ดึงเอาภาพบรรยากาศเก่าๆ ให้กลับมาให้ผู้คนได้ชมกันอีกด้วย
ตึกแถวร้อยปี สถาปัตยกรรมทรงคุณค่าในชุมชนเจริญไชย … ในปี พศ. 2405 พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างถนนจากวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ผ่านสำเพ็ง บางรัก ไปจนถึงบางคอแหลม ตามคำร้องขอจากกงสุลของประเทศต่างๆ และพระราชทานนามว่า “ถนนเจริญกรุง” และชาวต่างประเทศเรียก “New Road”
การสร้างถนนเจริญกรุงแบ่งเป็น 2 ตอน ตอนแรก คือ ถนนเจริญกรุงตอนใน เริ่มต้นที่พระเชตุพนวิมลมังคลาราม ไปจนถึงสะพานเหล็ก (สะพานดำรงสถิต) กว้าง 4 วา หรือ 8 เมตร
.. ตอนที่สองเรียก ถนนเจริญกรุงตอนนอก เริ่มตั้งแต่คลองรอบกรุงไปจนถึงฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ที่ตำบลดาวคะนอง กว้าง 5 วา 2 ศอก หรือ 11 เมตร เป็นระยะทาง 25 เส้น 10 วา 2 ศอก … สิ้นค่าก่อสร้างถมดินทำถนน และทำท่อน้ำสองข้างถนน เป็นเงิน 19,700 บาท
ทรงโปรดเกล้าฯให้สร้างตึกแถวชั้นเดียวตลอด 2 ฟากถนนตามแบบอย่างตึกแถวในประเทศสิงคโปร์ และพระราชทานแก่พระราชโอรส พระราชธิดา เพื่อเก็บผลประโยชน์จากการเก็บค่าเช่าตึกแถวร้านค้าของชาวจีน และชาวต่างประเทศ ทำให้เกิดการขยายตัวทางการค้าสองฟากถนนเจริญกรุงนับแต่นั้นมา
1
ในปี พศ. 2414 มีการสร้างวัดเล่งเน่ยยี่ หรือวัดมังกรกมลาวาสขึ้น และมีชาวจีนอพยพเข้ามาอาศัยในยริเวณนี้เป็นจำนวนมาก
ต่อมาในปี พศ. 2430 กิจการรถรางได้ถือกำเนิดขึ้น ในระยะแรกใช้รถลาก และได้เปลี่ยนเป็นรถรางไฟฟ้าในปี พศ. 2437 ก็ยิ่งทำให้พื้นที่นี้ได้รับการพัฒนาขึ้นอีกมาก มีการสร้างอาคารบ้านเรือน ตึกแถวทรงยุโรปขึ้นจนเต็มพื้นที่
นิทรรศการหลังบ้านงิ้ว
บ้านเก่าเล่าเรื่อง .. เป็นการจำลองให้เห็นถึงบรรยากาศ “หลังบ้านงิ้ว” ในสมัยก่อน เช่น การเตรียมตัวก่อนการแสดง ซึ่งหลังม่านงิ้ว จะประกอบด้วย ศาลเจ้า อันเป็นที่สำหรับไหว้เทพ “ซั้งห่วงส่วย” ซึ่งถือเป็นเทพที่นักแสดงเคารพนับถือ (น่าจะใกล้เคียงกับการที่นักแสดงของไทยนับถือ พระพิฒเนศ ในประเทศไทย)
มีอาวุธใช้ประกอบการแสดง เครื่องดนตรีจีน ชุดสำหรับแสดง หีบใส่เครื่องแต่งตัว อุปกรณ์แต่งหน้า แต่งหน้า ตะเกียง เป็นต้น
ชุดที่นำมาจัดแสดงและสวมใส่ในหุ่น เป็นชุดนักรบ หรือชุดเกราะของนักแสดงหญิง ซึ่งจะใช้ในฉากการออกรบ มีหมวกและธงปักลายหงส์ 4 ผืนอยู่ด้านหลัง
ชุดที่นำมาแสดงและแวนอยู่ด้านบน เป็นชุดธรรมดาที่ใช้ในการแสดงเมื่อกว่า 40 ปีที่แล้ว … มีอุปกรณ์ประกอบการแสดงอื่นจัดแสดงด้วย เช่น หน้ากาก โคมไฟ ตะกร้า ฯลฯ
เมื่องิ้วสู่สยาม
ในแผ่นดินสยาม งิ้วเป็นการแสดงที่อยู่คู่กับชาวจีนมาตลอด เรามักจะพบการแสดงงิ้วในเทศกาลต่างๆอยู่เสมอ ชาวจีนเป็นผู้ที่ยึดมั่นในประเพณีวัฒนธรรม และความเชื่อดั้งเดิมของบรรพบุรุษอย่างเคร่งครัด สิ่งหนึ่งที่เห็นชัดเจนก็คือ ความเชื่อและการกราบไหว้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ เมื่อชาวจีนมาตั้งหลักแหล่งหากินยังที่ใด ก็มักจะตั้งศาลเจ้าในพื้นที่นั้นอยู่เสมอ รวมทั้งในดินแดนสยามแห่งนี้
ดังนั้น พอถึงเทศกาลงานประจำปีของศาลเจ้า และงานไหว้ขอบคุณเทพเจ้าช่วงปลายปี จึงเป็นธรรมเนียมปฏิบัติที่จะมีการเฉลิมฉลองกัน เพื่อเป็นการบูชาเทพเจ้า
.. งิ้ว จึงเป็นการแสดงที่ได้รับความนิยมในการนำมาแสดงในงานเทศกาลของศาลเจ้า
วันวานของงิ้วเยาวราช
นับย้อนหลังราว 50 ปีที่ผ่านมา เมื่องิ้วแต้จิ๋วได้รับความนิยมในหมู่ชาวจีนในประเทศไทย เฉพาะถนนเยาวราชเส้นเดียวมีโรงงิ้วถึง 5 แห่ง
โดยมีงิ้ว 3 โรงที่แสดงประจำ จนผู้คนนิยมเรียกชื่อคณะงิ้วแทนชื่อโรง ได้แก่ คณะอี่ไล้ บ่วยเจี่ย และตงเจ๊ก .. ส่วนอีก 2 โรงจะมีงิ้วหลายคณะสลับกันไปแสดง จึงนิยมเรียกชื่อตามโรงงิ้วที่ใช้แสดง ได้แก่ ไซง้อ และซิงฮั้ว
งิ้วแต่ละคณะมีสมาชิกไม่ต่ำกว่า 50 คน เช่นนักแสดง นักดนตรี และคนที่ทำหน้าที่อื่นๆ ทุกวันจะมีการแสดง 2 รอบๆละราว 3 ชั่วโมง
งิ้วแต้จิ๋วในเมืองไทย
ชาวจีนที่อพยพเข้ามาตั้งรกรากในเมืองไทยในอดีต เป็นชาวจีนที่อยู่ทางใต้ คือ มณฑลกวางตุ้ง และมณฑลฮกเกี้ยน โดยจะมีสำเนียงการพูดที่แตกต่างกันออกไปตามถิ่นที่อยู่เดิม ซึ่งอาจจะแบ่งเป็น 5 กลุ่มใหญ่ที่เราคุ้นเคย คือ ฮกเกี้ยน แต้จิ๋ว กวางตุ้ง ไหหลำ และจีนฮากกา (จีนแคะ) มีการรวมตัวกันตั้งเป็นสมาคมของแต่ละกลุ่ม รวมถึงการตั้งศาลเจ้าเพื่อกราบไหว้บูชา
ในอดีตการแสดงงิ้วถวายตามศาลเจ้าของขาวจีนกลุ่มใด ก็มักจะว่าจ้างคณะงิ้วของกลุ่มภานั้นมาแสดง … แต่นับจากรัชสมัยของ
ล้นเกล้าฯรัชกาลที่ 5 เป็นค้นมา ชาวจีนแต้จิ๋วกลายเป็นกลุ่มคนที่เดินทางเข้ามาในประเทศไทยมากที่สุด จนกลายเป็นชาวจีนกลุ่มใหญ่ในประเทศนี้ และสำเนียงการพูดแต้จิ๋วเอง ก็กลายเป็นสำเนียงที่คุ้นเคยกันในสังคมไทยมากที่สุด … แม้ชาวจีนในกลุ่มภาษาอื่นก็สามารถพูดภาษาแต้จิ๋วได้
ในส่วนของการแสดงงิ้ว ก็ทำให้คณะงิ้วแต้จิ๋วมีการแสดง การขับร้องท่วงท่าในแบบแต้จิ๋วที่ได้รับการนิยมมากที่สุดไปด้วยในเวลาต่อมา
คนหลังม่านย่านเจริญไชย
ว่ากันว่า … กว่าที่จะออกมาแสดงหน้าม่านให้ผู้ชมได้เห็นกันนั้น สิ่งสำคัญอยู่ที่ “คนหลังม่าน”
คนหลายอาชีพที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นนักแสดง นักดนตรี ช่างตัดเย็บผ้าม่าน เย็บเสื้อผ้า ช่างทำเครื่องดนตรี คนทำศาลเจ้า คนทำตะเกียง ฯลฯ ซึ่งคนเหล่านี้ล้วนอยู่ในย่านเจริญไชยและพื้นที่ใกล้เคียงทั้งสิ้น และยังมีบางอาชีพที่ดำรงอยู่ให้เห็นจนถึงปัจจุบัน
บ้านเก่าเล่าเรื่อง หลังนี้เดิมเป็นที่อยู่และทีฝึกซ้อมของคณะงิ้ว “เฮียเฮง” ซึ่งเป็นคณะงิ้วที่รับแสดงตามเทศกาลงานประเพณีประจำศาลเจ้าต่างๆ ซึ่งจะมีการตกลงว่าจ้างกันข้ามปี
รวมไปถึงการแสดงที่เรียกว่า “จั๋วเอี้ย” ซึ่งเป็นการขับร้องเพลงงิ้วพร้อมการบรรเลงดนตรีที่ประกอบด้วยเครื่องเล่น 3 ชิ้น คือ ขิม ซอ และกลองเล็ก แต่กายด้วยชุดธรรมดา คณะหนึ่งจะมีราว 15 คน นิยมแสดงตามร้านอาหาร สถานที่เล่นไพ่นกกระจอก ที่เจ้าของสถานที่ว่าจ้างให้ไปแสดง
จำลองการจัดโต๊ะไหว้พระจันทร์ ให้ความรู้เกี่ยวกับความหมายของไหว้ในเทศกาลต่างๆ
เทศกาลไหว้พระจันทร์นั้น จะมีขึ้นในคืนวันเพ็ญเดือน 8 ตามปฏิทินจันทรคติ ซึ่งจะตรงกับเดือนกันยายนหรือเดือนตุลาคมตามปฏิทินสากล โดยเป็นเทศกาลตามวัฒนธรรมจีนที่มีมานับพันปี จะจัดขึ้นในกลางฤดูใบไม้ร่วง เพื่อเฉลิมฉลองการเก็บเกี่ยว โดยจะมีการเฉลิมฉลองด้วยการไหว้ดวงจันทร์ในเวลากลางคืน ซึ่งจะมีการตั้งโต๊ะไหว้อย่างสวยงามอลังการ เพื่อไหว้ “ฉางเอ๋อ" นางฟ้าแห่งดวงจันทร์ หรือ “เจ้าแม่กวนอิม” ตามความเชื่อของชาวจีน
สำหรับโต๊ะไหว้นั้น เครื่องไหว้ที่สำคัญก็คือ “ขนมไหว้พระจันทร์” รองลงมาก็คือผลไม้ชื่อมงคล ขนมหวานอาหารเจ ดอกไม้นานาชนิด และเครื่องใช้ต่างๆ ของผู้หญิง เช่น แป้ง กระจก เครื่องสำอาง
ในส่วนอุปกรณ์พิธีกรรมก็จะมี เนี้ยเต้ง หรือ วังเจ้าแม่ , ม่านเจ้าแม่ , ชุดเจ้าแม่ , โป๊ยเซียนเตี๋ย กระดาษเงินกระดาษทองลวดลายโป๊ยเซียน , กิมก่ง หรือ โคมคู่” … ซึ่งแต่ละอย่างนั้นก็มีสื่อแทนความหมายในด้านมงคลทั้งนั้น
มุมให้ความรู้เกี่ยวกับเทศกาลสำคัญของคนไทยเชื้อสายจีน
ประเพณีจีน มีภาพโปสเตอร์ประกอบคำอธิบายติดไว้บนผนังห้อง เช่น เทศกาลเช็งเม้ง เทศกาลตรุษจีน วันสารทจีน เทศกาลกินเจ เทศกาลไหว้ขนมอี๊ (ขนมบัวลอย) เทศกาลหยวนเซียว (เทศกาลโคมไฟ) เป็นต้น
มีมุมที่เล่าเรื่องอาชีพเก่าแก่ คือ "หมอดู" ในแบบจีน ที่ตอนนี้ไม่มีลูกหลานสืบทอดแล้ว
Note : ขอบคุณภาพการแสดงงิ้วจาก Internet
โฆษณา